ยกตัวอย่างเช่นหนึ่งในกรณีฉ้อโกงที่เกิดก็คือการจัดซื้อเราเตอร์ผ่านบริษัทที่ชื่อว่า Voentelecom JSC มีการสันนิษฐานว่ามีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 20-25 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลทำให้ในการฉ้อโกงดังกล่าวนั้นพบว่ามีเงินถูกขโมยไปกว่า 1.6 พันล้านรูเบิล (858 ล้านบาท ตามค่าเงินในปี 2558) ซึ่งทางด้านของ พล.ต.โอโกลบลินก็ได้ออกมายอมรับผิด และในช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมานี้เอง เขาก็ต้องโทษจำคุกในเรือนจำเป็นระยะเวลาสี่ปี
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอกลับไปติดตามเรื่องการทุจริตของกองทัพรัสเซีย กันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศราได้เคยนำเสนอในประเด็นข้อปัญหาความโปร่งใสไปแล้วว่างบประมาณจำนวนนับล้านล้านบาท ที่เป็นงบประมาณประจำปีของกองทัพรัสเซียในแต่ละปีนั้นกลับไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าถูกนำไปใช้จ่ายกับอะไรบ้าง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Hindustan Hub ของประเทศอินเดียได้ลงบทความอ้างอิงจากสำนักข่าวมอสโกไทม์ของประเทศรัสเซียเกี่ยวกับประเด็นการทุจริตในกองทัพรัสเซียอันนำไปสู่ปัญหาต่อการสู้รบในประเทศยูเครนเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดดังนี้
“เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คุณต้องล้อเราเล่นแน่” นี่คือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งตะวันตกเมื่อได้เห็นภาพของโดรนยีห้อออร์แลนของรัสเซียในมือของกองทัพยูเครน โดยภาพและวิดีโอที่ถูกแสดงให้เห็นจากทางฝั่งของกองทัพยูเครนนั้นพบว่าโดรนรุ่นนี้ใช้ขวดน้ำแร่เป็นที่เก็บเชื้อเพลิง และในส่วนของกล้องถ่ายรูปและวิดีโอของโดรนรุ่นนี้ก็ก็พบว่าเป็นการใช้กล้องยี่ห้อแคนนอน ซึ่งติดไว้กับตัวโดรนด้วยเทปตีนตุ๊กแกและแค่กาวเท่านั้น
แต่ว่าราคาอย่างเป็นทางการของโดรนรุ่นนี้นั้นระบุไว้ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (3,469,000 บาท) ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เห็น และสิ่งที่เป็นปัจจัยของราคาที่สูงนั้นก็น่าจะมาจากการทุจริต เนื่องจากในปีที่ผ่านมานั้นพบว่ามีกรณีการฉ้อโกงชิ้นส่วนประกอบสำหรับโดรนรุ่นออร์แลนด์-10 เมื่อศาลแขวงเมืองคาซาน สาธารณรัฐตาตาร์สถาน ในประเทศรัสเซียได้ออกคำสั่งให้ยึดกระเป๋าเดินทางที่มีเงินจำนวนทั้งสิ้น 48.6 ล้านรูเบิล (19,514,472 บาท เมื่อปลายปี 2564) ซึ่งกระเป๋านี้นั้นทางเจ้าหน้าที่ FSB (หน่วยข่าวกรองของรัสเซีย) ประจำพื้นที่สาธารณรัฐตาตาร์สถานได้ยึดมาอีกทีในระหว่างการตรวจค้นผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำงานภายใต้คำสั่งของกระทรวงกลาโหมเพื่อพัฒนาระบบให้กับโครงการโดรนออร์แลนด์-10
โดยสาเหตุของการออกคำสั่งให้ยึดกระเป๋าเดินทางที่บรรจุเงินนับล้านรูเบิลก็ด้วยข้อหาว่าเงินจำนวนนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการให้สินในในเมืองคาซาน และนอกจากนี้ยังได้มีการออกคำสั่งให้กักตัวนายอังเดร โพลชคอฟ รองผู้อํานวยการฝ่ายการเงินของบริษัท STD-Radiks ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงมอสโก ซึ่งนายโพลชคอฟนั้นถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับนายพาเวล แชตสกิค ผู้อำนวยการบริษัท JSC Kazan Plant Elektropribor ในการยักยอกเงินกว่า 446 ล้านรูเบิล (177,916,189 บาท) จากงบประมาณที่ถูกจัดสรรให้ในระหว่างปี 2560-2563 โดยงบประมาณดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคำสั่งของกระทรวงกลาโหมเพื่อให้พัฒนาโดรนออร์แลนด์-10
ส่วนวิธีการยักยอกเงินค่าสัญญาในการพัฒนาระบบโดรนนั้น พบข้อมูลมีการเพิ่มราคาชิ้นส่วนการผลิตเพื่อทำให้ราคาต้นทุนนั้นสูงขึ้นไปถึง 10 เท่าของราคาผลิตที่แท้จริง ซึ่งโดรนออร์แลนด์ดังกล่าวนั้นมีบริษัทผู้ผลิตคือบริษัท Special Technology Center ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
สำหรับจุดเริ่มต้นของการยักยอกเงินนั้นเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2560 เมื่อธนาคารกลางของรัสเซียได้มีการส่งสัญญาณเตือนว่าพบข้อมูลว่ามีธนาคารหลายแห่งที่ทำหน้าที่จัดการเงินให้กับกระทรวงกลาโหมของรัสเซียนั้นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานอย่างลับๆ ในเรื่องของการถอนเงินสดออกไปจากกองทุน และในเวลาต่อมาธนาคารกลางก็ได้ข้อสรุปหลังจากตรวจสอบสถาบันสินเชื่อจำนวนกว่า 27 แห่ง ที่เป็นเส้นทางการเงินไหลผ่านของกองทุนทางด้านกลาโหม พบว่ามีจำนวนเม็ดเงินคิดเป็น 50-70 เปอร์เซ็นต์ ของโครงการในกระทรวงกลาโหมทั้งหมดนั้นถูกถอนออกไปผ่านทางสถาบันการเงินเหล่านี้ ซึ่งโครงการกลาโหมที่ว่ามานั้น ส่วนมากแล้วก็จะเป็นโครงการให้มีการพัฒนาและปรับปรุงอาวุธให้ทันสมัย โดยโครงการพัฒนาและปรับปรุงอาวุธของกระทรวงกลาโหมรัสเซียนั้นเป็นโครงการยาวนานต่อเนื่องกินระยะเวลาตั้งแต่ปี 2554-2563 คิดเป็นเม็ดเงินรวมกล่า 20 ล้านล้านรูเบิล (7.978 ล้านล้านบาท คิดตามค่าเงินปลายปี 2563)
ทหารกองทัพยูเครนกำลังแยกส่วนประกอบของโดรนออร์แลนด์-10 ของกองทัพรัสเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก Military Today)
@ปัญหาเรื่องระบบ
เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา หน่วยดับเพลิง,รถพยาบาล และเฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi-8 ของรัสเซียนั้นต้องเข้าไปปฏิบัติการณ์ ณ เขื่อนโวลก้าในเมืองตเวียร์ เพื่อดับไฟที่ไหม้สถาบันวิจัยกลางด้านการทหารป้องกันการบินและอวกาศของเมืองตเวียร์ (TsNII VKO) ซึ่งหลังจากเปลวเพลิงถูกควบคุมในเช้าวันที่ 22 เม.ย. พบว่ามีผู้เสียชีวิต 22 ราย
เหตุไฟไหม้สถาบันวิจัยกลางด้านการทหารป้องกันการบินและอวกาศของเมืองตเวียร์
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าสถาบันวิจัยดังกล่าวนั้นมีส่วนในการพัฒนาระบบของจรวดนำวิถีจากพื้นสู่พื้นอิสกันดาร์ ซื่งชื่อว่าระบบ NII-2 และเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจากการที่ระบบดังกล่าวมีการวางสายอย่างผิดพลาดนั่นเอง โดยทางด้านของเจ้าหน้าที่ในเมืองตเวียร์ได้เข้าไปตรวจสอบว่ามีการละเมิดต่อกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยด้านอัคคีภัยตรงไหนบ้าง
อย่างไรก็ตามผู้ตรวจสอบที่มาจากสํานักงานอัยการทหารสูงสุดกลับตรวจสอบพบว่ามีคดีการยักยอกมากกว่า 350 คดีอันเกี่ยวข้องกับระบบ NII-2 เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือน ก.พ. 2562 โดยพบข้อมูลว่า พล.ต. เซอร์เก ยาโกลนิคอฟ ผู้ที่เป็นหัวหน้าในการพัฒนาระบบ NII-2 นั้นถูกจับกุม ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เขามีประวัติอันน่ายกย่อง โดย พล.ต.ยาโกลนิคอฟนั้นได้เข้าทำงานในโครงการระบบ NII-2 มาตั้งแต่ปลายคริสตทศวรรษที่ 70 และเขายังมีผลงานวิชาการตีพิมพ์จำนวนมากกว่า 300 ฉบับ ทั้งที่เป็นผลงานระดับดอกเตอร์ในด้านวิทยาศาสตร์ในเชิงเทคนิค และผลงานในฐานะที่เขาเป็นทหารเกษียณอายุราชการแล้ว
ทว่าจากข้อมูลการสอบสวนของผู้สอบสวนพบว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เขาได้สร้างแผนการเพื่อจะยักยอกเงินนับล้านรูเบิลจากงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้ตั้งไว้เพื่อการพัฒนาลับนั่นเอง
ทั้งนี้ที่ไปที่มาของการจับกุม พล.ต.ยาโกลนิคอฟมาจากการร้องเรียนของผู้รับเงินบำนาญจำนวนนับสิบรายในเมืองตเวียร์ที่ได้แจ้งความไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยผู้รับเงินบำนาญเหล่านี้ร้องเรียนถึงความผิดปกติว่าบริษัทในเมืองแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Radio Engineering and Information Systems of Aerospace Defense หรือบริษัท RTIS นั้นได้ออกมาบอกแก่ผู้รับเงินบำนาญว่าบริษัทมีข้อเรียกร้องภายใต้สัญญาบางอย่างเพื่อที่จะจ่ายเงินให้กับกลุ่มผู้รับเงินบำนาญ
โดยข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้รับเงินบำนาญนั้นก็ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ FSB ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
และต่อมาก็ปรากฏข้อมูลจากรายงานของบริษัท RTIS พบว่าในช่วงปี 2557-2561 กลุ่มผู้รับเงินบำนาญดังกล่าวนั้นได้เคยทำงานของกับบริษัท RTIS ในการสร้างระบบที่เรียกว่าระบบสิเรนา (Sirena) ซึ่งระบบที่ว่านี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบการปล่อยขีปนาวุธและจรวดต่างๆจากรัฐอลาสกา สหรัฐอเมริกา และตรวจสอบโครงการสื่อสารการบินและอวกาศภายใต้คำสั่งของกระทรวงกลาโหม
อย่างไรก็ตามจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่างานทั้งหมดรวมนั้นถูกดำเนินงานโดยลูกจ้างที่รับผิดชอบในระบบ NII-2 ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.ยาโกลนิคอฟเรียบร้อยแล้ว ส่วนบริษัท RTIS ดังกล่าวนั้นพบว่าแท้จริงแล้วมีเจ้าของคือคนในครอบครัวของ พล.ต.ยาโกลนิคอฟ ซึ่งบริษัทนี้รับเงินไปถึง 19 เปอร์เซ็นต์ จากงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องของกระทรวงกลาโหม และบริษัทจะต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มลูกจ้างผีเป็นจำนวนนับร้อยรายด้วยเช่นกัน ซึ่งลูกจ้างผีที่ว่ามานี้ก็คือกลุ่มผู้รับบำนาญที่ได้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ผู้รับเงินบำนาญเหล่านี้ก็ไม่ทำงานในโครงการตามที่รายงานของบริษัท RTIS ระบุแต่อย่างใด
หรือสรุปก็คือว่า พล.ต.ยาโกลนิคอฟนั้นได้ใช้บริษัทของเครือญาติ อ้างว่ามารับงานปลอมๆที่บริษัทไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด ทำให้เขาสามารถขโมยเงินงบประมาณไปได้ถึง 300 ล้านรูเบิล (159,340,432 บาท)
พล.ต. เซอร์เก ยาโกลนิคอฟ ผู้ที่เป็นหัวหน้าในการพัฒนาระบบ NII-2
@ปัญหาเรื่องจรวด
อีกกรณีทุจริตก็คือเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ทางการเมืองลวิฟ ประเทศยูเครนได้ออกประกาศถึงการโจมตีด้วยการยิงจรวดจากฝั่งกองทัพบกรัสเซีย และในวันเดียวกันนั้นเองพบว่านายวิคเตอร์ วาแกน อดีตผู้อำนวยการด้านการค้าของบริษัท Tactical Missile Weapons Corporation หรือบริษัท KTRV นั้นต้องโทษจำคุกภายใต้คำพิพากษาของศาลแขวงวอสครีเซนสกี ในภูมิภาคมอสโก โดยคำพิพากษาของศาลระบุว่านายวาแกนต้องโทษจำคุกในเรือนจำเป็นเวลาแปดปี เนื่องจากพบว่าเขามีความผิดฐานขโมยอาวุธของประเทศ และนอกจากนายวาแกน ก็ยังมีบุคคลอื่นๆอีกสามคนต้องโทษแตกต่างกัน และอยู่ในเรือนจำคนละแห่ง โดยผู้ที่ต้องคำพิพากษาคนอื่นนั้นก็รวมไปถึงนายนิโคไล ยาโคฟเลฟ ผู้อำนวยการบริษัท Turaevsky Machine-Building Design Bureau Soyuz หรือว่าบริษัท TMKB-Soyuz ซึ่งบริษัทแห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท KTRV นั่นเอง
สำหรับการดำเนินคดีนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 แต่ว่าพฤติกรรมการยักยอกอาวุธนั้นปรากฏว่าย้อนไปได้ไกลกว่านั้นมาก โดยเมื่อปี 2553 นายวาแกนและนายยาโคเลฟได้รับทราบว่าจะมีแผนการกำจัดจรวดร่อนแบบอากาศสู่พื้น (ครูซมิสไซล์) รุ่น Kh-55 ณ หนึ่งในศูนย์ทดสอบในภูมิภาคมอสโกที่พวกเขาได้มีส่วนเข้าไปรับผิดชอบ ผลก็คือว่าเครื่องยนต์ของจรวดร่อนนั้นถูกขายให้กับบริษัทยูเครนที่ชื่อว่า Motor Sich และชิ้นส่วนที่เหลือของจรวดนั้นก็ถูกนำไปประมวลผล โดยบริษัท Motor Sich ได้จ่ายเงินไปประมาณ 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (72.179 ล้านบาท ตามค่าเงินในปี 2553) สำหรับค่าเครื่องยนต์จรวดเหล่านี้
จรวดร่อนจากอากาศสู่พื้น Kh-31A
ต่อมาในปี 2554 ก็มีการทุจริตซ้ำเดิมอีกครั้ง ณ สถานที่ทดสอบแห่งเดิม แม้ว่าผู้อำนวยการบริษัทที่เกี่ยวข้องจะต้องโทษจำคุกไปแล้วห้าปีก็ตาม โดยในคราวนี้ทุกคนที่ทำหน้าที่ที่ศูนย์ทดสอบจะต้องดำเนินการกำจัดจรวด Kh-55 จำนวน 37 ลูก แต่ทว่าจรวดและวัตถุระเบิดที่ควรจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการกำจัด กลับถูกนำไปผลิตเป็นจรวดร่อนจากอากาศสู่พื้นรุ่นที่ใหม่กว่าที่ชื่อว่า Kh-31A เป็นจำนวน 15 ลูกแทน และกระทรวงกลาโหมรัสเซียก็ได้ซื้อจรวดร่อนจำนวน 15 ลูกเหล่านี้ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 255 ล้านรูเบิล (256,051,609 บาท ค่าเงินในปี 2554)
@ปัญหาวิทยุ
ในปี 2560 นายคาลิล อาร์สลานอฟ รองเสนาธิการทหารบกของกองทัพรัสเซีย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพลเอกอาวุโส ต่อมาหลังจากนั้นสองปีเขาก็ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมฉ้อโกงคิดเป็นมูลค่ามหาศาล และในเดือน ก.พ.2563 เขาก็ถูกจับกุมโดย FSB และหลังจากการจับกุมไม่นาน นายพลอีกคนที่ชื่อว่า พล.ต. อเล็กซานเดอร์ โอโกลบลิน ก็ได้ให้การปรับปรำ พล.อ.อาร์สลานอฟ
พล.ต.โอโกลบลินกล่าวว่าในช่วงปี 2558 ภายใต้การช่วยเหลือของ พล.อ. อาร์สลานอฟ ทำตัวเขานั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าของผู้อํานวยการฝ่ายสื่อสารที่ 1 ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งในเวลานั้นเอง เริ่มมีการใช้โปรแกรมดิจิทัลสำหรับกองทัพรัสเซียเป็นวงกว้างแล้ว ส่งผลทำให้ พล.ต.โอโกลบลินก็ต้องไปจัดหาผู้จัดส่งหรือซัพพลายเออร์สำหรับอุปกรณ์ระบบดิจิทัล และเขายังต้องทำหน้าที่ในการเจรจาเพื่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสำหรับโปรแกรมซึ่งสูงเกินกว่าราคาจริง
ยกตัวอย่างเช่นหนึ่งในกรณีฉ้อโกงที่เกิดก็คือการจัดซื้อเราเตอร์ผ่านบริษัทที่ชื่อว่า Voentelecom JSC มีการสันนิษฐานว่ามีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 20-25 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลทำให้ในการฉ้อโกงดังกล่าวนั้นพบว่ามีเงินถูกขโมยไปกว่า 1.6 พันล้านรูเบิล (858 ล้านบาท ตามค่าเงินในปี 2558) ซึ่งทางด้านของ พล.ต.โอโกลบลินก็ได้ออกมายอมรับผิด และในช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมานี้เอง เขาก็ต้องโทษจำคุกในเรือนจำเป็นระยะเวลาสี่ปี
ชุดวิทยุอาซาร์ทของบริษัท Voentelecom
ส่วน พล.อ.อาร์สลานอฟ ไม่ยอมรับผิดแต่อย่างใด และคดีของเขาก็กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา,ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ผลของการสอบสวน ที่มาจากคำให้การของ พล.ต.โอโกลบลินนั้นพบว่ากรณีการทุจริต การเพิ่มราคาวิทยุให้สูงเกินจริงนั้นเกิดขึ้นกับการจัดซื้อชุดวิทยุรุ่นอาซาร์ท (Azart) โดยพบข้อมูลว่าราคาของวิทยุรุ่นนี้ถูกทำให้พุ่งสูงขึ้นเป็นสองเท่าของราคาที่แท้จริง โดย ณ เวลานี้มีการประเมินตัวเลขความเสียหายที่มาจากการจัดซื้อชุดวิทยุรุ่นอาซาร์ททั้งหมดจำนวนกว่า 60,000 ชุด ว่าอยู่ที่ 6.7 พันล้านรูเบิล (3.558 พันล้านบาท)
โดยในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุดได้อนุมัติและสั่งฟ้องคดีของ พล.อ.อาร์สลานอฟต่อศาลแล้ว ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท Voentelecom ผู้ทำวิทยุอาซาร์ทก็อยู่ในสำนวนคดีด้วย แต่ว่าข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงวิทยุอาซาร์ทนั้นไม่พบว่าอยู่ในสำนวนคดีแต่อย่างใด
@ปัญหาเรื่องเรือ
ย้อนไปเมื่อ ฤดูใบไม้ผลิ ในปี 2562 พบข้อมูลว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบทางตอนเหนือของกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในรัสเซียได้รับสโนว์โมบิลและเรือเล็กจำนวนชุดหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายของการใช้เรือนั้นก็เพื่อรักษาความมั่นคงในพื้นที่ท่าเรือในแถบอาร์คติก ซึ่งอยู่ในเมืองติ๊กซี ในสาธารณรัฐยากูเทียและยามาลซาเบตต้า แต่ว่าในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรก ปรากฏว่าเรือไม่สามารถทนต่อความหนาวเย็นได้ จนทำให้ตัวเรือนั้นแตกออกมา
เรือเล็กของกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในรัสเซีย ซึ่งมีรายงานว่าเรือเหล่านี้ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่หนาวเย็นได้
โดยผลจากการสอบสวนจากคณะกรรมการสอบสว ที่ดำเนินการสอบลูกจ้างจำนวนห้ารายของกองกำลังรักษาความมั่นคงฯ พบว่าลูกจ้างเหล่านี้มีการรับเงินสินบนและยักยอกงบประมาณ จึงมีการสืบสวนพบว่าผู้ที่ดำเนินการฉ้อโกงนั้นก็คือ พ.อ.ชาลวา มูเซเลียนี ซึ่งในช่วงเดือน พ.ค. 2561 เขาได้ลาออกจากการทำงานในแผนกด้านการรักษาความปลอดภัยในกองกำลังรักษาความมั่นคงฯ
สำหรับแผนการฉ้อโกงนั้นถือว่าเรียบง่ายเป็นอย่างยิ่ง โดยในเดือน ส.ค. 2561 ผู้ที่เข้าร่วมการประกวดราคาจัดซื้อสโนว์โมบิลและเรือ ถูกกำหนดว่าจะต้องถูกประกาศชื่ออยู่บนแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Unified Trading Platform ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าร่วมประกวดราคานั้นเพิ่มไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์ล่วงหน้าจากราคาที่คาดเอาไว้ (จะมีการลดราคาเงิน 10 เปอร์เซ็นต์นี้ในภายหลัง) ซึ่งผู้ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ก็คือนายเซอร์เกย์ โวโรเบียอฟ ผู้รับผิดชอบด้านนโยบายเทคโนโลยีของกองกำลังรักษาความมั่นคงฯ
สำหรับผู้เข้าร่วมและชนะการประกวดราคานั้นพบว่ามีรายเดียวก็คือบริษัท Defense Technologies โดยมูลค่าสัญญาที่บริษัทแห่งนี้ชนะไปนั้นอยู่ที่ 376.2 ล้านรูเบิล (199,812,902 บาท) และต่อมาในฤดูใบไม้ผลิปี 2562 พ.อ.มูเซเลียนี ได้ทำข้อตกลงกับหุ้นส่วนของบริษัทแห่งนี้ในการลดราคาสัญญาคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 30 ล้านรูเบิล (15,934,043 บาท) และในเงินจำนวนดังกล่าวพบว่ามีเงิน 19 ล้านรูเบิล (10,091,560 บาท) ถูกแจกจ่ายไปให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
แต่แลกกับการได้เงินเหล่านี้ ทหารรัสเซียผู้รับอุปกรณ์ไปกับต้องพบกับปัญหากมาย อาทิ ตัวเรือนั้นทำมาจากโพลีเอทิลีนคุณภาพต่ำ ซึ่งในกระบวนการสอบสวนนั้นพบว่าเรือนี้ไม่ผ่านการทดสอบแต่อย่างใด ขณะที่มูลค่าความเสียหายต่อกองกำลังรักษาความมั่นคงฯซื่งมีการประเมินนั้นพบว่าอยู่ที่ 262 ล้านรูเบิล (139 ล้านบาท) และ พ.อ.มูเซเลียนีก็ถูกออกหมายจับแล้ว
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพจาก:https://hindustannewshub.com/russia-ukraine-news/how-corruption-in-the-russian-army-and-military-industrial-complex-derailed-putins-blitzkrieg-in-ukraine-the-moscow-times/
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดข้อพิรุธเอกชนไร้ประสบการณ์ ชนะสัญญาชุด PPE รบ.ออสเตรเลีย หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยสินบนเรือดำน้ำมาเลเซีย พัน ล.! ฝรั่งเศสสั่งสอบ บ.ต่อเรือรบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'รมต.สเปน'โดนสอบ ใช้ช่องพิเศษอนุมัติสัญญาโควิดเอื้อ บ.พวกพ้อง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมคอรัปชั่นในกองทัพรัสเซีย-งบปี 65 รวม 2 ล้าน ล.ไม่รู้ไปไหนบ้าง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64