การทุจริตกรณีเรือดำน้ำนั้นเป็นที่ถูกรับทราบกันในประเทศอิสราเอลในอีกชื่อหนึ่งว่าคดี 3000 ซึ่งการทุจริตนั้นมีความเกี่ยวพันไปถึงการติดสินบนครั้งใหญ่เป็นจำนวนนับหลายพันล้านเชเกล (ค่าเงินประเทศอิสราเอล) เพื่อที่จะให้ดำเนินการในจัดซื้อทั้งเรือดำน้ำและเรือติดขีปนาวุธนำวิถีหลายลำจากบริษัทอู่ต่อเรือ ทิสเซนครูป (Thyssenkrupp) ของประเทศเยอรมนี
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอเสนอกรณีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อเรือดำน้ำของประเทศอิสราเอล
โดยเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทม์ออฟอิสราเอลได้รายงานข่าวว่า รัฐมนตรีจำนวนสองรายได้แก่นายยาร์ ลาพิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายเบนนี่ กานซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนสำรอง ได้ออกมาประกาศผ่านสำนักรัฐในตรีว่าในวันที่ 16 ม.ค. รัฐบาลจะมีการลงมติกันว่า จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนของรัฐเพื่อสอบสวนในประเด็นการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งมีการทำข้อตกลงอันไม่โปร่งใสระหว่างรัฐบาลอิสราเอลกับบริษัทอู่ต่อเรือของประเทศเยอรมนี ซึ่งผลของการทำข้อตกลงดังกล่าวนั้นก็ทำใหเกิดกรณีการฟ้องร้องกันไปมาเป็นจำนวนหลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากข่าวช่อง 12 นั้นก็ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคำยืนยันของทั้งสองรัฐมนตรี เนื่องจากมีรายงานจากแหล่งข่าวที่ไม่ระบุตัวตนที่บอกว่า นายนัฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลที่เพิ่งจะดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2564 นั้นไม่ต้องการที่จะนำเอาเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวเข้าสู่การโหวต เนื่องจากนายเบนเน็ตต์มีความต้องการจะสรุปข้อตกลงการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่นดอลฟินกับทางประเทศเยอรมนีให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องของการตั้งคณะกรรมการสอบสวน
เรือดำน้ำรุ่นดอลฟิน (อ้างอิงวิดีโอจาก i24newsEnglish)
ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2561 ประเทศเยอรมนีได้มีการอนุมัติบันทึกความเข้าใจกับประเทศอิสราเอลในการก่อสร้างเรือดำน้ำรุ่นดอลฟินจำนวนสามลำขึ้นมา ซึ่งเรือดำน้ำจำนวนสามลำดังกล่าวนั้นจะผูกนำไปผนวกกับกองเรือดำน้ำอีกหกลำของอิสราเอล หลังจากที่การจัดซื้อหยุดชะงักไปในช่วงเวลานั้นเนื่องจากว่ามีการสอบสวนของทางประเทศอิสราเอลว่าอาจจะมีการทุจริต และการจ่ายสินบนเกิดขึ้นเพื่อทำให้สามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดซื้อไปได้
โดยการจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวนสามลำดังกล่าวนั้นเริ่มมีความพยายามที่จะผลักดันข้อตกลงให้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในรายงานช่วงปี 2561 ยังได้บ่งชี้ว่าในรายละเอียดของข้อตกลงนั้นมีประโยคที่ระบุชัดเจนว่า ข้อตกลงการจัดซื้อนั้นจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ถ้าหากยังมีการสอบสวนกรณีการทุจริตเกิดขึ้นอยู่ และข้อตกลงยังได้อนุญาตให้ทางเยอรมนีสามารถถอนตัวจากข้อตกลงได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าทางฝ่ายผู้ตรวจสอบทุจริตนั้นจะดำเนินการตรวจสอบถึงที่สุดและเปิดโปงการกระทำอันไม่โปร่งใสหรือไม่ก็ตาม
ขณะที่ในแถลงการณ์ของนายกานซ์เมื่อช่วงวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ระบุต่อไปด้วยว่าการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการปกป้องความปลอดภัยของประเทศอิสราเอลเอง และนายลาพิดก็ได้ระบุเสริมด้วยว่า “ประเด็นเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้นถือว่าเป็นกรณีการทุจริตที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศอิสราเอล และเราต้องไม่ทิ้งอุปสรรคใดๆอันจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงความจริงเอาไว้”
อนึ่งการทุจริตกรณีเรือดำน้ำนั้นเป็นที่ถูกรับทราบกันในประเทศอิสราเอลในอีกชื่อหนึ่งว่าคดี 3000 ซึ่งการทุจริตนั้นมีความเกี่ยวพันไปถึงการติดสินบนครั้งใหญ่เป็นจำนวนนับหลายพันล้านเชเกล (ค่าเงินประเทศอิสราเอล) เพื่อที่จะให้ดำเนินการในจัดซื้อทั้งเรือดำน้ำและเรือติดขีปนาวุธนำวิถีหลายลำจากบริษัทอู่ต่อเรือ ทิสเซนครูป (Thyssenkrupp) ของประเทศเยอรมนี และมีรายงานว่ามีหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงนั้นถูกฟ้องร้องไปแล้ว ซึ่งก็รวมไปถึงบุคคลใกล้ชิดนายเบนจามิน เนทันยาฮู อดีตนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ที่เป็นผู้เรียกร้องให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำชุดนี้
การประท้วงต่อต้านนายเบนจามิน เนทันยาฮู อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563
ทั้งนี้การทุจริตนั้นยังมีความเกี่ยวข้องไปถึงกรณีการขายเรือดำน้ำดอลฟินจำนวนสองลำและเรือรบต่อต้านเรือดำน้ำอีกสองลำ ซึ่งทั้งหมดถูกผลิตโดยประเทศเยอรมนีและมีการขายให้กับประเทศอียิปต์ แต่อย่างไรก็ตามมีการกล่าวหาว่านายเนทันยาฮูมีส่วนในการอนุมัติการขายเรือจำนวนดังกล่าวให้กับประเทศอียิปต์นี้ด้วย โดยการอนุมัตินั้นไม่ได้ขอคำอนุมัติจากทั้งนายโมเช ยาอลอน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและ นายกานซ์ หัวหน้าคณะเสนาธิการของกองทัพอิสราเอลในช่วงเวลานั้น แม้ว่าทางประเทศอิสราเอลจะได้รับสิทธิ์ให้สามารถออกเสียงวีโต้ คัดค้านการขายเรือรบจำนวนดังกล่าวได้ก็ตาม
ขณะที่รายงานว่าคนใกล้ชิดของนายเนทันยาฮูถูกกล่าวหาในคดีนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลถูกติดสินบนเพื่อที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าบริษัททิสเซนครูปชนะในสัญญา แต่ปรากฏว่าอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง และทางอัยการสูงสุดเองก็ได้กล่าวว่าตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย
โดยในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทางฝ่ายอัยการได้บอกศาลยุติธรรมว่าเชื่อได้ว่าไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมในการเปิดการสอบสวนทางอาญากับนายเนทันยาฮูในเรื่องนี้ โดยตัวนายเนทันยาฮูนั้นถูกไต่สวนในคดีฉ้อโกงและคดีละเมิดความไว้ใจอื่นๆอีกเป็นจำนวนสามคดีอยู่แล้ว ซึ่งในรายละเอียดคดีนั้นก็พบว่ามีกรณีของสินบนรวมอยู่ด้วย และนายเนทันยาฮูก็ได้ปฏิเสธการกระทำความผิด โดยอ้างว่าเขาเป็นเหยื่อของการรัฐประหารทางการเมือง ซึ่งมีผู้มีส่วนร่วมได้แก่ตำรวจ,อัยการ,นักการเมืองฝ่ายซ้ายและสื่อ
ขณะที่นายกานซ์ ที่ ณ เวลานี้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ส่งคำร้องขออย่างเป็นทางการให้มีการสอบสวนโดยรัฐบาลนับตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่นายกิเดียน ซาอา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ระบุว่าตัวเขาจะสนับสนุนการดำเนินการเพื่อสอบสวนนี้ และมีรายงานว่านายอวิกดอร์ ลิเบอร์แมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็แสดงท่าทีสนับสนุนการสอบสวนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำมาอย่างยาวนาน จากทางฝ่ายตรงข้ามของนายเนทันยาฮู แต่ทางฟากฝั่งของผู้สนับสนุนนายเนทันยาฮูนั้นมักจะกล่าวอ้างว่าการสอบสวนลักษณะดังกล่าวมีเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งทางด้านของนายกานซ์ก็ได้ปฏิเสธในข้อกล่าวหานี้
“การจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรากฐานการของกระทรวงกลาโหม และต่อรัฐอิสราเอล ถ้าเราไม่เปิดโปงความจริงให้เกิดขึ้นเราจะไม่สามารถเรียนรู้บทเรียนสำหรับอนาคตได้เลย” นายกานซ์กล่าว
ทั้งนี้ข้อเสนอของนายกานซ์นั้นยังระบุต่อไปด้วยว่าจะต้องมีการใช้งบประมาณกว่า 9 ล้านเชเกล (96,081,213) สำหรับคณะกรรมการสอบสวนนี้ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนั้นจะมาจากกระทรวงกลาโหมจำนวน 7 ล้านเชเกล (74,729,832 บาท) และมาจากกระทรวงยุติธรรม 2 ล้านเชเกล (21,351,380 บาท)
อย่างไรก็ตามแม้ว่านายกานซ์ได้เคยกล่าวว่าการสอบสวนนั้นมีความตั้งใจเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนอิสราเอลที่มีต่อยุทโธปกรณ์การป้องกันประเทศ แต่ปรากฏว่าภายใต้ข้อเสนอของนายการซ์นั้น รายละเอียดของการสอบสวนเกือบทั้งหมดจะต้องถูกเก็บเป็นความลับ
โดยนับตั้งแต่ที่มีเหตุการณ์ความไม่โปร่งใสถูกเปิดโปงขึ้นในช่วงปี 2559 ก็ปรากฏว่ามีความพยายามด้วยกันอยู่หลายครั้งที่จะจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนของรัฐ เพื่อจะตรวจสอบในข้อตกลงรวมไปถึงความพยายามของนายกานซ์ในช่วงปี 2563 เมื่อเขาพยายามให้เกิดการตรวจสอบการจัดซื้อด้วยกระบวนการตรวจสอบภายในของกระทรวงกลาโหม แต่ทว่าความพยายามดังกล่าวนั้นถูกขัดขวางโดยนายอวิชัย แมนเดลบลิต อัยการสูงสุด ที่กล่าวว่านั่นจะเป็นการเข้าไปแทรกแซงการสอบสวนคดีอาญาของทางอัยการเอง
เรียบเรียงจาก:https://www.timesofisrael.com/government-said-set-to-vote-on-state-inquiry-into-murky-submarine-deal/
อ่านประกอบ: