บริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ได้ชนะสัญญาจากธนาคาร VTB ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ดำเนิน โดยหลังจากที่มีมาตรการคว่ำบาตรประเทศรัสเซียในช่วงปี 2557 ธนาคารแห่งนี้ก็ยังดำเนินกิจการอยู่และถูกตั้งฉายาว่าเป็นเสมือนกับกระปุกออมสินของนายปูติน โดยข้อมูลจากรายงานเอกสารอีกชุดของไอซีไอเจี่ชื่อว่าปานามาเปเปอร์สนั้นรายงานว่าพบว่ามีบุคคลใกล้ชิดกับนายปูตินได้มีการย้ายเงินเป็นจำนวนมหาศาลจากบริษัทนอกอาณาเขตผ่านบริษัทตัวแทนของธนาคาร VTB
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ยังคงเกาะติดในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกันกับวิกฤติรัสเซียและประเทศยูเครน
โดยเว็บไซต์ผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือไอซีไอเจ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ได้รายงานข่าวเมื่อวันที่ 15 มี.ค. อ้างถึงบันทึกจากเอกสารแพนโดร่าหรือที่เรียกกันว่าแพนโดร่าเปเปอร์ส และเอกสารที่รั่วไหลอื่นๆ ในประเด็นที่ว่าบริษัทผู้ทรงอิทธิพลจากชาติตะวันตกนั้นมีส่วนได้เข้าไปช่วยเหลือมหาเศรษฐีชาวรัสเซียให้พ้นจากมาตรการคว่ำบาตรที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2557 หลังจากเหตุการณ์ที่ประเทศรัสเซียเข้าผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ในเอกสารระบุว่าพบข้อมูลว่าบริษัทสำนักกฎหมายชั้นนำทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักรนั้นได้ช่วยเหลือกลุ่มโอลิการ์ช (มหาเศรษฐีที่มีความใกล้ชิดและมีบทบาทกับคณะผู้ปกครองประเทศ) ชาวรัสเซีย,เครือญาติที่เกี่ยวข้อง,และบริษัทของพวกเขาในหลายด้านด้วยกัน อาทิ ช่วยเหลือในด้านการซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง เช่น เรือยอชท์ และบ้าน ,ช่วยยุติข้อพิพาททั้งส่วนบุคคลและข้อพิพาททางธุรกิจ,ช่วยให้โอลิการ์ชเหล่านี้สามารถเอาตัวรอดได้ในช่วงเวลาที่ถูกคว่ำบาตร,ช่วยเหลือในด้านการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกับผู้สื่อข่าว,ช่วยเหลือในด้านการระดมทุนในตลาดของประเทศตะวันตก และช่วยเหลือในการโยกย้ายเงินทุนเข้าและออกภายใต้ข้อตกลงนอกอาณาเขตอย่างไรบ้าง
โดยหนึ่งในบริษัทสำนักกฎหมายชื่อดังที่ถูกกล่าวถึงนั้นก็คือบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นานาชาติได้มีการคว่ำบาตรต่อประเทศรัสเซียในหลายด้านด้วยกัน ทางด้านของนายจอห์น แมคกินเนสส์ โฆษกของบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ทางอีเมลกับไอซีไอเจว่า บริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ นั้นจะดำเนินการปิดสำนักงานทั้งหมดในประเทศรัสเซีย
นายแมคกินเนสส์ได้กล่าวต่อไปว่าการปิดสำนักงานนั้นหมายความว่าทางบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพของสำนักงานในกรุงมอสโกและในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งประกอบไปด้วยลูกจ้างจำนวน 260 ราย อันรวมไปถึงทนาย 130 ราย ให้กลายเป็นบริษัทแห่งใหม่นั่นเอง โดยบริษัทแห่งใหม่ที่ว่ามานี้นั้นจะดำเนินการโดยอิสระไม่ขึ้นตรงต่อบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ แต่อย่างใด
แถลงการณ์ของบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ อันเกี่ยวข้องกับประเทศรัสเซีย
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่านอกเหนือจากประเทศรัสเซียแล้วบริษัทยังได้ประกาศว่าจะปิดสำนักงานที่ประเทศยูเครนไปจนกว่าที่สถานการณ์ในประเทศนั้นจะคงที่
สำหรับที่ประเทศรัสเซียนั้น บริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ได้มีการเข้าไปตั้งบริษัทตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา ในช่วงเวลาที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียตอยู่ และต่อมาใช่วงปี 2536 หรือประมาณ 2 ปีหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต บริษัทพันธมิตรของบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ก็ได้ก่อตั้งบริษัทย่อยที่ชื่อว่า เบเคอร์ & แมคเคนซี่ ซีไอเอส ขึ้นที่บนเกาะเกิร์นซีย์ ซึ่งเป็นดินแดนภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักร โดยบริษัท เบเคอร์ & แมคเคนซี่ ซีไอเอส ดังกล่าวนี้นั้นจะดำเนินกิจการอันเกี่ยวข้องในประเทศที่เคยเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตมาก่อน
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของทั้งไอซีไอเจ,สำนักข่าวโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือ OCCRP และสื่อ IStories พบข้อมูลว่าบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ นั้นเคยชนะในหลายสัญญากับบริษัทที่ถูกคว่ำบาตร ณ เวลานี้ ซึ่งบริษัทที่ว่ามานั้นก็รวมไปถึงบริษัทที่ถูกควบคุมโดยรัฐจำนวน 6 แห่ง อันได้แก่ 1.บริษัทอุตสาหกรรมทางทหารรอสเทค 2.บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน แก๊ซพรอม,3.ธนาคารสเบอร์แบงค์,4.ธนาคารวีทีบี,5.ธนาคารเพื่อการพัฒนา VEB.RF และ 6.ธนาคารสวียาซ (Sviaz) ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่าพรอมวียาสแบงก์ (Promsvyazbank)
โดย 6 บริษัทดังกล่าวนั้นถูกคว่ำบาตรจากตะวันตกไปตั้งแต่ในช่วงปี 2557 เพื่อตอบโต้กรณีที่ประเทศรัสเซียเข้ายึดครองแหลมไครเมีย และให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนผู้ฝักไฝ่รัสเซียในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน
อย่างไรก็ตาม ไอซีไอเจได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า บริษัทรอสเทค ซึ่งเป็นบริษัทรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรหนักที่สุดได้มีการเข้าหาบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ในช่วงปี 2559 เพื่อขายหุ้นในเหมืองทองแดงขนาดใหญ่ให้กับธุรกิจเงาแห่งหนึ่งในประเทศมองโกเลีย ซึ่งการขายเหมืองดังกล่าวก็ทำให้นายกรัฐมนตรีมองโกเลียในช่วงเวลาดังกล่าวถูกสอบสวนในข้อหาว่าทุจริต
ขณะที่ทางบริษัทรอสเทคก็ได้เคยให้ข้อมูลว่าการเลือกบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ เพื่อช่วยเหลือในด้านการขายเหมืองนั้น เป็นเพราะว่าบริษัทรอสเทคกำลังหา “บริษัทกฎหมายที่มีประสบการณ์ในด้านการให้คำปรึกษาแก่องค์กรรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู)”
มีรายงานด้วยว่าเมื่อไม่นานมานี้บริษัทรอสเทคได้ส่งมอบอาวุธประเภทละอองลอยให้กับกองทัพรัสเซีย เพื่อป้องกันภัยจากเครื่องยิงจรวด,เครื่องพ่นไฟ และเพื่อปกป้องอุปกรณ์ทางทหารจากขีปนาวุธนำวิถีความแม่นยำสูง และยังปรากฎภาพด้วยว่าบริษัทนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาปืนไรเฟิลจู่โจมรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่าเอเค-12
โดยรายงานจากเอกสารแพนโดร่านั้นพบว่า ผู้เป็นเครือญาติกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรอสเทค ซึ่งก็คือนายเซอร์เก เชเมซอฟ นั้นพบว่ามีการใช้บริษัทเปลือกเป็นผู้ถือครองวิลล่าหรูและเรือซูเปอร์ยอชท์ที่ชื่อว่าวาเลอรี, อีกทั้งนายเชเมซอฟยังเป็นเพื่อนเก่าในหน่วยงานสายลับเคจีบีร่วมกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และเคยดำรงตำแหน่งเป็นพันเอกในกองทัพรัสเซียมาก่อน
ส่งผลทำให้การคว่ำบาติของสหรัฐฯและอียูนั้นได้มุ่งเน้นไปที่นายเชเมซอฟ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ท่านมานั้น ทางการประเทศสเปนได้ออกคำสั่งให้ยึดเรือยอชท์ความยาวกว่า 85 เมตรเอาไว้ โดยห้ามเคลื่อนที่ออกจากท่าเรือเมืองบาร์เซโลนา
เรือยอชท์ที่ถูกยึดไว้ที่ท่าเรือเมืองบาร์เซโลนา (อ้างอิงวิดีโอจาก บลูมเบิร์ก)
ส่วนอีกกรณีหนึ่งนั้น เมื่อเดือน มี.ค. 2561 บริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ได้ชนะสัญญาจากธนาคาร VTB ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ดำเนิน โดยหลังจากที่มีมาตรการคว่ำบาตรประเทศรัสเซียในช่วงปี 2557 ธนาคารแห่งนี้ก็ยังดำเนินกิจการอยู่และถูกตั้งฉายาว่าเป็นเสมือนกับกระปุกออมสินของนายปูติน โดยข้อมูลจากรายงานเอกสารอีกชุดของไอซีไอเจี่ชื่อว่าปานามาเปเปอร์สนั้นรายงานว่าพบว่ามีบุคคลใกล้ชิดกับนายปูตินได้มีการย้ายเงินเป็นจำนวนมหาศาลจากบริษัทนอกอาณาเขตผ่านบริษัทตัวแทนของธนาคาร VTB
โดยบทบาทของบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ในกรณีนี้ก็คือบริษัทนั้นถูกจ้างจากธนาคาร VTB เพื่อให้คำแนะนำว่าจะหลบเลี่ยงจากการเผชิญหน้ากับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและอียูได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่ธนาคารจะยังคงสามารถสนับสนุนด้านเงินทุนในโครงการสนามบินใกล้กับนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กต่อไปได้
และต่อมาในช่วงปี 2559 บริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ยังได้เคยมีการให้คำแนะนำด้านภาษีกับบริษัทแก๊ซพรอม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทางพลังงานของประเทศรัสเซีย ซึ่ง ณ เวลานี้มาตรการคว่ำบาตรฉบับใหม่จากทั้งสหรัฐฯและอียูที่ระบุว่าห้ามนำเข้าน้ำมัน ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่ต้องการจะลงโทษต่อรัฐวิสาหกิจพลังงานแห่งนี้
พอมาถึงช่วงเดือน มิ.ย.2564 บริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ก็ได้มีการให้คำแนะนำกับกระทรวงการคลังของรัสเซียอีกในเรื่องของการทำข้อตกลงพันธบัตรคิดเป็นมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (59,922,000,000 บาท)
อนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมานั้น ทางด้านของผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรม ได้มีการตั้งคำถามตามด้วยการส่งจดหมายไปที่บริษัทว่าบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ นั้นได้ทำงานให้กับบริษัทรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรจริงหรือไม่ แต่ว่าทางบริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ก็ได้อ้างถึงประเด็นเกี่ยวกับการรักษาความลับของลูกค้าและปฏิเสธที่จะตอบคำถามอันเจาะจงเกี่ยวกับสัญญาใดสัญญาหนึ่งที่ทำขึ้นกับบริษัทรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตร
บริษัทกฎหมายยังได้ระบุต่อไปด้วยว่าบริษัทเพียงแค่พยายามที่จะให้คำแนะนำทางกฎหมายที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าที่เกิดขึ้นเท่านั้น
“ทุกอย่างที่เราทำที่เบเคอร์ แม็คเค็นซี่ นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้หลักการของความโปร่งใส,ซื้อสัตย์ ความเป็นมืออาชีพและการยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมขั้นสูงสุด เราให้คำแนะนำแก่ลูกค้าของเราเกี่ยวกับกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมายในทุกขอบเขตอำนาจศาลที่ได้มีการดำเนินการ” บริษัทเบเคอร์ แม็คเค็นซี่ ออกแถลงการณ์หลังจากที่สำนักข่าวไอซีไอเจได้มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับแพนโดร่าเปเปอร์สในช่วงเดือน ต.ค. 2564
ทั้งนี้เป็นเวลามากกว่า 20 วันแล้วที่ประเทศรัสเซียได้เข้ารุกรานประเทศยูเครน, ทางด้านของเว็บไซต์บริษัทในแวดวงกฎหมาย Law.com และสื่ออันเกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆได้มีการรายงานข้อมูลว่ามีบริษัทสำนักกฎหมายจากประเทศตะวันตกประมาณ 24 แห่งได้มีการทบทวนเกี่ยวกับบทบาทของตัวเองกับความสัมพันธ์ในประเทศรัสเซียหรือพยายามที่จะตัดความสัมพัน์ที่มีกับชาวรัสเซีย
โดยบริษัทกฎหมายที่มีอิทธิพลหลายแห่งได้เริ่มที่จะหยุดกิจกรรมล็อบบี้ให้กับธนาคารรัสเซียหลายแห่งที่ถูกคว่ำบาตร อาทิ บริษัทกฎหมายซิดลีย์ ออสติน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองชิคาโก สหรัฐฯ ได้ตัดความสัมพันธ์กับธนาคาร VTB หลังจากที่เมื่อช่วงเดือน เม.ย- ก.ย. 2564 บริษัทแห่งนี้ได้ถูกจ้างจากธนาคาร VTB คิดเป็นเงินจำนวนกว่า 180,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (5,992,200 บาท) เพื่อให้ดำเนินการจัดทําบันทึกนโยบายรายสัปดาห์เพื่ออธิบายการพัฒนาในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย (ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ)
สำหรับบริษัทซิดลีย์นั้นได้เข้าไปเป็นตัวแทนให้กับธนาคาร VTB ตั้งแต่ปี 2558 หลังจากที่ธนาคารแห่งนี้ถูกมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงน้อยกว่า ณ เวลานี้ โดยในช่วงเดือน ต.ค. 2560 นักล็อบบี้ยิสต์ จากบริษัทซิดลีย์ได้มีการพบกันเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อหารือว่ามาตรการคว่ำบาตรจะจำกัดกิจกรรมของธนาคาร VTB อย่างไรบ้าง และมีรายงานว่านายอังเดร คอสติน ประธานธนาคาร VTB และผู้ใกล้ชิดกับนายปูตินก็ได้เข้าร่วมการพบปะดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อสหรัฐฯได้อนุมัติให้หน่วยเฉพาะกิจเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและติดตามทรัพย์สินของโอลิการ์ชชาวรัสเซีย ก็พบข้อมูลว่านายคอสตินนั้นมีเรือยอชท์ชื่อว่า ซี แรปโซดี้ ซึ่งเรือดังกล่าวนั้นถูกพบว่ากำลังมุ่งหน้าไปยังเกาะเซเชลส์
ส่วนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็พบว่ามีบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Linklaters LLP ที่ได้เคยเข้าไปเป็นตัวแทนให้กับทั้งแก๊ซพรอม,ธนาคาร VTB,ธนาคารสเบอร์แบงค์ และรัฐวิสาหกิจน้ำมันรอสเนฟท์ของรัสเซีย โดยบริษัท Linklaters LLP นั้นถือว่าเป็นบริษัทกฎหมายขนาดใหญ่แห่งแรกที่ออกมาประกาศว่าจะปิดสำนักงานบริษัทที่มีอยู่ในประเทศรัสเซีย
แต่ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทนี้ก็ต้องเผชิญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวข้องกับประเทศรัสเซีย เมื่อคณะกรรมการรัฐสภาสหราชอาณาจักร ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์บริษัทแห่งนี้ว่าไม่ยอมที่สำแดงข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ในกรณีที่บริษัทนั้นได้เข้าไปทำงานร่วมกับ En+ Group ซึ่งเป็นบริษัทของนายโอเล็ก เดริปาสกา หนึ่งในมหาเศรษฐีรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64