ในตอนแรกนั้นทางกองทัพเรือมาเลเซียที่ได้ระบุว่าต้องการเรือ LCS ที่ว่านี้เป็นเรือในระบบซิกม่า (Sigma) นั้น แต่ว่าทางฝ่ายกระทรวงได้ตัดสินใจจัดหาเรือในระบบโกวินด์ให้กับกองทัพเรือแทนในช่วงประมาณเดือน ก.ค. 2554 ซึ่งการจัดหาเรือที่ไม่ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือนั้นได้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัท BNS ได้ส่งคำแนะนำไปยังนายอาหมัด ซาฮิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในช่วงเวลานั้น
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอเสนอความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อเรือรบสำหรับปฏิบัติภารกิจในเขตน้ำตื้นหรือที่เรียกกันว่าเรือ LCS ของกองทัพเรือมาเลเซีย
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการบัญชีสาธารณะของรัฐสภามาเลเซีย (PAC) ได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อเรือ LCS คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 9.13 พันล้านริงกิต (72,249.3 ล้านบาท) หลังจากที่ได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้วเป็นระยะเวลาสองปี
คณะกรรมการฯกล่าวว่าโครงการจัดซื้อเรือรบดังกล่าวนั้นเป็นการทำสัญญากับระหว่างกระทรวงกลาโหมของมาเลเซีย ที่เซ็นสัญญาต่อเรือรบจำนวนหกลำกับบริษัทที่มีชื่อว่า อู่ต่อเรือบูสเตด (Boustead Naval Shipyard Sdn Bhd) หรือที่มีชื่อย่อว่า BNS ผ่านกระบวนการเจรจากับบริษัทโดยตรง และทางรัฐบาลก็ได้มีการจ่ายเงินให้กับบริษัทไปแล้วถึง 6.08 พันล้านริงกิต (48,113.4 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 66.65 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสัญญาเต็ม
“อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีการส่งมอบเรือ LCS แม้แต่ลำเดียว ซึ่งตามช่วงเวลาที่ได้มีการประกาศไว้นั้น เรือ LCS จำนวนห้าลำควรจะต้องต่อจนเสร็จและมีการส่งมอบแล้วในช่วงเดือน ส.ค. 2565” นายหว่องกะหว่อ (Wong Kah Woh) ประธาน PAC และ ส.ส.พรรค Ipoh Timor กล่าวเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา
โดยประเด็นดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563 ในระหว่างที่รัฐสภามีการลงมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เกี่ยวกับการใช้ประมาณในปี 2562
เป็นเหตุทำให้ทาง PAC ได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำเป็นจำนวนเก้าครั้งนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563- มี.ค.2565
สำหรับผู้ที่ถูกเรียกมาก็มีทั้งนายอาหมัด ซาฮิด ฮามิดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม,นายฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯไปแล้วก่อนหน้านี้ระหว่างเดือน พ.ค.2556-พ.ค. 2561, พล.ร.อ.อับดุลอาซิซ จาฟาร์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และเจ้าหน้าที่อีกหลายคนจากบริษัทย่อยเครือ BNS
โดยข้อมูลจากบริษัท Boustead Heavy Industries Corporation Berhad หนึ่งในบริษัทย่อยของ BNS ระบุว่าเรือรบ LCS ที่ว่ามานี้นั้นเป็นเรือรบในประเภทฟรีเกต มีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจกองทัพเรือที่ซับซ้อนครอบคลุมทั้งหมดสี่มิติของสงครามสมัยใหม่ อาทิการต่อต้านอากาศยาน,การต่อต้านเรือดำน้ำ,การต่อต้านเรือผิวน้ำ และการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์
PAC ได้รายงานต่อไปว่าที่ไปที่มาของการโครงการจัดหาเรือแบบ LCS ก็เนื่องมาจากแผนการปรับปรุงโครงสร้างของกองทัพเรือมาเลเซีย ที่ต้องการจะลดลำดับชั้นเรือรบในกองทัพลง จากเดิมที่มีอยู่ 15 ชั้นเรือรบ ก็ให้เหลือแค่ห้าชั้นเรือรบเท่านั้น
“ภายใต้แผนการปรับปรุงกองทัพเรือ ควรจะต้องมีเรือ LCS อยู่ทั้งสิ้น 12 ลำ อย่างไรก็ตามสัญญานี้กลับระบุแค่การต่อเรือจำนวนหกลำเท่านั้น” รายงานข่าวระบุ
ขณะที่ทางด้านของกองทัพเรือมาเลเซียก็ได้ออกมากล่าวว่าพร้อมจะให้กับสนับสนุนกระบวนการสอบสวนในทุกๆปัญหาที่ปรากฎออกมาภายใต้โครงการจัดซื้อนี้ และขอยืนยันว่าผู้ที่เกี่ยวข้องนั้นจะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด
กองทัพเรือมาเลเซียยังได้ระบุต่อไปด้วยว่าการมีเรือ LCS ดังกล่าวนี้นั้นถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาปลอดภัยและบูรณภาพแห่งดินแดน
“กองทัพเรือต้องการที่จะมีขีดความสามารถในการรบ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์” แถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ระบุ
@PAC ไปพบเจออะไร
มีรายงานว่า PAC นั้นไปตรวจสอบพบว่าไม่มีเรือรบที่ถูกต่อจนเสร็จสมบูรณ์และพร้อมส่งมอบแม้แต่ลำเดียว แม้ว่าตามกำหนดการแล้วเรือลำแรกจะต้องมีการส่งมอบในช่วงเดือน เม.ย. 2562 ก็ตาม
ส่วนเรือลำที่สอง สาม สี่ และห้าก็จะต้องมีการส่งมอบกันในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.2563, ต.ค. 2564 และ ในช่วงเดือน ส.ค.นี้
โดยความคืบหน้าของการต่อเรือทั้งห้าลำ ณ เวลานี้นั้นพบว่าอยู่ที่ 44 เปอร์เซ็นต์,35 เปอร์เซ็นต์,32 เปอร์เซ็นต์,27 เปอร์เซ็นต์และ 16 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ส่วนเรือลำที่หกและเรือลำสุดท้ายนั้นพบว่ายังไม่ได้เริ่มก่อสร้างเลย ทั้งๆที่จะมีกำหนดการส่งมอบในเดือน ต.ค. ปีหน้า
มีรายงานระบุอีกว่าความเห็นของกองทัพเรือในฐานะผู้ใช้เรือนั้นถูกละเลยจากทั้งกระทรวงกลาโหมและจากบริษัท BNS
ส่งผลทำให้ในตอนแรกนั้นทางกองทัพเรือมาเลเซียที่ได้ระบุว่าต้องการเรือ LCS ที่ว่านี้เป็นเรือในระบบซิกม่า (Sigma) นั้น แต่ว่าทางฝ่ายกระทรวงได้ตัดสินใจจัดหาเรือในระบบโกวินด์ให้กับกองทัพเรือแทนในช่วงประมาณเดือน ก.ค. 2554 ซึ่งการจัดหาเรือที่ไม่ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือนั้นได้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัท BNS ได้ส่งคำแนะนำไปยังนายอาหมัด ซาฮิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในช่วงเวลานั้น
เรือระบบซิกม่าที่กองทัพเรือมาเลเซียอ้างว่าอยากได้ระบบนี้ (อ้างอิงวิดีโอจาก Dung Tran Blog)
สำหรับระบบเรือซิกม่านั้นเป็นระบบเรือที่ถูกออกแบบโดยบริษัทจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ระบบโกวินด์เป็นระบบที่ถูกออกแบบโดนบริษัท Naval Group จากประเทศฝรั่งเศส
ทางด้านของนายกูน่า อรูลาลัน เดวิด รองหัวหน้าสํานักเลขาธิการคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษด้านธรรมาภิบาล การจัดซื้อจัดจ้าง และการเงิน ภายใต้การกำกับดูแลของสํานักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าระบบเรือโกวินด์นั้นเป็นระบบที่เหมาะกับเรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมากกว่าที่จะเป็นเรือแบบ LCS
“ระบบซิกม่านั้นเป็นการออกแบบเรือรบที่ถูกพิสูจน์การใช้งานแล้วโดยกองทัพเรืออินโดนีเซีย และยังถูกสร้างขึ้นสำหรับกองทัพเรือโมร็อกโก” นายอรูลาลันกล่าว
ส่วนนายหว่องก็ได้อ้างถึงคำพูดของ พล.ร.อ.อับดุล อาซิซ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการตัดสินใจในครั้งนี้
ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ารัฐบาลได้มีการออกหนังสือแจ้งให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาต่อบริษัท BNS ในช่วงเดือน ธ.ค. 2554 แต่ปรากฏว่าตัวสัญญาจริงๆเพิ่งจะมีการเซ็นกันในเดือน ก.ค. 2557
ในรายงานจากการตรวจสอบระบุด้วยว่าบริษัท BNS นั้นเคยมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอมาก จนทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินเริ่มต้นล่วงหน้าคิดเป็นมูลค่า 1.36 พันล้านริงกิต (10,808.7 ล้านบาท) แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ขัดต่อขั้นตอนของทางรัฐบาลก็ตาม
และก็ยังมีรายงานเกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยมิชอบ และความอ่อนแอของการบริการจัดการเงินในบริษัท BNS ปรากฏออกมาด้วยเช่นกัน
ส่วนบริษัทย่อยในเครือของ BNS จำนวนหลายแห่งนั้นพบว่าไม่ได้มีการนำเอาเงินที่ได้จากรัฐบาลไปลงกับโครงการ LCS เสียทั้งหมด แต่กลับเอาเงินในส่วนนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านริงกิต (3,179 ล้านบาท) ไปชำระหนี้เสียอันเกิดจากโครงการการต่อเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ (NGPV) ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
รายงาน PAC ยังระบุเสริมด้วยว่าบริษัท BNS ได้มีการแต่งตั้งบริษัทอีกจำนวนสองแห่งให้เป็นผู้จัดซื้ออุปกรณ์จากบริษัทที่รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์หรือที่เรียกว่าบริษัท OEM แทน ส่งผลทำให้ต้นทุนของการผลิตเรือนั้นพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
นายหว่องกล่าวในงานแถลงข่าวว่าเงื่อนไขของสัญญานี้ถือว่ามีความอ่อนแอและไม่เป็นประโยชน์แก่ทางรัฐบาลเลย เพราะว่าการจ่ายเงินของรัฐบาลนั้นไปยึดโยงกับความคืบหน้าของกิจกรรมหรือว่าการส่งมอบชิ้นส่วนต่างๆมาให้บริษัทแทนที่จะไปยึดโยงกับความคืบหน้าของโครงการ
“นี่เป็นเรื่องที่ไม่ปกติและทำให้กระบวนการจ่ายเงินในการสร้างเรือ LCS นั้นไปไกลกว่าความคืบหน้าที่แท้จริงของการต่อเรือไปอยู่ที่ประมาณ 21.1 เปอร์เซ็นต์” นายหว่องกล่าว
นายหว่องกล่าวต่อไปด้วยว่าพบว่ามีอุปกรณ์คงคลังสำหรับโครงการนี้คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านริงกิต (13,470.1 ล้านบาท) ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของอุปกรณ์นั้นมีความล้าสมัยแล้ว
เรือระบบโกวินด์ที่มีการจัดหาให้กองทัพเรือมาเลเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก Defense Web TV)
@ใครเป็นเจ้าของอู่ต่อเรือบูสเตดหรือบริษัท BNS
บริษัท BNS นั้นเป็นบริษัทย่อยซึ่งอยู่ในเครือของบริษัท บูสเตด โฮลดิ้งส์ หรือ Boustead Holdings Bhd ซึ่งเป็นบริษัทคอนโกลโมเรต หรือบริษัทข้ามชาติ โดยบริษัทข้ามชาติแห่งนี้ก็มีบริษัทผู้ที่ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดชื่อว่าคณะกรรมการกองทุนเลมบากา ทาบุง อังกาตัน เทนเทรา (LTAT) หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการกองทุนสำหรับกองทัพนั่นเอง
โดยบริษัทบูสเตด โฮลดิ้งส์ แห่งนี้นั้นระบุว่าตัวเองเป็นบริษัทศูนย์กลางครบวงจรสำหรับด้านการป้องกันประเทศที่กองทัพเรือต้องการ สำหรับที่ตั้งของบริษัทแห่งนี้นั้นพบว่าอยู่ที่ฐานทัพหลักของกองทัพเรือมาเลเซียในเมืองลูมุต ในรัฐเปรัคของมาเลเซีย
ทั้งนี้เป็นที่รับรู้กันว่าบริษัท BNS นั้นแท้จริงแล้วเคยเป็นอู่ต่อเรือของกองทัพเรือมาเลเซีย (Royal Malaysia Navy Dockyard) ก่อนแปลงสภาพกิจการในปี 2534 และต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอกชนชื่อว่า PSC Naval Dockyard Sdn Bhd.
และในปี 2548 บริษัท บูสเตด โฮลดิ้งส์ ก็ได้ดำเนินการเข้าถือหุ้นของบริษัท
อู่ต่อเรือบริษัท BNS
โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2564 พบว่า LTAT ได้ถือหุ้นในบูสเตด โฮลดิ้งส์ กว่า 59.43 เปอร์เซ็นต์
สำหรับความเป็นมาของ LTAT นั้นพบว่ากองทุนนี้มีการก่อตั้งในปี 2515 โดยเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของทางรัฐบาลที่จะดำเนินการให้ผลประโยชน์กับข้าราชการ,เจ้าหน้าที่กองกำลังอาสาสมัครของกองทัพในระดับต่างๆที่ปลดเกษียณไปแล้ว ผ่านโครงการออมทรัพย์เพื่อการเกษียณอายุ
ทั้งนี้ภายใต้โครงการ LTAT ผู้ที่จะมีส่วนร่วมรับผลประโยชน์ภายใต้โครงการนั้นจะต้องมีการแบ่งเงินเดือนเป็นจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกันกับรัฐบาลที่แบ่งเงินในฐานะนายจ้างอีก 15 เปอร์เซ็นต์
โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา นายอาหมัด นาซีม อับดุล ราห์มาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LTAT กล่าวว่าการก่อสร้างเรือนั้นยังคงดำเนินอยู่ต่อไป และกล่าวด้วยว่าโครงการก่อสร้างเรือนี้นั้นประสบภาวะชะงักงันในช่วงปี 2562 และดำเนินการต่อในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียนั้นได้เลือกตัวเลือกการก่อสร้างสำหรับโครงการที่ถูกที่สุด
ที่ทำการกองทุน LTAT
“ภายใต้เงื่อนไขของสัญญา ณ เวลานี้ การก่อสร้างเรือจำนวนหกลำจะมีการดำเนินการพร้อมกัน ไม่ใช่ก่อสร้างเสร็จหนึ่งลง ส่งหนึ่งลำ ซึ่งอู่ต่อเรือที่เมืองลูมุตนั้นใหญ่และมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะต่อเรือพร้อมกันหกลำในครั้งเดียว” ประธานหน้าที่ LTAT ระบุในแถลงการณ์
@รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่าอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ตามมาหลังจากการเปิดโปงสัญญาต่อเรือ LCS ทำให้ฝ่ายการเมืองนั้นต่อว่ากันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับปัญหาการไม่ส่งมอบเรือ
โดยนายอาหมัด ซาฮิด ได้ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบเกี่ยวกับข้อผิดพลาดของโครงการแล้ว โดยระบุว่าเขาไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในช่วงเวลาที่ได้มีการมอบสัญญาโครงการนี้
“ผมเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่เดือน เม.ย. 2552- พ.ค. 2556 ซึ่งใครที่มีส่วนทำให้เกิดความล่าช้าก็ควรจะไปอธิบายกับทาง PAC เพื่อสนับสนุนให้มีการเปิดโปงว่าความล่าช้านั้นแท้จริงมาจากอะไรกันแน่” นายอาหมัด ซาฮิดกล่าวกับสำนักข่าว Malaysia Gazette
อนึ่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอาหมัด ซาฮิดได้กล่าวว่าทั้งฝ่ายทางการและรัฐบาลควรที่จะนำเสนอมุมมองที่ครอบคลุมเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ และเขายังอ้างอีกว่าพรรคการเมือง Pakatan Harapan (PH) หรือพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง นั้นเป็นผู้ที่พยายามจะหยุดโครงการนี้ในช่วงเวลาที่พรรคเข้ามามีอำนาจในปี 2561 หลังจากที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไป
นายอาหมัด ซาฮิดยังได้กล่าวแสดงความกังวลว่าการเปิดโปงนั้นอาจจะไปส่งผลกระทบกับความลับเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
“PAC ควรจะทำงานให้มีความละเอียดอ่อนมากกว่านี้ ในการดำเนินการสอบสวนโดยเฉพาะกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ และประเด็นที่ว่านี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนอยู่” นายอาหมัด ซาฮิดกล่าว
อย่างไรก็ตามนายหลิว ชิน ตอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกรายที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาที่พรรค PH ได้ครอบอำนาจเป็นระยะเวลา 22 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561- ก.พ. 2563 ได้กล่าวว่านายอาหมัด ซาฮิด ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในฐานะผู้อนุมัติโครงการ
“โครงการนี้นั้นได้รับการอนุมัติจากเขาในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปี 2554” นายหลิวกล่าวบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนนายโมฮาหมัด ซาบู ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของพรรค PH ก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันกับนายหลิวระบุว่าโครงการนี้ประสบความล่าช้าเรื่องจากพบปัญหาในเรื่องของรายละเอียดการออกแบบ ซึ่งควรจะบรรลุไปได้ตั้งแต่ในเดือน พ.ค. 2559 แล้ว แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการออกแบบที่ว่ามานี้นั้นก็ยังคงไม่ได้ข้อสรุปจนถึงในปัจจุบันนี้
ในแถลงการณ์ร่วมของทั้งสองคนนี้ยังได้กล่าวด้วยว่ารัฐบาลพรรค PH นั้นได้ดำเนินการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางของโครงการต่อเรือ LCS ในเดือน ก.พ. 2563 ภายใต้คำแนะนำของของคณะกรรมการสอบสวนพิเศษด้านธรรมาภิบาลการจัดซื้อจัดจ้างและการเงิน แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลพรรค PH ก็ต้องหลุดพ้นจากอำนาจในเดือนนั้นนั่นเอง
พวกเขายังได้กล่าวอ้างต่อไปด้วยว่านายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรี และนายอาหมัด ซาฮิด นั้นควรเป็นผู้ต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของโครงการนี้เนื่องจากว่าทั้งสองคนนี้เป็นผู้ที่อนุมัติโครงการโดยไม่ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม
@ก้าวต่อไปคืออะไร
ในการแถลงข่าว นายหว่อง ในฐานะประธาน PAC ซึ่งเป็นผู้นำในการสอบสวนได้ออกคำแนะนำให้ดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นเจ็ดประการซึ่งรวมไปถึงการเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาเพื่อให้มีการตรวจสอบได้ ขณะที่ในส่วนของการจัดซื้อ เขาได้กล่าวว่าควรจะต้องเป็นการจัดซื้อที่ยึดโยงตามความต้องการของผู้ใช้งานจริง ซึ่งควรจะต้องเป็นความต้องการของกองทัพเรือต่อโครงการ LCS นี้
“กระทรวงกลาโหมควรทบทวนทางเลือกทั้งหมดและกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับโครงการ LCS และควรมีการกำกับดูแลเพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้กระทรวงควรที่จะมีการนำเสนอความคืบหน้าโครงการต่อPAC เป็นระยะเวลาทุกสามเดือนจนกว่าโครงการ LCS จะแล้วเสร็จ” นายหว่องกล่าว
ขณะที่นายอิกมาล ฮิชาม อับดุล อาซิซ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบันได้กล่าวกับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของมาเลเซียหรือ MACC ได้เข้ามาสืบสวนเรื่องนี้แล้ว ซึ่งอัยการสูงสุดก็จะเป็นผู้พิจารณาการตั้งข้อกล่าวหาต่อไป
ส่วนนายฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของมาเลเซียก็ได้ให้ปากคำกับทางวุฒิสภาเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ว่าทางกระทรวงจะใช้เวลาประมาณหกเดือนเพื่อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง และคาดว่าภายในสองปีจะได้รับเรือลำแรก
ส่วนนายรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาขอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ให้คำมั่นว่าการสอบสวนนั้นจะดำเนินไปอย่างโปร่งใส และไม่มีการคุ้มครองผู้เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
- ส่องคดีทุจริตโลก: เผยเครือข่าย บ.เปลือกหอยอังกฤษ เอื้อผลประโยชน์คนใกล้ชิด ปธน.ปูติน
- ส่องคดีทุจริตโลก: แฉขบวนการถ่ายน้ำมันรัสเซียนอกชายฝั่งอังกฤษ ส่งรายได้หนุนสงครามยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอย 'บ.อิสราเอล' ส่งออกสปายแวร์เพกาซัส ให้ รบ.ตปท.สอดแนมประชาชน
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปง 'อูเบอร์ไฟล์'แฉเอกชนล็อบบี้โอลิการ์ชแลกทำธุรกิจแท็กซี่รัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: สตง.อังกฤษสอบนโยบาย 'บอริส จอห์นสัน' ส่อย้อมแมวสร้าง รพ. 40 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเส้นทางฟอสเฟตซีเรีย สู่โรงงานปุ๋ยยุโรป ส่งรายได้เข้าโอลิการ์ชรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: จนท.องค์การเภสัชอินเดียรับสินบน แลกอนุมัติยกเลิกทดลองอินซูลินระยะ 3
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารเครือยักษ์ใหญ่รัฐบอลติก เอี่ยวฟอกเงินหมื่น ล.โอลิการ์ชรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: ปลด รมต.สธ.เวียดนาม เซ่นปมขายชุดตรวจโควิดแพง 45% เอกชนฟันกำไร 709 ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:นักธุรกิจจีนเอี่ยวคดีสินบน อดีตที่ปรึกษาฮุนเซน ถือหุ้นสโมสรเบอร์มิงแฮม
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเส้นทางการเงินคดีให้สินบนนายพลจีน สู่คฤหาสน์พันล้าน ณ แวนคูเวอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงข้อพิรุธธุรกรรม เชื่อมโยงทอง 3 ตันประเทศกินี ส่อถูกฟอกในอังกฤษ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ย้อมแมวจรวด,โดรน-กินส่วนต่างวิทยุ 3 พันล. ต้นเหตุรัสเซียติดหล่มในยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดข้อพิรุธเอกชนไร้ประสบการณ์ ชนะสัญญาชุด PPE รบ.ออสเตรเลีย หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยสินบนเรือดำน้ำมาเลเซีย พัน ล.! ฝรั่งเศสสั่งสอบ บ.ต่อเรือรบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'รมต.สเปน'โดนสอบ ใช้ช่องพิเศษอนุมัติสัญญาโควิดเอื้อ บ.พวกพ้อง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมคอรัปชั่นในกองทัพรัสเซีย-งบปี 65 รวม 2 ล้าน ล.ไม่รู้ไปไหนบ้าง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64