มีข้อมูลระบุว่านายเอส เอส เอสวารา เรดดี้ เจ้าหน้าที่ JDC ได้พยายามควบคุมรายงานการประชุม SEC เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 โดยเปลี่ยนคำว่า ‘ข้อมูล’ ในรายงานเป็น ‘กระบวนการทดลอง’ เพื่อให้มีการแนะนำยา อันจะทำให้เกิดประโยชน์โดยมิชอบเป็นอย่างมากต่อบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ ขอนำเสนอประเด็นการทุจริตให้สินบนครั้งใหญ่ในวงการเภสัชกรรมของประเทศอินเดีย
เมื่อสำนักข่าวหลายแห่งของประเทศอินเดียได้รายงานว่าเมื่อประมาณวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา สํานักงานสอบสวนกลาง หรือว่า CBI ได้เข้าจับกุมนายเอสวารา เรดดี้ (S. Eswara Reddy) เจ้าหน้าที่ตำแหน่งผู้ตรวจสอบและประสานงานเพื่อควบคุมด้านการยาของรัฐหรือว่า JDC,เข้าจับกุมนายแอล ประวีณ กูมาร์ รองประธานของบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์ (Biocon Biologics) และเข้าจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องอีกสามราย ในฐานะที่ทั้งหมดนั้นมีส่วนร่วมกันในการให้สินบนเพื่อที่จะทำให้เกิดการยกเว้นการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 สำหรับการทดลองการใช้ยาแบบฉีดที่ชื่อว่าอินซูลิน แอสพาร์ท (Insulin Aspart)
โดยยาอินซูลินดังกล่าวนั้นเป็นยาที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทไบโอคอนเพื่อที่จะให้บรรเทาในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2
อย่างไรก็ตามทางบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทของนางคีแรน มาซุมดาร์ ชอว์ (Kiran Mazumdar Shaw) เศรษฐินีชาวอินเดียผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทไบโอคอนนั้นก็ได้ออกมาปฎิเสธแล้วว่าบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์ นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการให้สินบนแต่อย่างใด
นางคีแรน มาซุมดาร์ ชอว์ (Kiran Mazumdar Shaw) เศรษฐินีชาวอินเดียผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทไบโอคอน
มีรายงานด้วยว่านอกเหนือจากนายกูมาร์และนายเรดดี้ ทาง CBI ยังได้ดำเนินการควบคุมตัวนายดิเนซ ดูอา (Dinesh Dua) ผู้อำนวยการบริษัท Synergy Network India Private Limited ซึ่งนายดูอานั้นถูกกล่าวหาว่าให้เงินสินบนกับนายเรดดี้คิดเป็นจำนวน 400,000 รูปี (181,090 บาท),เข้าควบคุมตัวนางกุลจิต เซธี ผู้ร่วมขบวนการกับบริษัทไบโอคอนฯ และเข้าควบคุมตัวนายอนิเมช กูมาร์ ผู้ช่วยผู้ตรวจการคุณภาพด้านการยา
อนึ่งตำแหน่งของนายเรดดี้นั้นอยู่ภายใต้สังกัดองค์การควบคุมมาตรฐานยากลาง (CDSCO) ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงนิวเดลี โดยองค์การที่ว่านี้เทียบได้กับองค์การเภสัชกรรมของประเทศไทย
ทั้งนี้สำหรับการจับกุมนั้น เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ CBI ได้เข้าจับกุมนายดูอาขณะที่เขากำลังให้เงินสินบนเพื่อแลกกับการให้ออกคำสั่งเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทไบโอคอนในด้านของการทดลองยาฉีดอินซูลินในระยะ 3 ซึ่งในระหว่างการจับกุมนั้นพบว่านายดูอาและผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นกำลังมีการทำเอกสารที่จำเป็นสำหรับกระบวนการอยู่ โดยเอกสารดังกล่าวนี้นั้นทางเจ้าหน้าที่ CBI เปิดเผยว่าจะมีการนำไปใช้ในชั้นศาลพิเศษต่อไปในเร็วๆนี้
โดยเบื้อง CBI ได้ตั้งข้อหาผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้ารายว่ามีความผิดในฐานมีพฤติกรรมสมรู้ร่วมคิดกันก่ออาชญากรรม,มีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร และมีความผิดฐานทุจริต
ส่วนทางด้านของโฆษกของบริษัทไบโอคอนฯได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวและยืนยันว่าทางบริษัทนั้นพร้อมจะให้ความร่วมมือกับการสอบสวนอย่างเต็มที่
“เราปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าในเรื่องของการที่ว่าบริษัทได้มีส่วนในการให้สินบนตามที่ปรากฏอยู่บนหน้าสื่อ ทุกผลิตภัณฑ์ของเรานั้นได้รับการอนุมัติอย่างถูกต้อง และมีข้อมูลทั้งในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลในกระบวนการทดลองทางคลินิกรองรับ ยาอินซูลินแอสพาร์ท ของเรานั้นได้รับการอนุมัติทั้งในยุโรปและในอีกหลายประเทศทั่วโลก” โฆษกบริษัทกล่าว
โฆษกบริษัทกล่าวต่อไปว่าบริษัทนั้นได้มีกระบวนการกำกับดูแลที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการผลิตยา ซึ่งได้รับการรับรองจาก ผู้ควบคุมการยาของประเทศอินเดีย (DCGI) โดยขั้นอนการรับรองทั้งหมดในประเทศอินเดียนั้นเป็นการดำเนินงานในรูปแบบออนไลน์ และบันทึกการประชุมทั้งหมดนั้นก็สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งหลังจากที่มีเรื่องดังกล่าว ทางเราก็กำลังดำเนินการร่วมมือกับหน่วยงานสอบสวนอย่างเต็มที่
ทาง CBI ยังได้ตั้งข้อหานางเซธี ในข้อหาว่าเป็นเส้นทางการเงินสินบนของบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์ โดยระบุว่านางเซธีนั้นมีการสมคบคิดกับนายประวีณ กูมาร์ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายกำกับดูแลด้านกิจการต่างชาติของบริษัทไบโอคอนฯ และตั้งข้อหาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอีกจำนวนหนึ่งในข้อหาว่าทั้งหมดนั้นร่วมกันจ่ายสินบนให้กับนายเรดดี้เป็นเงินจำนวน 900,000 รูปี (407,454.66 บาท)
ทั้งนี้การให้สินบนดังกล่าวนั้นมีจุดประสงค์เพื่อที่จะให้มีการส่งไฟล์ที่มีเนื้อหาเป็นคุณสำหรับยาฉีดอินซูลินแอสพาร์ทเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการยาของอินเดียหรือว่า SEC ซึ่งมีการประชุมกันเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องมีการทดลองทางคลินิกสำหรับยาฉีดอินซูลินแอสพาร์ทในระยะที่ 3
ยาอินซูลินของบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์
“การทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 นั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าจะเป็นกลไกที่จะประเมินด้านความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ดังนั้นความพยายามใดก็ตามเพื่อจะให้มีการยกเลิกกระบวนการทดลองดังกล่าวนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในด้านสาธารณสุขอย่างร้ายแรง” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าว
โดยในการประชุม SEC เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น นายเรดดี้ก็ได้เข้าประชุมด้วยเช่นกัน และเขาก็เป็นผู้แสดงความเห็นว่าควรจะให้มีการยกเลิกกระบวนการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3
“มีข้อมูลระบุว่านายเอส เอส เอสวารา เรดดี้ เจ้าหน้าที่ JDC ได้พยายามควบคุมรายงานการประชุม SEC เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 โดยเปลี่ยนคำว่า ‘ข้อมูล’ ในรายงานเป็น ‘กระบวนการทดลอง’ เพื่อให้มีการแนะนำยา อันจะทำให้เกิดประโยชน์โดยมิชอบเป็นอย่างมากต่อบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์” เอกสาร CBI ระบุ
อนึ่ง CBI ได้ติดตามคดีนี้มาเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งเดือนแล้ว หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลว่านายเรดดี้นั้นมีการเข้าถึงและจัดการกับข้อมูลและเอกสารต่างๆที่จำเป็นจะต้องใช้สำหรับกระบวนการอนุมัติยาและวัคซีนสำหรับบริษัทยาจำนวนหลายแห่ง
หน่วยงานสอบสวนยังได้มีการติดตามพฤติการณ์ของนายเรดดี้ จนพบว่ามีเอกสารของบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์จำนวน 3 ชุด ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นไฟล์ที่เกี่ยวข้องกับการให้ยกเลิกการทดลองระยะที่ 3 กับยาฉีดอินซูลินแอสพาร์ท ซึ่งพบว่าด้อยคุณภาพมาก โดยเอกสารทั้ง 3 ชุดดังกล่าวนั้นพบว่ามีการอ้างถึงนายเรดดี้เพื่อที่จะนำไปใช้ในกระบวนการอนุมัติการใช้งาน
สำหรับหน่วยงานที่จะต้องทำหน้าที่อนุมัติการใช้งานยาชนิดใหม่ๆนั้นก็คือ CDSCO โดยหน่วยงานนี้จะต้องมีการดำเนินการทดลองทางคลินิกและวางมาตรฐานให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานยาเหล่านี้
CBI ยังได้รับทราบข้อมูลด้วยว่านางเซธีนั้นยังได้เป็นผู้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการกฎระเบียบของรัฐบาลอันเกี่ยวข้องกับบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์ และยังเป็นผู้ที่มีสัมพันธ์ทางธุรกิจกับนายดูอาด้วยเช่นกัน โดยมีรายงานว่ามีบริษัทยาหลายแห่งนั้นเป็นลูกค้าของนางเซธี หรือก็คือนางเซธีทำหน้าที่เป็นล็อบบี้ยิสต์ให้กับบริษัทยาเหล่านี้เพื่อให้ได้รับการอนุมัตินั่นเอง
ข้อกล่าวหาระบุต่อไปว่านางเซธีนั้นจะเป็นผู้ถือเงินสินบนก้อนใหญ่ที่มาจากทั้งนนายดูอา และจากผู้ให้สินบนรายอื่นๆเพื่อส่งเงินนี้ไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ CDSCO เพื่อที่ว่าทาง CDSCO นั้นจะได้มีการประมวลผลยาในทิศทางที่เป็นคุณต่อลูกค้าของเธอ
มีรายงานด้วยว่านางเซธีนั้นยังได้สมคบคิดกับนายอนิเมช กูมาร์ ผู้ช่วยผู้ตรวจการคุณภาพด้านการยา และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆเพื่อให้ช่วยรวบรวมไฟล์ข้อมูลของบริษัทไบโอคอน ไบโอโลจิกส์เพื่อที่จะใช้ในการประชุมของ SEC อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายเซธีได้มีการจ่ายเงินให้กับนายกูมาร์ไปทั้งสิ้น 30,000 รูปี (13,581 บาท) เพื่อให้ดำเนินการดังกล่าวนี้
โดยนายเรดดี้ได้ให้คำยืนยันกันนายดูอาว่าผลการประชุมตัดสินใจของ SEC นั้นเป็นไปตามแผนการที่ได้วางเอาไว้ เช่นเดียวกับนายกูมาร์ที่ได้ยืนยันการตัดสินใจของ SEC ไปให้กับทางนางเซธีได้รับทราบ
พอทุกอย่างเป็นไปตามแผน นายเรดดี้ก็ได้ระบุให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นไปพบกับเขาที่ย่ายชานาคยาปุริในกรุงนิวเดลี
ในข้อกล่าวหายังได้บรรยายพฤติกรรมของประวีณ กูมาร์ว่าเป็นผู้ที่ส่งสัญญาณไปถึงนางเซธีว่าจะมีการจ่ายเงินสินบนทั้งสิ้นรวม 9 แสนรูปี ส่งไปให้กับนายเรดดี้ เพื่อแลกกับการที่ SEC ได้มีมติประชุมเพื่อเอื้อให้กับบริษัทไบโอคอนฯ ก่อนหน้านี้
โดยฝั่งของนางเซธีก็ได้ให้คำแนะนำกับนายดูอาว่าให้จ่ายเงินสินบนที่ว่านี้ส่วนหนึ่งคิดเป็นจำนวน 4 แสนรูปีก่อน โดยการจ่ายเงินที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ ที่พักอาศัยของนายดูอา
และวันดังกล่าวก็เป็นวันที่ทางเจ้าหน้าที่ CBI ได้เข้าจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน โดยสามารถยึดเงินของกลางและเอกสารที่เกี่ยวข้องได้
เรียบเรียงจาก:https://thewire.in/government/five-arrested-by-cbi-for-alleged-bribery-to-favour-biocon-biologics-insulin-jab
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารเครือยักษ์ใหญ่รัฐบอลติก เอี่ยวฟอกเงินหมื่น ล.โอลิการ์ชรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: ปลด รมต.สธ.เวียดนาม เซ่นปมขายชุดตรวจโควิดแพง 45% เอกชนฟันกำไร 709 ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:นักธุรกิจจีนเอี่ยวคดีสินบน อดีตที่ปรึกษาฮุนเซน ถือหุ้นสโมสรเบอร์มิงแฮม
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเส้นทางการเงินคดีให้สินบนนายพลจีน สู่คฤหาสน์พันล้าน ณ แวนคูเวอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงข้อพิรุธธุรกรรม เชื่อมโยงทอง 3 ตันประเทศกินี ส่อถูกฟอกในอังกฤษ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ย้อมแมวจรวด,โดรน-กินส่วนต่างวิทยุ 3 พันล. ต้นเหตุรัสเซียติดหล่มในยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดข้อพิรุธเอกชนไร้ประสบการณ์ ชนะสัญญาชุด PPE รบ.ออสเตรเลีย หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยสินบนเรือดำน้ำมาเลเซีย พัน ล.! ฝรั่งเศสสั่งสอบ บ.ต่อเรือรบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'รมต.สเปน'โดนสอบ ใช้ช่องพิเศษอนุมัติสัญญาโควิดเอื้อ บ.พวกพ้อง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมคอรัปชั่นในกองทัพรัสเซีย-งบปี 65 รวม 2 ล้าน ล.ไม่รู้ไปไหนบ้าง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64