เอกสารทางธนาคารที่รั่วไหลฉบับหนึ่งนั้นแสดงให้เห็นว่าในช่วงวันหนึ่งในเดือน ต.ค. 2555 เวียมได้มีการขโมยเงินจำนวนกว่า 19 ล้านยูโร ซึ่งเงินดังกล่าวนั้นเป็นเงินที่ควรจะต้องนำไปใช้ในโครงการสนับสนุนด้านอาหาร แต่ทว่าเงินกลับถูกนำไปโยกย้ายถ่ายเทผ่านเครือข่ายของบริษัทนอกอาณาเขต ซึ่งจากข้อมูลของบันทึกบัตรเครดิตนั้นพบว่ามีการใช้เงินในก้อนดังกล่าวไปกับทั้งโรงแรมหรู,มื้อค่ำราคาแพง และกระเป๋าแบรนด์เนมอย่างน้อยหนึ่งรายการ
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอประเด็นทุจริตการยักยอกเงินจากโครงการสนับสนุนอาหารของสหภาพยุโรปหรือว่าอียูซึ่งถูกส่งไปช่วยผู้ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงอาหารในประเทศโรมาเนียคิดเป็นมูลค่าการยักยอกจำนวนหลายสิบล้านยูโร
โดยสำนักข่าวองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่อต้านคอร์รัปชันหรือ The Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ได้ร่วมมือกับสำนักข่าว RISE Romania และสำนักข่าว Bivol ในประเทศบัลแกเรียรายงานการติดตามเงินที่หายไปจำนวนดังกล่าว ซึ่งทางด้านของอัยการที่รับผิดชอบในคดีกล่าวว่ามีเงินจำนวนที่หายไปอย่างน้อย 26 ล้านยูโร (949,690,298 บาท) ,ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้รายงานข่าวพบว่ามีเงินจำนวนอย่างน้อย 19 ล้านยูโร (694,004,449 บาท) ถูกขโมยไปจากกการทำสัญญาที่เกี่ยวข้องฉบับหนึ่ง
อนึ่งเงินที่ถูกขโมยไปนั้นมาจากโครงการของอียูที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะจัดหาสินค้าวัตถุดิบทางด้านอาหาร อาทิแป้งและน้ำมัน เพื่อจะจัดส่งให้กับประเทศที่ยากจนที่สุดในอียู ซึ่งในช่วงประมาณปี 2555 ทางหน่วยงานเพื่อการชําระเงินและการแทรกแซงการเกษตร (Agency for Payments and Intervention in Agriculture) อันเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรของประเทศโรมาเนีย และยังเป็นผู้ที่รับผิดชอบในโครงการสนับสนุนของอียูนั้นได้มีการมอบสัญญาให้กับบริษัทที่มีชื่อว่าเวียม คอร์ปอเรชั่น อู๊ด (Viem Corporation Eood) ให้เป็นผู้รับสัญญารายใหญ่ในการสนับสนุนโครงการ ซึ่งรายละเอียดของโครงการนั้นทางอียูจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนรายปีให้กับประเทศโรมาเนีย ที่ถือว่ามีรายได้ต่ำคิดเป็นจำนวนปีละประมาณ 2.5 ล้านยูโร (91,316,374 บาท) จนกว่าจะถึงสิ้นปี 2563
รายงานข่าวการฉ้อโกง (อ้างอิงวิดีโอจากช่อง OCCRP)
แต่สิ่งที่อียูไม่ได้รับรู้ก็คือว่าบริษัทเวียมนั้นมีโครงสร้างซึ่งถูกควบคุมโดยองค์กรที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นองค์กรอาชญากรรมจากประเทศบัลแกเรียจำนวนสององค์กรด้วยกัน ซึ่งเอกสารทางธนาคารที่รั่วไหลฉบับหนึ่งนั้นแสดงให้เห็นว่าในช่วงวันหนึ่งในเดือน ต.ค. 2555 เวียมได้มีการขโมยเงินจำนวนกว่า 19 ล้านยูโร ซึ่งเงินดังกล่าวนั้นเป็นเงินที่ควรจะต้องนำไปใช้ในโครงการสนับสนุนด้านอาหาร แต่ทว่าเงินกลับถูกนำไปโยกย้ายถ่ายเทผ่านเครือข่ายของบริษัทนอกอาณาเขต ซึ่งจากข้อมูลของบันทึกบัตรเครดิตนั้นพบว่ามีการใช้เงินในก้อนดังกล่าวไปกับทั้งโรงแรมหรู,มื้อค่ำราคาแพง และกระเป๋าแบรนด์เนมอย่างน้อยหนึ่งรายการ ขณะที่พยานซึ่งให้ปากคำกับอัยการนั้นได้ยืนยันว่าเงินดังกล่าวมีที่มาจากการทุจริตอย่างแน่นอน
พยานยังได้มีการกล่าวหาว่าเงินที่ถูกขโมยไปบางส่วนนั้นถูกนำไปลงทุนในกิจการโรงงานและถูกนำไปซื้อแฟลตที่ริมชายฝั่งทะเลดำของประเทศบัลแกเรีย ซึ่งผู้สื่อข่าวยังไม่สามารถเข้าถึงบันทึกทางธุรกรรมเพื่อจะติดตามต่อได้ว่าเงินที่ถูกขโมยไปจากโครงการของอียูนั้นถูกนำไปใช้ลงทุนตามที่ทางพยานได้กล่าวอ้างจริงหรือไม่ แต่เอกสารบริคนสนธิและเอกสารจากกรมที่ดินนั้นแสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวกับแผนการยักยอกเงินนั้นเป็นเจ้าของแฟลตริมชายหาดและมีส่วนเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการโรงงานจริง ซึ่งโรงงานดังกล่าวนั้นเป็นโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดซึ่งใช้ในเตาเผาจากไซปรัสและทั่วทั้งทวีปยุโรป
ขณะที่ทางอัยการได้กล่าวหาว่าบริษัทเวียมนั้นถูกควบคุมอย่างลับๆโดยนางมิลา อิโว จอร์จีวา ลูกเลี้ยงของอดีตอธิบดีกรมศุลกากรของบัลแกเรีย (รายงานจากสื่อของบัลแกเรีย) และนายอีวาน จอร์จีฟ ทาเนฟ ลูกชายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของบัลแกเรีย ซึ่งนายจอร์จีฟนั้นถูกตรวจสอบพบว่าเป็นอดีตตำรวจลับให้กับระบอบคอมมิวนิสต์ของประเทศบัลแกเรีย
นายอีวาน จอร์จีฟ ทาเนฟ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังบริษัท เวียม คอร์ปอเรชั่น อู๊ด
นางมิลา อิโว จอร์จีวาอีกรายว่าอยู่เบื้องหลังบริษัท เวียม คอร์ปอเรชั่น อู๊ด
ส่วนข้อมูลการบันทึกสนทนาทางโทรศัพท์ที่เป็นข้อมูลใช้ในชั้นศาล ยังได้เปิดโปงผู้ที่มีส่วนร่วมเพิ่มเติมอีกก็คือนายโซริน กาซแดค สัญชาติบัลแกเรีย ซึ่งบางช่วงบางตอนของการสนทนานั้นพบว่าเขาได้หัวเราะออกมาเมื่อพูดถึงการขโมยเงินจากอียูและกล่าวว่า “คุณสามารถเอาเงิน และหลบหนีไปเลยได้”
ขณะที่คู่สนทนาซึ่งเป็นผู้รับคำแนะนำของนายกาซแดค ว่าให้ทำอย่างไรนำเอาข้อมูลการขนส่งแป้งออกจากระบบนั้นถูกตรวจสอบว่าเป็นผู้ที่กำลังถูกพิจารณาคดีในคดีอื่นอันเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงเงินจำนวนหลายล้านยูโรด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาได้ถามในเชิงทีเล่นทีจริงกับนายกาซแดคว่าจะให้หนีไปที่สาธารณรัฐโดมินิกันหรือไม่
ทว่านายกาซแดคที่ตอนนี้กำลังถูกพิจารณาคดีที่กรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวงของโรมาเนียนั้นก็ได้บอกกับผู้สื่อข่าวยืนยันว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการฉ้อโกงนี้แต่อย่างใด โดยเขานั้นแค่ถูกจ้างมาจากนายทาเนฟ จากบริษัทเวียมให้เป็นคู่สัญญารายย่อยของบริษัทเท่านั้น
“พวกเขาแค่พยายามที่จะโทษใครบางคนในคดีนี้เท่านั้น เพราะว่าพวกเขาไม่มีใครให้ตั้งข้อกล่าวหา คุณเข้าใจไหม พวกเขาไม่มีใครให้เชื่อมโยงกับคดีได้” นายกาซแดคกล่าว
ส่วนนายทาเนฟและนางจอร์จีวาเองก็กำลังต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีในศาลที่ประเทศโรมาเนียเช่นกัน โดยแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มาปรากฏตัวที่หน้าบัลลังก์ศาลในช่วงก่อนการพิจารณาคดี พวกเขาก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่างๆเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้นั้นพวกเขาได้ปฏิเสธไปแล้วว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังกรณีการฉ้อโกงและต่างคนต่างก็โทษกันเองในช่วงเวลาที่มีการให้ปากคำกับทางอัยการ และในช่วงที่มีการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว
ขณะที่ APIA ปฏิเสธจะแสดงความเห็นใดๆก็ตาม โดยอ้างในประเด็นเรื่องของความลับและระบุว่าทางศาลนั้นได้นำคดีขึ้นพิจารณาเพื่อเอาผิดกับธนาคารผู้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้กับบริษัทเวียม
@เงิน 19 ล้านยูโรที่มีการจ่ายกันล่วงหน้า
กระบวนการฉ้อโกงเงินสนับสนุนด้านอาหารนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีความซับซ้อนและเรียบง่ายเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลังจากที่บริษัทเวียมนั้นสามารถจัดส่งแป้งได้เป็นผลสำเร็จได้เพียงไม่กี่ครั้ง บริษัทได้กลับไปติดต่อกับ APIA ในช่วงปี 2555 เพื่อขอเบิกเงินล่วงหน้ากว่า 19 ล้านยูโร โดยอ้างว่าเพื่อจะสามารถจัดซื้อสินค้าได้ในปริมาณที่มากกว่าเดิน
เจ้าหน้าที่ของ AIPA จึงได้มีการอนุมัติเงินจำนวนดังกล่าวให้กับบริษัทเวียม แต่แทนที่บริษัทจะนำเงินเข้าไปสู่บัญชีของบริษัท ณ ธนาคาร First Investment Bank (Fibank) ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงโซเฟีย เมืองหลวงของประเทศบัลแกเรีย บริษัทเวียมกลับนำเอาเงินจำนวนนี้ไปใส่ไว้ในอีกบัญชีหนึ่งที่อยู่ในประเทศไซปรัส ซึ่งบัญชีดังกล่าวนั้นถูกขั้นในนามของนายโอเรสติส แชมบาร์ทัส อาชีพทนายความ
โดยเงินก็ได้มีการไหลผ่านจากบัญชีบริษัทเวียมในไซปรัสไปยังบริษัทนอกอาณาเขตจำนวนหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในบริษัทเหล่านี้ตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินสูงถึง 5 ล้านยูโร (182,632,749 บาท) ไปยังบริษัทอีกแห่งที่จดทะเบียนในฮ่องกง ชื่อว่าบริษัท Sun Power Industrial Limited โดยบริษัทดังกล่าวนั้นก็พบว่ามีเจ้าของเป็นบริษัทที่นายแชมบาร์ทัสเป็นเจ้าของบริษัท
จากข้อมูลบันทึกธนาคารแสดงให้เห็นว่าประมาณช่วงเดือน ธ.ค. 2556 พบว่ามีการโอนเงินจำนวนกว่า 200,000 ยูโร (7,305,309 บาท) จากบริษัท Sun Power ไปยังบริษัท Villa Overseas ซึ่งบริษัทแห่งนี้นั้นเป็นบริษัทนอกอาณาเขต ที่มีการถูกพูดถึงว่ามีเจ้าของคือผู้เป็นมารดาของนางจอร์จีวา
ทั้งนี้ตามคำให้การของพยานที่รวมอยู่ในคำฟ้อง พบว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีเงินจำนวน 500,000 ยูโร (1,826,327 บาท) ถูกโอนเข้าไปยังบัญชีของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศบัลแกเรียชื่อว่าบริษัท M&M Corporation โดยบริษัทแห่งนี้นั้นตรวจสอบพบว่ามีเจ้าของคือนายมาร์ติน จอร์จีฟ บุตรชายของนางมิลา จอร์จีวา
โดยพยานได้ยืนยันว่าเงินที่มีการโอนกันไปมาทั้งหมดนั้นมาจากแหล่งเดียวกันคือมาจากเงินที่ถูกขโมยไปจำนวนกว่า 19 ล้านยูโร
ขณะที่ข้อมูลเอกสารนั้นรายงานว่าบริษัทเวียมมีผู้เป็นเจ้าของคือชายชาวบัลแกเรียผู้มีฐานะยากจนรายหนึ่ง ซึ่งในภายหลังเขาได้ให้การต่ออัยการต่อตัวเองเป็นแค่ผู้บริหารลวงของบริษัทเท่านั้น และเขายังได้รับมอบหลายให้เซ็นเอกสารส่วนใหญ่ของบริษัทเพื่อแลกกับเงินสดเป็นค่าตอบแทน
โดยสาเหตุที่ทำให้ทาง AIPA ได้เชื่อว่าบริษัทเวียมนั้นเป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายก็เนื่องจากว่าบัญชีของบริษัทที่เปิดกับธนาคาร Fibank นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศบัลแกเรีย และยังทำหน้าที่ให้ค้ำประกันทางการเงินให้กับเงินทุนสำหรับ APIA จำนวนกว่า 31 ล้านยูโร (1,132,323,048 บาท)
เส้นทางการโอนเงินจำนวน 19 ล้านยูโรจากบริษัท เวียม คอร์ปอเรชั่น อู๊ด ไปยังบริษัทนอกอาณาเขตต่างๆ
อัยการได้กล่าวต่อไปว่านายทาเนฟถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้บริษัทได้รับคำค้ำประกันจากธนาคาร Fibank โดยเขาได้ไปยืนยันว่าบริษัทจะดำเนินการจ่ายเงินภายในไม่ช้าถ้าหากพบว่ามีข้อท้าทาย หรือมีความจำเป็นต้องแสดงหลักฐานเพิ่มเติม ถ้าหากเกิดกรณีที่เงินหายไปจากโครงการช่วยเหลือทางด้านอาหาร
ทว่าเมื่อเงินได้หายไป ทางธนาคารกลับโต้แย้งต่อคำค้ำประกันของตัวเองโดยระบุว่าธนาคารไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะธนาคารไม่เคยได้รับเงินมาก่อน ซึ่งจากกรณีนี้ทำให้ APIA ได้ไปร้องต่อศาลเพื่อหาข้อยุติ แต่ในปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาก็ได้มีคำพิพากษาออกมาว่าการค้ำประกันดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องถ้าหากไม่มีเงินกู้สำรองเพื่อรองรับ ซึ่งหลังจากคำพิพากษา ทางธนาคารก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ เช่นเดียวกับนายแชมบาร์ทัส โดยเขาได้เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bivol ไปแล้วว่าเขาได้เปิดบัญชีให้กับบริษัทเวียม ในประเทศไซปรัสจริงแต่ปฏิเสธว่าเขาไม่มีบทบาทในการสั่งการให้โอนเงินแต่อย่างใด
“ทุกบริการที่มีการดำเนินงานโดยสำนักงานกฎหมายของเรานั้นเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพขั้นสูงสุดและสอดคล้องกับกฎระเบียบและแนวทางทั้งหมด” นายแชมบาร์ทัสกล่าวชี้แจงในอีเมล
@โรงแรมและกระเป๋าถือ
ข้อมูลเอกสารที่รั่วไหลตอนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัท Sun Power ยังได้เป็นผู้เปิดบัตรเครดิตจำนวนสองใบด้วยกัน ซึ่งบัตรทั้งสองใบก็ได้ถูกผู้ร่วมงานของนางจอร์จีวานำไปใช้เพื่อจับจ่ายใช้สอยต่างๆทั่วทวีปยุโรปในช่วงปี 2557
โดยหนึ่งในบัตรเครดิตที่ถูกเปิดใช้งานพบว่ามีการนำไปใช้เพื่อถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มในประเทศกรีซเป็นเงินจำนวนไม่กี่พันยูโร และในวันเดียวกันก็พบว่ามีการใช้จ่ายค่อนที่ฟุ่มเฟือยในนครแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งการใช้จ่ายที่ว่าก็รวมไปถึงการจ่ายเงินจำนวน 800 ยูโร (29,221 บาท) เพื่อเข้าพัก ณ โรงแรมฮอฟ และการใช้จ่ายอีกจำนวน 388 ยูโร (14,172 บาท) เพื่อใช้เป็นค่าอาหารสุดหรู ณ ภัตตาคารเซนซาคัง
บัตรเครดิตในใบเดียวกันนี้ยังถูกพบว่าได้นำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อกระเป๋าถือหลุยส์วิตตองในราคา 2,150 ยูโร (78,532 บาท) และยังได้ถูกนำไปใช้จ่ายอีกจำนวน 5,000 ยูโร (182,632 บาท) กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์ ขณะที่บันทึกจากธนาคารยังพบว่ามีการใช้บัตรเครดิตเพื่อเติมน้ำมันทั้งในประเทศออสเตรียและประเทศเซอร์เบีย ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางกลับไปยังประเทศกรีซ
ส่วนทางด้านของนายอีวาน คอสตา ซึ่งได้ยอมรับว่าเขานั้นเป็นผู้มีส่วนในการจัดแจงกำหนดการส่งแป้ง และยังได้เคยพบกับนางจอร์จีวาในกระบวนการฉ้อโกงนี้ด้วย ก็ได้ให้ปากคำต่ออัยการว่าตัวนางจอร์จีวานั้นได้นำเงินซื้อทรัพย์สินด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนและครอบครัว และเธอยังได้กำชับกับเขาว่าห้ามนำเรื่องที่เขารู้นั้นไปบอกกับทางการ อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้นั้นนายคอสตาได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจแล้ว
“มิลา จอร์จีวาขู่ว่าจะหักมือและเท้าของผม ถ้าหากว่าผมเอ่ยถึงสิ่งที่ผมพบเจอในประเทศโรมาเนีย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่ APIA” นายคอสตากล่าวในบันทึกเอกสารการให้ปากคำต่ออัยการ
นายคอสตากล่าวด้วยว่าเงินจากอียูนั้นถูกโอนเข้าไปสู่บัญชีของบริษัทสัญชาติบัลแกเรียที่ชื่อว่า Villa Overseas โดยบุตรชายของนางจอร์จีวานั้นก็ได้รับอำนาจจามกฎหมายให้ดูแลบริษัทนี้ ขณะที่ผู้เป็นแม่ของนางจอร์จีวานั้นได้ควบคุมบัญชีธนาคาร ซึ่งเงินก็ได้ถูกโอนไปยังบริษัทสัญชาติบัลแกเรียอีกแห่งหนึ่ง
นายคอสตากล่าวต่อไปในถ้อยแถลงว่าเงินบางส่วนถูกนำออกไปเป็นเงินสด ถูกนำไปซื้อบ้านและอพาร์ตเมนท์ ณ ริมชายทะเล โดยมีผู้ดำเนินการคือเพื่อนสนิทของนางมิลา จอร์จีวา
โดยเพื่อนสนิทคนดังกล่าวนั้นคือนางทซ์เวเตลินา ทาเซวา อดีตผู้จัดการที่บริษัท M&M Corporation ซึ่งในช่วงปี 2556 ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปีหลังจากที่เงิน 19 ล้านยูโรหายไป ก็พบว่านางทาเซวาได้นำเงินไปซื้อทรัพย์สินที่อยู่ ณ ริมชายฝั่งทะเลดำในประเทศบัลแกเรีย โดยจัดซื้อในนามบริษัท Sea and City Villa Properties ซึ่งตัวนางทาเซวาเป็นเจ้าของบริษัทนี้
ต่อมาในปี 2562 ก็มีการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของบริษัทไปให้กับแม่ของนางจอร์จีวา ซึ่งตัวเธอนั้นก็ได้เป็นเจ้าของแฟลตความสูงห้าชั้น ณ รีสอร์ทริมชายฝั่งที่ Sunny Beach ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองวาร์นาเป็นระยะทาง 95 กิโลเมตร
นายคอสตาได้ให้ปากคำอัยการยืนยันว่าแฟลตก็ถูกซื้อมาด้วยเงินที่ถูกขโมยไปจากกองเงินจำนวน 19 ล้านยูโรเช่นกัน ทว่าผู้สื่อข่าวยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลนี้ได้ แต่จากข้อมูลบันทึกเงินทุนที่ได้มีการรวบรวมมาซึ่งระบุถึงรายละเอียดของการโอนเงินระหว่างบริษัท M&M และบริษัท Sea and City Villa Properties พบว่าบริษัทนั้นได้มีการซื้อทรัพย์สินจริง
นายคอสตากล่าวต่อไปด้วยว่าบริษัท Villa Overseas ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทั้งแม่และลูกของนางจอร์จีวา ยังได้มีการส่งเงินเพื่อใช้เป็นเงินกู้ไปให้กับบริษัท M&M Corporation ซึ่งในช่วงปี 2556 นั้นก็พบว่าเงินจำนวนนี้ถูกนำไปใช้เป็นเงินลงทุนกับโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด เพื่อใช้ในเตาเผา ณ หมู่บ้าน Elen Pelin ที่อยู่ห่างไป 27 กิโลเมตรทางตะวันออกของกรุงโซเฟีย
“เงินทั้งหมดที่บริษัทเหล่านี้ได้โอนให้ระหว่างกัน ที่ผมได้กล่าวถึงนั้นล้วนแล้วมีที่มาจาก APIA” นายคอสตากล่าวกับอัยการ
ขณะที่คดีของนายทาเนฟและนางจอร์จีวานั้นพบว่ามีการส่งเรื่องไปให้กับศาลเพื่อพิจารณาคดีในครั้งแรกตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีกำหนดการนัดพิจารณาคดีแต่อย่างไร
เรียบเรียงจาก:https://www.occrp.org/en/investigations/stolen-eu-food-funds-funneled-into-properties-and-luxuries
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64