การส่งออกแร่ฟอสเฟตออกจากซีเรียดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้วกลายเป็นเส้นเลือดทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลเผด็จการของนายบาชาร์ อัล-อัสซาด และบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการค้าฟอสเฟต ทำให้มีเงินมาจากทวีปยุโรปมาอุดหนุนรัฐบาลของนายอัสซาดก็คือนายเกนนาดี ทิมเชนโก โอลิการ์ชชาวรัสเซียผู้เป็นเพื่อนสนิทของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอขบวนการนำเข้าแร่ฟอสเฟตจากประเทศซีเรียไปยังทวีปยุโรป โดยมีกลุ่มผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนหนึ่งนั้นคือกลุ่มโอลิการ์ช (มหาเศรษฐีผู้มีอิทธิพล)จากรัสเซีย ที่ยังคงได้ผลประโยชน์ที่ว่ามานี้แม้จะมีการคว่ำบาตรกลุ่มโอลิการ์ชดังกล่าวนี้เนื่องจากเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปลาย ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยสำนักข่าวการ์เดียนของอังกฤษได้รายงานข่าวอ้างอิงจากสำนักข่าวองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ THE ORGANIZED CRIME AND CORRUPTION REPORTING PROJECT (OCCRP) ระบุว่า
ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุที่เรือสินค้าชื่อว่า Sea Navigator ซึ่งจดทะเบียนว่าเป็นเรือสินค้าของประเทศฮอนดูรัสนั้นหายไปจากระบบการติดตามการเดินเรือนานาชาติ ระหว่างกำลังเดินเรืออยู่ใกล้กับประเทศไซปรัส หนึ่งสัปดาห์ให้หลัง เรือสินค้าดังกล่าวก็ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง โดยคราวนี้ดูเหมือนว่าเรือลำนี้กำลังมุ่งหน้าไปยังทวีปยุโรปตอนเหนือ
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าในช่วงที่เรือนั้นหายไปจากระบบ แท้จริงแล้วเรือไม่ได้หายไปไหนแต่อย่างใด แต่ว่าเรือลำนี้มุ่งหน้าไปยังท่าเรือที่อยู่ในความครอบครองของประเทศรัสเซีย ซึ่งท่าเรือนี้ตั้งอยู่ในประเทศซีเรีย เพื่อที่ว่าเรือลำนี้จะไปรับการขนถ่ายแร่ฟอสเฟตอันเป็นแร่ที่มีความสำคัญยิ่งในการทำปุ๋ย
เรือสินค้า Sea Navigator
ทั้งนี้แร่ฟอสเฟตราคาถูกที่ส่งออกไปอย่างลับๆจากประเทศซีเรียไปยังยุโรปนั้นพบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากว่ายุโรปมีแร่ฟอสเฟตสำรองอยู่น้อยมาก และเกษตรกรในยุโรปก็ประสบความลำบากในการหาแร่ฟอสเฟตมากนับตั้งแต่ก่อนสงครามในยูเครนจะปะทุทำให้ราคาแร่ฟอสเฟตพุ่งสูงขึ้นไปอีก
ทว่าการส่งออกแบบลับๆนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน เพราะว่าการส่งออกแร่ฟอสเฟตออกจากซีเรียดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้วกลายเป็นเส้นเลือดทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลเผด็จการของนายบาชาร์ อัล-อัสซาด และบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการค้าฟอสเฟต ทำให้มีเงินมาจากทวีปยุโรปมาอุดหนุนรัฐบาลของนายอัสซาดก็คือนายเกนนาดี ทิมเชนโก โอลิการ์ชชาวรัสเซียผู้เป็นเพื่อนสนิทของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
โดยมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปหรืออียูที่มีต่อซีเรียนั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าห้ามไม่ให้มีการนำเข้าแร่ฟอสเฟตจากซีเรีย เนื่องจากว่ามาตรการคว่ำบาตรนั้นระบุแค่ว่าห้ามไม่ให้มีการค้ากับรัฐมนตรีกระทรวงกิจการน้ำมันและทรัพยากรแร่ของซีเรียเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าวนี้ก็เป็นผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อแร่ฟอสเฟตในประเทศซีเรียด้วยเช่นกัน
นี่จึงทำให้เกิดความเสี่ยงว่าจะมีบริษัทยุโรปจำนวนหลายแห่งนั้นอาจจะไปละเมิดต่อมาตรการคว่ำบาตรทั่วโลกที่สหรัฐอเมริกามีต่อรัฐบาลของซีเรียก็เป็นได้ และในขณะเดียวกัน ตัวนายทิมเชนโก้เองก็เป็นโอลิการ์ชรัสเซียคนแรกๆที่ถูกสหรัฐฯ และอียูคว่ำบาตรเนื่องจากเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.
มีรายงานด้วยว่าบริษัทยุโรปหลายแห่งนั้นกำลังจ่ายเงินให้กับเครือข่ายที่มีความซับซ้อนของบริษัทเปลือกหอยและพ่อค้าคนกลางเพื่อที่จะซื้อแร่ฟอสเฟตของซีเรือเพื่อให้มีการส่งออกอย่างลับๆทางเรือไปยังทวีปยุโรป โดยกรณีการขนส่งผ่านเรือ Sea Navigator ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
มีการวิเคราะห์กันผ่านระบบติดตามเรือว่ามีเรือจำนวนหลายสิบลำที่มีลักษณะการเดินเรือคล้ายกับเรือ Sea Navigator เพื่อที่จะขนแร่ฟอสเฟตจากซีเรีย โดยเรือดังกล่าวนั้นจะหายไปจากระบบติดตามการเดินเรือขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ เพื่อจะไปยังประเทศซีเรีย และในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์หลังจากนั้นเรือเหล่านี้ก็จะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง โดยมุ่งหน้าไปยังทวีปยุโรป
โดยลูกจ้างของบริษัทของนายทิมเชนโก้นั้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดตั้งบริษัทฉากหน้าในประเทศซีเรียจำนวนหลายแห่งเพื่อที่จะขนส่งแร่ฟอสเฟตไปยังทวีปยุโรป
“การค้าแร่ฟอสเฟตของซีเรียแสดงให้เห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรจากอียูนั้นไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์เลย เพราะว่าการหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างไม่ยากเย็นนัก รัสเซียเรียนรู้ที่จะทำเช่นนี้ในซีเรีย และตอนนี้รัสเซียก็มีประสบการณ์ที่จะหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้ในสงครามยูเครน” นายอิบราฮิม โอลาบี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชาวซีเรียผู้ซึ่งจับมาตรการคว่ำบาตรกล่าว
เหมืองฟอสเฟตในซีเรีย
สำนักข่าว OCCRP ได้ทำข่าวสืบสวนร่วมกับโครงการ Lighthouse Reports สำนักข่าวสืบสวนของซีเรียที่ชื่อว่า Investigative Reporting for Accountability Journalism หรือ SIRAJ และสำนักข่าวในอีกเจ็ดประเทศเพื่อติดตามเส้นทางการขนส่งแร่ฟอสเฟตจากเหมืองในทะเลทรายของซีเรียไปจนถึงโรงงานปุ๋ยหลายแห่งในยุโรป โดยใช้ทั้งแหล่งข้อมูลการวิเคราะห์แบบโอเพ่นซอร์ส (ชุดข้อมูลการวิเคราะห์ที่เข้าถึงได้และเป็นสาธารณะ) ควบคู่ไปกับการใช้เอกสารงบการเงินและข้อมูลทางการค้าในหลายสิบประเทศ
พบข้อมูลจากบันทึกการค้าว่าประเทศสเปน,โปแลนด์,อิตาลี และบัลแกเรียนั้น เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการนำเข้าแร่ฟอสเฟตจากประเทศซีเรีย ส่วนประเทศเซอร์เบียและประเทศยูเครนที่เป็นผู้เห็นชอบต่อมาตรการคว่ำบาตรของอียูต่อซีเรีย ก็ปรากฎว่าทั้งสองประเทศนี้ก็เป็นผู้ซื้อรายใหญ่อีกเช่นกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวได้ยายามสอบถามถึงกรณีของการนำเข้าแร่ฟอสเฟต ทั้งหน่วยงานรัฐบาลในแต่ละประเทศและบริษัทจำนวนหลายแห่งก็ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่ได้ละเมิดต่อมาตรการคว่ำบาตรแต่อย่างใด เพราะว่าแร่ฟอสเฟตของซีเรียนั้นไม่ได้ถูกระบุว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ได้ติดต่อ ทำข้อตกลงกับคนที่ถูกคว่ำบาตร
“คุณอาจจะพูดถูกว่ามันถูกกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามคุณก็มีส่วนในการให้เงินเปื้อนลือดกับระบบเผด็จการที่ถูกคว่ำบาตรและมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน และคุณก็ยังมีส่วนให้เงินสนับสนุนต่อโอลิการ์ชรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรด้วยเช่นกัน” นางไอรีน เคนยอน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองประจำกระทรวงการคลังสหรัฐฯกล่าว
@บริษัทฉากหน้าของโอลิการ์ชรัสเซียหลายแห่งในประเทศซีเรีย
ในพื้นที่ทะเลทรายรอบล้อมซากนครพัลไมรา นครโบราณที่ถูกทำลายอย่างย่อยยับโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายรัฐอิสลามหรือว่า IS พื้นที่ดังกล่าวนี้มีรายงานว่ามีรถบัสซึ่งขนคนงานมาจากหลายเมืองข้างเคียงเพื่อที่จะขุดหาหินแร่ฟอสเฟต จากเหมืองเก่าของซีเรีย และก็มีชาวซีเรียจำนวนเล็กน้อยตั้งหมู่บ้านเพื่ออยู่อาศัยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าวนี้ยังคงเป็นพื้นที่สู้รบ มีการเข้าโจมตีของกลุ่ม IS อยู่เป็นระยะๆ ทำให้สิ่งที่ตามมาก็คือว่า มีกิจกรรมของกลุ่มทหารรับจ้าง บริษัทผู้รับเหมาด้านการรักษาความปลอดภัยที่เป็นทั้งของซีเรียและของรัสเซีย ทำหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยให้กับเหมืองแร่ฟอสเฟตในพื้นที่ และทำหน้าที่อารักขาการขนส่งแร่ฟอสเฟตไปยังชายฝั่ง
ทั้งนี้แร่ฟอสเฟตนั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพืชและการเพราะปลูกอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมการเกษตรของยุโรปก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาแร่ฟอสเฟตคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,955,910 ล้านบาท) โดยซีเรียนั้นก็เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกแร่ฟอสเฟตอันดับต้นๆของโลก ก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศ เมื่อปี 2554 และหลังจากนั้นในปี 2558 กลุ่ม IS ก็ได้เข้ายึดพื้นที่โดยรอบเหมือง ทำลายอุตสาหกรรมฟอสเฟตของประเทศไปโดยสิ้นเชิง
และในปี 2558 เช่นเดียวกัน รัสเซียก็ได้ส่งกองทัพไปยังซีเรียเพื่อช่วยนายอัสซาดยึดประเทศคืนมาได้เป็นส่วนมาก ซึ่งรัฐบาลของนายอัสซาดก็ได้ตอบแทนด้วยการมอบสัญญามูลค่าสูงให้กับบริษัทรัสเซียจำนวนหลายแห่งเพื่อให้ดำเนินการในภาคส่วนที่ทำกำไรมากที่สุดของประเทศซีเรีย
โดยในปี 2561 รัฐวิสาหกิจของซีเรียแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า General Company for Phosphates and Mines หรือ Gecopham ซึ่งมีเจ้าของคือกระทรวงกิจการน้ำมันและทรัพยากรแร่ของซีเรีย ได้มีการมอบการครอบครองเหมืองแร่ฟอสเฟตที่ใหญ่ที่สุดของซีเรียให้กับบริษัทแห่งหนึ่งของรัสเซียที่ชื่อว่า Stroytransgaz
บริษัท Stroytransgaz ที่ว่านี้มีเจ้าของคือนายเกนนาดี ทิมเชนโก หนึ่งในโอลิการ์ชที่รวยที่สุดในรัสเซีย โดยนายทิมเชนโกและนายปูตินนั้นเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ปี 2533 เป็นอย่างน้อย ในช่วงเวลาที่นายชิมเชนโกยังเป็นผู้ค้าน้ำมันที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
แต่นายทิมเชนโกก็ได้เคยออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเขาเป็นหนึ่งในแหล่งความมั่งคั่งของนายปูติน โดยกล่าวว่าเขานั้นเป็นแค่คู่ซ้อมยูโดของนายปูตินเท่านั้น
ทั้งนี้ในปี 2557 สหรัฐฯได้ขึ้นบัญชีคว่ำบาตรบริษัท Stroytransgaz เอาไว้ หลังจากเหตุการณ์รัสเซียบุกยึดไครเมีย ซึ่งพอหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว นายทิมเชนโกก็ได้พยามจะถอยตัวเองห่างออกจากกิจกรรมของบริษัทในประเทศซีเรีย โดยบริษัทของนายทิมเชนโกที่ว่านี้ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในซีเรียตั้งแต่ช่วงปี 2543 แล้ว
พอมาถึงปี 2559 มีรายงานว่านายอิกอร์ คาซัค อดีตลูกจ้างที่เป็นผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัท Stroytransgaz ได้เข้าไปครอบครองกิจการของบริษัทโลจิสติกส์แห่งหนึ่งในประเทศรัสเซียอย่างลับๆ แล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทดังกล่าวให้เป็นชื่อ Stroytransgaz (STG) Logistic ซึ่งข้อมูลตามเอกสารนั้นระบุว่าบริษัท STG Logistic มีผู้เป็นเจ้าของคือบริษัทในมอสโกแห่งหนึ่งชื่อว่า UK Investfinance ซึ่งในภายหลังปรากฏว่าบริษัทนี้ทำหน้าที่เป็นนอมินีเพื่อผู้บริหารบังหน้าให้กับบริษัทของผู้ที่เป็นลูกค้า
นายเกนนาดี ทิมเชนโก โอลิการ์ชของรัสเซียกับนายปูตินกำลังเล่นฮอกกี้น้ำแข็งด้วยกันในปี 2562
โดยในช่วงปี 2561 บริษัทแห่งนี้ก็ชนะสัญญาบริหารเหมืองฟอสเฟตที่ใหญ่ที่สุดในซีเรียคิดเป็นเวลา 50 ปี ซึ่งค่าตอบแทนที่บริษัทจะได้รับก็คือรายได้จากการของแร่ฟอสเฟตคิดเป็นสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ของการขายแร่ทั้งหมดที่มาจากพื้นที่เหมืองใกล้กับซากนครพัลไมรา ส่วนรายได้ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์ก็จะเข้ากระเป๋ารัฐวิสาหกิจ Gecopham ของกระทรวงกิจการน้ำมันฯซีเรีย
และในปี 2561 เช่นเดียวกัน นายทิมเชนโกก็ได้ขายบริษัทในเครือแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Stroytransgaz (STG) Engineering ให้กับบริษัทเปลือกหอยในมอสโกจำนวนสองแห่ง ซึ่งการขายบริษัทที่ว่านี้เกิดขึ้นหลังจากบริษัทนี้ชนะสัญญาการบริหารท่าเรือเพื่อส่งออกในเมืองทาร์ทูและชนะสัญญาการบริหารโรงงานปุ๋ยจำนวนหลายแห่งที่เป็นของรัฐวิสาหกิจในประเทศซีเรีย
โดยการชนะสัญญาดังกล่าวก็ทำให้บริษัทที่มีชื่อว่า Stroytransgaz นั้นสามารถเข้าควบคุมห่วงโซ่อุปทานแร่ฟอสเฟตได้ทั้งหมดในประเทศซีเรีย
อย่างไรก็ตามทางบริษัท Stroytransgaz ได้ออกมาปฎิเสธความเชื่อมโยงของบริษัทไปถึงบริษัทอื่นๆที่มีชื่อเหมือนกันแล้ว
“บริษัท STG Engineering นั้นเป็นคนละนิติบุคคลกันและไม่ได้อยู่ในกลุ่มของบริษัทของเรา มีเพียงแค่ตัวย่อของบริษัทที่มีความคล้ายคลึงกันเท่านั้น” นางนาตาเลีย คาลินิเชวา โฆษกบริษัทกล่าว
อย่างไรก็ตามเอกสารบริคนสนธิของทั้งซีเรียและทั้งรัสเซียระบุว่ามีผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Stroytransgaz หลายคนเข้าไปมีบทบาทในหลายบริษัทเหล่านี้ รวมไปถึงนายคาซัคอดีตผู้อำนวยการของบริษัท Stroytransgaz และนายซาคิด ชาคซูวารอฟ พนักงานคนปัจจุบันที่ทำงานให้กับนายทิมเชนโก
ทางด้านของนางไอรีน เคนยอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคว่ำบาตรและผู้อํานวยการด้านข่าวกรองความเสี่ยง ให้กับบริษัทให้คําปรึกษาที่ชื่อว่า FiveBy Solutions ได้กล่าวแสดงความมั่นใจว่าบริษัทเปลือกในแต่ละชั้นเหล่านี้ แท้จริงแล้วถูกควบคุมโดยบริษัทของนายทิมเชนโก เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทิมเชนโกซึ่งเป็นผู้ถูกคว่ำบาตรนั้นได้ประโยชน์สูงสุด
@คนของปูตินในยูเครน
ประเทศซีเรียนั้นเป็นซัพพลายเออร์แร่ฟอสเฟตที่ใหญ่ที่สุดให้กับประเทศยูเครน แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะย่ำแย่ลงหลังจากที่นายอัสซาดแสดงจุดยืนสนับสนุนการที่รัสเซียเข้ารุกรานและผนวกแหลมไครเมียในปี 2557 ก็ตาม
โดยบริษัทปุ๋ยหลายแห่งในยูเครนได้เคยซื้อแร่ฟอสเฟตโดยตรงกับทางรัฐบาลซีเรีย แต่ว่าหลังจากปี 2561 เป็นต้นมาบริษัทในยูเครนเหล่านี้ก็หันไปซื้อแร่ฟอสเฟตกับกลุ่มบริษัทแห่งใหม่ที่มีโครงสร้างค่อนข้างจะมีความคลุมเครือ
ทั้งนี้แร่ฟอสเฟตจากซีเรียจำนวนมากนั้นได้มีถึงยูเครน ผ่านทางท่าเรือ Nika Tera ในเมืองนิโคลาเยฟทางตอนใต้ของประเทศ ที่ ณ เวลานี้ได้กลายเป็นสมรภูมิแนวหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งท่าเรือดังกล่าวนี้ก็มีเจ้าของคือนายดิมิตรี เฟอร์ทาช โอลิการ์ชของประเทศยูเครน และนายเฟอร์ตาซคนนี้ก็ยังเป็นผู้ที่มีส่วนควบคุมบริษัทผลิตปุ๋ยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศยูเครนที่ชื่อว่าบริษัท Sumykhimprom
นายดิมิตรี เฟอร์ทาช โอลิการ์ชของประเทศยูเครน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็นบีซีแสดงจุดยืนต่อต้านนายปูติน (อ้างอิงวิดีโอจาก NBC)
ตามหลักการแล้วบริษัท Sumykhimprom นั้นถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ มีผู้ดำเนินกิจการเป็นเพื่อนที่มีความใกล้ชิดทางธุรกิจกับนายเฟอร์ทาซ แต่ทว่าผู้บริหารคนนี้กลับติดหนี้บริษัทของนายเฟอร์ทาซคิดเป็นเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยการทำข่าวสืบสวนของสำนักข่าวเรดิโอฟรียุโรป พบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินักที่บุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจของประเทศนั้นจะเข้าไปครอบงำรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีการเหล่านี้
นายเฟอร์ทาชนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในยูเครน เคยได้รับผลประโยชน์เป็นจำนวนมหาศาลถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (106,686 ล้านบาท) จากการทำข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับบริษัทที่อยู่ภายใต้การครอบงำของทำเนียบเครมลินของรัสเซีย
โดยนายเฟอร์ทาชจะนำเอาก๊าซธรรมชาติของรัสเซียซึ่งมีราคาถูกเข้ามาขายยังประเทศยูเครนในราคาที่แพงเกินจริงและเขาก็จะนำเอาเงินส่วนต่างดังกล่าวเข้าสู่กระเป๋าตัวเอง และยังพบข้อมูลด้วยว่านายเฟอร์ทาชนั้นถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญให้กับกลุ่มนักการเมืองที่โปรรัสเซียซึ่งอยู่ในยูเครน
อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปี หลังจากเหตุรุกราน นายเฟอร์ทาชได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็นบีซีของสหรัฐฯ ระบุว่าเขาประณามนายปูตินที่ตัดสินใจรุกรานดังกล่าว และกล่าวต่อว่า
“ผมไม่เคยเป็นพวกโปรรัสเซีย แต่คุณก็ต้องเข้าใจว่าผมเป็นนักธุรกิจ และเป้าหมายของผมก็คือการหาเงิน”
นายเฟอร์ทาชยังเคยมีทรัพย์สินอยู่ในประเทศอังกฤษ อาทิ แมนชั่นในย่านที่ค่าอยู่อาศัยแพงที่สุดในกรุงลอนดอนและเขายังเคยเป็นผู้บริจาคเงินรายสำคัญให้กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ในปัจจุบันนั้นนายเฟอร์ทาชได้บริหารอาณาจักรธุรกิจของเขาในประเทศออสเตรีย และก็เป็นที่ออสเตรียนี้เอง ที่เขาได้ดำเนินการต่อสู้ทางกฎหมายมาเป็นระยะเวลาแปดปีแล้ว เพื่อที่จะไม่ต้องถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ ในข้อหาทุจริต
สำหรับรัฐวิสาหกิจ Sumykhimprom นั้นถือว่าเป็นผู้นำเข้าแร่ฟอสเฟตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศยูเครน จนกระทั่งถึงปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ก็หายไปจากบันทึกรายชื่อของการเป็นผู้นำเข้าสินค้า แต่ว่ารัฐวิสาหกิจแห่งนี้ก็ยังคงประกอบกิจการผลิตปุ๋ยอยู่ และในภายหลังก็สืบทราบได้ว่ารัฐวิสาหกิจแห่งนี้แท้จริงแล้วได้จัดหาวัตถุดิบมาจากกลุ่มบุคคลที่สาม ซึ่งทาง Sumykhimprom ก็ได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวว่ารัฐวิสาหกิจนั้นได้จัดหาแร่ฟอสเฟตมาจากประเทศซีเรียหรือไม่
หนึ่งในเส้นทางการเดินเรือที่ชื่อว่า Kubrosli-y ซึ่งเรือนี้จดทะเบียนด้วยสัญชาติโคเมอรอส เริ่มต้นเดินทางจากประเทศตุรกี ปิดระบบติดตามใกล้กับไซปรัส รับฟอสเฟตที่ซีเรีย กลับมาเปิดระบบติดตาม ก่อนจะไปส่งแร่ฟอสเฟตยังท่าเรือที่อยู่ในการครอบครองของนายดิมิโตร เฟอร์ทาช ทั้งหมดนี้ใช้เวลาตั้งแต่ 14 พ.ค.-5 มิ.ย. 2564
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/world/2022/jun/30/europe-syria-phosphates-trade-assad,https://www.occrp.org/en/investigations/a-bloody-trade-inside-the-murky-supply-chain-bringing-syrian-phosphates-into-europe
- ส่องคดีทุจริตโลก: จนท.องค์การเภสัชอินเดียรับสินบน แลกอนุมัติยกเลิกทดลองอินซูลินระยะ 3
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารเครือยักษ์ใหญ่รัฐบอลติก เอี่ยวฟอกเงินหมื่น ล.โอลิการ์ชรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: ปลด รมต.สธ.เวียดนาม เซ่นปมขายชุดตรวจโควิดแพง 45% เอกชนฟันกำไร 709 ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:นักธุรกิจจีนเอี่ยวคดีสินบน อดีตที่ปรึกษาฮุนเซน ถือหุ้นสโมสรเบอร์มิงแฮม
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเส้นทางการเงินคดีให้สินบนนายพลจีน สู่คฤหาสน์พันล้าน ณ แวนคูเวอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงข้อพิรุธธุรกรรม เชื่อมโยงทอง 3 ตันประเทศกินี ส่อถูกฟอกในอังกฤษ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ย้อมแมวจรวด,โดรน-กินส่วนต่างวิทยุ 3 พันล. ต้นเหตุรัสเซียติดหล่มในยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดข้อพิรุธเอกชนไร้ประสบการณ์ ชนะสัญญาชุด PPE รบ.ออสเตรเลีย หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยสินบนเรือดำน้ำมาเลเซีย พัน ล.! ฝรั่งเศสสั่งสอบ บ.ต่อเรือรบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'รมต.สเปน'โดนสอบ ใช้ช่องพิเศษอนุมัติสัญญาโควิดเอื้อ บ.พวกพ้อง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมคอรัปชั่นในกองทัพรัสเซีย-งบปี 65 รวม 2 ล้าน ล.ไม่รู้ไปไหนบ้าง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64