ในเดือน ธ.ค. 2564 กองทัพอากาศคูเวตก็ได้รับเครื่องบินรบจำนวน 2 ลำแรกในลอตการสั่งซื้อนี้ ซึ่งพิธีการรับมอบเครื่องบินนั้นเกิดขึ้น ณ ฐานทัพอากาศกาเซลเล ใกล้กับเมืองตูริน ประเทศอิตาลี แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องราคาที่สูงเกินไปของเครื่องบินนั้นทำให้เกิดคำถามตามมา เนื่องจากมีการเปรียบเทียบการจัดซื้อเครื่องบินที่คล้ายๆกันในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางใกล้ๆกับคูเวต และพบว่าประเทศเหล่านั้นได้จ่ายเงินไปด้วยจำนวนที่น้อยกว่ามาก
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอเสนอกรณีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อเครื่องบินรบที่ประเทศคูเวต
โดยเมื่อประมาณวันที่ 26 ม.ค.ทีผ่านมา มีรายงานข่าวจากต่างประเทศหลายสำนักรายงานอ้างอิงข้อมูลทางการจากรัฐบาลคูเวตว่ารัฐบาลนั้นได้ระบุชื่อบุคลากรทางทหารระดับสูงของกองทัพจำนวน 2 รายที่จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตอันมีมูลค่าสูง อันเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อเครื่องบินรบยูโรไฟเตอร์ ไต้ฝุ่น ซึ่งก่อนที่จะมีการสั่งให้ลงโทษดังกล่าวนั้น ทางรัฐบาลได้มีการสั่งการให้ดำเนินการสอบสวนแล้วว่าทำไมการจัดซื้อเครื่องบินรบรุ่นดังกล่าวนี้ ถึงมีราคาการจัดซื้อที่สูงเกินจริงไปมาก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศคูเวตได้ออกมารายงานว่ามีทหารยศพลตรี และนายทหารยศพันตรีที่อยู่ในกองทัพบกจำนวน 2 ราย จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาว่าได้นำเอางบประมาณของแผ่นดินไปใช้โดยผิดประเทศ ซึ่งการดำเนินการเปิดของหน่วยงานปราบทุจริตดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างความรับผิดชอบให้เกิดขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สาธารณชนคูเวตได้ออกมาวิพากวิจารณ์ถึงการทุจริตและความผิดปกติในด้านการใช้จ่ายเงินในหน่วยงานของรัฐ
สำหรับความเป็นไปเป็นมาของการจัดซื้อดังกล่าวนั้น ย้อนไปเมื่อเดือน เม.ย. 2559 รัฐบาลคูเวตได้มีการอนุมัติงบประมาณจำนวนกว่า 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (290,614,800,000 บาท) เพื่อให้ไปดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินรบยูโรไฟเตอร์ ไต้ฝุ่น รุ่น Tranche 3A จำนวน 28 ลำ จากกิจการร่วมค้าที่ประกอบไปด้วยบริษัทจากยุโรปจำนวนหลายแห่ง และนอกจากนี้ในรายละเอียดการจัดซื้อยังได้ระบุว่าจะมีการซื้ออาวุธประเภทอากาศสู่พื้นอื่นๆประกอบกับเครื่องบินรบด้วย อาทิ ขีปนาวุธ MBDA Storm Shadow,และ ขีปนาวุธ Brimstone
ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2564 กองทัพอากาศคูเวตก็ได้รับเครื่องบินรบจำนวน 2 ลำแรกในลอตการสั่งซื้อนี้ ซึ่งพิธีการรับมอบเครื่องบินนั้นเกิดขึ้น ณ ฐานทัพอากาศกาเซลเล ใกล้กับเมืองตูริน ประเทศอิตาลี แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องราคาที่สูงเกินไปของเครื่องบินนั้นทำให้เกิดคำถามตามมา เนื่องจากมีการเปรียบเทียบการจัดซื้อเครื่องบินที่คล้ายๆกันในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางใกล้ๆกับคูเวต และพบว่าประเทศเหล่านั้นได้จ่ายเงินไปด้วยจำนวนที่น้อยกว่ามาก
ยกตัวอย่างเช่นประเทศกาตาร์ได้ใช้งบประมาณ ไปประมาณ 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (230,487,600,000 บาท) สำหรับการจัดซื้อเครื่องบินรบรุ่นเดียวกันจำนวน 24 ลำซึ่งจะมีกำหนดการจัดส่งในปี 2566 ขณะที่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้เคยจัดซื้อเครื่องบินรบไต้ฝุ่น ในรุ่นที่เก่ากว่ารุ่นของประเทศคูเวต จำนวนทั้งสิ้น 72ลำ คิดเป็นมูลค่าการจัดซื้อรวม 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (200,424,000,000 บาท) และหลังจากนั้นเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้มีการทำข้อตกลงกับรัฐบาลอังกฤษคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (167,020,000,000 บาท) เพื่อดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินรบในรุ่นเดียวกันเพิ่มเติมอีกจำนวน 48 ลำ
ข่าวการรับมอบเครื่องบินรบไต้ฝุ่นจำนวน 2 ลำเบื้องต้น (อ้างอิงวิดีโอจาก Military Coverage)
ขณะที่สำนักข่าว KUNA ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลคูเวตก็ได้รายงานว่า จากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้หน่วยงานต่อต้านการทุจริตของคูเวตเข้ามาตรวจสอบรายละเอียดของข้อตกลงการจัดซื้อและพบว่ามีเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกมีส่วนเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับงบประมาณแผ่นดินด้วยการออกเอกสารใบเสร็จที่เกินราคาให้สูงเกินจริงกับทางบริษัทผู้ผลิต ซึ่งราคาในเอกสารใบเสร็จดังกล่าวนั้นมีมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่ารวมที่ได้มีการตกลงกันไว้ในรายละเอียดของสัญญาหลัก
ในรายงานยังได้ระบุต่อไปด้วยว่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นนั้น ก็ไม่ได้เกิดภายใต้การอนุมัติของหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องทั้งในกระทรวงกลาโหมและในกระทรวงการคลัง และยังไม่มีเอกสารยืนยันข้อมูลการซื้อขาย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นถือว่าส่งผลกระทบต่อตารางการจ่ายเงินเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ในกระบวนการสอบสวน ทางการยังได้ระบุถึงแหล่งข่าวนิรนามรายหนึ่งด้วยว่าได้ให้การช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องของการให้ข้อมูลอันเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณโดยผิดประเภท และระบุต่อไปว่าการรวบรวมหลักฐานและพิจารณานั้นจะยังคงดำเนินต่อไป
@ท่าทีของบริษัทลีโอนาร์โด
สำหรับเครื่องบินรบ 28 ลำที่จะจัดส่งให้กับประเทศคูเวตนั้น จะถูกผลิตโดยบริษัทลีโอนาร์โด สัญชาติอิตาลี ซึ่งบริษัทแห่งนี้ได้ออกแถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา ว่าบริษัทนั้นไม่ได้ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบสวนใดๆที่ประเทศคูเวต และข้อตกลงในการจัดหาเครื่องบินนั้นก็ยังดำเนินการต่อไปตามที่ได้วางแผนเอาไว้
โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา หุ้นของบริษัทลีโอนาร์โดตกลงไปอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ถือหุ้นก็โทษว่ามาจากกระบวนการสอบสวนข้อตกลงของคูเวต ส่วนบริษัทก็ได้ชี้แจงว่าความสัมพันธ์กับประเทศคูเวตนั้นยึดถือตามหลักการว่าด้วยความโปร่งใสและความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ และบริษัทยังได้ระบุต่อไปอีกว่าการทำธุรกรรมในแต่ละครั้งนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
บริษัทได้ระบุต่อไปถึงสัญญาว่าจะไม่ได้มีแค่การผลิตเครื่องบินในอิตาลีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดำเนินการด้านการขนส่ง,บริการสนับสนุนด้านการดำเนินงานเบื้องต้นอีก 3 ปี และสามารถต่ออายุได้เพิ่มเติมอีก 5 ปี และการให้การฝึกอบรมบุคลากรให้พร้อมสำหรับการบิน นอกจากนี้ทางบริษัทจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ฐานทัพอาลีอัลซาเล็ม อันจะเป็นฐานทัพแห่งใหม่ของเครื่องบินรบชุดใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
@การสืบสวนที่ยังคงดำเนินต่อไป
ทั้งนี้ประเด็นเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินรบไต้ฝุ่นนั้นไม่ใช่ข้อครหาแรกที่เกิดขึ้นกับกระบวนการจัดซื้อในกองทัพคูเวต เรื่องจากในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ รัฐบาลคูเวต ณ เวลานั้น ต้องถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีข้อครหาว่าใช้งบเพื่อสนับสนุนกองทัพอย่างไม่เหมาะสมคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (26,723,200,000 บาท)
ต่อมาในเดือน พ.ย. 2562 ในช่วงที่ ชีคนัสเซอร์ ซาบาห์ อัล-อาห์เหม็ด อัล-สะบาห์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี ก็มีกรณีที่ชีคจาเบอร์ อัล-มูบารัค นายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับความผิดปกติในด้านการใช้จ่ายงบในกองทัพบกได้
พอมาถึงต้นปี 2564 ก็มีรายงานว่าทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถูกพิพากษาให้จำคุกเนื่องจากข้อหาว่าใช้งบประมาณของกองทัพโดยผิดวัตถุประสงค์
นอกจากนี้ยังมีกรณีข้อครหาการใช้งบประมาณกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (40,084,800,000 บาท) เพื่อดำเนินการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ทางการทหารรุ่นการากัลจำนวนกว่า 30 ลำ ที่ถูกสอบสวนโดยทางการ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนั้นเป็นการเซ็นกันระหว่างนายฌ็อง-เยฟส์ เลอ ดรีอัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เดินทางไปยังประเทศคูเวตเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2559 แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลการให้สินบนผ่านโบรกเกอร์ชาวเลบานอนปรากฏให้เห็นต่อสาธารณชน
เฮลิคอปเตอร์ทางการทหารรุ่นการากัลที่ประเทศคูเวตจัดซื้อจากบริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศส (อ้างอิงวิดีโอจาก Military Technology Zone)
ทำให้ทางด้านของชีค จาเบอร์ อัล-มูบารัค อัล-ฮาหมัด อัล-ซาบาห์ อดีตนายกรัฐมนตรีต้องสั่งให้มีการสอบสวนการจัดหาเฮลิคอปเตอร์จำนวน 30 ลำดังกล่าว อันแบ่งออกเป็น 24 ลำให้กับกองทัพอากาศและอีก 6 ลำให้กับกองกำลังแห่งชาติคูเวต ซึ่งคำสั่งการสอบสวนนั้นเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. 2561
โดยขณะนี้มีรายงานว่าหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็กำลังดำเนินการสอบสวนในเรื่องนี้เช่นกัน ในขณะที่ประเทศคูเวตกำลังรับโอนเฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวมาจากทางบริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศส
เรียบเรียงจาก:https://eurasiantimes.com/eurofighter-typhoon-deal-on-radar-as-corruption-charges-kuwaiti/
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64