ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่าในปี 2565 กรุงมอสโกได้มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 6.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,069,356,300,000 บาท) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นการใช้จ่ายทางการทหารสูงที่สุดคิดเป็นอันดับที่สี่ของโลก อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญทางการทหารจากรัสเซียอีกรายหนึ่งได้กล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวแม้จะดูเยอะในมุมมองของผู้สังเกตการณ์ทางทหาร แต่กลับไม่สามารถจะตรวจสอบได้เลขว่าเงินนั้นไปไหนและใช้กับอะไรไปบ้าง
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอรายงานเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจนถึง ณ เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจุดสิ้นสุดของการสู้รบดังกล่าวนั้นจะอยู่ที่ตรงไหนกันแน่
ทั้งๆที่ในช่วงต้นของการสงครามนั้นผู้เชี่ยวชาญทางการทหารต่างออกมาให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการสู้รับดังกล่าวน่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ภายในไม่กี่วัน เนื่องจากแสนยานุภาพทางทหารของประเทศรัสเซียที่สูงกว่ายูเครนมาก แต่ทว่ากลับมีรายงานข่าวความสูญเสียของกองทัพรัสเซียออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในกรณีล่าสุดซึ่งก็คือการจมลงของเรือลาดตระเวนติดตั้งขีปนาวุธมอสควา
จากกรณีดังกล่าวนั้นสำนักข่าวองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่อต้านคอร์รัปชันหรือ The Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ได้มีการจัดทำรายงานข่าวที่น่าสนใจออกมาชิ้นหนึ่งที่มาจากการสัมภาษณ์ทั้งผู้เชี่ยวชาญและทหารรัสเซียที่ไม่ได้ระบุชื่อ ซึ่งสรุปได้ว่าแท้จริงแล้วที่ไปที่มาของปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของกองทัพรัสเซียมาจากปัญหาการทุจริตในกองทัพ ซึ่งการทุจริตในกองทัพรัสเซียดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นปัจจัยที่เป็นคุณและเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดต่อทางกรุงเคียฟและประเทศยูเครนไปโดยปริยาย
โดยประเด็นความไม่โปร่งใสของกองทัพรัสเซียนั้นก็มีกรณีที่น่าสนใจในช่วงเวลาที่ผ่านมาดังต่อไปนี้
@ปัญหาการจัดหาอุปกรณ์ใหม่กับตัวเลขที่แท้จริง
มีรายงานว่ากองทัพรัสเซียนั้นได้เตรียมการสำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีปฏิบัติการณ์ทางทหารในประเทศยูเครนมาได้เป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งในช่วงปี 2550 ได้มีการแต่งตั้งให้นายอนาโตลี เซอร์ดยูคอฟ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย และหนึ่งในความรับผิดชอบของเขาก็คือการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งกระบวนการปฏิรูปดังกล่าวนั้นก็ได้ถูกเร่งรัดให้ดำเนินการ เพราะสงครามแปดวันกับประเทศจอร์เจียในปี 2551 ซึ่งสงครามครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่ากองทัพรัสเซียไม่มีความพร้อมที่จะต่อสู้กับความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในรูปแบบของการรบสมัยใหม่
“ก่อนนายเซอร์ดยูคอฟจะเข้ามา รูปแบบกองทัพของเรานั้นเป็นรูปแบบเดียวกับกองทัพสหภาพโซเวียต,เชื่องช้า,งุ่มง่าม มีอุปกรณ์ที่ไม่ทันสมัย และมีปัญหาด้านการขาดบุคลากร” นายทหารระดับอาวุโสคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว OCCRP
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านายเซอร์ดยูคอฟจะได้ดำเนินการปฏิรูปเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบของกองทัพจากเดิมที่ประกอบไปได้วยกองพลที่มีทหารกองหนุนจำนวนที่สูง ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนพลเข้าสู้รบอย่างรวดเร็ว มาเป็นกองกำลังทางยุทธวิธีที่ความพร้อมรบสูง ซึ่งกองกำลังที่ว่านี้ถูกใช้ครั้งแรกในยูเครนเมื่อปี 2557 แต่หลังจากที่เขาพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีฯในปี 2555 เขาก็ต้องเผชิญกับคดีการทุจริตที่ตามมาหลังจากที่เขาเข้าไปจัดการกับการปรับโครงสร้างองค์กรของกองทัพ
โดยจนถึง ณ เวลานี้ปรากฏว่าคดีทุจริตของนายเซอร์ดยูคอฟหลายคดีที่จะไม่มีความคืบหน้าปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด
ต่อมาผู้ที่สืบทอดตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย และยังเป็นผู้ที่ต้องมาสานต่องานปฏิรูป ก็คือ พล.อ.เซอร์เก ชอยอิกุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียคนปัจจุบัน ทว่า พล.อ.ชอยอิกุนั้นได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกองทัพใหม่น้อยลงกว่าเดิมมาก และไปมุ่งเน้นไปที่สร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆแทน
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวว่าเมื่อปี 2556 พล.อ.ชอยอิกุได้เริ่มมีการออกายงานสาธารณะเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทางด้านกลาโหม และล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ออกรายงานฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า “เปอร์เซ็นต์ของการติดตั้งอาวุธใหม่” ซึ่งข้อมูลตามทฤษฎีที่ปรากฎอยู่บนหน้ากระดาษนั้นรายงานว่าสัดส่วนยุทโธปกรณ์ใหม่ๆของกองทัพพบว่ามีอัตราส่วนอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามรายงานเกี่ยวกับการติดอาวุธใหม่ดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกสมมติและถูกปรุงแต่งข้อมูลขึ้นมาอย่างแน่นอน
“พวกคุณไม่สามารถจะตรวจสอบได้อย่างอิสระ และเราทุกคนรู้ดีว่าพวกเขา (กระทรวงกลาโหมรัสเซีย) นั้นสามารถปรุงแต่งข้อมูลได้ตามใจ” ผู้เชี่ยวชาญทางการทหารให้สัมภาษณ์กับ OCCRP
ส่วนทางด้านของนักวิจัยเกี่ยวกับกองทัพได้ออกมากล่าวว่าตัวเลขของ พล.อ.ชอยอิกุนั้นไม่ได้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงแต่อย่างใด และคงเป็นการยากด้วยเช่นกันที่จะตรวจสอบข้อมูลว่าแท้จริงแล้วมีการติดอาวุธใหม่ให้กับกองทัพรัสเซียเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่
“เราเห็นอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ขีปนาวุธใหม่ๆ รถถังใหม่ๆ และเรือดำน้ำใหม่ๆ แต่ทว่าทั้งหมดส่วนมากนั้นกลับเป็นแค่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบเท่านั้น” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวและกล่าวยืนยันด้วยว่าเนื่องจากว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นยังไม่สำเร็จ ดังนั้นสิ่งที่มีการรายงานไปให้กับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียในทุกๆปี นั้นจึงเป็นรายงานที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการจริงตามที่ปรากฏไว้บนรายงานแต่อย่างใด
การสวนสนามของกองทัพรัสเซียเมื่อปี 2561
@กรณีเรื่องอื้อฉาวและการโจรกรรม
ผู้เชี่ยวชาญและแหล่งข่าวทางด้านการทหารจากรัสเซียยังได้ให้ข้อมูลด้วยว่าการรายงานตัวเลขของกระทรวงกลาโหมรัสเซียที่มีปัญหานั้นอาจส่งผลทำให้ทางกรุงมอสโกมีความมั่นใจที่มากเกินไปว่าชัยชนะเหนือยูเครนนั้นจะเป็นสิ่งที่ได้มาโดยง่ายและรวดเร็ว
“เรามีการฝึกมากกว่า 12 ครั้งในทุกๆปี มีการสวนสนาม มีการสาธิตทางเทคโนโลยีให้ดู ดังนั้นจะมีใครที่ไม่เชื่อบ้างว่ากองทัพรัสเซียจะอยู่ยงคงกระพัน” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวต่อไปว่าเขาไม่ได้คิดว่า พล.อ.ชอยอิกุ จะส่งข้อมูลการติดตั้งอาวุธแค่บนหน้ากระดาษแต่ใช้งานไม่ได้จริงให้กับนายปูติน เพราะอาวุธที่ปรากฎในรายงานนั้นก็ยังมีการส่งไปให้กับกองทัพบกรัสเซียใช้งาน แต่ปัญหาจริงๆแล้วมาจากเรื่องความโปร่งใสของข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในการตรวจสอบว่าสัดส่วนของการมีอาวุธสมัยใหม่ๆในกองทัพรัสเซียนั้นีตัวเลขอยู่ที่เท่าใดกันแน่ แต่ที่แน่ๆตัวเลขดังกล่าวนั้นไม่น่าจะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ตามที่กระทรวงฯกล่าวอ้างแต่อย่างใด
โดยปัญหาของกองทัพรัสเซียนั้นไม่ใช่เรื่องของการใช้งบประมาณที่น้อยเกินไปอย่างแน่นอน เพราะข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่าในปี 2565 กรุงมอสโกได้มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 6.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,069,356,300,000 บาท) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นการใช้จ่ายทางการทหารสูงที่สุดคิดเป็นอันดับที่สี่ของโลก อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญทางการทหารจากรัสเซียอีกรายหนึ่งได้กล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวแม้จะดูเยอะในมุมมองของผู้สังเกตการณ์ทางทหาร แต่กลับไม่สามารถจะตรวจสอบได้เลขว่าเงินนั้นไปไหนและใช้กับอะไรไปบ้าง
งบประมาณทางทหารของกองทัพรัสเซียนับตั้งแต่ คศ.1993- 2020 (หน่วยเงินเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ทั้งนี้หนึ่งในต้นตอของปัญหาอันนำไปสู่การเสนอรายงานเกินจริงของกระทรวงกลาโหมของรัสเซียนั้นมาจากคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตอาวุธและอุปกรณ์ทางการทหารในประเทศรัสเซียจำนวนหลายรายด้วยกัน ซึ่งในช่วงปี 2564 แค่เพียงปีเดียวพบว่ามีกรณีการจับกุมเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง ด้วยข้อหาว่าผู้ถูกจับกุมนั้นมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องการเกิดปัญหาด้านการจัดส่งสิ่งของที่จำเป็นและยังไปขัดขวางต่อการนำเข้าวัตถุเพื่อที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศรัสเซีย
ขณะที่ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหารอีกรายหนึ่งกล่าวว่าประเด็นเรื่องอาวุธนั้นเป็นแค่ยอดของปัญหาทั้งหมดเท่านั้น เนื่องจากว่าการทุจริตในกองทัพรัสเซียส่วนมากนั้นมักจะถูกจัดการด้วยเหตุผลว่ามีการขัดผลประโยชน์กับผู้ที่มีอำนาจในระดับที่สูงกว่า
“พวกเขาขโมยทุกอย่างเท่าที่จะทำได้” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับสำนักข่าว OCCRP และระบุถึงเหตุการณ์ในปี 2563 ที่พบว่ามีอดีตเจ้าหน้าที่ปลดเกษียณซึ่งทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมรัสเซียนั้นถูกกล่าวหาว่าพยายามขนย้ายเงินสินบนจำนวนหลายล้านรูเบิล เพื่อจะไปช่วยบริษัทแห่งหนึ่งให้ชนะสัญญาการขนย้ายรถถังจำลองแบบพองลม
แต่แม้ว่าการทุจริตอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นจะบ่งชี้ให้เห็นว่ามีบุคคลระดับสูงเกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ปรากฏว่าบุคคลระดับสูงเหล่านั้นกลับรอดตัวจากการถูกดำเนินคดีทุจริตได้
@ผลที่เกิดขึ้นบนสนามรบ
ก่อนหน้าการรุกรานยูเครนในครั้งนี้นั้น ความขัดแย้งล่าสุดที่ประเทศรัสเซียได้เข้าไปมีส่วนร่วมก็คือที่พื้นทีทางตะวันออกของประเทศยูเครนในปี 2557 และที่ประเทศซีเรียในปี 2558 ซึ่งทั้งสองกรณีนั้นเป็นแค่การแทรกแซงทางทหารในระดับเล็กและจำกัดวงเท่านั้น ขณะที่ทางกรุงมอสโกได้เคยออกมากล่าวว่ากองทัพหลักของรัสเซียนั้นไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสู้รบระหว่างกองกำลังแบ่งแยกดินแดนและกองทัพรัสเซียในช่วงปี 2557 แต่อย่างใด
ส่วนในประเทศซีเรีย แม้ว่าจะมีการส่งทหารนับพันนายเข้าไปตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ปรากฏว่าทหารส่วนมากก็มีการปฏิบัติการณ์ที่จำกัดแค่คุ้มครองในพื้นที่ที่มีอุปกรณ์ทางการทหาร อำนวยความสะดวกในสนามบิน และทำการลาดตระเวน หาข่าวกรองเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ทหารรัสเซียต้องเผชิญกับสถานการณ์ของยูเครน ณ เวลานี้
โดยหนึ่งในทหารปลดเกษียณที่เคยผ่านการรบในยูเครนในปี 2557 ที่ผ่านมาได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “พบว่ามีการใช้เงินไปกับเครื่องจักร,อุปกรณ์ และการพัฒนาระบบบางอย่าง แต่ว่าการติดอาวุธให้กับกองทัพ ร่วมไปถึงการฝึกฝนการใช้งานอาวุธตามหลักการการปฏิรูปของนายเซอร์ดยูคอฟนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกลืมไปโดยสิ้นเชิง”
@ปัจจัยด้านมนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญและอดีตทหารหลายคนได้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปัญหาการฝึกฝนที่ย่ำแย่และขวัญกำลังใจที่ต่ำนั้นดูจะเป็นปัจจัยสำคัญของการขาดประสิทธิภาพ
โดยทนายความสำหรับโครงการด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพได้ให้สัมภาษณ์กับ OCCRP ว่าทหารเกณฑ์ที่เข้ามารับนั้นไม่ได้เตรียมตัวมาตามแบบทหารปกติเลย
“การฝึกทหารตามสัญญานั้นอยู่ในสภาวะที่แย่ลงเรื่อยๆ โดยพบว่ามีการฝึกฝนหลายรายการที่ถูกยกเลิกออกไป การฝึกใช้กระสุนจริงก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน” ทนายความฯกล่าวและกล่าวต่อด้วยว่าผู้ที่เข้าไปร่วมกับกองทัพนั้นดูเหมือนจะทำแค่งานบ้านทั่วๆไปเท่านั้น อาทิเช่นการซ่อมโรงนอนและตัดหญ้าไปวันๆ
ขณะที่นายทหารที่มีระดับอาวุโสน้อยกว่า ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สู้รบอยู่ในสงครามยูเครน ณ เวลานี้ กล่าวว่ามีแค่หน่วยทหารที่เคยปฏิบัติการณ์ลาดตระเวนในซีเรียเท่านั้นที่จะได้รับการฝึกตามหลักสูตรปกติ
ส่วนทหารอีกนายหนึ่งที่เป็นพลขับรถถังในภูมิภาคทางตะวันออกของรัสเซียกล่าวว่าไม่มีน้ำมันดีเซลพอให้สำหรับการฝึกเสียด้วยซ้ำ ซึ่งจากปัญหาขาดการฝึกดังกล่าว เขาเชื้อว่าการฝึกทหารแบบเสมือนจริงหรือการฝึกทหารแบบเวอร์ชวลนั้นสามารถจะช่วยเหลือและแก้ปัญหาความในเรื่องการฝึกทหารดังกล่าวได้ แต่ปรากฏว่า “มีบางสิ่งบางอย่าง” เกิดขึ้นกับระบบการฝึกแบบเวอร์ชวลในหน่วยรถถังของเขา
ทหารนายนี้ยังได้กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคล้ายกับมุกตลกสมัยโซเวียตที่ว่าเมื่อทหารจะขออนุญาตดูโทรทัศน์ ก็จะได้รับการตอบกลับมาว่า“คุณสามารถดูมันได้ แต่ว่าอย่าเปิดมัน”
ขณะที่การฝึกทหารในระดับที่สูงกว่านั้น พบว่าผู้ที่ฝึกสอนก็ไม่ใช่ผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและดีที่สุดแต่อย่างใด
“ถ้าหากมีกรณีที่มีการใช้นายพันปลดเกษียณมาเป็นผู้ฝึกสอน และไม่ได้มาจากกองทหารที่มีการฝึกตามแบบแผน ก็เท่ากับว่าการฝึกนั้นพังพินาศโดยสิ้นเชิง” ทหารที่ไม่ระบุนามกล่าวกับ OCCRP และกล่าวด้วยว่ามีบางกรณีพบว่ามีครูฝึกนำเหล้าคอนยัคมาร่วมในการฝึกเสียด้วยซ้ำ
@ปัจจัยด้านทรัพยากรที่จำเป็น
สืบเนื่องจากที่ปรากฏในวิดีโอที่เป็นข่าว ว่ามีทหารยูเครนนายหนึ่งอ้างว่าสามารถยึดเสบียงของกองทัพรัสเซีย ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารสนามหรือว่าเรชั่นแบบแห้งที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นแม้ว่าจะไม่มีการยืนยันมีความจริงเท็จมากน้อยแค่ไหน แต่ทางด้านของทหารรัสเซียในระดับสูงนายหนึ่งก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่ากรณีเรชั่นหมดอายุนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติในกองทัพ
ทหารยูเครนอ้างว่าสามารถยึดเรชั่นที่หมดอายุได้
“เรชั่นพวกนี้มักอยู่ในโกดังเป็นเวลานานหลายปี ไม่มีใครต้องการ ทำไมต้องทิ้งมันตอนนี้ มันเป็นอาหารกระป๋อง อะไรจะเกิดขึ้นกับมัน” ทหารระดับสูงกล่าว
มีนายทหารอีกสามนายที่เข้าไปร่วมรบในยูเครนได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว OCCRP ด้วยเช่นกันว่าหน่วยทหารของพวกเขานั้นก็ประสบปัญหาเช่นกัน ทั้งในเรื่องของการขาดแคลนเสื้อผ้า,น้ำมัน และอะไหล่สำหรับอุปกรณ์ทางทหาร โดยเฉพาะสำหรับรถบรรทุก
“เดือนมีนาคมนั้นเป็นเดือนที่หนาวและเราก็ไม่มีอะไรเป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุ่นเตา ซึ่งยังเป็นเรื่องดีที่เราได้ยินว่ามีทหารนำเอาเตาพกพามาด้วย แต่ผมก็ได้ยินมาว่ามีอีกหลายคนที่ไม่ได้พกเตามา” หนึ่งในทหารกล่าว
ขณะที่ทหารอีกนายกล่าวว่าทางการนั้นได้มีการแจกเสื้อกันฝนให้กับหน่วยทหาร แต่ปรากฏว่ามีแค่หนึ่งในสี่ของหน่วยทหารเท่านั้นที่ได้รับเสื้อกันฝน ซึ่งทางการรับปากว่าจะนำเสื้อกันฝนมาเพิ่ม แต่พวกเขาก็ไม่ได้นำมาให้แต่อย่างใด ซึ่งในที่สุดทุกคนก็พอจะหาวิธีที่จะแบ่งเสื้อกันฝนเท่าที่มีเพื่อให้ใช้งานได้อย่างทั่วถึง
และเจ้าหน้าที่ทหารอีกนายยังได้กล่าวถึงปัญหากรณีที่ฝ่ายตะวันตกนั้นสามารถดักจับสัญญาณการสื่อสารของกองทัพรัสเซียได้ว่า แม้ว่าจะมีการจัดหาวิทยุสื่อสารทางการทหารที่เหมาะสมออกมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ก็ปรากฏว่าไม่มีการกระจายวิทยุดังกล่าวอย่างเหมาะสม ซึ่งตัวเขานั้นก็สงสัยและคิดว่าเป็นเรื่องลึกลับอย่างยิ่งว่าทำไมทางกองทัพถึงไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้
เรียบเรียงจาก:https://www.occrp.org/en/37-ccblog/ccblog/16192-2022-04-07-16-58-47
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64