พบข้อมูลว่าบริษัท Affinor นั้นยังได้มีการขายทองให้กับบริษัท IGR Metals Trading DMCC ซึ่งตั้งอยู่ ณ นครดูไบ โดยบริษัท IGR นั้นเปรียบได้กับฝ่ายผู้ทำการซื้อขายให้กับบริษัทหล่อทองสัญชาติตุรกีชื่อว่า Istanbul Gold Refinery ซึ่งข้อมูลตามเอกสารของศาลพบว่าบริษัทนั้นขายทองได้เงินไปกว่า 50 ล้านยูโร (1,818 ล้านบาท) และหลังจากที่ได้เงิน ก็มีการโอนเงินจากบัญชีในกรุงลอนดอนไปยังบัญชีของสำนักงานกฎหมายในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งสำนักกฎหมายดังกล่าวนั้นถูกตรวจสอบพบว่าเป็นที่เก็บเงินสำหรับบริษัทผู้ลงทุนสัญชาติไซปรัสอีกทีหนึ่ง
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอประเด็นความอื้อฉาวของระบบการเงินของประเทศอังกฤษ เนื่องจากต้องสงสัยว่าทองคำจากประเทศกินีนั้นอาจจะถูกนำไปฟอกเงิน ณ กรุงลอนดอน
โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานข่าวว่ารัฐบาลประเทศกินี ที่ผ่านมานั้นอยากจะรู้มาโดยตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นกับทองคำน้ำหนักรวมกว่าสามตันของประเทศตัวเอง ซึ่งคำตอบนั้นอาจจะอยู่ในกรุงลอนดอน
ย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทางการประเทศกินีได้จับกุมอดีตประธานธนาคารกลางของประเทศ และตั้งข้อหาว่ามีส่วนในการยักยอกเงิน หลังจากพบว่าบริษัทสัญชาติเบลเยียมชื่อว่า Affinor BVBA ซึ่งเป็นผู้นำทองขึ้นไปขึ้นรูป และยังเป็นผู้ที่เก็บรักษาทองคำดังกล่าวนั้นออกมาระบุว่าไม่สามารถคืนทองคำให้กับประเทศกินีได้
โดยที่ผ่านมานั้นธนาคารกลางของประเทศกินีได้แสดงความต้องการมาตลอดว่าจะขอทองคำประมาณสามตันนั้นคืนเพื่อนำไปใช้คงคลังเพื่อจะรับมือกับภาวะช็อคทางเศรษฐกิจ
อนึ่งการจับกุมนายลอนเซนี นาเบ้ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศกินีนั้นทำให้เกิดประเด็นข้อครหา ที่เกี่ยวโยงไปถึงกรณีที่บริษัทหล่อทอง ซึ่งเป็นผู้ที่ถือครองและแลกทองคำนั้นถูกดำเนินคดีอยู่ก่อนแล้วกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษ ในข้อหาว่าบริษัทแห่งนี้มีส่วนร่วมในการฟอกเงิน
โดยบริษัทได้ออกมายอมรับว่าสามารถหารายได้คิดเป็นจำนวนนับล้านยูโร จากการแลกเปลี่ยนกับทองคำของประเทศกินี ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนั้นก็ได้ถูกโอนไปยังบัญชีธนาคารที่อยู่ทั่วโลก และบัญชีบางส่วนก็มีความเกี่ยวข้องกับตัวบริษัทผู้หล่อทองเอง ซึ่งจากคำรับสารภาพดังกล่าวนั้น ส่งผลให้ทางอัยการออกมาเปิดเผยว่าพบว่ามีหลักฐานจำนวนมากมายว่าเงินที่ธนาคารแห่งนี้ได้มานั้นเป็นเงินซึ่งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีที่มาจากกิจกรรมการฟอกเงินระหว่างประเทศ
ส่งผลทำให้ในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการยึดทรัพย์คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 34 ล้านยูโร (1,236 ล้านบาท) ซึ่งการยึดทรัพย์ดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นการยึดทรัพย์ครั้งใหญ่สุดในประเทศอังกฤษ ในคดีอาชญากรรม
ประเด็นการยึดทรัพย์ดังกล่าวนั้นทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวต่อทางประเทศกินีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของความปลอดภัยของทองคำของประเทศตัวเอง อีกทั้งยังพบข้อมูลว่าบริษัท Affinor แห่งนี้ได้มีข้อตกลงอันมีเงื่อนงำกับบริษัทในประเทศอื่นๆอีกสามทวีป ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสของตลาดค้าทองคำในกรุงลอนดอนว่าเงินที่หมุนเวียนในตลาดนั้นมีความถูกต้องแค่ไหน ซึ่งในแต่ละปีนั้น พบว่ามีการค้าโลหะอันมีค่าในตลาดทองคำคิดเป็นมูลค่ารวมถึงนับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่าบริษัท Affinor นั้นยังได้มีการขายทองให้กับบริษัท IGR Metals Trading DMCC ซึ่งตั้งอยู่ ณ นครดูไบ โดยบริษัท IGR นั้นเปรียบได้กับฝ่ายผู้ทำการซื้อขายให้กับบริษัทหล่อทองสัญชาติตุรกีชื่อว่า Istanbul Gold Refinery ซึ่งข้อมูลตามเอกสารของศาลพบว่าบริษัทนั้นขายทองได้เงินไปกว่า 50 ล้านยูโร (1,818 ล้านบาท) และหลังจากที่ได้เงิน ก็มีการโอนเงินจากบัญชีในกรุงลอนดอนไปยังบัญชีของสำนักงานกฎหมายในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งสำนักกฎหมายดังกล่าวนั้นถูกตรวจสอบพบว่าเป็นที่เก็บเงินสำหรับบริษัทผู้ลงทุนสัญชาติไซปรัสอีกทีหนึ่ง
หน้าเว็บของบริษัท Affinor BVBA ที่อ้างว่ามีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโลหะมีค่ามานานหลายปี
ขณะที่นายจอห์น ซานี ผู้พิพากษาศาลอังกฤษ ได้เขียนเอาไว้ในคำพิพากษาเมื่อปี 2563 ระบุว่าจำนวนเงินที่ปรากฏนั้นมีมากกว่าจำนวนเงินที่บริษัท Affinor น่าจะได้จากการค้าเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เป็นที่น่าสงสัยขึ้นไปอีกว่าต้นทางของเงินดังกล่าวมาจากไหนกันแน่
@การตามรอยเงิน
บริษัทกฎหมายชื่อว่า Du Toit & Co. LLP ซึ่งมีที่ตั้ง ณ ประเทศแอฟริกาใต้ และบริษัทนักลงทุนสัญชาติไซปรัส ที่มีชื่อว่า Xiperias ได้ตกลงว่าจะคืนเงินจำนวน 34 ล้านยูโร แต่ว่าทั้งสองบริษัทไม่ยอมรับว่าได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนโฆษกของบริษัท Affinor กล่าวว่าบริษัทไม่ได้เป็นทั้งผู้ต้องสงสัยหรือว่ากลุ่มบุคคลที่ถูกระบุถึงในคำพิพากษาในศาลที่กรุงลอนดอนแต่อย่างใด อีกทั้งบริษัทก็ได้มีการส่งข้อมูลให้กับทางศาลไปแล้วทั้งข้อมูลในส่วนของบันทึกการติดตามตรวจสอบทองคำ และข้อมูลการซื้อทองกับธนาคารกลางของประเทศกินี
ส่วนโฆษกของบริษัท IGR Metals ก็ได้ยืนยันว่ามีการซื้อทองมาจริง แต่ว่าบริษัทนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไปถึงธนาคารกลางประเทศกินีอย่างแน่นอน และยังได้ปฏิเสธอีกว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยโฆษกบริษัทได้ยืนยันหนักแน่นว่าบริษัท IGR Metals นั้นเป็นบริษัทที่ดำเนินการโดยอิสระ และไม่มีภาระผูกพันว่าจะต้องขายโลหะอันมีค่าที่ซื้อได้ให้กับทางบริษัท Istanbul Gold Refinery แต่อย่างใด
สำหรับบริษัท Istanbul Gold Refinery นั้นได้รับการรับรองจากสมาคมตลาดทองคําแท่งลอนดอนหรือ LBMA ซึ่งสมาคมนี้ประกอบไปด้วยบริษัทขนาดเล็กหลายแห่งที่ทำหน้าที่ในการทำให้เศษแร่และเศษทองต่างๆ เป็นแร่ที่มีความบริสุทธ์ ทำเป็นทองคำแท่ง หลังจากนั้นจึงนำเอาแร่ที่ถูกทำให้บริสุทธิ์เหล่านี้ไปเข้าสู่ระบบการเงิน ดังนั้นจึงเป็นที่คาดหวังกันว่ากระบวนการเหล่านี้จะต้องมีการกันเงินที่มีที่มาิดกฎหมายออกไป ทำให้ทาง LBMA ได้มีการตั้งกฎระเบียบว่าโลหะอันมีค่าใดๆก็ตามที่พวกเขาได้รับมาเพื่อเข้าสู่การทำให้เป็นทองคำแท่งนั้นจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอาชญากรรม
อย่างไรก็ตามข้อกำหนดดังกล่าวนั้นกลับไม่มีการนำมาปฎิบัติอย่างจริงจัง โดยนายมาร์ค พิธ ผู้ก่อตั้งสถาบันธรรมาภิบาลบาเซิล และยังเป็นผู้ที่ตรวจสอบรายละเอียดในคำพิพากษาของศาลระบุว่า บริษัทหล่อทองเหล่านี้ไม่ได้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างจริงจังเลยแม้แต่น้อย
อีกทั้ง IGR Metals ก็ไม่ได้ให้คำตอบต่อคำถามในประเด็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ LBMA แต่อย่างใด ซึ่งครั้งสุดท้ายที่บริษัทได้กล่าวถึงประเด็นนี้ก็คือเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าบริษัทได้ดำเนินกระบวนการอย่างแข็งขันในการทำการค้ากับคู่ค้าทางธุรกิจ
ส่วนสมาคม LBMA ก็ได้กล่าวเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า สมาคมไม่ได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมาก่อน แต่ว่าตอนนี้เมื่อรายละเอียดได้ปรากฏออกมาแล้ว ทางสมาคมก็จะมีการดำเนินการตรวจสอบในเบื้องต้นอย่างเร็วที่สุด
อนึ่งการทำธุรกิจของบริษัท Affinor ในประเทศกินีนั้นมีจุดเริ่มต้นย้อนไปได้ถึงเหตุความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศกินี โดยในปี 2551 หลังจากจากการเสียชีวิตของนายลันซานา คอนเต้ อดีตผู้นำที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน กองทัพก็ได้เข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ จนกระทั่งประเทศกินีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2553
โดยความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้ผู้นำรัฐบาลตะวันตกหลายประเทศยุติความสัมพันธ์กับสถาบันต่างๆที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกินี รวมไปถึงธนาคารกลางกินี และบริษัทหล่อทองหลายแห่งที่ก่อนหน้านี้ได้ทำข้อตกลงกับทางประเทศกินี ก็ไม่มีความต้องการที่จะจัดการกับทองคำจากเหมืองแร่ในประเทศกินีอีกต่อไป เนื่องจากว่ามีการบังคับใช้กฎหมายที่มีความรัดกุมมากขึ้น ทั้งในด้านของกฎหมายว่าด้วยการใช้แรงงานเด็กและกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่นายไบดี้ อาริบอต อดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางของกินีได้ให้สัมภาษณ์ที่นครดูไบในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพียงหนึ่งวันหลังจากการจับกุมนายนาเบ้ โดยเขากล่าวว่าจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับประเทศกินีในการจะขายทองเอาไว้เพื่อพยุงค่าเงิน โดยหลังจากที่นายนาเบ้ถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากการเข้ามาของเผด็จการทหาร ทุกประตูที่จะดำเนินการค้าขายนั้นก็ถูกปิดลง
และการที่ธนาคารกลางไม่เหลือใครให้พึ่งพา ทำให้ทางบริษัท Affinor ซึ่งบริษัทขนาดเล็ก ตั้งอยู่ ณ เมืองเคงก์ ในประเทศเบลเยียมได้เข้ามาชักชวนธนาคารกลางให้ดำเนินการค้าทอง โดยข้อเสนอของบริษัทนั้นระบุว่าบริษัทตกลงที่จะทำหน้าที่เก็บและดำเนินการให้ทองของประเทศกินีเป็นทองคำบริสุทธ์ ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่เป็นนายหน้าค้าทองให้กับประเทศกินี
ทว่าบริษัท Affinor รวมไปถึงประธานผู้บริหารบริษัทซึ่งก็คือนาย จอส เบคเกอร์ส นั้นกลับเป็นที่ถูกกล่าวถึงน้อยมาก ในแวดวงของอุตสาหกรรมบริษัทหล่อทอง อีกทั้งนายเบคเกอร์สยังได้ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกรณีการค้าทองดังกล่าวด้วยเช่นกัน ส่วนข้อมูลบัญชีของบริษัทกับระบุแค่ว่าบริษัทแห่งนี้มีลูกจ้างแค่เพียงสองคนเท่านั้น และไม่ได้มีคำรับรองให้เป็นผู้หล่อทองจากตลาดทองคําแท่งลอนดอนแต่อย่างใด ทำให้เป็นการยากแก่บริษัทนี้ในการที่จะขายทองเป็นปริมาณมากให้กับนักการเงินในกรุงลอนดอน
ส่วนบริษัท Istanbul Gold Refinery นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทสองแห่งของประเทศตุรกีที่ได้รับคำรับรองจากสมาคม LBMA โดยบริษัทแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับตัวเชื่อมตัวสำคัญระหว่างพ่อค้าอัญมณี ณ ตลาดอิสตันบูลแกรนด์บาซาร์และตลาดในประเทศอังกฤษ โดยทองคำแท่งที่ถูกประทับตราของบริษัท ณ กรุงลอนดอน จะถูกนำไปเก็บยังตู้เซฟของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส และธนาคารเอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ ตามรายละเอียดข้อมูลที่ระบุสําหรับกองทุนที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายในทองคํา
ทองคำของบริษัท IGR Metals Trading DMCC ในช่วงเวลาที่บริษัทแห่งนี้นั้นถูกกล่าวหาว่ามีการค้าขายกับธนาคารกลางประเทศเวเนซุเอลา
สำหรับความสัมพันธ์ของบริษัท Affinor และประเทศกินี ณ เวลานี้นั้นกำลังถูกตรวจสอบโดยกลุ่มเผด็จการทหารที่เพิ่งจะเข้ามายึดอำนาจได้นับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ,โดยในช่วงปลายเดือน ม.ค. นายนาเบ้ และนายมามาดี คอนเด้ อดีตตัวแทนของบริษัท Affinor ในประเทศกินีถูกทางการเรียกตัวไปให้ปากคำ ซึ่งจากการให้ข้อมูลของนายคอนเด้ที่ออกนอกประเทศไปแล้ว ระบุว่าทางการกินีต้องการถอนทองคำจำนวนสามตันที่เก็บไว้กับบริษัท Affinor แต่ว่าทางบริษัทบอกว่าเป็นไปไม่ได้ในเรื่องนี้
ส่วนนายอาบูบาคาร์ คามาร่า ตัวแทนด้านกฎหมายของบริษัท Affinor ในประเทศกินีกล่าวว่า เมื่อบริษัทได้ดำเนินการชำระทองจากประเทศกินีแล้ว บริษัทก็ไม่ได้เก็บตัวทองคำเอาไว้ในโกดังของบริษัทแต่อย่างใด
“ทองคำถูกฝากไว้ ด้วยโครงสร้างที่ว่าธนาคารจะได้รับค่าเงินเท่ากับจำนวนทองที่ได้มีการฝาก ซึ่งธนาคารจะไม่สามารถทวงคืนทองคำที่มีลักษณะเป็นกายภาพได้อีกต่อไป แต่จะได้รับค่าตอบแทนกลับมาในรูปแบบของมูลค่าสกุลเงิน” นายคามาร่ากล่าว
ส่วนนายนาเบ้ก็ไม่ได้ตอบคำถามทั้งจากการโทรศัพท์หรือว่าการส่งข้อความแต่อย่างใด ขณะที่นายอมารา บังกูรา ทนายความของนายนาเบ้ได้ยืนยันว่าลูกความของเขานั้นถูกกล่าวหาในข้อหาว่ามีพฤติกรรมการยักยอกเงิน,ร่ำรวยผิดปกติ และฉ้อโกง แต่ก็ไม่ได้ให้ความเห็นใดๆเพิ่มเติมอีก
ทางด้านของฝ่ายกฎหมายของบริษัท Affinor ได้ให้ข้อมูลต่อผู้สืบสวน ซึ่งปรากฏรายละเอียดในเอกสารคำพิพากษาระบุว่าบริษัทนั้นได้ซื้อทองมาจากประเทศกินีก่อนจะขายให้บริษัทสาขาด้านการค้าของบริษัทหล่อทองในประเทศตุรกี ซึ่งบริษัทสาขานี้ตั้งอยู่ในนครดูไบ ทำให้บริษัท Affinor ได้กำไรไป 50 ล้านยูโร
ทั้งนี้อัยการได้ระบุว่าคำให้การดังกล่าวยังคงมีจุดที่น่าสงสัยอยู่ ขณะที่ผู้พิพากษาซานี่ได้เขียนระบุเอาไว้ในคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า ในช่วงปี 2562 นั้นประเทศกินีได้มีการขาย (และส่งไปให้บริษัทเก็บไว้) ทองคำคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6,890 ล้านบาท) ให้กับบริษัท Affinor ตามข้อมูลรายงานประจำปีของธนาคารกลางประเทศกินีกลับระบุว่าบริษัทหล่อทางนั้นไม่ได้กำไรแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียวจากกระบวนการจัดการกับทองส่วนนี้
“ตอนที่เราเห็นว่าราคามันดี เราก็ถามไปยังบริษัท Affinor ให้เขาเป็นผู้หาผู้ที่ต้องการจะซื้อทองของเรา โดยบริษัท Affinor นั้นจะไม่ได้ส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใดในกระบวนการนี้ แต่ว่าบริษัทจะได้รับเงินค่าจ้างเป็นค่าดำเนินการขนย้าย กระบวนการชำระทอง และกระบวนการเก็บทอง” นายอาริบอตระบุ
ดังนั้นเส้นทางการเงินดังกล่าวจึงเป็นที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับกรณีการถ่ายโอนเงินจำนวนกว่า 50 ล้านยูโรตามข้อตกลง ซึ่งถูกเซ็นรับรองโดยนายเบคเกอร์ส และนายเดวิด โบเตราชวิลี ผู้อำนวยการบริษัท Xiperias โดยเอกสารคำพิพากษาของศาลได้เน้นย้ำคำว่าทั้งสองคนนั้นได้ร่วมมือกันพัฒนา “วิธีการกลั่นทองในรูปแบบใหม่”
คำพิพากษาระบุว่าต่อมาบริษัท Xiperias ก็ได้ใช้บัญชีของสำนักกฎหมาย Du Toit พยายามที่จะกระจายเงินไปยัง 49 นิติบุคคลที่กระจายอยู่ในหลายประเทศตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงประเทศฮังการี
ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กล่าวว่าพบความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ที่ตั้งใจจะรับเงินเอาไว้กับผู้อำนวยการหรือว่าผู้ถือหุ้นของทั้งบริษัท Xiperias และบริษัท Affinor
โดยนายเจมส์ พิดดัค นักสืบที่ดำเนินการสืบคดีนี้กล่าวไว้ว่ารูปแบบการหมุนเวียนเงินในการทำธุรกรรมดังกล่าวนั้นมีลักษณะคล้ายกับการฟอกเงิน
ในคำพิพากษาได้ระบุต่อไปว่าหนึ่งในผู้รับเงินดังกล่าวนั้นก็คือบริษัท Riverperfection โดยบริษัทแห่งนี้นั้นระบุว่าเป็นบริษัทสัญชาติโปรตุเกส แต่ปรากฏว่าไม่เคยมีประวัติการค้าขายแต่อย่างใด และถ้าหากทางธนาคารไม่ดำเนินการขัดขวางธุรกรรมทางการเงินอันน่าสงสัย บริษัทนี้ก็จะได้เงินไป 6.4 ล้านยูโร (232,752,270 บาท)
คำพิพากษาระบุต่อด้วยว่าบริษัท Riverperfection นั้นเป็นเจ้าของบริษัทอีกแห่งที่ชื่อว่า 15Supply ซึ่งบริษัทแห่งนี้ก็มีผู้ดำเนินกิจการคือนายเบคเกอร์ส ประธานบริหารบริษัท Affinor นั่นเอง
ทว่าในวันที่ 13 พ.ค. ทางโฆษกบริษัท Affinor ได้ออกมาบอกแล้วว่าบริษัท 15Supply นั้นคงอยู่ในฐานะแนวคิดเท่านั้น ไม่ใชบริษัทจริงๆแต่อย่างใด
เงินส่วนนี้นั้นยังได้ถูกโอนไปยังบริษัทเบลเยียมอีกแห่งชื่อว่า Vivsur NV ซึ่งบริษัทนี้ระบุว่ามีนายโบเตราชวิลีทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการควบลูกจ้างของบริษัท และยังพบว่ามีการใช้สำนักงานของบริษัทแห่งนี้ควบรวมกับบริษัทอื่นๆ
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่ามีการส่งเงินออกมาจากบริษัทนี้มากกว่าแสนยูโรไปยังบริษัทอีกแห่ง ที่เป็นบริษัทดำเนิกการจัดหาโต๊ะรับประทานอาหารหินอ่อน,โคมระย้าและเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ
เส้นทางการเงินที่ได้จากการขายทองจากประเทศกินี
โดยขณะนี้นายโบเตราชวิลี จากบริษัท Xiperias และนายสเตฟานัส ดู ทอยต์ ผู้อำนวยการบริษัทสำนักกฎหมายในแอฟริกาใต้นั้นถูกออกหมายจับในประเทศอังกฤษแล้วซึ่งการออกหมายจับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนการฟอกเงิน ตามที่มีการระบุไว้ในคำพิพากษา
แต่นายโบเตราชวิลีได้กล่าวผ่านทางอีเมลว่าการออกหมายจับนั้นก็เพื่อต้องการให้พวกเขามาตอบคำถามเท่านั้น และหมายจับที่ว่านี้ก็ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่ตัวแทนของบริษัทของนายโบเตราชวิลีกล่าวว่าไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายแม้แต่ชิ้นเดียว
ส่วนสำนักกฎหมาย Du Toit ก็ไม่ได้ตอบคำถามที่ส่งไปทางอีเมลและทางโทรศัพท์แต่อย่างใด
ขณะที่โฆษกสํานักงานอัยการประเทศอังกฤษก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการสอบสวนคดีนี้
อนึ่งการมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือต้องสงสัยว่าเกี่ยวกับการฟอกเงินนั้นอาจจะทำให้เสียใบอนุญาตจากทาง LBMA ได้ ขณะที่ทางด้านของบริษัท IGR Metals ก็ได้ยืนยันว่าบริษัทนั้นไม่ได้ตระหนักเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการฟอกเงินแค่อย่างใด จนกระทั่งมาทราบจากคำพิพากษาเมื่อปีที่ผ่านมา
ทางด้านของนายมุสซา มันซาเร โฆษกธนาคารกลางกินีก็ปฏิเสธจะให้ความเห็นใดๆเช่นกันในเรื่องของคดีกับอดีตผู้ว่าการธนาคารฯ และกล่าวว่า ณ เวลานี้กำลังมีการหารือกับบริษัท Affinor โดยหวังว่าจะได้หนทางการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ร่วมกันกับทางคู่ค้าของธนาคารกลางโดยเร็ว
เรียบเรียงจาก:https://www.bloomberg.com/news/features/2022-05-13/where-is-guinea-s-gold-a-london-money-laundering-case-may-hold-clues
- ส่องคดีทุจริตโลก:ย้อมแมวจรวด,โดรน-กินส่วนต่างวิทยุ 3 พันล. ต้นเหตุรัสเซียติดหล่มในยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดข้อพิรุธเอกชนไร้ประสบการณ์ ชนะสัญญาชุด PPE รบ.ออสเตรเลีย หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยสินบนเรือดำน้ำมาเลเซีย พัน ล.! ฝรั่งเศสสั่งสอบ บ.ต่อเรือรบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'รมต.สเปน'โดนสอบ ใช้ช่องพิเศษอนุมัติสัญญาโควิดเอื้อ บ.พวกพ้อง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมคอรัปชั่นในกองทัพรัสเซีย-งบปี 65 รวม 2 ล้าน ล.ไม่รู้ไปไหนบ้าง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64