“มีข้อกล่าวหามากมายเกี่ยวกับการทุจริต ในเรื่องของการประกวดราคาของประเทศกาตาร์ โดยการทุจริตนั้นมีกลไกการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในแง่ของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล การทำข้อตกลงเรื่องแก๊สระหว่างประเทศเพื่อแลกกับการให้ประเทศนั้นโหวตเลือกประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก” นายเจมส์ มอนทาเก ผู้สื่อข่าวที่เขียนบทความเกี่ยวกับกาตาร์และฟุตบอลโลกกล่าวกับสำนักข่าว NPR
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอเสนอความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับกรณีการคัดเลือกกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ให้มาเป็นเจ้าภาพการจัดฟุตบอลโลก ปี 2565 ซึ่งในวันนี้ถือว่าเป็นการเริ่มเตะนัดเปิดสนามการแข่งขันนัดแรก
โดยสำนักข่าว NPR ของสหรัฐอเมริกาได้มีการรายงานข่าวความไม่โปร่งใส มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การเลือกประเทศกาตาร์ให้เป็นผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการเฉลิมฉลองในกรุงโดฮา เพราะว่านี่ถือเป็นครั้งแรกที่มหกรรมฟุตบอลโลกถูกจัดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
แต่ย้อนหลังไปถึงการตัดสินใจเลือกในปี 2553 ก็จะพบว่ากระบวนการคัดเลือกสถานที่จัดแข่งขันฟุตบอลโลกทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในประเด็นเรื่องของการสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์ที่จำเป็นกับการจัดมหกรรมกีฬา ประเด็นเรื่องสินบนและการทุจริตในกลุ่มผู้บริหารสมาคมฟีฟ่า ซึ่งโหวตเลือกประเทศกาตาร์ และประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยาวนานต่อเนื่องหลายปี
โดยในวันนี้ แม้ว่าจะเข้าสู่การแข่งขันแล้ว และคาดว่าจะมีแฟนบอลมาเยือนกาตาร์เป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคนเพื่อเข้าชมการแข่งขัน และแฟนบอลอีกกว่าพันล้านคนที่กำลังรับชมการแข่งขันจำนวนกว่า 64 แมตช์อยู่ทางบ้านทั่วโลก แต่ว่าข้อถกเถียงเรื่องความโปร่งใสก็ยังไม่จบสิ้น
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเร็วๆนี้ นายเซปป์ แบลตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่าคนที่ 8 ก็ได้เคยออกมายอมรับว่าการเลือกกาตาร์นั้นเป็นความผิดพลาด
“มันเป็นทางเลือกที่แย่ และผมต้องรับผิดชอบเรื่องนั้นในฐานะประธานในขณะนั้น” นายแบลตเตอร์กล่าว
อนึ่งนายแบลตเตอร์เองก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งประธานฟีฟ่าไปในปี 2558 ด้วยข้อหาว่าพัวพันกับการติดสินบนเช่นกัน
@ประเด็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติ
ที่ผ่านมามีสื่อหลายสำนักเคยนำเสนอไปแล้วว่ากาตาร์ถือได้ว่าเป็นประเทศที่เล็กที่สุดที่เคยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก โดยมีขนาดแค่ 11,571 ตร.กม. หรือก็คือใหญ่กว่า จ.พิษณุโลกที่มีขนาด 10,816 ตร.กม.เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และมีประชากรส่วนมาก 2.8 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆกรุงโดฮา ซึ่งแน่นอนว่าการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนี้ จะต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมารองรับกับผู้ชมจำนวนมาก
โดยเมื่อกาตาร์ชนะการคัดเลือกในปี 2553 กาตาร์ยังขาดทั้งสนามกีฬา โรงแรม และทางหลวงจำนวนมากที่จำเป็นสำหรับการแข่งขัน ซึ่งการจะก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างเหล่านี้ให้ลุล่วงได้ กาตาร์ต้องหันไปหาแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมหาศาล คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมดในประเทศ (มีแรงงานแค่ 300,000 คนเท่านั้นที่เป็นพลเมืองกาตาร์ นี่ส่งผลทำให้พลเมืองส่วนมากที่อาศัยในกาตาร์เป็นแรงงานข้ามชาติ ที่จะอาศัยอยู่ในประเทศได้ก็ขึ้นอยู่กับวีซ่าที่มีความผูกพันต่อสถานะการจ้างงาน ซึ่งนี่เป็นระบบที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในตะวันออกกลาง)
โดยสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ค่อนข้างเลวร้าย และมีข่าวการเอารัดเอาเปรียบกันออกมาให้เห็นโดยตลอด ซึ่งจากการทำข่าวสืบสวนของสำนักข่าวการ์เดียนในปี 2564 พบว่ามีแรงงานข้ามชาติกว่า 6,500 คนจาก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียเสียชีวิตลงนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ด้วยสาเหตุต่างๆกัน อาทิ อุบัติเหตุในที่ทำงาน รถชนกัน การฆ่าตัวตาย รวมไปถึงความร้อนจากสภาพอากาศเป็นต้น
“มีแรงงานบางคนเป็นลมล้มพับในไซต์ก่อสร้างสนามกีฬา และเสียชีวิตลงไม่นานหลังถูกนำตัวออกจากสนามกีฬา คนอื่นๆเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในท้องถนน เสียชีวิตระหว่างเดินทางไปทำงานด้วยรถบัสของบริษัท และอีกหลายคนเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่มีคำอธิบายในค่ายแรงงาน” นายพีท แพตทิสัน หนึ่งในผู้สื่อข่าวสืบสวนกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ NPR เมื่อปีที่แล้ว
ทว่าทั้งฟีฟ่าและกาตาร์โต้แย้งตัวเลขนี้ โดยกาตาร์ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจริงแค่ 3 คนเท่านั้นจากการทำงานก่อสร้างสถานที่แข่งขันฟุตบอลโลก และรับรู้ว่าการเสียชีวิตของแรงงานอีก 37 คนนั้นไม่เกี่ยวกับงาน
กาตาร์ยังอ้างต่อไปด้วยว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกนั้นเป็นโอกาสอันเหลือเชื่อในการยกระดับมาตรฐานสวัสดิการแรงงาน โดยทางการกาตาร์ระบุว่าได้มีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติเรื่อยมา และในปี 2557 กาตาร์ได้มีการเปิดตัวมาตรฐานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ทว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าระเบียบใหม่นี้ไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง
ล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. กลุ่มแนวร่วมสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มได้เรียกร้องให้ฟีฟ่าและกาตาร์จัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยา โดยจ่ายเงินก้อนชดเชยแรงงานข้ามชาติ และครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการกระทำที่ไม่ชอบในช่วงที่มีการก่อสร้างสนามกีฬา และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอื่นๆสำหรับฟุตบอลโลก
โดยกลุ่มแนวร่วมเชื่อว่ากองทุนนี้ควรมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (15,769.6 ล้านบาท) ซึ่งจำนวนเงินนี้เทียบเท่าเงินรางวัลฟุตบอลโลก
“เราเชื่อว่านักกีฬาไม่ต้องการเล่นในสนามกีฬาที่คนงานต้องเสียชีวิตเพื่อจะสร้างให้แล้วเสร็จ เราเชื่อว่าแฟน ๆ ไม่ต้องการอยู่ในโรงแรมหรือใช้รถไฟใต้ดินที่แรงงานต้องเสียชีวิตในระหว่างก่อสร้าง” นางมิงกี้ เวิร์ดเดน ผู้อำนวยการโครงการในฮิวแมนไรท์วอทช์ หนึ่งในหน่วยงานที่เรียกร้องให้มีกองทุนกล่าว
ข่าวการเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่ก่อสร้างสนามกีฬาฟุตบอลโลก (อ้างอิงวิดีโอจาก BBC)
@ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
นางเวิร์ดเดนกล่าวด้วยว่ายังมีประเด็นข้อกังวลเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากสิทธิของแรงงานข้ามชาติ หรือก็คือเรื่องสิทธิมนุษยชนของกาตาร์นั้นเข้าขั้นเลวร้าย
โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องผู้สื่อข่าวให้มองไปไกลกว่าแค่การรายงานผลการแข่งขันกีฬาด้วยการเปิดเผยรายงานความยาว 42 หน้า สรุปข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในหลายด้านซึ่งเกี่ยวกับการเตรียมตัวของกาตาร์สำหรับฟุตบอลโลก 2022 อาทิ ประมวลกฎหมายอาญาของกาตาร์ที่ลงโทษทางอาญากับกับเหยื่อที่ถูกข่มขืน และการลงโทษทางอาญาผู้รักร่วมเพศเป็นต้น
ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์เร็วๆนี้ ทูตด้านฟุตบอลโลกของประเทศกาตาร์กล่าวว่ากรณีการรักร่วมเพศนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่เสียหายในใจ โดยนายคาลิด ซัลมาน อดีตนักเตะทีมชาติกาตาร์กล่าวว่าสิ่งที่สําคัญที่สุดคือทุกคนจะยอมรับว่าพวกเขามาที่นี่ แต่พวกเขาจะต้องยอมรับกฎของเรา ซึ่งแน่นอนว่าความเห็นของเขานั้นถูกประณามอย่างยิ่งจากเจ้าหน้าที่ตะวันตก รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
ขณะผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวก็เชื่อว่ากลุ่ม LGBTQ ในกาตาร์ควรได้รับการลงโทษ
@ข้อกล่าวหาเรื่องการติดสินบนและการทุจริต
กรณีการเลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้นถูกกล่าวหาว่ามีประเด็นเรื่องการให้สินบน และการทุจริตมายาวนานแล้ว โดยการคัดเลือกประเทศกาตาร์ให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งฟุตบอลโลกนั้นถูกประกาศเมื่อปี 2553 หลังจากมีการโหวตจากเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าให้กาตาร์ได้รับผลคะแนนเหนือกว่าประเทศผู้เข้าแข่งขันอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา,เกาหลีใต้,ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่หลายคนจากทั้งฟีฟ่าและองค์กรอื่นๆนั้นมีพฤติกรรมรับสินบนเพื่อเอื้อให้กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก
“มีข้อกล่าวหามากมายเกี่ยวกับการทุจริต ในเรื่องของการประกวดราคาของประเทศกาตาร์ โดยการทุจริตนั้นมีกลไกการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในแง่ของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล การทำข้อตกลงเรื่องแก๊สระหว่างประเทศเพื่อแลกกับการให้ประเทศนั้นโหวตเลือกประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก” นายเจมส์ มอนทาเก ผู้สื่อข่าวที่เขียนบทความเกี่ยวกับกาตาร์และฟุตบอลโลกกล่าวกับสำนักข่าว NPR
โดยมีเจ้าหน้าที่ฟีฟ่านับสิบคนที่เกี่ยวข้องกับกรณีสินบนการคัดเลือกประเทศกาตาร์หรือว่าถูกฟ้องร้องว่ามีพฤติกรรมทุจริตถูกแบนจากทางฟีฟ่าเอง ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมไปถึงนายเซปป์ แบลตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่า และในปี 2562 นายมิเชล พลาตินี อดีตประธานยูฟ่าก็ถูกจับด้วยข้อสงสัยว่ารับเงินสินบนจำนวนกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (71.6 ล้านบาท) เพื่อแลกกับการให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ซึ่งแน่นอนว่าทั้งนายแบลตเตอร์และนายพลาตินีได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาการกระทำผิด
ทั้งนี้แม้ว่าในวันนี้จะเริ่มมีการแข่งขันฟุตบอลโลกแล้ว แต่ว่าการสอบสวนของฟีฟ่าที่เริ่มต้นในปี 2557 เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการกระทำที่ไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าที่มาจากกาตาร์เพื่อเอื้อต่อการให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกก็ยังคงดำเนินต่อไป
ที่พักที่ทางกาตาร์เตรียมไว้สำหรับแฟนบอล (อ้างอิงวิดีโอจาก Maleek Stering)
@กำหนดการช่วงเดือน พ.ย.สร้างความตึงเครียดให้กับนักเตะหลายคน
ตามธรรมเนียมแล้วมหกรรมฟุตบอลโลกมักจะจัดกันในช่วงฤดูร้อน แต่ว่าในช่วงฤดูร้อนของกาตาร์นั้นอาการจะร้อนและมีความชื้นมาก ทำให้ไม่สามารถจัดงานได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเลื่อนกำหนดการมาจัดในเดือน พ.ย.แทน โดยในสเตเดียมจะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศด้วย
อย่างไรก็ตามการจัดแข่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นทำให้เกิดภาระชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนกับนักเตะ โดยเฉพาะกับนักเตะที่มาจากลีกฟุตบอลอาชีพในยุโรป เนื่องจากว่าตารางการแข่งขันในลีกส่วนใหญ่มักจะเริ่มตั้งแต่ปลายฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ผลิถัดไป ลีกอาชีพชั้นนําเช่นพรีเมียร์ลีกของอังกฤษบุนเดสลีกาของเยอรมนีและลาลีกาของสเปนนั้นต้องประกาศพักลีกเป็นเวลาสองเดือนเพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก
โดยรายงานฉบับใหม่ที่ออกมาจากสหภาพ FIFPRO ซึ่งเป็นสหภาพสำหรับนักเตะจำนวนกว่า 65,000 คนทั่วโลกพบว่ามีความผิดปกติก็คือว่าในการเตรียมตัวของนักเตะก่อนการมาถึงของฟุตบอลโลกในครั้งที่ผ่านๆมา นักเตะจะมีเวลาประมาณ 31 วันสำหรับการเตรียมตัว และ 37 วันสำหรับการพักฟื้น แต่ว่าฟุตบอลโลกในปีนี้ นักเตะกลับมีเวลาเตรียมตัวและพักฟื้นอยู่ที่เจ็ดและแปดวันตามลำดับ
“การแข่งขันที่ทับซ้อนกัน การแข่งขันแบบติดต่อกัน สภาพอากาศที่สุดขั้ว ระยะเวลาการเตรียมการที่กระชั้นชั้นชัด และช่วงระยะเวลาการพักฟื้นที่ไม่พอ ทุกอย่างล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและศักยภาพของนักเตะ” รายงานระบุ
โดยนายดาร์เรน เบอร์เกสส์ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาและที่ปรึกษา FIFPPO กล่าวว่านักเตะที่มีส่วนเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้มีความเสี่ยงสูงเป็นอย่างยิ่งที่จะบาดเจ็บจากการแข่งขัน
เรียบเรียงจาก:https://www.npr.org/2022/11/18/1137204271/qatar-world-cup-controversies
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีต ทอ.แฉ นายกฯมาเลเซียเอี่ยวจัดซื้อ บ.รบ-โดรนหมื่น ล.ไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปง บ.ทหารรับจ้างแว็กเนอร์ เอี่ยวสัญญาเหมืองทองไม่โปร่งใส รบ.ซูดาน
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: ผู้แทน WHO ซีเรีย ถูกสอบใช้งบจัดปาร์ตี้ รร.หรู,สั่งเต้นสู้โควิดระบาด
- ส่องคดีทุจริตโลก:แค่เปลี่ยนธงก็รอด วิธีการโอลิการ์ชรัสเซีย นำเรือยอชต์หนีคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก: สอบผู้พิพากษาศาลฎีกาอินโดฯ ส่อรับสินบน 1.9 ล. เอื้อ ปย.คดีสหกรณ์
- ส่องคดีทุจริตโลก: สอบอดีต รมว.ศธ.รัฐเบงกอลใต้ตั้ง บ.เปลือกหอยฟอกเงินสินบนจ้างครู ร้อย ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เมื่อ บ.นอกอาณาเขตเอื้อ ปย.อดีตพ่อค้าอาวุธให้ 'ซัดดัม' นานเกือบ 30 ปี
- ส่องคดีทุจริตโลก:อัยการญี่ปุ่นสั่งสอบ ปมคนสนิท กก.โอลิมปิกตั้ง บ.ที่ปรึกษารับเงินเอกชน
- ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะนิวยอร์ก ถูก จนท.ยึดโบราณวัตถุผิด กม.นับสิบชิ้น
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยข้อมูล 'นาจิบ'-ปธ.พรรคอัมโนเอี่ยวโครงการเรือรบฉาว 7.2 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.ลับปานามาเปเปอร์สรับโอน 1.5 พัน ล.โครงการเรือรบมาเลเซีย 7.2 หมื่นล้าน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ทร.มาเลเซียเซ็นสัญญาต่อเรือรบ 6 ลำ 7.2 หมื่น ล.เกือบสิบปี ยังไม่ส่งมอบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เผยเครือข่าย บ.เปลือกหอยอังกฤษ เอื้อผลประโยชน์คนใกล้ชิด ปธน.ปูติน
- ส่องคดีทุจริตโลก: แฉขบวนการถ่ายน้ำมันรัสเซียนอกชายฝั่งอังกฤษ ส่งรายได้หนุนสงครามยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอย 'บ.อิสราเอล' ส่งออกสปายแวร์เพกาซัส ให้ รบ.ตปท.สอดแนมประชาชน
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปง 'อูเบอร์ไฟล์'แฉเอกชนล็อบบี้โอลิการ์ชแลกทำธุรกิจแท็กซี่รัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: สตง.อังกฤษสอบนโยบาย 'บอริส จอห์นสัน' ส่อย้อมแมวสร้าง รพ. 40 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเส้นทางฟอสเฟตซีเรีย สู่โรงงานปุ๋ยยุโรป ส่งรายได้เข้าโอลิการ์ชรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: จนท.องค์การเภสัชอินเดียรับสินบน แลกอนุมัติยกเลิกทดลองอินซูลินระยะ 3
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารเครือยักษ์ใหญ่รัฐบอลติก เอี่ยวฟอกเงินหมื่น ล.โอลิการ์ชรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: ปลด รมต.สธ.เวียดนาม เซ่นปมขายชุดตรวจโควิดแพง 45% เอกชนฟันกำไร 709 ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:นักธุรกิจจีนเอี่ยวคดีสินบน อดีตที่ปรึกษาฮุนเซน ถือหุ้นสโมสรเบอร์มิงแฮม
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเส้นทางการเงินคดีให้สินบนนายพลจีน สู่คฤหาสน์พันล้าน ณ แวนคูเวอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงข้อพิรุธธุรกรรม เชื่อมโยงทอง 3 ตันประเทศกินี ส่อถูกฟอกในอังกฤษ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ย้อมแมวจรวด,โดรน-กินส่วนต่างวิทยุ 3 พันล. ต้นเหตุรัสเซียติดหล่มในยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดข้อพิรุธเอกชนไร้ประสบการณ์ ชนะสัญญาชุด PPE รบ.ออสเตรเลีย หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยสินบนเรือดำน้ำมาเลเซีย พัน ล.! ฝรั่งเศสสั่งสอบ บ.ต่อเรือรบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'รมต.สเปน'โดนสอบ ใช้ช่องพิเศษอนุมัติสัญญาโควิดเอื้อ บ.พวกพ้อง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมคอรัปชั่นในกองทัพรัสเซีย-งบปี 65 รวม 2 ล้าน ล.ไม่รู้ไปไหนบ้าง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64