ผู้หนีคดีที่มีฐานะร่ำรวยนั้นพบว่าได้ใช้นามแฝงและหนังสือเดินทางสำหรับนักลงทุนมากขึ้นเพื่อจะดำเนินการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า โดยบุคคลนั้นจะยังคงสามารถย้ายเงินสดจำนวนมหาศาลมาได้ในกระเป๋าเดินทางจำนวนหลายใบของพวกเขา และถ้าหากพวกเขาประสบปัญหาในการขนเงินมาจริงๆ ตู้เอทีเอ็มหลายแห่งในนครดูไบนั้นจะยังคงให้บริการถอนเงินต่อวันเป็นจำนวนสูงกว่า 50,000 ดีแรห์มส์ (453,785 บาท)
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอประเด็นเรื่องการใช้นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นสถานที่ซุกซ่อนและโยกย้ายทรัพย์สินของผู้ที่กระทำผิดกฎหมายกันอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลาที่ประเทศตะวันตกกำลังตามอายัดทรัพย์สินของเหล่าโอลิการ์ช หรือเหล่าบรรดามหาเศรษฐีที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มผู้นำประเทศรัสเซีย เพื่อตอบโต้กรณีที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีออกคำสั่งให้รุกรานประเทศยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นมา
โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐอเมริกา ได้รายงานข่าวว่านครดูไบนั้นถือว่าเป็นสถานที่จะยังคงให้ผู้ที่ร่ำรวยซึ่งหลบหนีคดีออกนอกประเทศของตัวเองนั้นสามารถใช้ชีวิตอยู่ในนครแห่งนี้ต่อไปได้ โดยไม่ต้องกลัวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตราบใดที่พวกเขานั้นยังคงปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น เนื่องจากว่าพวกเศรษฐีเหล่านี้ถือว่าเป็นเสาหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจในนครแห่งนี้
อาทิ นายอาตุลและนายราเจช "โทนี่" กุปตา 2 พี่น้องนักธุรกิจจากประเทศอินเดีย ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในกรณีดังกล่าวนี้ โดย 2 พี่น้องนั้นถูกกล่าวหาว่ามีการใช้บริษัทเปลือกจำนวนหลายแห่งและใช้การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อถ่ายโอนเงินจำนวนมหาศาลมายังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่อย่างไรก็ตามเงินบางส่วนในจำนวนดังกล่าวนี้นั้น ถูกตรวจสอบจากทางคณะกรรมาธิการตุลาการแอฟริกาใต้แล้วพบว่าถูกหักออกมาจากรายได้ของสัญญาจัดหาที่ได้ทำไว้กับรัฐวิสาหกิจด้านการรถไฟ และรัฐวิสาหกิจด้านการท่าเรือของประเทศแอฟริกาใต้
จึงเป็นเหตุทำให้ทางตำรวจสากลนั้นได้ออกหมายจับแก่ 2 พี่น้อง โดยระบุเอาไว้ว่าเป็นบุคคลที่ต้องการตัวมากที่สุด ขณะที่ทางด้านของหัวหน้าฝ่ายสืบสวนของประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้เคยกล่าวเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าถือเป็นครั้งแรกที่ทางแอฟริกาใต้ต้องแสวงหาความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในคดีกุปตา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 และก็มีรายงานด้วยเช่นกันว่ามีเจ้าหน้าที่จากทางสหรัฐอเมริกา,สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปหรืออียู ได้ดำเนินการล็อบบี้สำหรับส่งตัว 2 พี่น้องด้วยเช่นกัน ส่วนนายซีริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ก็ได้เคยกล่าวในระหว่างการเยือนงานดูไบเอ็กซ์โป 2563 ว่าจะมีการยกระดับในประเด็นเรื่องเหล่านี้ให้เข้มข้นขึ้น
ขณะที่ทางด้านของ 2 พี่น้องกุปตาก็ได้ออกมาต่อสู้คดีโดยอ้างว่าพวกเขาเป็นเหยื่อการล่าแม่มดทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ในงานชุมนุม ณ นครดูไบ ก็ปรากฏว่าสมาชิกครอบครัวของผู้ที่มีส่วนจัดการความมั่งคั่งให้กับชีคของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ได้อำนวยความสะดวกให้พี่น้องกุปตานั้นสามารถดำเนินธุรกิจของพวกเขาได้ ซึ่ง 2 พี่น้องกุปตารวมไปถึงนายอาเจ พี่น้องอีกคนหนึ่งนั้นพบว่าถูกคว่ำบาตรจากทั้งทหารการสหรัฐฯ และทางการของสหราชอาณาจักร ขณะที่ทางด้านของนายรูดี เคราส์ ผู้อํานวยการสํานักงานกฎหมายในแอฟริกาใต้ ผู้เป็นตัวแทนทางกฎหมายของพี่น้องกุปตาก็ไม่ได้ตอบคําถามทางอีเมลเกี่ยวกับความคิดเห็นสําหรับเรื่องนี้แต่อย่างใด
การประท้วงในประเทศแอฟริกาใต้เพื่อเรียกร้องให้ส่งตัวพี่น้องกุปตามาดำเนินคดี (อ้างอิงวิดีโอจาก CRUX)
อนึ่งเรื่องของพี่น้องกุปตาถือว่าเป็นหนึ่งในหลายกรณีอันเกี่ยวกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในดูไบ เพราะเว็บไซต์ Reidin.com แสดงข้อมูลจากการตรวจสอบของนายธนาคารและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอันผิดกฎหมาย พบว่ามีการใช้เงินสดประมาณ 2 ใน 3 ของเงินมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,166,760,000,000 บาท) เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงเวลาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเหล่านี้นั้นก็มีทั้งผู้ซื้อจากรัสเซีย,สหราชอาณาจักร,อิหร่านและอินเดีย โดยซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่วิลล่าริมหาด รวมไปถึงอพาร์ตเมนต์สุดหรูทั้งบล็อก
ทั้งนี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับแรกสําหรับประเทศที่มีความความลับทางการเงินสูงสุด จากการประเมินประจําปีล่าสุดที่ดําเนินการโดยเครือข่ายความยุติธรรมทางภาษีในลอนดอน นั่นทําให้ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งนั่นเป็นอันดับเดียวกับประเทศโบลิเวียและไลบีเรียและเหนือประเทศสวิตเซอร์แลนด์,หมู่เกาะเคย์แมนและไซปรัส
วิลล่าหรูในนครดูไบ
@ใครได้ประโยชน์จากดูไบบ้าง?
นายโมฮัมเหม็ด อัลซูเอบี อดีตเจ้าหน้าที่ต่อต้านการฟอกเงินที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งตอนนี้เขามีตำแหน่งในด้านการจัดการการปฏิบัติตามกฎระเบียบสําหรับบริษัท อัลฟ่า แมเนจเม้นท์ จํากัด กล่าวว่า ผู้หนีคดีที่มีฐานะร่ำรวยนั้นพบว่าได้ใช้นามแฝงและหนังสือเดินทางสำหรับนักลงทุนมากขึ้นเพื่อจะดำเนินการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า โดยบุคคลนั้นจะยังคงสามารถย้ายเงินสดจำนวนมหาศาลมาได้ในกระเป๋าเดินทางจำนวนหลายใบของพวกเขา และถ้าหากพวกเขาประสบปัญหาในการขนเงินมาจริงๆ ตู้เอทีเอ็มหลายแห่งในนครดูไบนั้นจะยังคงให้บริการถอนเงินต่อวันเป็นจำนวนสูงกว่า 50,000 ดีแรห์มส์ (453,785 บาท)
โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้นอาจจะลังเล และไม่เต็มใจนักที่จะใช้วิธีการอันเข้มงวด เพราะกฎระเบียบที่มีความหละหลวมดังกล่าว ซึ่งทางด้านของนางมาร์เซนา ฮันเตอร์ นักวิเคราะห์ที่โครงการริเริ่มระดับโลกด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (The Global Initiative Against Transnational Organized Crime) กล่าวว่ากฎระเบียบที่หละหลวมดังกล่าวนั้นเป็นส่วนช่วยทำให้มีการนำเงินสกปรกเข้ามา
“แม้ว่าประเทศนั้นจะต้องการเป็นสถานที่ที่มีความถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น แต่นั่นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าดูไบได้ปราบปรามการฟอกเงินอย่างแท้จริงหรือไม่” นางฮันเตอร์กล่าว
ทั้งนี้ทางด้านของหน่วยงานคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ได้มีการจัดทำบัญชีประเทศที่มีความร่วมมือกับหน่วยงานเอาไว้ และมีการเปิดเผยข้อมูลการประเมินเอาไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2563 พบข้อมุลว่าขณะที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้จัดการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการหาเงินให้กลุ่มก่อการร้าย แต่ปรากฏว่าในเรื่องการขอข้อมูลเกี่ยวกับการฟอกเงินนั้นยังคงมาความล่าช้า และมีข้อมูลปรากฏออกมาน้อยมาก
ขณะผู้ที่มีความคุ้นเคยกับการให้คำปรึกษาแก่หน่วยงาน FATF ได้กล่าวว่าในประเด็นเกี่ยวกับทองคำและคริปโตนั้นก็เป็นอีกส่วนที่น่ากังวลเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั่วทวีปแอฟริกาได้กล่าวว่ามีโลหะมีค่าจำนวนมากจากอย่างน้อย 9 ประเทศนั้นถูกลักลอบมายังนครดูไบในแต่ละปี ซึ่งทางด้านของสหรัฐฯ ได้เคยฟ้องร้องต่อธนาคารฮัลแบงค์ นครอิสตันบูลของตุรกีใน 2562 โดยระบุเกี่ยวกับรายละเอียดว่ามีการแปลงสภาพของกองทุนอิหร่านให้อยู่ในรูปแบบของทองคำได้อย่างไร,ซึ่งพบข้อมูลว่ามีการส่งออกจากนครดูไบและขายเป็นเงินสด แต่อย่างไรก็ตามทางด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปฏิเสธอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย
ส่วนทางด้านของนางไมร่า มาร์ตินี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสเงินที่ทุจริตที่หน่วยงานความโปร่งใสระหว่างประเทศในกรุงเบอร์ลินได้กล่าวว่าการดำเนินงาน FATF นั้นก็เพื่อที่จะทำให้แต่ละประเทศได้ดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดง อายัดทรัพย์ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นครดูไบ แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้แสดงให้เห็นแล้ว่ามีช่องโหว่เกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือยึดทรัพย์สิน" "ในทางกลับกันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคมากกว่าการช่วยเหลือ” นางมาร์ตินี่กล่าว
นอกจากนี้ยังมีกรณีของบุคคลที่ชื่อว่านายบอซคอฟ หรือชื่อเล่นก็เดอะสกัล ที่แปลว่าหัวกะโหลก โดยเขานั้นเป็นที่ต้องการตัวอย่างยิ่งของทางการบัลแกเรีย ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินการคว่ำบาตรเฉพาะบุคคลนั้นระบุชัดเจนว่านายบอซคอฟนั้นอยู่ที่นครดูไบเช่นกัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาสามารถจะหลบหนีจากกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของบัลแกเรียไปได้ แม้ว่าจะมีการตั้งข้อหาจำนวนมากก็ตาม และข้อหาที่ว่านั้นก็รวมไปถึงการมีส่วนเป็นผู้นํากลุ่มอาชญากร,ข้อหาบังคับขู่เข็ญ,ข้อหาพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี
และแน่นอนว่านายบอซคอฟในวัย 65 ปี ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าได้กระทำผิดพร้อมกล่าวว่าเขาตกเป็นเหยื่อของความอาฆาตพยาบาททางการเมืองในบัลแกเรีย
นายบอซคอฟกล่าวต่อไปว่าเขาได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองแล้วในนครดูไบ เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลสูงในนครดูไบที่ปฏิเสธการส่งตัวเขากลับไปเนื่องจากว่าขาดหลักฐานการกระทำความผิดใดๆที่เกี่ยวข้อง และศาลสูงดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นขั้นสุดและไม่สามารถที่จะอุทธรณ์ได้แล้ว
ส่วนอัยการบัลแกเรียก็ได้กล่าวเช่นกันว่าได้มีการส่งเอกสาร 19 รายการที่เป็นภาษาอาหรับไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้วเพื่อที่จะเร่งการส่งตัวนายบอซคอฟกลับมา โดยนายฮริสโต คราสเตฟ โฆษกสํานักงานอัยการพิเศษในกรุงโซเฟีย หลังจากการส่งคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2563 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำตอบจากทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่อย่างใด
ขณะที่กรณีของนางอิซาเบล ดอส ซานโตส ลูกสาวของอดีตผู้นําประเทศแองโกลา ก็พบว่าเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการระงับวีซ่าของเธอ โดยระบุเหตุผลว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในระดับมโหฬาร และมีการโยกย้ายงบประมาณเพื่อใช้จ่ายสาธารณะมาใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
ทางด้านของหน่วยงานที่ประเทศแองโกลาก็ได้กล่าวหานางดอส ซานโตส ซึ่งปัจจุบันอาศัยในเกาะนอกชายฝั่งของนครดูไบ ว่าเธอนั้นมีส่วนในการสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (166,680,000,000 บาท) ในช่วงระยะเวลาตลอด 38 ปีที่บิดาของเธอได้ปกครองประเทศ อย่างไรก็ตาม โฆษกของนางดอส ซานโตสกล่าวว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่การสอบถามเบื้องต้นเท่านั้นและไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับเธอ ไม่มีศาลใดที่ดำเนินการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนแต่อย่างใด ซึ่ง ณ เวลานี้นางดอส ซานโตสได้พำนักอยู่ในทวีปยุโรปและดำเนินธุรกิจของเธอที่อยู่ในประเทศแองโกลาจากในยุโรป
นางอิซาเบล ดอส ซานโตส ลูกสาวของอดีตผู้นําประเทศแองโกลา ขณะอยู่ในโรงแรมในนครดูไบ
อย่างไรก็ตามทางด้านของสำนักงานบริหารว่าด้วยข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) ได้เคยออกมาระบุแล้วว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มีการลงนามในความช่วยเหลือทางกฎหมายและข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างน้อย 33 ฉบับ รวมถึงกับสหราชอาณาจักร,ฝรั่งเศส ,อิตาลี,อินเดีย และจีน โดยในรายละเอียดของการลงนามตอนหนึ่งระบุว่าได้มีการลดเวลาเฉลี่ยในด้านการดำเนินงานขอความร่วมมือทางตุลาการระหว่างประเทศลง จากเดิมที่มีระยะเวลา 139 วันให้เหลือลงไปอยู่ที่ 37 วัน และข้อบัญญัติดังกล่าวนั้นถูกบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2562
@ความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับพันธมิตรของนครดูไบ
โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้แสดงความต้องการว่าจะให้ความร่วมมือในเรื่องของระเบียบการต่างๆมาโดยตลอด เนื่องจากว่าปัญหาต่างๆในด้านการบังคับใช้ระเบียบการที่หย่อนยานนั้นอาจส่งผลเสียหายต่อชื่อเสียงของนครดูไบได้ ยกตัวอย่างเช่นในเดือน มิ.ย. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจดูไบได้มีการบุกเข้าไปใน เพนท์เฮาส์ อพาร์ทเมนท์ ของนายราโมน โอโลรันวา อับบาส ผู้มีอิทธิพลชาวไนจีเรีย หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าฮัชปุปปี และในช่วงเวลา 1 เดือนหลังจากการบุกของตำรวจ เขาก็ถูกส่งตัวไปยังสหรัฐฯ ในข้อหาฉ้อโกง และต่อมาเขาก็รับสารภาพตามคำฟ้องของศาล
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าแรงกดดันให้ทางดูไบได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นนั้นก็เพิ่งจะมีขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ขณะที่ผู้บริหารธนาคารระหว่างประเทศหลายแห่งได้ออกมากล่าวว่าพวกเขาได้เคยบอกทางรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปแล้วว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นั้นกำลังมุ่งไปสู่บัญชีรายชื่อสีเทาของทาง FATF อันจะส่งผลทำให้ธนาคารของพวกเขาต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น,ต้องมีการใช้เวลาและเงินที่มากขึ้นในการปฏิบัติตามระเบียบการ และอาจต้องประสบกับความเสียหายมากขึ้น อันเนื่องจากว่าอาจจะต้องโทษปรับจากหน่วยงานด้านกำกับดูแลในกรุงวอชิงตัน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นความเสี่ยงทางด้านความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่ยาวนาน ซึ่งการสนับสนุนด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯและยุโรปในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นทำให้กลุ่มผู้นำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องเผชิญกับการปราบปรามการฟอกเงินในนครดูไบ โดยรายงานของนักการทูตทั้งในอดีตและปัจจุบันได้กล่าวว่านี่ทำให้ประเด็นเรื่องของระเบียบการที่เกี่ยวข้องนั้นเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
โดยเมื่อประมาณปลายปี 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของสหรัฐฯได้มีการส่งตัวแทนไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวน 2 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ได้ส่งคำเตือนไปว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ทำให้มาตรการคว่ำบาตรของกรุงวอชิงตันนั้นมีความอ่อนแอลง แต่อย่างไรก็ตามได้มีคำโต้แย้งกลับมาว่าถ้าหากนครดูไบได้ดำเนินการปราบปรามอย่างเต็มที่แล้ว จะมีประเทศอื่นๆที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศทางตะวันตกน้อยกว่านี้เข้ามาแทนที่บทบาทของนครดูไบ
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพจาก:https://flipboard.com/,https://www.bloomberg.com/news/features/2022-03-10/dubai-s-rich-exiles-in-spotlight-as-world-sanctions-russia-over-ukraine-war
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64