เมื่อมีการทำข้อตกลงยอมรับเงื่อนไขการขายสำหรับผลิตภัณฑ์หรือสัญญาเกิดขึ้น ทางผู้บริหารหรือว่าพนักงานฝ่ายขายหรือว่าผู้บริหารของบริษัทไมโครซอฟท์ได้มีการเสนอ “ข้อตกลงเสริมร่วมกับบริษัทคู่ค้า และผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ณ นิติบุคคลที่ได้ดำเนินการตัดสินใจสั่งซื้อ
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอเสนอกรณีการเปิดโปงความไม่โปร่งใสของบริษัทไมโครซอฟท์ ที่อาจมีส่วนในการให้สินบนในหลายประเทศ โดยเมื่อประมาณวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมานั้นเว็บไซต์ techcentral.za ซึ่งเป็นสำนักข่าวด้านไอทีของประเทศแอฟริกาใต้ได้ออกมารายงานข่าวว่า 3 ปีหลังจากที่มีเหตุการณ์ทุจริตอันเกี่ยวข้องกับบริษัทไมโครซอฟท์ และคู่ค้าของบริษัทในประเทศแอฟริกาใต้ที่ชื่อว่าบริษัท EOH Mthombo ต่อกรณีการทำสัญญารัฐบาลอันไม่โปร่งใส
ล่าสุดได้มีผู้ออกมาเปิดโปงว่าสัญญากับทางรัฐบาลแอฟริกาใต้ดังกล่าวนั้นถือเป็นแค่ส่วนเล็กส่วนน้อยของกรณีการทุจริตในระดับที่ใหญ่กว่านั้นมาก ซึ่งในรายงานข่าวนั้นพบว่าบริษัทไมโครซอฟท์ ที่เป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐอเมริกาอาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการจ่ายสินบนและการกระทำอันไม่เหมาะสมอื่นๆทั่วทั้งทวีปแอฟริกา และในภูมิภาคตะวันออกกลาง
โดยผู้เปิดโปงดังกล่าวก็คือนายยัสเซอร์ เอลาบด์ อดีตผู้อำนวยการของบริษัทไมโครซอฟท์ที่รับผิดชอบงานภาครัฐและตลาดเกิดใหม่ในแอฟริกาใต้, ผู้ซึ่งทำงานให้บริษัทไมโครซอฟท์มานานกว่า 20 ปี ก่อนจะถูกเลิกจ้างในปี 2561,โดยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เขาได้เขียนรายงานบนเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Lioness อันเป็นเว็บไซต์เพื่อเปิดโปงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาต่างๆของบริษัทไมโครซอฟท์ในภูมิภาคนี้ และเขายังเชื่อว่าข้อกล่าวหาของบริษัทที่ถูกกล่าวหาเป็นระยะเวลาปีนั้น น่าจะได้รับการจัดการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข้อมูลที่มีการเปิดโปงบนเว็บไซต์ Lioness และมีการกล่าวหาว่า SEC ได้เพิกเฉยต่อการทุจริต
นายเอลาบด์กล่าวต่อไปว่าเขายังได้ส่งหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำอันไม่โปร่งใสไปให้กับสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของปะเทศสหรัฐฯแล้ว ในข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวกับการระเมิดกฎหมายว่าด้วยการให้สินบนต่างชาติ (FCPA) แต่เขาก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯว่าปฏิเสธที่จะดำเนินการตรวจสอบตามคำร้องเรียนของเขา
ในรายงานที่นายเอลาบด์ได้เขียนนั้นได้มีการประเมินว่ามีเงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6,702,600,000 บาท) ต่อปี ที่ถูกนำส่งด้วยช่องทางอันผิดปกติ โดยเงินจำนวนดังกล่าวถูกส่งไปยังทั้งลูกจ้างของบริษัทไมโครซอฟท์,ส่งไปยังคู่ค้าของบริษัท และถูกส่งไปถึงลูกจ้างของรัฐบาล ด้วยการใช้วิธีการทุจริตผ่านแผนการดำเนินงานของบริษัทในแอฟริกาและในตะวันออกกลาง
“จากประสบการณ์ของผมเชื่อได้ว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานฝ่ายขายและผู้จัดการของบริษัทในภูมิภาคตะวันออกกลาง,แอฟริกา และบริษัทบางแห่งในยุโรปนั้นได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนี้ด้วย และนอกจากนี้ ลูกค้าของบริษัทที่คาดว่าจะมีส่วนในการรับเงินนี้ก็ได้แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลในประเทศกานา, ไนจีเรีย,ซิมบับเว,กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย” นายเอลาบด์กล่าวในรายงาน
อนึ่งการเปิดโปงและกล่าวหาของนายเอลาบด์นั้นเกิดขึ้น 3 ปีหลังจากที่มีผู้แจ้งเบาะแสนิรนามไปยัง SEC ว่ามีการกระทำอันไม่เหมาะสมเกี่ยวกับข้อตกลงจัดซื้อซอฟต์แวร์ของกระทรวงกลาโหมแอฟริกาใต้ คิดเป็นมูลค่าสัญญาที่เกี่ยวข้องกว่า 120 ล้านแรนด์แอฟริกาใต้ (275,283,012 บาท) ซึ่งในช่วงปี 2559 กระทรวงกลาโหมแอฟริกาใต้ได้มีการประกาศให้บริษัท EOH Mthombo เป็นผู้ชนะการประกวดราคาในสัญญาดังกล่าว ส่วนข้อมูลของบริษัท EOH Mthombo นั้นพบว่าเป็นบริษัทลูกของบริษัท EOH Holdings ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โจฮันเนสเบิร์ก
โดยการยื่นคำร้องของผู้เปิดโปงในคราวนั้นได้นำไปสู่กรณีที่บริษัทไมโครซอฟท์ได้ดำเนินการให้บริษัทกฎหมายที่ชื่อว่าเพอร์กินส์ โคอี้ ดำเนินการสืบสวนบริษัทลูกในแอฟริกาใต้ อันนำไปสู่การเลิกสัญญาของบริษัทลูกกับบริษัทในกลุ่ม EOH
@การตัดสินใจเลิกจ้าง
ในช่วงเดือน ก.พ. 2562 TechCentral ได้มีการรายงานข่าวการตัดสินใจยุติสัญญาเป็นครั้งแส่งผลทำให้ราคาหุ้นของ EOH ดิ่งลงเหว จนถึงทุกวันนี้ทางบริษัท EOH ก็ยังคงพยายามดิ้นรนเพื่อกู้คืนชื่อเสียงที่เสียหายไปกับเหตุการณ์ครั้งนั้น ขณะที่บริษัทไมโครซอฟท์ประจำประเทศแอฟริกาใต้ก็ปฏิเสธจะให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ โดยกล่าวว่าบริษัทถูกห้ามจากกฎหมายไม่ให้ทำเช่นนั้น
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาจากนายเอลาบด์นั้น บริษัทไมโครซอฟท์ก็ได้ออกมาตอบโต้เช่นกัน โดยกล่าวว่า “เราเชื่อว่าว่าเราได้ดำเนินการสืบสวนต่อข้อกล่าวหาทั้งหมดไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน
“เราได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วยเกี่ยวกับข้อกังวลต่างๆ” นายเบ็คกี้ เลนาเบิร์ก รองประธานบริษัทและที่ปรึกษาทั่วไป ด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และจริยธรรมของบริษัทไมโครซอฟท์กล่าวในแถลงการณ์
บริษัทไมโครซอฟท์ยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่ากรณีที่บริษัทได้เลิกสัญญาว่าจ้างพนักงานและความเป็นหุ้นส่วนต่างๆนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนที่เกี่ยวข้อง และบริษัทนั้นมีมาตรฐานพื้นฐานด้านการดำเนินธุรกิจอันเป็นข้อบังคับที่ลูกจ้างทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งมาตรฐานที่ว่าก็ยังครอบคลุมไปถึงประเด็นที่มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นและยังกำชับให้ลูกจ้างของบริษัทต้องรายงานข้อกังวลต่างๆด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม บทความบนเว็บไซต์ Lioness ที่นายเอลาบด์ได้เขียนนั้นระบุว่าตัวเขาเชื่อว่าเขาถูกเลิกจ้างจากบริษัทเพราะว่าเขาถามคำถามมากเกินไป และในเรื่องที่เขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับสัญญาเมื่อปี 2559
การเปิดโปงกรณีการทุจริต (อ้างอิงวิดีโอจาก Technology News Live)
นายเอลาบด์กล่าวต่อไปว่าหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้รับมอบหมายให้ทำงานเกี่ยวกับข้อตกลงอันสำคัญต่างๆ คำคัดค้านของเขาที่ถูกส่งไปถึงผู้บริหารระดับสูงก็ถูกละเลยไป
“ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทบอกกับผมว่าคนในบริษัทตื่นตระหนกกันมากเมื่อผมมาที่สำนักงานย่อย และผมก็ได้กลายเป็นหนึ่งในคนที่ถูกเกลียดมากที่สุดในแอฟริกาแล้ว แต่ต่อมาในภายหลังผมก็ได้ทราบว่าเป็นเพราะผมมีคำถามมากเกินไป ซึ่งผมเป็นผู้ที่หยุดไม่ให้มีคนขโมยเงินที่มาจากข้อตกลงของพวกเขาเอง” นายเอลาบด์กล่าว
นายเอลาบด์ยังได้อ้างถึงเอกสารที่ถูกจัดหาโดยเพื่อนร่วมงานของเขาที่ทำงานอยู่บริษัทไมโครซอฟท์ ประจำประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยนายเอลาบด์กล่าวว่าเขาได้ตรวจสอบเอกสารรายงานการตรวจสอบบริษัทคู่ค้าต่างๆของบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งกระทำโดยบริษัทสอบบัญชีที่ชื่อว่า PwC และเขาก็พบว่าเมื่อมีการทำข้อตกลงยอมรับเงื่อนไขการขายสำหรับผลิตภัณฑ์หรือสัญญาเกิดขึ้น ทางผู้บริหารหรือว่าพนักงานฝ่ายขายหรือว่าผู้บริหารของบริษัทไมโครซอฟท์ได้มีการเสนอ “ข้อตกลงเสริมร่วมกับบริษัทคู่ค้า และผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ณ นิติบุคคลที่ได้ดำเนินการตัดสินใจสั่งซื้อ”
“ผู้มีอำนาจตัดสินใจในฝั่งลูกค้าจะได้มีการส่งอีเมลไปยังบริษัทไมโครซอฟท์ เรียกร้องให้มีส่วนลด ซึ่งทางบริษัทก็จะมอบส่วนลดนี้ให้ แต่ว่าในท้ายที่สุด ลูกค้าที่อยู่ปลายทางก็จะจ่ายเงินเต็มจำนวนอยู่ดี โดยจำนวนมูลค่าส่วนต่างของส่วนลดดังกล่าวนั้นพบว่าถูกนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มต่างๆที่ร่วมกันวางแผนนี้ ได้แก่พนักงานจำนวนหนึ่งของบริษัทไมโครซอฟท์ที่ส่วนในแผนการจัดซื้อ,คู่ค้าของบริษัท และผู้มีอำนาจตัดสินใจในฝั่งของผู้ซื้อ ซึ่งตรงนี้นั้นก็รวมไปถึงผู้มีอำนาจของทางฝั่งรัฐบาลด้วย” นายเอลาบด์กล่าว
“ยกตัวอย่างเช่น พบข้อมูลว่าในการทำธุรกรรมสามครั้งจากจำนวนทั้งหมดเจ็ดครั้งที่ถูกสุ่มตัวอย่างมา ,พบว่ามีส่วนลดคิดเป็นเงินมากกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (184,321,500 บาท) ที่ไม่ได้ถูกส่งไปให้กับลูกค้าปลายทาง,ซึ่งในกรณีดังกล่าวนั้นพบว่าลูกค้าปลายทางคือหน่วยงานของรัฐบาลจำนวนสองแห่งด้วยกัน ขณะที่รายงานการตรวจสอบอื่นๆพบว่ามีกรณีข้อตกลงกับกระทรวงมหาดไทยของประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีการเสนอเงินส่วนลดมูลค่ากว่า 13.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (455,776,800 บาท) แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการผ่านเงินส่วนลดจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อตกลงทั้งในประเทศคูเวตและในประเทศซาอุดิอาระเบียก็พบเงินที่ไม่ทราบรายละเอียดอีกจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (670,260,000 บาท) ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนั้นเกี่ยวกับคู่ค้าของบริษัทไมโครซอฟท์จำนวนสองแห่งจากที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นจำนวนหลายร้อยแห่งทั่วภูมิภาค” นายเอลาบด์กล่าวและเขาเชื่อว่าถ้าหากมีการตรวจสอบคู่ค้าของบริษัทไมโครซอฟท์ทั้งหมดด้วยหลักการเดียวกันนั้น จะพบว่าเงินที่ถูกขโมยไปคิดเป็นจำนวนมหาศาลมาก
นายเอลาบด์กล่าวต่อไปว่าข้อมูลเอกสารจากอดีตเพื่อนร่วมงานของเขานั้นพบว่ามีเหตุการณ์ที่เรียกว่าน่าจะเข้าข่ายธงแดงอยู่ในหลายกรณีด้วยกัน
“อาทิ ในปี 2558 มีการพบกันกับสมาชิกรัฐสภาของประเทศไนจีเรีย โดยประธานวุฒิสภาเอ่ยปากบ่นกับผมว่าเขาต้องจ่ายเงินมูลค่ากว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับลิขสิทธิ์ฮาร์ดแวร์ไมโครซอฟท์ที่พวกเขาไม่ได้ครอบครองแต่อย่างใด สำหรับผมแล้วไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เพราะว่าหลักปฏิบัติตามมาตรฐานของไมโครซอฟท์ก็คือว่าจะต้องมีการพบปะกับฝ่ายไอทีของสมัชชาแห่งชาติและฝ่ายผู้ควบคุมด้านการเงินกันก่อน เพื่อจะตรวจสอบจำนวนของคอมพิวเตอร์ว่าจะมีอยู่กี่เครื่องที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับลิขสิทธิ์ไมโครซอฟท์ ก่อนที่จะดำเนินการยื่นข้อเสนอใดๆออกมา“ นายเอลาบด์กล่าว
อดีตลูกจ้างบริษัทไมโครซอฟท์กล่าวต่อว่าเหตุการณ์ที่คล้ายกันนั้นก็เคยเกิดที่ประเทศกาตาร์ เมื่อผู้ตรวจสอบได้พบว่ากระทรวงศึกษาธิการของกาตาร์ได้จ่ายเงินคิดเป็นมูลค่า 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (318,373,500 บาท) ต่อปี สำหรับใบอนุญาตซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ออฟฟิสและใบอนุญาตวินโดวส์เป็นระยะเวลาเจ็ดปี ซึ่งพวกเขาไม่ได้ใช้งานแต่อย่างใด เรื่องจากว่าพวกเขาไม่มีคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปที่ใช้งาน
ขณะที่ประเทศแคเมอรูนก็เกิดกรณีที่ว่าไม่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายบริษัทไมโครซอฟท์ออกมายืนยันว่าได้มีการใช้งานใบอนุญาตซอฟต์แวร์ Office Academy 365 จำนวนกว่า 500,000 ชุดจริงหรือไม่
แถลงการณ์จากประธานบริษัทไมโครซอฟท์ที่ระบุว่าบริษัทจะไม่ทนต่อการกระทำที่ผิดจริยธรรม
“ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ยังพบกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดโปงว่ามีการจ่ายเงินมูลล่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับใบอนุญาตใช้งานสไกป์ (50,269,500 บาท) แต่ปรากฏว่าไม่การจัดส่งใบอนุญาตมาให้แต่อย่างใด ส่งผลทำให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศของกระทรวงได้เรียกร้องให้มีการจัดส่งใบอนุญาตจำนวน 10,000 ชุดภายในเวลา 72 ชั่วโมงมิฉะนั้นเขาจะดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นพบว่ามีการจ่ายเงินเกิดขึ้นจริงและเงินก็ได้ถูกแจกจ่ายไปยังกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการฉ้อโกง ทำให้ทางบริษัทไมโครซอฟท์ส่งใบอนุญาตชุดใหม่มาอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะได้มีการเปิดโปงใดๆโดยเฉพาะในส่วนของข้อตกลงเสริมเกิดขึ้น”นายเอลาบด์กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานจากไฟล์สเปรดชีตอีกฉบับ เปิดโปงว่ามีจำหน่ายหนี้สูญสำหรับบริษัทคู่ค้าสัญชาติซาอุดิอาระเบียจำนวนไม่กี่แห่ง คิดเป็นมูลค่าหนี้รวมกว่า 18.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (623,341,800 บาท) ในช่วงเวลาแค่ไตรมาสเดียว หรือก็คือเงินจำนวนนับล้านๆดอลลาร์สหรัฐฯนั้นหายไปในช่วงเวลาแค่เพียงสามเดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตามสเปรดชีตนั้นไม่ได้ระบุว่าเงินไปอยู่ที่ไหนแต่อย่างใด
โดยสิ่งที่น่าสงสัยและน่าสังเกตก็คือว่าพบข้อมูลว่ามีพนักงานบริษัทไมโครซอฟท์จำนวนหลายรายเคยถูกว่าจ้างจากบริษัทสัญชาติซาอุดิอาระเบียจำนวนสองแห่งนี้มาก่อนที่จะเกิดกรณีการจำหน่ายหนี้สูญขึ้น และลูกชายของหนึ่งในเจ้าของบริษัทสัญชาติซาอุดิอาระเบีย ที่เป็นคู่ค้าของไมโครซอฟท์ก็ถูกว่าจ้างให้ทำงานในบริษัทไมโครซอฟท์เช่นกัน
นายเอลาบด์ได้รายงานต่อไปว่าวิธีการปฏิบัติที่มักจะกระทำกันก็คือการสร้างใบสั่งซื้อปลอมๆ ซึ่งผู้จัดการฝ่ายขายมักจะใช้ โดยสันนิษฐานว่าเพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งตัวเขาเชื่อว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าทางบริษัทไมโครซอฟท์นั้นจะไม่รับรู้หรือไม่ได้รับการแจ้งเตือนให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมการทุจริตดังกล่าวที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้นมีทั้งคำเตือนออกมาจากฝ่ายผู้สอบบัญชี,ลูกจ้างบริษัท และจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลในหลายประเทศด้วยกัน
เรียบเรียงจาก:https://techcentral.co.za/whistle-blower-alleges-widespread-corruption-at-microsoft-in-africa-middle-east/209261/
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64