นายลูคาเชนโกในวัย 67 ปีเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยครองตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศนับตั้งแต่ปี 2536 ด้วยวิธีการเลือกตั้งที่ฉ้อฉล การทรมานผู้วิจารณ์ และจับกุมรวมไปถึงทำร้ายร่างกายกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งทั้งหมดนั้นผ่านการเห็นชอบจากทำเนียบประธานาธิบดีเครมลินของรัสเซีย และตัวของนายลูคาเชนโกยังได้แต่งตั้งให้ตัวเองเป็นเหมือนกับ Batka หรือมีความหมายว่าเป็นพ่อของประชาชนเบลารุสทั้งหมด
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในช่วงขึ้นปีใหม่นี้ขอนำเสนอบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่ทุจริต มีความไม่โปร่งใส ติดอันดับโลก
โดยเว็บไซต์สำนักข่าวโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตคอรัปชั่น” หรือ OCCRP ซึ่งเป็นองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ได้จัดอันดับให้ นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส เป็นบุคคลแห่งปี 2564
มีรายละเอียดดังนี้
นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส นั้นถือเป็นเผด็จการผู้โหดเหี้ยมคนสุดท้ายของทวีปยุโรปได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นบุคคลแห่งปีจากทางเว็บไซต์ OCCRP เนื่องจากบทบาทที่เขาได้เคยกระทำทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมอาชญากรรมและการทุจริตต่างๆ
ทั้งนี้การตัดสินใจเลือกนายลูคาเชนโกนั้นมาจากการตัดสินของคณะกรรมการประกอบด้วยผู้สื่อข่าวและนักวิชาการจำนวนหกคน ซึ่งได้ศึกษาและรายงานข่าวสารต่างๆในแวดวงการทุจริต ได้ตัดสินใจเลือกผู้นำเผด็จการในยุคหลังสหภาพโซเวียต จากจำนวนผู้ถูกเสนอชื่อจำนวนทั้งสิ้น 1,167 รายชื่อด้วยกัน และการเสนอชื่อนายลูคาเชนโกดังกล่าวนั้นยังเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่มีการมอบตำแหน่งบุคคลทุจริตแห่งปีให้ด้วยการตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์
“นี่เป็นปีของการทุจริต แต่ว่านายลูคาเชนโกถือว่ามีความโดดเด่นจากคนอื่นๆมาก” นายดรูว์ ซัลลิแวน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ OCCRP และยังทำหน้าที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินกล่าว
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา พฤติกรรมของนายลูคาเชนโกถูกนำไปพาดหัวข่าวในประเด็นดังต่อไปนี้
-มีส่วนอยู่เบื้องหลังเส้นทางโยกย้ายเงินของแผ่นดิน สู่กลุ่มผู้มีอำนาจ ผู้ใกล้ชิดตระกูลลูคาเชนโก
-ส่งเครื่องบินรบเข้าสกัด เครื่องบินสายการบินไรอันแอร์ ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารชาวเบลารุสหนึ่งรายที่คัดค้านต่อการปกครองของนายลูคาเชนโก และบังคับเครื่องบินดังกล่าวให้ไปจาด ณ กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส โดยการกระทำดังกล่าวนั้นถือเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการบิน
ข่าวการบังคับจอดเครื่องบินไรอันแอร์ที่กรุงมินสก์เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาด้วยข้ออ้างว่ามีระเบิดบนเครื่องบิน (อ้างอิงวิดีโอจากบีบีซี)
-มีส่วนสร้างวิกฤติชายแดนกับสหภาพยุโรป (อียู) ด้วยการหลอกล่อผู้ลี้ภัยจำนวนนับพันคนให้ไปยังชายแดนของประเทศในกลุ่มอียู
-ประกาศให้ข้อมูลที่ผิดพลาดและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาปลอมๆของไวรัสโควิด-19
โดยนางหลุยส์ เชลลี่ จากมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมพิจารณารายชื่ออีกรายหนึ่งกล่าวว่า นายลูคาเชนโกได้ใช้ความไม่จริงใจ ความเสแสร้ง เล่นการเมืองล่อลวงชาวเบลารุส โดยอาศัยกลุ่มประกรที่มีความเปราะบางเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นมิติใหม่ ของการเหยียดหยามและความโหดร้าย
นางเชลลี่กล่าวต่อไปว่าผู้นำเบลารุสนั้นได้ใช้เครือข่ายอาชญากรรมและการทุจริตของรัฐเบลารุสในการที่จะส่งเสริมการย้ายถิ่นฐานของผู้คนจำนวนมาก ทำให้เกิดความสิ้นหวัง,ความรุนแรง และความโหดร้ายไม่สิ้นสุด
อนึ่งนายลูคาเชนโกในวัย 67 ปีเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยครองตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศนับตั้งแต่ปี 2536 ด้วยวิธีการเลือกตั้งที่ฉ้อฉล การทรมานผู้วิจารณ์ และจับกุมรวมไปถึงทำร้ายร่างกายกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งทั้งหมดนั้นผ่านการเห็นชอบจากทำเนียบประธานาธิบดีเครมลินของรัสเซีย และตัวของนายลูคาเชนโกยังได้แต่งตั้งให้ตัวเองเป็นเหมือนกับ Batka หรือมีความหมายว่าเป็นพ่อของประชาชนเบลารุสทั้งหมด โดยถ้าหากมีลุกขึ้นท้าทายต่อการสร้างภาพดังกล่าวก็จะต้องพบกับชะตากรรมเดียวกับนายโรมัน โพรเทสวิช ชาวเบลารุสที่อยู่บนเครื่องบินของสายการบินไรอันแอร์ ซึ่งถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลาเจ็ดเดือนหลังจากที่ถูกนำตัวลงจากเครื่องบิน หรือนายเซอร์เก ติคานอฟสกี ที่ถูกจำคุกเป็นเวลา 18 ปี หลังจากที่ก่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในปี 2563
นายลูคาเชนโกนั้นได้ใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างไร้ขอบเขตผ่านการทำงานจากที่บ้านของเขาและไม่สนใจว่าจะถูกนานาชาติตำหนิแต่อย่างใด ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นทางอียุก็ได้ออกมาตรการลงโทษเบลารุสไปแล้ว ในประเด็นเรื่องมาตรการต่อกลุ่มผู้ลี้ภัย
ทั้งนี้ในนอกเหนือจากนายลูคาเชนโกแล้ว ก็มีบุคคลอื่นๆที่เข้าชิงตำแหน่งผู้นำทุจริตแห่งปีได้แก่ นายโมฮัมหมัด อัชราฟ กานี อะหมัดไซ อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานที่หลุดจากตำแหน่งจากสงครามกลางเมืองกับกลุ่มตาลีบันในปีที่ผ่านมา,นายบาชาร์ ฮาเฟซ อัล-อัสซาด ผู้นำเผด็จการประเทศซีเรีย,นายเรซิป เทย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี และนายเซบาสเตียน เคียร์ซ นายกรัฐมนตรีออสเตรียที่ลาออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาว่าพัวพันกรณีทุจริตเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา
นายโมฮัมหมัด อัชราฟ กานี อะหมัดไซ อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
โดยนายซัลลิแวนกล่าวว่านายกานีนั้นสมควรต่อตำแหน่งดังกล่าวด้วยเพราะว่า มีพฤติกรรมที่โดดเด่นทั้งในเรื่องการทุจริตและไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ อีกทั้งยังละทิ้งประชาชนของตัวเองให้เผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้ายและความตาย ในขณะที่ตัวเขาสามารถไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกลุ่มอดีตเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้
ในขณะที่นายอัสซาดนั้นยังคงมีส่วนในสงครามกลางเมืองของซีเรียอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปและมีการขโมยเงินไปแล้วเป็นจำนวนกว่าร้ายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง ส่วนนายเออร์โดกันนั้นมีส่วนในการกำกับดูแลรัฐบาลที่ทุจริต ซึ่งดำเนินการใช้ธนาคารของรัฐฟอกเงินทุนจากประเทศจีนให้กับรัฐวิสาหกิจน้ำมันของประเทศอิหร่าน และนายเคียร์ซก็เคยเป็นถึงผู้นำพรรคประชาชนออสเตรีย (OVP) ที่ถูกกล่าวหาว่ารวมหัวกับนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์อีกเก้าคนในการยักยอกเงินและมีส่วนในการติดสินบนเจ้าหน้าที่
เรียบเรียงจาก:https://www.occrp.org/en/poy/2021/