ที่ไปที่มาของเงินนั้นเริ่มตั้งแต่เงินจากสี่บริษัทในฮ่องกงและจากในจีนแผ่นดินใหญ่ คิดเป็นมูลค่ารวม 15.1 ล้านดอลลาร์แคนาดา (404,233,644 บาท) และหลังจากนั้นก็มีเงินอีกจำนวนหลายล้านดอลลาร์แคนาดาตามมายังบัญชีของนายเฉินและครอบครัว ซึ่งที่มาของเงินเหล่านี้ก็มีทั้งมาจากบริษัทที่จดทะเบียนในดินแดนภาษีต่ำ,เครือข่ายของธนาคารใต้ดินของบริษัทจำนวนหลายแห่ง (ลักษณะคล้ายกับโพยก๊วน) และมาจากตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง,โดยบริษัทที่มาของเงินนั้นพบว่าบางแห่งเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอข้อกล่าวหากรณีที่นักอสังหาริมทรัพย์ชาวจีน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมจ่ายสินบนนั้นได้นำเงินที่ได้จากข้อตกลงขายที่ดินอันไม่โปร่งใสไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศแคนาดา เพื่อทั้งดำเนินการฟอกเงิน,หลบหนีจากการดำเนินคดีในประเทศจีน และเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติแคนาดา โดยมีรายละเอียดดังนี้
ก่อนที่จะย้ายมายังประเทศแคนาดาในปี 2549 นายเฉิน หรุนไค ได้แจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าเขาสามารถหาเงินได้ประมาณปีละ 41,000 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 1 ล้าน 9 หมื่นบาทในปัจจุบัน) โดยอาชีพของผู้เป็นภรรยาของเขานั้นระบุว่าเป็นเสมียน
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีหลังจากนั้นพบว่ามีเงินโอนเข้ามาเป็นจำนวนหลายครั้ง คิดเป็นเงินจำนวนกว่า 114 ล้านดอลลาร์แคนาดา เข้าสู่บัญชีครอบครัวของนายเฉินที่แคนาดา (3,053,020,926 บาท)
ข้อมูลในภายหลังปรากฏว่านายเฉินนั้นแท้จริงแล้วคือผู้ต้องหาหลบหนีคดีที่เป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลจีน ในข้อหาว่าเขาได้มีการติดสินบนในคดีทุจริตครั้งใหญ่ในกองทัพจีน
โดยการรายงานข่าวร่วมกันของสำนักข่าวองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่อต้านคอร์รัปชันหรือ The Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) กับสำนักข่าว โตรอนโต สตาร์ นั้นได้พบข้อมูลว่านอกจากเป็นผู้หลบหนีคดีแล้ว ตอนนี้นายเฉินกำลังต่อสู้ทุกหนทางเพื่อจะอาศัยอยู่ในแคนาดาต่อไป โดยครอบครัวของนายเฉินนั้นปัจจุบันก็มีคฤหาสน์จำนวนสองหลังอยู่ในเมืองแวนคูเวอร์ ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
สำหรับคฤหาสน์หลังแรกนั้นนายเฉินได้ซื้อมาเมื่อปี 2559 คิดเป็นมูลค่ากว่า 15.6 ล้านดอลลาร์แคนาดา (417,618,864 บาท) และคฤหาสน์อีกหลัง พบว่าลูกสาวเฉินได้ซื้อมาในปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์แคนาดา (374,786,160 บาท) ซึ่งในช่วงปี 2555 ดังกล่าวนั้นลูกสาวของนายเฉินมีอายุได้ 25 ปี และมีการระบุอาชีพว่ายังเป็นนักเรียนอยู่
นายเฉิน หรุนไค กับคฤหาสน์มูลค่า 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 15.6 ล้านดอลลาร์แคนาดา
ทั้งนี้การลงทุนของครอบครอบครัวของนายเฉินในแคนาดานั้นได้ทำให้เกิดความกังวลในประเทศแคนาดาว่า อาจจะเป็นช่องทางทำให้เงินผิดกฎหมายจากต่างประเทศไหลเข้ามายังประเทศแคนาดา ส่งผลทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์แคนาดานั้นอยู่ในภาวะที่ร้อนแรงจนเกินไป ทำให้ราคาบ้านในประเทศแคนาดาที่สูงอยู่แล้ว สูงขึ้นไปอีกสำหรับประชาชนแคนาดาหลายคน
อนึ่งที่ผ่านมานั้นเคยมีการถกเถียงกันในเวทีสาธารณะไปแล้วเกี่ยวกับการฟอกเงินนอกอาณาเขตซึ่งเงินถูกนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองแวนคูเวอร์ ซึ่งเมืองแห่งนี้นั้นถือได้ว่ามีราคาขายที่อยู่อาศัยสูงที่สุดในโลก และการถกเถียงดังกล่าวทำให้รัฐบาลท้องถิ่นรัฐบริติชโคลัมเบียได้จัดตั้งคณะกรรมการคัลเลนขึ้นในปี 2562 เพื่อพิจารณาประเด็นนี้ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้ในเดือน มิ.ย.
อย่างไรก็ตามในผลการศึกษาของคณะกรรมการแมคคัลเลนนั้นกลับพบว่ามีหลายจุดที่ถูกคาดดำเอาไว้ และอ้างถึงชื่อของนายเฉินแต่อย่างใด แต่ทาง OCCRP และโตรอนโต สตาร์ นั้นได้มีการใช้เอกสารที่เปิดเผยจากประเทศแคนาดา ผลการศึกษาของคณะกรรมการคัลเลนเท่าที่พอจะเปิดเผยได้และข้อมูลจากประเทศจีนเพื่อปะติดปะต่อการดำเนินธุรกรรมของนายเฉิน ภรรยา และลูกสาวของเขา
โดยที่ผ่านมา ทนายส่วนตัวของนายเฉินมักจะให้ข้อมูลว่าลูกความของเขาไม่เคยมีส่วนเกี่ยวกับการทุจริตแต่อย่างใด และเงินของนายเฉินก็ได้มาโดยถูกกฎหมายผ่านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน ก่อนที่เขาจะมายังแคนาดา
“สถานการณ์ของนายเฉินนั้นถือว่าค่อนข้างจะเครียด แต่ขอยืนยันว่านายเฉินนั้นเชื่อและยึดมั่นในระบบกฎหมายของแคนาดา” นายลอร์น วอลด์แมน ทนายความกล่าว
แม้ว่าเอกสารในชั้นศาลเกี่ยวกับคดีของนายเฉินนั้นจะได้รับการปกปิด แต่ว่าคำพิพากษาของศาลในคดีเกี่ยวข้องกับลูกสาวของนายเฉินก็ได้ระบุถึงรายละเอียดไว้ตอนหนึ่งว่านายเฉินกำลังสู้คดีอยู่หลายคดี รวมไปถึงคดีการให้ข้อมูลไม่ตรงกับความจริงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองแคนาดา และคดีการมีส่วนในองค์กรอาชญากรรม
รายงานข่าวชาวจีนผู้ร่ำรวยมักจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา (อ้างอิงวิดีโอจาก France24)
@ข้อบ่งชี้ว่าจะมีการฟอกเงิน
มีรายงานว่ารัฐบาลกลางแคนาดาได้พิจารณาเกี่ยวกับแหล่งที่มาของความมั่งคั่งของนายเฉินผ่านเอกสารต่างๆก่อนที่เขาจะมาถึงแคนาดาในปี 2559 มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว โดยผ่านการตรวจสอบข้อมูลในโครงการผู้ลงทุนสำหรับผู้อพยพเข้าประเทศ ซึ่งงปัจจุบันโครงการนี้ปิดตัวไปแล้ว
นายเฉินได้เคยให้ข้อมูลกับทางการไปว่าเขาและภรรยาได้นำเงินติดตัวมาแคนาดาด้วย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.26 ล้านดอลลาร์แคนาดา (33,743,915 บาท) แต่ว่าหลังจากปี 2553 เป็นต้นมา ก็มีเงินเข้าสู่บัญชีของครอบครัวของนายเฉินจำนวนหลายบัญชีในประเทศแคนาดา
ที่ไปที่มาของเงินนั้นเริ่มตั้งแต่เงินจากสี่บริษัทในฮ่องกงและจากในจีนแผ่นดินใหญ่ คิดเป็นมูลค่ารวม 15.1 ล้านดอลลาร์แคนาดา (404,233,644 บาท) และหลังจากนั้นก็มีเงินอีกจำนวนหลายล้านดอลลาร์แคนาดาตามมายังบัญชีของนายเฉินและครอบครัว ซึ่งที่มาของเงินเหล่านี้ก็มีทั้งมาจากบริษัทที่จดทะเบียนในดินแดนภาษีต่ำ,เครือข่ายของธนาคารใต้ดินของบริษัทจำนวนหลายแห่ง (ลักษณะคล้ายกับโพยก๊วน) และมาจากตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง,โดยบริษัทที่มาของเงินนั้นพบว่าบางแห่งเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม
โดยภายในสิ้นปี 2557 ก็พบว่านายเฉินได้มีการย้ายเงินมายังแคนาดาคิดเป็นมูลค่า 114 ล้านดอลลาร์แคนาดา ผ่านแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว
ทั้งนี้ในเอกสารผลการศึกษาของคณะกรรมการคัลเลนนั้นได้ระบุรายงานการวิเคราะห์แบบไม่ระบุตัวตน ที่มาจากศูนย์วิเคราะห์ธุรกรรมและรายงานทางการเงินของแคนาดาหรือที่มีชื่อย่อว่าฟินแทรค (Fintrac) ซึ่งรายงานนี้ได้ระบุถึงรายละเอียดการโอนเงินเข้าสู่บัญชีที่ประเทศแคนาดาเป็นจำนวนหลายครั้ง โดยบัญชีนี้มีเจ้าของบัญชีคือแม่ของนายเฉิน (ในผลการศึกษาของคณะกรรมการคันเลนระบุว่าแม่ของนายเฉินคือ บุคคล D และนายเฉินคือ บุคคล A) และพอหลังจากมีเงินเข้ามา ก็มีการทำหนังสือมอบอำนาจแก่นายเฉิน แล้วจึงมีซอยย่อยเงินจำนวนนี้ผ่านการดำเนินธุรกรรมจำนวนหลายๆครั้ง
บทวิเคราะห์ของฟินแทรคระบุว่าการโอนเงินเป็นจำนวนหลายครั้งนั้นเป็นสัญญาณชัดเจนว่ามีพฤติกรรมอาชญากรรมทางการเงินเกิดขึ้น
“ความไม่สอดคล้องกันระหว่างเงินที่พวกเขามีซึ่งสามารถจะนำไปใช้ได้ กับจำนวนเงินที่มาผ่านการโอนเป็นจำนวนหลายๆครั้งมายังประเทศแคนาดานั้น ถึงเป็นข้อบ่งชี้สำคัญว่าจะมีการฟอกเงินเกิดขึ้น” บทวิเคราะห์ระบุ
บทวิเคราะห์ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแหล่งที่มาของความมั่งคั่งของนายเฉิน เนื่องจากว่านายเฉินนั้นปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว และยังได้ตั้งธงแดงเกี่ยวกับการโอนเงินมายังแคนาดา
แม้ว่าครอบครัวของนายเฉินจะได้มีการย้ายเงินผ่านไปยังธนาคารใหญ่จำนวนห้าแห่งในประเทศแคนาดา แต่ปรากฎว่ามีธนาคารเพียงแค่แห่งเดียว ซึ่งก็คือธนาคารยูบีเอสแคนาดาเท่านั้น ที่ตั้งธงสงสัยว่าการทำธุรกรรมนั้นมีข้อพิรุธ เนื่องจากว่าประมาณและจำนวนการโอนเงินที่มหาศาลในระยะเวลานั้นสั้นนั้น ถือว่าเป็นจุดเด่นของพฤติกรรมการฟอกเงิน
โดยธนาคารเรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่าเป็นเหมือนกับเทคนิคของการสร้างชั้นซ้อนกันหลายๆชั้น ทำให้การธุรกรรมมีความซับซ้อนจนสามารถปกปิดตัวตนของเจ้าของเงินที่แท้จริงจากต้นทางได้ ซึ่งธนาคารยูบีเอสแคนาดาได้ตั้งข้อสงสัยการทำธุรกรรมของนายเฉินในช่วงปี 2554 และได้ระบุรายละเอียดข้อสงสัยลงไปในรายงาน
ธนาคารยูบีเอสได้สอบถามนายเฉินและครอบครัวเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน แต่ก็ไม่ปรากฏคำตอบที่แน่ชัดออกมา ทำให้ธนาคารได้รายงานเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานทางการพร้อมกับปิดบัญชีธนาคารของนายเฉินและครอบครัวที่เกี่ยวข้อง
แต่ดูเหมือนว่าครอบครัวของนายเฉินนั้นจะไม่ประสบปัญหาเท่าไรนักในการหาธนาคารอื่นๆในแคนาดาที่ยอมรับการหมุนเวียนของเงินเข้ามาในบัญชีคิดเป็นมูลค่านับสิบๆล้านดอลลาร์แคนาดา เนื่องจากว่าในข้อมูลเอกสารนั้นระบุว่าในปลายปี 2559 ก็พบว่ามีเงินเข้ามาสู่บัญชีของครอบครัวของนายเฉินอีก ซึ่งบัญชีนั้นเป็นของธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งได้แก่ธนาคาร CIBC, รอยัลแบงก์ออฟแคนาดา, เอชเอสบีซี และธนาคารแห่งมอนทรีออล (Bank of Montreal)
และเมื่อถามความเห็นไปยังธนาคาร ธนาคารทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เขียนแถลงการณ์ออกไปในทิศทางเดียวกันว่าพวกเขาไม่สามารถพูดถึงรายละเอียดของลูกค้าได้ แต่ขอยืนยันว่าพวกเขานั้นมีความยึดมั่นอย่างแรงกล้าในการจะตรวจจับและรายงานการทำธุรกรรมอันน่าสงสัยทุกธุรกรรม
โดยนางแมรี่ เจน เบนเน็ตต์ อดีตทนายคดีอาญาในแวนคูเวอร์ ก็ได้กล่าวว่าสำหรับตัวเธอนั้นนี่คือข้อบ่งชี้ที่ค่อนข้างจะแน่ชัดว่ามีการฟอกเงินเกิดขึ้น
ส่วนข้อมูลในรายงานของคณะกรรมการคัลเลน ก็ได้ระบุว่ามีเงินที่ถูกส่งเข้ามายังบัญชีของครอบครัวของนายเฉิน ที่มาจากดินแดนภาษีต่ำ และยังปรากฏภาพของหน้าร้านแลกเปลี่ยนเงินตราในฮ่องกงที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทที่มีการส่งเงินมายังแคนาดาด้วยเช่นกัน
@ข้อกล่าวหาด้านการรับสินบนในประเทศจีน
รายงานของฟินแทรคได้แสดงให้เห็นว่าครอบครัวของนายเฉินนั้นไม่ต้องการจะอธิบายว่าที่ไปที่มาของเงินนั้นมาจากไหน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางธนาคารก็ได้มีการถามถึงแหล่งที่มาของเงินด้วยเช่นกัน ซึ่งแม่ของนายเฉินก็กล่าวกับเจ้าหน้าที่ธนาคารว่าเงินนั้นมาจากกระบวนการขายที่ดินในประเทศจีน แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆเพิ่มเติมอีก
ส่วนการสอบถามข้อมูลกับนายเฉิน ก็ปรากฏว่าเขาดูไม่เต็มใจจะให้เอกสารซึ่งระบุข้อมูลอันน่าพอใจแต่อย่างใด ซึ่งเอกสารที่นายเฉินได้ส่งมานั้น พบว่ามีการปกปิดสถานที่ของที่ดินที่ได้ดำเนินการขาย และปกปิดรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนเงินเพื่อขายที่ดินที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม OCCRP และโตรอนโต สตาร์ ก็สามารถเปิดโปงแหล่งที่มาของความมั่งคั่งของครอบครัวของนายเฉินได้ในที่สุด ซึ่งที่มาของข้อตกลงการซื้อขายที่ดินนั้น ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับนายกู๋ จุนซาน อดีตนายทหารยศพลโทในกองทัพจีนที่ถูกติดสินประหารชีวิตแต่ให้ชะลอการประหารชีวิตไว้ก่อนเป็นเวลาสองปี (ในภายหลังถูกลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต) ในคดีทุจริตในระดับสูง โดยคำตัดสินของศาลนั้นออกเมื่อปี 2558 และคำตัดสินดังกล่าวนั้นยังได้มีการถอดยศทางการทหารของนายกู๋ด้วย
สำหรับชื่อของนายเฉินนั้นถูกระบุในจดหมายเปิดผนึกภาษาจีนในปี 2557 ซึ่งจดหมายนี้ถูกส่งไปถึงนายทหารระดับบัญชาการที่ต่อต้านนายกู๋จากพฤติกรรมการทุจริต และจดหมายดังกล่าวนั้นได้มีการปกปิดชื่อผู้เขียนเอาไว้เป็นนิรนาม อย่างไรก็ตามเนื้อหาในจดหมายนี้ถูกแพร่กระจายไปในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง และสื่อซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลจีนก็ได้มีการนำข้อความในจดหมายนี้ไปใช้อ้างอิงในการเสนอข่าวด้วย
หนึ่งในที่พักอาศัยของนายกู๋ ณ เมืองผู้หยาง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน
โดยเนื้อหาบางช่วงบางตอนของจดหมายกล่าวหาว่านายเฉินนั้นได้จ่ายเงินสินบนก้อนใหญ่แก่นายกู๋เพื่อจะได้ครอบครองพื้นที่ขนาด 100 เฮกตาร์ ที่อยู่ใกล้กับตำแหน่งที่เคยเป็นสนามบินทางการทหารในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งที่ดินดังกล่าวนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งมีผู้ที่รับผิดชอบก็คือนายกู๋
จดหมายระบุต่อว่าในกระบวนการสอบสวนนายกู๋ในเบื้องต้น พบว่ามีนายทหารอาวุโสไม่ระบุนามนายหนึ่งได้ส่งคำเตือนไปถึงนายเฉินที่ตอนนี้หนีไปยังแคนาดาแล้ว ส่งผลทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ได้ออกคำสั่งให้มีการออกหมายจับ แต่จนถึงวันนี้นายเฉินก็ยังสามารถหลบนีจากผู้มีอำนาจในประเทศจีนไปได้
อนึ่งเนื้อหาในจดหมายนี้นั้นถูกนำไปใช้อ้างอิงในบทความในนิตยสาร Phoenix Weekly ซึ่งเป็นนิตยสารที่เป็นเสมือนกับกระบอกเสียงของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง และในเวลาต่อมาบทความนี้ก็ได้ถูกนำไปโพสต์โดยเครือข่ายตำรวจของประเทศจีน ซึ่งในบทความนั้นระบุถึงนายเฉินว่าเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจ่ายเงินสินบนเป็นจำนวนมากให้กับนายกู๋
ทั้งนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมของประเทศจีน ที่การนำเสนอข่าวค่อนข้างปิด สื่อและอินเทอร์เน็ตถูกควบคุม ส่งผลทำให้ชื่อของนายเฉิน หรือผู้กระทำผิดคนอื่นๆนั้นจะไม่มีถูกเปิดเผยโดยสื่อ หรือถูกทำให้แพร่หลายอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นจะได้รับคำตัดสินจากทางการเสียก่อน
ส่วนหนังสือพิมพ์เว่ยป๋อที่เป็นสื่อของรัฐก็ได้กล่าวหานายเฉิน (แบบไม่ระบุชื่อ) ว่าเป็นตัวการสำคัญในคดีสินบนของนายกู๋ โดยระบุว่าในช่วงก่อนประมาณปี 2543 ปลายๆ นายเฉินนั้นได้รับที่ดินใกล้สนามบิน ด้วยราคาที่ต่ำกว่าตลาดมากเมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่อื่นๆในนครเซี่ยงไฮ้ในช่วงเวลานั้น อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าเขามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับนายกู๋
ในรายละเอียดคำพิพากษาของศาลได้ระบุว่ามีนักธุรกิจของเซี่ยงไฮ้รายหนึ่งชื่อว่านางซู หยุนหยู ได้รับและครอบครองที่ดินผืนเดียวกับนายเฉินในช่วงระหว่างปี 2552-2556 โดยกู้เงินเพื่อครอบครองที่ดินนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 889 ล้านหยวน (4,522,903,134 บาท) แต่เธอก็ได้ผิดนัดชำระเงินกู้ดังกล่าว
นายกู๋ จุนซาน อดีตนายทหารยศพลโทในกองทัพจีนที่ต้องโทษคดีทุจริต
และในปี 2552 เช่นกัน ก็พบว่าเริ่มมีการโอนเงินมายังบัญชีของครอบครัวของนายเฉินในประเทศแคนาดา ซึ่งในเอกสารของคณะกรรมการคัลเลนระบุว่ามีบริษัทจีนจำนวนสองแห่งอยู่อยู่ในกลุ่มแหล่งที่มาของการโอนเงินนี้ด้วย และจากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารบริคนสนธิ บริษัทจีนจำนวนสองแห่งที่ว่านี้ก็พบว่ามีความเชื่อมโยงไปถึงนางซู
ทางด้านนายวอลด์แมน ทนายความของนายเฉินได้ยอมรับว่าเงินจำนวนมหาศาลที่โอนมายังแคนาดานั้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ดิน และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาที่ถูกกำกับดูแลโดยนายกู๋จริง แต่นายวอลด์แมนได้ยืนยันว่าลูกความของเขานั้นไม่รู้จักกับนายกู๋เป็นการส่วนตัวและไม่มีการจ่ายสินบนให้อย่างแน่นอน โดยลูกความของเขานั้นถูกนำเข้าไปเกี่ยวพันธ์กับคดีทางการเมืองที่ต้องการจะเอาผิดกับทางนายพลจีน
“ลูกความผมไม่ได้ทำอะไรผิด เขาไม่รู้จักนายพล และเขาได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเฉพาะกับกิจกรรมที่ถูกกฎหมายเท่านั้น” นายวอลด์แมนกล่าวผ่านวิดีโอคอล
@คฤหาสน์สองแห่ง และการเปลี่ยนชื่อสามครั้ง
อสังหาริมทรัพย์แห่งแรกของนายเฉินในเมืองแวนคูเวอร์นั้นพบว่ามีการซื้อกันในปี 2550 โดยเป็นบ้านหรูในย่านชอว์นเนสซี่คิดเป็นมูลค่า 2.3 ล้านดอลลาร์แคนาดา (61,572,012 บาท) ซึ่งนายเฉินนั้นได้ใช้ชื่อเก่าของเขาคือนายเฉิน จื่อจุน ถือครองบ้านหลังนี้ร่วมกับภรรยาคือนางฉี เฉินกวง ก่อนที่จะขายบ้านหลังนี้ไปเมื่อปี 2564 ด้วยมูลค่า 4.9 ล้านดอลลาร์แคนาดา (131,175,156 บาท)
ต่อมาในปี 2555 ลูกสาวของพวกเขา ที่ตอนนั้นใช้ชื่อว่านางเฉิน โจวเหริน ได้ซื้อคฤหาสน์ซึ่งมีทั้งสนามเทนนิสและสระว่ายน้ำในตัว ที่ตั้งอยู่ ณ ริมหาดพอยต์เกรย์ คิดเป็นมูลค่า 14.7 ล้านดอลลาร์แคนาดา (393,679,014 บาท) ซึ่งทางด้านของหน่วยงานประเมินทรัพย์สินบริติชโคลัมเบียได้ประเมินราคาของคฤหาสน์หลังนี้ในปัจจุบันว่าอยู่ในอันดับที่ 98 ของอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดในเมืองแวนคูเวอร์ ด้วยราคาประเมินทั้งสิ้น 19 ล้านดอลลาร์แคนาดา (508,638,360 บาท)
คฤหาสน์ที่ลูกสาวของนายเฉินซื้อมาในปี 2555
สองปีให้หลังจากที่ลูกสาวของนายเฉินได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว อัยการจีนก็ได้ดำเนินการฟ้องคดีทุจริตต่อนายกู๋ ในข้อหาที่ว่าเขาได้มีการขายที่ดินทางการทหารเพื่อแลกกับเงินสินบน โดยทรัพย์สินของนายพลนั้นถือว่ามีจำนวนมหาศาลและมากเกินกว่าแค่เงินเดือนประจำตำแหน่งนายพลอย่างเดียวจะสามารถจัดหามาให้ได้
โดยตำรวจจีนต้องใช้เวลากว่าสองวัน ณ บ้านหลังหนึ่งของนายพลจีน เพียงเพื่อจะดำเนินการขนย้ายทรัพย์สินอันหรูหรารวมไปถึงรูปปั้นทองคำของประธานเหมา เจ๋อตุงขึ้นไปบนรถบรรทุกจำนวนสี่คัน และจากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้ทางประเทศจีนได้ออกหมายจับนายเฉินในข้อหาว่ามีส่วนเกี่ยวกับการฉ้อโกง
ในขณะเดียวกัน ที่ประเทศแคนาดา นายเฉินก็กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้อยู่ในแคนาดา หลังจากที่หน่วยงานด้านชายแดนของแคนาดานั้นพบว่านายเฉินนั้นอยู่ในสถานะที่ไม่อาจจะยอมรับได้ในการรับเข้าเป็นพลเมืองแคนาดา แต่ว่าทนายความของนายเฉินก็ได้ดำเนินการยื่นเรื่องไปที่ผู้พิพากษาให้ดำเนินการทบทวนการตัดสินใจแล้ว ซึ่งในระหว่างการต่อสู้กันในกระบวนการทางกฎหมายและการออกหมายจับจากประเทศจีน ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อของนายเฉินและสมาชิกในครอบครัว
โดยบันทึกการครอบครองอสังหาริมทรัพย์แสดงข้อมูลในปี 2558 ระบุว่านายเฉินและลูกสาวได้เปลี่ยนชื่อจากนายเฉินไปเป็นเฉิน หรุนไค เปลี่ยนชื่อลูกสาวจากโจวเหรินไปเป็นฮานหยิง ส่วนภรรยาที่ใช้ชื่อว่าฉี เฉินกวงก็เปลี่ยนชื่อต้นไปเป็นรุยเจิ้น และในหนึ่งปีหลังจากนั้นนายเฉินก็ได้ซื้อคฤหาสน์สไตล์ทิวดอร์ภายใต้ชื่อใหม่ของเขา
ส่วนข้อมูลจากทางศาลระบุว่า ณ เวลานี้นั้นคำขอของลูกสาวของนายเฉินในการยื่นเรื่องเป็นพลเมืองแคนาดานั้นกำลังค้างอยู่เนื่องจากคำตัดสินเกี่ยวกับคดีของนายเฉินเอง
ในข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับคดีการขอเข้าเมืองระบุว่านางฮานหยิง เฉินนั้นได้รับถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศแคนาดาเนื่องมาจากการอุปการะของผู้เป็นพ่อ ที่เข้ามาในประเทศแคนาดาตามโครงการการลงทุนของผู้อพยพในปี 2549 ซึ่ง ณ เวลานั้นเธอประกาศว่ามีทรัพย์สินในครอบครองอยู่แค่ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (170,400 บาท) ต่อมาในปี 2558 ได้มีการระบุว่าเธอได้รับการสนับสนุนจากผู้เป็นญาติ ซึ่งเกษียณไปแล้วแต่ว่ามีเงินเก็บจากการทำข้อตกลงอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน
นายวอลด์แมนซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายให้กับลูกสาวของนายเฉินด้วยนั้นก็ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีการขอเข้าเมืองดังกล่าวนี้
โดยแม้ว่าในปัจจุบัน นายเฉินและครอบครัวจะยังคงใช้ชีวิตอย่างหรูหรา แต่ก็มีความเสี่ยงที่ว่าคดีที่กำลังดำเนินไปในชั้นศาลนั้นจะส่งผลทำให้เกิดการส่งตัวกลับไปยังประเทศจีน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าระบบกฎหมายที่ประเทศจีนนั้นพบว่ามักจะอาศัยการทรมานเพื่อให้ได้หลักฐานที่ต้องการมา นี่ทำให้รัฐบาลแคนาดาอยู่ในจุดที่ค่อนข้างลำบาก ซึ่งทางด้านของนางอีวา พิลส์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน และยังเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนกล่าวว่าตัวเธอค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าหากระบบยุติธรรมที่ประเทศจีนนั้นเป็นที่น่าเชื่อถือกว่านี้ ก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าแคนาดาน่าจะส่งตัวนายเฉินกลับไปรับการดำเนินคดีในประเทศจีน
“มันไม่สำคัญว่าใครจะทำอาชญากรรมไว้เลวร้ายแค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังคงมีสิทธิที่จะไม่ต้องรับการทรมาน” นางพิลส์กล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.occrp.org/en/investigations/following-a-trail-of-tainted-money-from-china-into-vancouver-real-estate
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงข้อพิรุธธุรกรรม เชื่อมโยงทอง 3 ตันประเทศกินี ส่อถูกฟอกในอังกฤษ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ย้อมแมวจรวด,โดรน-กินส่วนต่างวิทยุ 3 พันล. ต้นเหตุรัสเซียติดหล่มในยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดข้อพิรุธเอกชนไร้ประสบการณ์ ชนะสัญญาชุด PPE รบ.ออสเตรเลีย หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ย้อนรอยสินบนเรือดำน้ำมาเลเซีย พัน ล.! ฝรั่งเศสสั่งสอบ บ.ต่อเรือรบ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'รมต.สเปน'โดนสอบ ใช้ช่องพิเศษอนุมัติสัญญาโควิดเอื้อ บ.พวกพ้อง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปมคอรัปชั่นในกองทัพรัสเซีย-งบปี 65 รวม 2 ล้าน ล.ไม่รู้ไปไหนบ้าง
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่ายขโมยเงินสนับสนุนอาหารอียู 694 ล. นำไปซื้อแฟลต-กระเป๋าหรู
- ส่องคดีทุจริตโลก:'ไมโครซอฟท์'ถูกอดีตลูกจ้างแฉ-พนง.รวมหัว บ.คู่ค้า,จนท.รัฐ ทุจริตหลาย ปท.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เผยเครือข่าย บ.เปลือกนอกหนุนเผด็จการซีเรีย-หลบมาตรการคว่ำบาตรตะวันตก
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.กฎหมายยักษ์ใหญ่ รับงานช่วยโอลิการ์ชรัสเซียรอดมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง 'ดูไบ' แหล่งกบดานเศรษฐีหนีคดี หลังโลกตามอายัดเงินจากรัสเซีย
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อีริคสัน' ส่อเอี่ยวจ่ายเงินให้กลุ่ม ISIS แลกทำธุรกิจใน 'โมซุล'
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดเครือข่ายธนาคารดันสเก เอสโตเนีย ไฉนเป็นเส้นทางฟอกเงิน 5.1 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64