OCCRP รายงานต่อไปว่าพบข้อมูลว่ามีนักการเมืองยุโรปจำนวนอย่างน้อย 3 คน,ผู้สื่อข่าวที่เขียนข่าวเข้าข้างผู้ปกครองประเทศและกลุ่มนักธุรกิจนั้นเป็นผู้ที่รับผลประโยชน์หลักๆจากเงินดังกล่าวนี้ และในบางกรณีก็พบว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินที่ถูกฟอกนั้น เป็นผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญและสามารถขับเคลื่อนองค์การระหว่างประเทศ อาทิ องค์การยูเนสโกและสภาผู้แทนราษฎรแห่งสภายุโรป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นก็ถือว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในด้านการประชาสัมพันธ์ สำหรับระบอบที่กำลังปกครองประเทศอาเซอร์ไบจานอยู่
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอการเปิดโปงเส้นทางการเงินของกลุ่มบุคคล นักการเมืองระดับผู้นำที่ทุจริตซึ่งปกครองประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งนำเงินเหล่านั้นไปฟอกยังต่างประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าว ERR ของประเทศเอสโตเนียได้รายงานข่าวว่าสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติของประเทศอังกฤษหรือ NCA ได้เปิดโปงข้อมูลพบว่ามีเงินจำนวนนับหลายล้านยูโรซึ่งมีที่มาจากประเทศอาเซอร์ไบจานถูกขนย้ายผ่านไปยังประเทศเอสโตเนีย ขณะที่ผู้พิพากษาของประเทศอังกฤษก็ได้กล่าวว่าเงินจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นเงินที่ถูกฟอกภายใต้ปฏิบัติการณ์การฟอกเงินของนักฟอกเงินที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งจากข้อมูลหลักฐานพบว่ามีเงินบางส่วนนั้นถูกขนย้ายผ่านธนาคารดันสเก (Danske Bank ของประเทศเดนมาร์ก) สาขากรุงทาลลินน์ ของประเทศเอสโตเนีย ซึ่งในปัจจุบันนั้นธนาคารสาขาดังกล่าวได้เลิกกิจการไปแล้ว
รายงานของ NCA ได้ระบุต่อไปว่าปฏิบัติการณ์การฟอกเงินนั้นถูกดำเนินงานในนามของนักการเมืองระดับสูงของประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งจำนวนเงินที่ทาง NCA สามารถจะอายัดมาได้นั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 15.3 ล้านปอนด์ (682,984,483 บาท) และในเงินดังกล่าว พบว่ามีเงินอีกจำนวน 5,630,994 ปอนด์ (185,676,396 บาท) ที่ถูกนำสืบขยายผลไปได้ว่าเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีซึ่งเชื่อมโยงไปถึงนักการเมืองระดับสูงของอาเซอร์ไบจาน
NCA ระบุต่อไปว่าเงินจำนวนนี้ส่วนมากแล้วถูกเคลื่อนย้ายด้วยวิธีการทางธุรกรรมทั้งที่ประเทศเอสโตเนียและที่ประเทศลัตเวีย
ขณะที่องค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่อต้านคอร์รัปชันหรือ The Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ก็ได้ทำข่าวสืบสวนในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งในรายงานของ OCCRP ได้เรียกปฏิบัติการณ์ฟอกเงินเหล่านี้ว่าเป็นการดำเนินงานภายใต้คณะโจราธิปไตยของอาเซอร์ไบจาน
โดยรายงานข่าวระบุว่าช่วงเวลาที่มีปฏิบัติการณ์ฟอกเงินนั้นอยู่ระหว่างปี 2555-2557 และปรากฎว่าบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปถึงนายอิลฮัม เฮย์แดร์ โอกลู แอลีเยฟ ประธานาธิบดีคนที่ 4 และคนปัจจุบันของประเทศอาร์เซอไบจานที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2546 เป็นต้นมา ซึ่งภายใต้การปกครองของนายแอลีเยฟนั้น พบว่ามีการดำเนินสิ่งที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอยู่หลายประการกับกลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบการปกครองของเขา
อนึ่งประเทศอาเซอร์ไบจานนั้นเป็นประเทศขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเทือกเขาคอเคซัส มีประชากรอยู่ประมาณทั้งสิ้น 10 ล้านคน และมีทรัพยากรทางธรรมชาติ ได้แก่น้ำมันและแก๊สเป็นจำนวนมหาศาล แต่อย่างไรก็ตามกลับปรากฎข้อมูลว่ามีการทุจริตเป็นจำนวนมหาศาลด้วยเช่นกัน และหนึ่งในผู้ที่รับผลประโยชน์จากการทุจริตผ่านกระบวนการฟอกเงินอันซับซ้อนก็คือนักการเมืองในระดับผู้นำประเทศ ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตอันเกี่ยวกับทรัพยากรทางธรรมชาติ
ท่อแก๊สของอาเซอร์ไบจานไปยุโรป
@การอายัดเงินจำนวนมากของ NCA
ขณะที่นายแอนดี้ ลูอิส หัวหน้าฝ่ายการติดตามยึดทรัพย์ที่ NCA ได้กล่าวว่า “นี่ถือเป็นการริบทรัพย์เป็นจำนวนมากในขบวนการฟอกเงินในประเทศอาเซอร์ไบจาน และความสำเร็จดังกล่าวนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วถึงความเสี่ยงของทุกคนที่กระทำโดยมิชอบผ่านแผนการฟอกเงินนี้”
นายลูอิสกล่าวต่อไปว่าเราสามารถที่จะเรียกคืนเงินเป็นจำนวนนับล้านกลับมาได้ และหลังจากนี้ทาง NCA ก็จะดำเนินการต่อภายใต้กรอบของกฎหมายในการริบเงินอันผิดกฎหมายที่เข้ามาสู่สหราชอาณาจักรในทุกกรณี
ส่วนนายเบน รัสเซล รองผู้อํานวยการศูนย์อาชญากรรมทางเศรษฐกิจแห่งชาติประเทศอังกฤษก็ได้กล่าวว่า คดีนี้นั้นแสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความมุ่งมั่นของ NCA ในการตรวจสอบและยึดทรัพย์,เงินรายได้อันมาจากการทุจริตและการฟอกเงินที่เกี่ยวข้อง
@ความซับซ้อนของบริษัทเปลือก และบัญชีธนาคารนอกอาณาเขต
NCA ได้รายงานต่อไปว่า ผลจากการยื่นเรื่องเพื่อให้ดำเนินคดีนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา พบว่าปฏิบัติการณ์การฟอกเงินนั้นมีการดำเนินการผ่านชั้นที่ซับซ้อนของบริษัทเปลือกที่ดำเนินงานด้านบัญชีธนาคารในประเทศเอสโตเนียและประเทศลัตเวีย ซึ่งการโอนเงินในบางครั้งก็จะมาพร้อมกับเอกสารต่างๆ อาทิ ใบเสร็จรับเงินและสัญญาเพื่อจะอ้างว่าการโอนเงินนั้นมีความถูกต้องตามกฎหมาย
ทางด้านของนายจอห์น ซานี ผู้พิพาษาแขวงก็ได้กล่าวว่าในจากการพิจารณาหลักฐานและฟังคำร้องเป็นระยะเวลาถึง 3 สัปดาห์ ที่ศาลชั้นต้น แขวงเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ก็ได้ข้อสรุปจากหลักฐานว่าเอกสารต่างๆจำนวนมากที่ถูกแนบมากับการโอนเงินดังกล่าวนั้น ทั้งหมดถูกปลอมแปลงขึ้นมาด้วยด้วยความพยายามที่จะปิดบังและซ่อนเร้นกิจกรรมการโอนเงินเอาไว้
ดังนั้นนี่จึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งให้มีการอายัดทรัพย์เงินจำนวน 5,630,994 ปอนด์ ที่ถูกฝากไว้ในบัญชีธนาคารที่ประเทศอังกฤษ ตามที่ได้ระบุไปแล้ว ซึ่งเจ้าของบัญชีธนาคารดังกล่าวก็คือสมาชิกครอบครัวของนายชวานเชอร์ เฟย์ซิเยฟ สมาชิกรัฐสภาของประเทศอาเซอร์ไบจาน
สำหรับข้อมูลของนายเฟย์ซิเยฟพบว่าเขาเป็นประธานคณะกรรมการด้านความร่วมมือกันของรัฐสภาสหราชอาณาจักร-อาเซอร์ไบจาน และยังเป็นประธานร่วมในคณะกรรมการด้านความร่วมมือของรัฐสภาสหภาพยุโรป (อียู)-อาเซอร์ไบจาน
NCA รายงานต่อไปว่าได้มีการออกคำสั่งให้ดำเนินการอายัด 6 บัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบัญชีเหล่านี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาทั้งในนามของนางปารวานา เฟย์ซิเยวา ภรรยาของนายเฟย์ซิเยฟ, นายอรข่าน ชวาเชอร์ หนึ่งในบุตรของนายเฟย์ซิเยฟ และในนามของนายเอลแมน ชวานเชอร์ หลานชายของนายเฟย์ซิเยฟ
@สำนักข่าวการ์เดียนรายงานเรื่องกิจกรรมการฟอกเงินในปี 2560
ย้อนไปเมื่อประมาณเดือน ก.ย. 2560 สำนักข่าวการ์เดียวของประเทศอังกฤษเองก็ได้รายงานข่าวเรื่องขบวนการฟอกเงินนี้ว่าเงินที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้ถูกนำไปใช้จ่ายในหลายส่วนในต่างประเทศด้วยกัน อาทินำไปจ่ายให้กับล็อบบี้ยิสต์,จ่ายเงินให้กับผู้ที่ดำเนินการแก้ไขข้อครหาต่างๆ,จ่ายเงินให้กับนักการเมืองระดับสูงในยุโรป และจ่ายเงินเพื่อเข้าไปสู่กระบวนการฟอกเงิน ซึ่งในช่วงระหว่างปี 2555-2557 มีรายงานว่ามีการจ่ายเงินในส่วนนี้ทั้งสิ้นประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (95,624,600,000 บาท) หรือถ้าหากคิดเป็นจำนวนเฉลี่ยต่อวันก็หมายความว่าในทุกๆวันนั้นมีเงินไหลออกจากประเทศอาเซอร์ไบจานเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (98,922,000 บาท)
โดยต้นกำเนิดของเงินนั้นก็มาจากบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับประธานาธิบดีแอลีเยฟ,กระทรวงต่างๆหลายกระทรวง และธนาคารระหว่างประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารระหว่างประเทศอาเซอร์ไบจานนั้นได้ยื่นขอคุ้มครองการล้มละลายไปในช่วงปี 2560
ในรายงานข่าวสำนักข่าวการ์เดียนระบุต่อไปว่าหลังจากที่เงินได้ถูกโอนไปยังบริษัทนอกอาณาเขตจำนวน 4 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทของสหราชอาณาจักร เงินก็ได้ถูกนำไปใช้จ่ายในหลายประเทศ อาทิ ที่เยอรมนี,ฝรั่งเศส,ตุรกี,อิหร่าน และที่คาซัคสถาน
นายอิลฮัม เฮย์แดร์ โอกลู แอลีเยฟ ประธานาธิบดีของประเทศอาร์เซอไบจาน
@องค์กรนักข่าวสืบสวน:เงินถูกพบว่านำไปใช้จ่ายเพื่อจะซื้อสินค้าหรูหราและซื้อนักการเมืองในยุโรป
ขณะที่ OCCRP ก็ได้รายงานข่าวว่าแผนการการฟอกเงินที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ในช่วงเวลาที่รัฐบาลอาเซอร์ไบจานได้จับกุมกลุ่มนักกิจกรรม และผู้สื่อข่าวในประเทศ ในขณะที่เงินกลับถูกใช้ไปทั้งในการซื้อสินค้าที่ฟุ่มเฟือย และบางส่วนเพื่อซื้อนักการเมืองในยุโรป
OCCRP ระบุต่อไปว่า ทางหนังสือพิมพ์สัญชาติเดนมาร์กแห่งหนึ่งที่ชื่อว่าเบอร์ลินเก้ ก็แบ่งปันข้อมูลให้กับ OCCRP ส่วนหนึ่งว่ามีเงินจากอาเซอร์ไบจานคิดเป็นจำนวนกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (95,624,600,000 บาท) มายังประเทศเดนมาร์ก ทำให้ทั้ง OCCRP และเบอร์ลินเก้ร่วมมือกันสืบสวนเพิ่มเติมว่าเงินจำนวนนี้นั้นไปที่ไหนบ้าง
ขณะที่ทางด้านของนายชวานเชอร์ เฟย์ซิเยฟ ก็ได้ตอบโต้รายงานข่าวของ OCCRP โดยกล่าวว่าบทความนั้นมีลักษณะที่หมิ่นประมาท และยืนยันว่าตัวเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายที่ OCCRP ได้รายงาน
@การคุมขังฝ่ายตรงข้ามนับร้อยราย ภายใต้ระบอบการปกครองของประเทศอาเซอร์ไบจาน
รายงานข่าวสืบสวนของ OCCRP ได้รายงานต่อไปว่า พบข้อมูลว่ามีเงินคิดเป็นมูลค่ามหาศาลและอาจจะเป็นจำนวนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกใช้ไปโดยคณะโจราธิปไตยของอาเซอร์ไบจาน เพื่อวัตถุประสงค์ทั้งในการปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์,การคุมขังนักกิจกรรม,นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและผู้สื่อข่าวคิดเป็นจำนวนเกือบร้อยคน ด้วยข้อกล่าวหาในทางการเมือง และยังมีการปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นก็ถูกประณามโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
OCCRP รายงานต่อไปว่าพบข้อมูลว่ามีนักการเมืองยุโรปจำนวนอย่างน้อย 3 คน,ผู้สื่อข่าวที่เขียนข่าวเข้าข้างผู้ปกครองประเทศและกลุ่มนักธุรกิจนั้นเป็นผู้ที่รับผลประโยชน์หลักๆจากเงินดังกล่าวนี้ และในบางกรณีก็พบว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเงินที่ถูกฟอกนั้น เป็นผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญและสามารถขับเคลื่อนองค์การระหว่างประเทศ อาทิ องค์การยูเนสโกและสภาผู้แทนราษฎรแห่งสภายุโรป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นก็ถือว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในด้านการประชาสัมพันธ์ สำหรับระบอบที่กำลังปกครองประเทศอาเซอร์ไบจานอยู่
มีข้อมูลทางธุรกรรมที่รั่วไหลออกมาคิดเป็นจำนวนมากกว่า 16,000 รายการที่เปิดเผยว่าแกนหลักของแผนการการฟอกเงินอาเซอร์ไบจานนั้น ถูกจัดตั้งขึ้นโดยบริษัทเปลือกจำนวน 4 แห่งที่จดทะเบียนในสหราชอาณาจักร ซึ่งทาง OCCRP ได้รายงานว่าในพื้นที่ที่จดทะเบียดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่ที่ขาดการใช้ระเบียบและมาตรการบางประการ
ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารดันสเกที่เป็นสถาบันการเงินหลักของยุโรปยังได้ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินเหล่านี้ ทั้งๆที่ควรจะดำเนินการยกธงแดงกับผู้เกี่ยวข้อง ในขณะที่ธนาคารสาขากรุงทาลลินน์ ที่เลิกกิจการไปแล้วในเวลานี้ ก็มีส่วนในการจัดการบัญชีของบริษัทเปลือกอันเกี่ยวกับการฟอกเงินอาเซอร์ไบจาน โดยอนุมัติให้มีการโยกย้ายเงินเป็นจำนวนนับพันล้านโดยไม่ตรวจสอบในรายละเอียดของสัญญา และการสั่งซื้อที่เกี่ยวข้องด้วยมาตรการที่จำเป็น
OCCRP ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่ามีเงินอีกเป็นจำนวนมากนั้นยังได้ถูกโอนไปที่บริษัทในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และตุรกีด้วยเช่นกัน
@หนึ่งในผู้รับมอบผลประโยชน์กลับกลายเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการปราบปรามการทุจริตในอาเซอร์ไบจาน
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้ที่รับเงินนั้นยังมีสมาชิกครอบครัวของนายยาคูบ เอยูบอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของอาเซอร์ไบจาน,นายอาลี นากิเยฟ ประธานของหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของรัฐของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ซึ่งสิ่งที่มีความย้อนแย้งก็คือว่า นายนากิเยฟนั้นเป็นผู้ที่ถูกมอบหมายให้แก้ไขปัญหาทุจริตในประเทศอาเซอร์ไบจาน แต่กลับปรากฎว่ามีการโยกย้ายเงินคิดเป็นจำนวนกว่า 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4,550,412,000 บาท) ไปให้กับบริษัทอาโวรเมด ซึ่งเป็นบริษัทยายักษ์ใหญ่ ที่มีผู้ก่อตั้งร่วมคือนายชวาเชอร์ เฟย์ซิเยฟ
ขณะที่เงินอีกส่วนที่ถูกฟอกนั้นถูกเปิดโปงว่ามีต้นทางมาจากรัฐวิสาหกิจโรโซโบรอน ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศรัสเซียที่ดำเนินกิจการด้านการส่งออกอาวุธเป็นหลัก
อนึ่งสำหรับธนาคารดันสเกในประเทศเอสโตเนียนั้นถูกบังคับให้ปิดตัวลงในปี 2562 หลังจากมีการเปิดเผยว่าธนาคารอาจจะมีส่วนเกี่ยวกับการฟอกเงินคิดเป็นจำนวนรวมกว่า 2 แสนล้านยูโร (7.55 ล้านล้านบาท)ในช่วงปี 2550- 2558 และมีการประเมินว่าธนาคารแห่งนี้น่าจะเป็นเส้นทางการเงินที่ผิดกฎหมายอีกก้อนหนึ่งจำนวนกว่า 3.7 หมื่นล้านยูโร (1.396 ล้านล้านบาท) ซึ่งถูกโยกย้ายไปยังธนาคารสวีดแบงค์ของประเทศสวีเดนสาขาประเทศเอสโตเนียในช่วงปี 2557-2562
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพจาก:https://news.err.ee/1608485783/uk-seizes-azerbaijani-millions-allegedly-channeled-via-estonia,https://www.occrp.org/en/investigations/bp-turned-a-blind-eye-to-corruption-in-prize-azerbaijan-gas-project
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64