ทว่าพอมาถึงปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลกลางออสเตรเลียได้ออกโครงการใช้จ่ายเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด ก็ทำให้บริษัทนั้นได้รับลาภก้อนใหญ่ มากพอที่จะพลิกผันสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทได้ โดยบริษัทนั้นถูกเลือกให้ทำสัญญาในทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด ตั้งแต่การจัดหาวัคซีนไปจนถึงการดูแลด้านบุคลากรที่บ้านพักคนชรา ซึ่งในเดือน ก.ค. 2564 บริษัทแอสเพน เมดิคอล ก็ได้แจ้งกำไรก่อนหักภาษีพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 227 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (5,504 ล้านบาท)
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอความไม่โปร่งใสการจัดซื้อชุดป้องกันการติดเชื้อหรือว่าชุดพีพีอี ในกระทรวงสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลีย
โดยรายงานข่าวจากสำนักข่าวเอบีซีเมื่อวันที่ 2 พ.ค. เปิดเผยว่านายเกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียได้เคยร่างและเซ็นจดหมายรับรองบริษัททางด้านสาธารณสุขแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมือง ในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังดำเนินการเจรจากับทางรัฐบาลเพื่อให้ได้ข้อตกลงการจัดส่งชุดพีพีอีเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
บริษัทที่ว่านี้นั้นชื่อว่าแอสเพน เมดิคอล ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองแคนเบอร์รา โดยบริษัทแห่งนี้ได้สัญญาคิดเป็นเงินภาษีจากประชาชนออสเตรเลีย มูลค่ารวมมากกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (26,675 ล้านบาท)
รายงานข่าวสืบสวนกรณีการจัดซื้อชุดพีพีอีจากบริษัทแอสเพน เมดิคอลของรายการ Four Corners ของสำนักข่าวเอบีซี
แม้ว่าในช่วงปี 2561-2562 ที่ผ่านมาพบว่าบริษัทนั้นต้องขาดทุนไปถึง 7 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (169,752,240 บาท)ก็ตาม แต่ว่าหลังจากที่บริษัทได้ข้อตกลงการจัดหาชุดพีพีอีจากรัฐบาลออสเตรเลีย ก็ทำให้บริษัทได้รับกำไรก่อนหักภาษีถึง 420 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (10,185 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตามบริษัทแอสเพน เมดิคอล นั้นไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆเลยเกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ลอตใหญ่มาก่อน แต่บริษัทกลับได้ทำสัญญาจัดหาชุดพีพีอีกับกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียที่มีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (12,125 ล้านบาท) โดยข้อตกลงนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงที่มีมูลค่าสูงมากกว่าข้อตกลงที่รัฐบาลออสเตรเลียได้เคยทำไว้กับบริษัทอื่นๆก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมไปถึงกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในการจัดหาเวชภัณฑ์
จากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้เกิดการทำข่าวสืบสวนร่วมกันระหว่างรายการข่าวสืบสวนชื่อว่า Four Corners ของสำนักข่าวเอบีซี ร่วมมือกับสำนักข่าว Colombo's Sunday Times ของประเทศศรีลังกาของประเทศศรีลังกา จนทราบข้อมูลได้ว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอล นั้นเคยถูกสอบสวนในฐานความผิดอาชญากรรมระหว่างประเทศว่าด้วยการทุจริต และการฟอกเงิน
นายเกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย
แต่ทว่าจดหมายที่นายฮันท์ได้ร่างและลงนามรับรอง ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ของรัฐบาลเครือจักรภพกำกับอยู่ด้วยนั้นกลับระบุว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอล เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับระดับโลกและได้รับรางวัลระดับประเทศ" และ "เป็นบริษัทซัพพลายเออร์ที่เชื่อถือได้ในการบริการด้านสุขภาพแก่รัฐบาลออสเตรเลีย" ขณะที่คำจั่วหัวของจดหมายดังกล่าวนั้นก็ระบุคำว่า “ถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง” แต่กลับไม่มีการเจาะจงว่าจะส่งจดหมายนี้ให้ใครบ้าง
โดยจดหมายนั้นได้มีการจัดทำเอาไว้และมีการลงลายเซ็นในปลายเดือน ก.พ. 2563
ขณะที่ในแถลงการณ์ของบริษัทแอสเพน เมดิคอลที่ส่งมายังรายการ Four Corners ได้ระบุว่าในช่วงเดือน ก.พ. 2563 ทางกระทรวงสาธารณสุขเริ่มได้เริ่มต้นการสั่งซื้อชุด PPE กับบริษัทเอสเพนฯแล้ว โดยเป็นการจัดซื้อในปริมาณน้อยๆก่อน ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวนั้นไม่ได้อยู่ในส่วนหนึ่งของสัญญาที่มีการระบุให้เพิ่มปริมาณการจัดซื้อชุด PPE ให้มากขึ้น ส่วนข้อมูลเอกสารการทำสัญญาของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มาจากกฎหมายข้อมูลข่าวสารนั้นระบุว่ามีสัญญาจัดซื้อชุด PPE กับบริษัทแอสเพน เมดิคอลฉบับหนึ่งที่ได้มีการทำสัญญากันตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 แล้ว
นอกจากนี้พบประเด็นที่น่าสงสัยก็คือว่าจดหมายของนายฮันท์นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทแอสเพน เมดิคอลนั้นเข้าไปมีส่วนอย่างเร่งด่วนในดำเนินการจัดซื้อเครื่องเทอร์โมมิเตอร์สำหรับท่าเรือและสนามบินในออสเตรเลีย ซึ่งการจัดซื้อดังกล่าวไม่มีการทำสัญญาที่มีลักษณะเหมาะสมแต่อย่างใด
ส่วนทางด้านของนายสตีเฟ่น ดัคเก็ตต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้กล่าวว่าตัวเขาเองไม่เคยเห็นจดหมายแนะนำบริษัทที่มีลักษณะแบบเดียวกับที่นายฮันท์ทำมาก่อนเลย
“เรามีทั้งรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ผิดชอบดูแล หรือรัฐมนตรีช่วยที่จะรับผิดชอบงานด้านต่างๆอันอยู่ในแขนงของการบริการสาธารณะอยู่แล้ว ดังนั้นการเขียนจดหมายแนะนำในลักษณะนั้นจึงเป็นอะไรที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการทำจดหมายอันไม่ระบุตัวตนของบุคคล และการใช้คำฟุ่มเฟือยอย่างเช่นถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง” นายดัคเก็ตต์กล่าวและกล่าวต่อไปว่า “เราไม่รู้เลยว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอลนั้นจะเอาจดหมายที่ได้มานี้ไปใช้ในบริบทไหนบ้าง”
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่าดังนั้นการที่นายฮันท์ทำจดหมายรับรองในระหว่างที่รัฐบาลกำลังเจรจาหารือการอยู่ถือเป็นเรื่องที่น่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง
“ถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติเป็นพิเศษ และก็เป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับผู้ที่เป็นรัฐมนตรี หรือผู้ที่เป็นข้าราชการที่จะเข้าไปมีส่วนในการติดต่อ,มีส่วนร่วม และเขียนจดหมายแนะนำในลักษณะนี้” นายดัคเก็ตต์กล่าว
ส่วนบริษัทแอสเพน เมดิคอลก็ได้ยืนยันกับรายการ Four Corners ว่าทางบริษัทได้มีการขอจดหมายแนะนำจากนายฮันท์จริง
ขณะที่โฆษกส่วนตัวของนายฮันท์ก็ได้ชี้แจงว่า “การเขียนจดหมายนั้นมีขึ้นเพื่อจะสนับสนุนบริษัทแอสเพน เมดิคอล ในการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกา และถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมในการที่จะสนับสนุนบริษัทสัญชาติออสเตรเลียเพื่อจะดำเนินกิจการในต่างประเทศ”
โฆษกส่วนตัวของรัฐมนตรียังได้กล่าวยืนยันด้วยว่ารัฐมนตรีนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาของบริษัทแอสเพน เมดิคอล ที่มีกับรัฐบาลออสเตรเลียแต่อย่างใด ทั้งในแง่ของ “การแนะนำให้จัดซื้อ,การประเมิน,การอนุมัติ,การติดต่อเจรจา และการตัดสินใจต่างๆ”
“รัฐมนตรีฮันท์ไม่ได้ไปหารือในเรื่องเงื่อนไขสัญญาใดๆกับบริษัทแอสเพน เมดิคอล หรือไปหารือกับบุคลากรของบริษัทแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าปฏิสัมพันธ์ของรัฐมนตรีกับบริษัทนั้นเป็นไปอย่างน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” โฆษกส่วนตัวกล่าว
อนึ่งการทำสัญญาของบริษัทแอสเพน เมดิคอลเพื่อจะเป็นซัพพลายเออร์ให้กับองค์การคลังเก็บเวชภัณฑ์แห่งชาติของออสเตรเลีย (National Medical Stockpile) นั้นก็มีลักษณะเหมือนกับการทำสัญญากับบริษัทอื่นๆในช่วงวิกฤติโรคระบาด ก็คือว่าบริษัทแอนเพนฯ นั้นถูกเลือกให้ทำสัญญาโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการประกวดราคาสาธารณะแต่อย่างใด
โดยเหตุผลที่ต้องมีการใช้วิธีการพิเศษดังกล่าวก็เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าออสเตรเลียจะสามารถเข้าถึงชุด PPE อันจำเป็นได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่สินค้านั้นมีความต้องการสูงในระดับนานาชาติ
ที่ทำการบริษัทแอสเพน เมดิคอลในเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย
ทั้งนี้การจัดซื้อภายใต้แนวทางปกติของรัฐบาลกลางนั้น จะต้องเปิดให้มีการประกวดราคาสาธารณะสำหรับสัญญาที่มีขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนดังกล่าวนั้นถูกระงับอย่างเป็นทางการในช่วงหลังจากที่บริษัทแอสเพน เมดิคอลได้กรอกคำสั่งซื้อของรัฐบาลกลางเพื่อจะจัดหาชุด PPE
“สาเหตุที่ต้องมีกติกาเหล่านี้ ก็เพื่อทำให้การจัดซื้อนั้นคุ้มค่าเงินที่สุด ซึ่งคนทั่วไปอาจเรียกกติกาเหล่านี้ว่าระเบียบราชการ แต่ว่าก็มีการยกเลิกกติกาที่ว่านี้ได้เช่นกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับความเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ” นายดัคเก็ตต์กล่าว
ส่วนทางด้านของนายฮันท์ก็ได้ยืนยันว่าการจัดซื้อชุด PPE ของรัฐบาลนั้นเป็นการดำเนินการที่คุ้มค่าในทุกดอลลาร์ โดยเขาได้อ้างว่าทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินออสเตรเลียหรือ ANAO ได้เข้ามาดูแล้วพบว่าการจัดซื้อนั้นมีผลในแง่บวกเนื่องจากว่าอุปกรณ์ที่จัดซื้อมานั้นอยู่ในช่วงราคาที่เหมาะสม
อนึ่ง รายงานของ ANAO ที่ได้เข้าไปตรวจสอบการจัดซื้อชุด PPE นั้นระบุว่า “แม้ว่าจะพบสิ่งที่ขัดแย้งกันในเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกิจของบริษัทซัพพลายเออร์ และยังพบว่าไม่มีการเก็บบันทึกต่างๆที่เพียงพอ แต่ว่าการจัดซื้อจัดจ้างนั้นสอดคล้องกับการนำไปใช้งานอย่างเหมาะสม และยังมีความสอดคล้องต่อการจัดการทรัพยากรสาธารณะ”
มีรายงานว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอล นั้นมีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับบุคคลระดับสูงในรัฐบาล และยังเกี่ยวข้องไปถึงนักการเมืองจากพรรคลิเบอรัลมานานนับสิบปี ซึ่งความเกี่ยวข้องที่ว่านี้ก็รวมไปถึงกรณีที่ นพ.ไมเคิล วูลดริดจ์ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขจากพรรคลิเบอรัลนั้นเคยไปดำรงตำแหน่งเป็นบอร์ดบริหารและล็อบบี้ยิสต์ให้กับบริษัทแห่งนี้
โดยในปัจจุบันนั้น นพ.วูลดริดจ์ได้ไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกิจการร่วมค้าของบริษัทแอสเพน เมดิคอลในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งกิจการร่วมค้าดังกล่าวมีมูลค่าอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (31,525 ล้านบาท)
และแม้ว่า นพ.วูลดริดจ์จะต้องโทษแบนจากสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และการลงทุนออสเตรเลีย ไม่ให้เข้าไปนั่งเป็นผู้อำนวยการบริษัทแอสเพน เมดิคอล ด้วยข้อหาที่ว่าเขาได้มีพฤติกรรมละเมิดอันนำไปสู่การยุบโครงการลงทุนสำหรับหมู่บ้านผู้เกษียณอายุ
แต่ นพ.วูลดริดจ์ก็ยังคงเข้าประชุมกับบอร์ดบริหารบริษัทแอสเพน เมดิคอลอยู่ดี ในฐานะที่เขาเป็นที่ปรึกษาของบริษัท
ขณะที่โฆษกส่วนตัวของนายฮันท์ได้กล่าวว่า “เราไม่ได้รับทราบ หรือว่ามีบันทึกว่า นพ.วูลดริดจ์ ได้ดำเนินการล็อบบี้ในฐานะตัวแทนบริษัทแอสเพน เมดิคอล อันเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อใดๆก็ตาม”
นพ.ไมเคิล วูลดริดจ์ อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขจากพรรคลิเบอรัล,อดีตบอร์ดบริหารและล็อบบี้ยิสต์ของบริษัทแอสเพน เมดิคอล
ทั้งนี้ในช่วงระหว่างปี 2552-2564 พบข้อมูลว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอลนั้นได้ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ อาทิให้เงินสนับสนุนพรรคลิเบอรัลรวมกว่า 110,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (2,667,535 บาท) ผ่านทางช่องทางบริจาคทางการเมือง และกิจกรรมการระดมทุนต่างๆ ซึ่งรวมไปการบริจาคระหว่างระดมทุนให้กับพรรคควีนส์แลนด์ลิเบอรัลคิดเป็นจำนวนกว่า 13,200 ดอลลลาร์ฯ (320,104 บาท) โดยการบริจาคเงินก้องดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นวันเดียวกับที่นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้ประกาศปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้บริษัทยังได้เป็นผู้บริจาคให้กับพรรคแรงงานออสเตรเลียคิดเป็นเงินจำนวนกว่า 54,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (1,261,016 บาท) ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
ทว่าในปีนี้บริษัทแอสเพน เมดิคอล ได้ตกเป็นข้อครหาในประเด็นเกี่ยวกับสัญญามูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (970 ล้านบาท) โดยสำนักข่าวอีกแห่งชื่อว่า The Australia ได้รายงานข่าวระบุว่าบริษัทแอนเพนฯนั้นได้รับข้อตกลงลับกับ รัฐบาลท้องถิ่นของนางแอนนาสตาเซีย ปาลาสซิก (Annastacia Palaszczuk) มุขมนตรีรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งรายละเอียดข้อตกลงนั้นบริษัทจะต้องจัดหาบริการด้านสุขภาพให้กับสถานกักกันโรคแห่งใหม่ของรัฐควีนส์แลนด์
ขณะที่ทางด้านของมุขมนตรีก็ได้ออกมาให้ข่าวปกป้องการตัดสินใจทำข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอล นั้นถือว่าเป็นผู้ประกอบการแห่งเดียวที่สามารถรับงานนี้ได้
ศูนย์กักกันโรคโควิด-19 ในรัฐควีนส์แลนด์ ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการประกวดราคา
มีรายงานอีกว่านับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา บริษัทแอสเพน เมดิคอล นั้นก็ได้รับสัญญาหลายรายการโดยไม่ผ่านกระบวนการประกวดราคาสาธารณะแต่อย่างใด ซึ่งสัญญาเหล่านี้ก็มีทั้งสัญญาจากกระทรวงการต่างประเทศ,กระทรวงสาธารณสุข,กระทรวงกลาโหม และสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตามหลังจากปี 2559 ก็เกิดเหตุที่ข้อตกลงของบริษัทซึ่งทำไว้กับกระทรวงกลาโหมในการที่บริษัทจะจัดหาบุคลากรด้านคลินิกทั่วประเทศออสเตรเลียนั้นไม่ได้รับการต่ออายุ ซึ่งนี่ทำให้บริษัทตกอยู่ภายใต้ความสุ่มเสี่ยงในด้านฐานะการเงินมากขึ้น
และพอมาถึงปี 2562 สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทก็แย่ลง เมื่อบริษัทต้องขาดทุนก่อนหักภาษีในปีดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (121,251,600 บาท)
ทว่าพอมาถึงปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลกลางออสเตรเลียได้ออกโครงการใช้จ่ายเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด ก็ทำให้บริษัทนั้นได้รับลาภก้อนใหญ่ มากพอที่จะพลิกผันสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทได้ โดยบริษัทนั้นถูกเลือกให้ทำสัญญาในทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด ตั้งแต่การจัดหาวัคซีนไปจนถึงการดูแลด้านบุคลากรที่บ้านพักคนชรา ซึ่งในเดือน ก.ค. 2564 บริษัทแอสเพน เมดิคอล ก็ได้แจ้งกำไรก่อนหักภาษีพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 227 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (5,504 ล้านบาท)
โดยบริษัทแอสเพน เมดิคอลก็ได้ชี้แจงในรายละเอียดว่าทำไมบริษัทได้รับเลือกกับทางรายการ Four Corners โดยระบุว่า “บริษัทนั้นมีประวัติความสำเร็จทั้งในด้านการจัดหาสินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงชุด PPE เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินงานด้านสุขภาพทั่วทั้งประเทศออสเตรเลียและในต่างประเทศ”
บริษัทยังได้อ้างต่อไปด้วยว่าตัวบริษัทนั้นมีความสัมพันธ์อันดีกับซัพพลายเออร์หลายแห่งทั้งที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียและอยู่ในระดับนานาชาติ
@บริษัทแอสเพน เมดิคอล ถูกสอบสวนว่ามีส่วนพัวพันการฟอกเงิน
รายการ Four Corners ได้ดำเนินการตรวจสอบ ก็พบว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอล เคยถูกสอบสวนว่ามีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินครั้งใหญ่ หลังจากที่บริษัทนั้นเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการโรงพยาบาลในเมืองฮัมบันโตตาคิดเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเมืองฮัมบันโตตาดังกล่าวนั้นเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ณ ชายฝั่งของประเทศศรีลังกา
โดยการดำเนินงานในโครงการโรงพยาบาลดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ซึ่งตัวบริษัทเองก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลออสเตรเลียที่เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันการดำเนินงานของบริษัท ผ่านทางบรรษัทประกันภัยและสินเชื่อเพื่อการส่งออกหรือ EFIC (ปัจจุบันคือบรรษัทการเงินเพื่อการส่งออกของออสเตรเลีย หรือ EFA) คิดเป็นวงเงินค้ำประกันอยู่ที่ 18.8 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (455 ล้านบาท)
ในการรายงานต่อรัฐสภาออสเตรเลีย, ทาง EFIC ได้กล่าวว่าบรรษัทนั้นได้มีการทำข้อผูกมัดภายใต้บริบทที่ว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอลนั้นถูกว่าจ้างให้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์และการออกแบบการการแพทย์รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องให้กับทางโรงพยาบาล
ทว่าในกรณีดังกล่าวนั้น ทางบริษัทแอสเพน เมดิคอล กลับปฏิเสธที่จะตอบคำถามต่อรายการ Four Corners ในคำถามที่ว่าบริษัทนั้นได้เคยจัดส่งอุปกรณ์หรือว่าออกแบบทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลจริงหรือไม่
โดยในแถลงการณ์ของบริษัทแอสเพน เมดิคอล ได้ชี้แจงว่าบริษัทแอสเพน เมดิคอล ได้มีการจ้างช่วงต่อกับบริษัทผู้รับเหมาแห่งหนึ่งชื่อว่า EN-Projects ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติดัตช์ ที่เข้าไปดำเนินโครงการโรงพยาบาลนี้ โดยมีขอบเขตรับผิดชอบครอบคลุมในด้านของการบริการทางวิศวกรรมโรงพยาบาลที่หลากหลาย และในแถลงการณ์บริษัทแอสเพน เมดิคอลได้ระบุต่อไปด้วยว่าบริษัทนั้นได้มีการติดต่อและมีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์รายอื่นๆอีก รวมแล้วมากกว่า 20 ราย ในโครงการโรงพยาบาลนี้
โรงพยาบาลในเมืองฮัมบันโตตา ซึ่งบริษัทบริษัทแอสเพน เมดิคอล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมจัดหาอุปกรณ์ให้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบันทึกทางธุรกรรมครั้งแรกของบริษัทแอสเพน เมดิคอล ในประเทศศรีลังกา นั้นพบว่าบริษัทได้มีการจ่ายเงินกว่า 1.4 ล้านยูโร (50,672,104 บาท) ไปให้กับบริษัทลึกลับแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ที่ชื่อว่าบริษัท Sabre Vision Holdings ซึ่งจากธุรกรรมดังกล่าวนั้นก็ทำให้ทางตำรวจกรุงโคลอมโบได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาตรวจสอบเป็นอย่างยิ่ง
รายงานธุรกรรมได้ระบุต่อไปว่าแท้จริงแล้วการจ่ายเงินจำนวน 1.4 ล้านยูโรดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการจ่ายเงินอีกจำนวน 4.3 ล้านยูโร (155,635,748 บาท) และการจ่ายเงินอีกจำนวน 537,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,440,580 บาท) ซึ่งยอดเงินทั้งหมดนั้นพบว่ามีการชำระผ่านธนาคารสั่งจ่ายไปถึงบริษัทนอกอาณาเขต Sabre Vision Holdings โดยมีผู้จ่ายเงินรวมทั้งสิ้นสามรายได้แก่ 1.บริษัทแอสเพน เมดิคอล 2.บริษัท EN-Projects และ 3. บริษัทสัญชาติเยอรมนีชื่อว่า Juga Bau GmbH ซึ่งทางตำรวจศรีลังกาได้ตั้งข้อสงสัยว่าการจ่ายเงินรวมดังกล่าวนั้นอาจจะมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นผลจากกิจกรรมอันผิดกฎหมาย
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมก็พบว่าบริษัทนอกอาณาเขตที่ว่ามานี้นั้น แท้จริงแล้วมีเจ้าของก็คือนายนิมาล เปเรรา ซึ่งเป็นคนกลางเชื่อมโยงไปถึงตระกูลราชปักษา ซึ่งเป็นตระกูลที่ครองอำนาจทางการเมืองในประเทศศรีลังกามายาวนานหลายสิบปี
พอมาถึงปี 2559 นายปาเรราก็ได้รับสารภาพว่าเขาได้ทำหน้าที่เก็บรวบรวมเงินให้กับนายนามาล ราชปักษา บุตรชายของนายมาฮินดา ราชปักษา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศศรีลังกา ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจับกุมนายนามาล ราชปักษา
นายมาฮินดา ราชปักษา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศศรีลังกาและนายนามาล ราชปักษา ผู้เป็นบุตร ถ่ายรูปร่วมกันหลังชนะเลือกตั้งในปี 2563
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนข้อตกลงโรงพยาบาล ด้วยการสอบปากคำนายปาเรราถึงที่แหล่งกำเนิดของเงินที่ไม่สามารถหาที่ไปที่มาได้ ซึ่งเงินที่ว่ามานั้นได้ตรงเข้าไปสู่บัญชีส่วนตัวของนายเปเรรา เขาได้ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ว่าเงินนั้นมาจากนักธุรกิจสัญชาติอิตาลีรายหนึ่ง ซึ่งเขาเองก็ไม่สามารถยืนยันตัวตนนักธุรกิจคนนี้ได้ผ่านทางที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์
เมื่อถามต่อเกี่ยวกับบริษัทนอกอาณาเขต Sabre Vision Holdings นายเปเรราได้ให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทนี้เลย และเขาเชื่อว่าบริษัทนอกอาณาเขตดังกล่าวนั้นอาจเกี่ยวโยงไปถึงเพื่อนนักธุรกิจชาวอิตาลีของเขาเอง
ทว่าเมื่อตำรวจศรีลังกาได้ขอความร่วมมือ และในเวลาต่อมาก็ได้รับเอกสารบริษัทจากทางหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เอกสารนั้นกลับระบุว่าบริษัทนอกอาณาเขต Sabre Vision Holdings แท้จริงแล้วไม่ได้มีเจ้าของคนอื่นเป็นนักธุรกิจชาวอิตาลีผู้ลึกลับแต่ประการใด แต่มีเจ้าของเพียงแค่รายเดียวเท่านั้นซึ่งก็คือนายเปเรรานั่นเอง
จากกรณีดังกล่าวนั้นทางรายการ Four Corners ได้สอบถามไปยังนายปาเรราว่าทำไมเขาถึงโกหกเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่นายปาเรราก็ได้ตอบกลับมาเพียงแค่ว่า “ไม่ ผมไม่ต้องการที่จะตอบคำถาม ขอโทษด้วย”
นายปาเรราได้ยืนยันด้วยว่าเขานั้นไม่เคยทำงานในภาคส่วนสาธารณสุขแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทแอสเพน เมดิคอล ด้วยเช่นกัน โดยตัวเขานั้นเพียงแค่เคยทำงานให้กับบริษัท EN-Projects เท่านั้นเอง
มีรายงานด้วยว่าในช่วงปี 2556 บริษัทนอกอาณาเขต Sabre Vision Holdings ยังได้รับเงินอีกจำนวนนับหลายแสนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินจำนวนนี้ถือว่าเป็นส่วนของการจ่ายสินบนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีผู้ดำเนินการจ่ายเงินก็คือบริษัท EADS ที่เป็นบริษัทเครือญาติกับบริษัทผลิตเครื่องบินแอร์บัส
โดยการจ่ายสินบนของบริษัทแอร์บัสทั้งในประเทศศรีลังกาและอีกหลายประเทศทั่วโลกนั้น ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน และเข้าสู่กระบวนการการทำข้อตกลงยุติการดำเนินคดีระหว่างบริษัทแอร์บัสกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร และในช่วงเดือน ม.ค. 2563 บริษัทแอร์บัสก็ได้จ่ายเงินเป็นจำนวนรวมกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (137,360 ล้านบาท) เพื่อให้ยุติการสอบสวนสวนคดีทุจริตที่ถูกดำเนินงานทั้งจากทางการฝรั่งเศส,สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
กลับมาที่บริษัทแอสเพน เมดิคอล ซึ่งทางบริษัทก็ได้ชี้แจงว่าจนถึง ณ เวลานี้บริษัทยังไม่ได้รับการร้องขอหรือถูกตรวจสอบไม่ว่าจะทั้งจากทางหน่วยงานรัฐบาลหรือว่าจากศาลยุติธรรมของประเทศใดก็ตามในกรณีที่เกี่ยวข้องกับโครงการโรงพยาบาลที่ศรีลังกา แต่บริษัทก็พร้อมจะให้ความร่วมมือหากมีการสอบสวนเกิดขึ้น
บริษัทระบุต่อไปด้วยว่ากรณีการทุจริตแอร์บัสนั้นถูกเปิดโปงต่อสาธารณะในปี 2562 ซึ่งคิดเป็นเวลาหลายปีหลังจากที่บริษัทแอสเพน เมดิคอลได้ดำเนินการจ่ายเงินให้กับบริษัทนอกอาณาเขต Sabre Vision Holdings
“เรามีค่านิยมที่เข้มแข็ง ซึ่งจะกันเราออกจากการทำงานร่วมกับองค์กรใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต” แถลงการณ์บริษัทกล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพจาก https://www.abc.net.au/news/2022-05-02/aspen-medical-greg-hunt-four-corners/101022086?fbclid=IwAR08_S3VODT8rBn4E2OeLae3n2vEjLN2zcKuPCkGp-4hLxDoEfzeGYIgbRk
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยสินบนเรือดำน้ำมาเลเซีย พัน ล.! ฝรั่งเศสสั่งสอบ บ.ต่อเรือรบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'รมต.สเปน'โดนสอบ ใช้ช่องพิเศษอนุมัติสัญญาโควิดเอื้อ บ.พวกพ้อง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมคอรัปชั่นในกองทัพรัสเซีย-งบปี 65 รวม 2 ล้าน ล.ไม่รู้ไปไหนบ้าง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64