ผู้สืบสวนของประเทศเอสโตเนียได้กล่าวว่าตัวตนของนายแม็กซิมดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้วคือนาย Jevgeni Agnevštšikov และเขาก็เป็น 1 ใน 19 คนที่อยู่ในทีมงานด้านต่างประเทศของธนาคารธนาคารดันสเกสาขาประเทศเอสโตเนีย ซึ่งทีมดังกล่าวนี้มีส่วนในการฟอกผิดเงินผิดกฎหมายกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (51,910,400,000 บาท) ให้กับลูกค้าของพวกเขา
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ ขอนำเสนอประเด็นความไม่โปร่งใสอันเกี่ยวข้องกับระบบธนาคารของประเทศเอสโตเนีย เมื่อมีรายงานว่าระบบธนาคารของประเทศนี้นั้นอาจจะมีส่วนเป็นเครื่องมือในกระบวนการฟอกเงิน
โดยสำนักข่าว องค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่อต้านคอร์รัปชันหรือ The Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ได้รายงานข่าวว่า ผู้ใช้บัญชีสไกป์รายหนึ่งที่ชื่อว่านายแมกซิม แคนนิ่ง นั้นถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ดำเนินการด้านการฟอกเงินที่ผิดกฎหมายแบบครบวงจร ซึ่งเมื่อจ่ายค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งให้กับนายแท็กซิมแล้ว เขาก็สามารถขายบริษัทนอกอาณาเขตของผู้ว่าจ้าง รวมไปถึงช่วยปกปิดตัวตนของผู้ว่าจ้างได้ ถ้าหากว่ามีการต้องทำธุรกรรมกับเงินที่มีที่มาอันน่าสงสัย
มีรายงานต่อไปด้วยว่านายแมกซิมนั้นได้มีการทำบัญชีติดต่อปลอมไว้เป็นจำนวนมากเพื่อทำให้มีลักษณะว่าการติดต่อนั้นมีความถูกต้องตามกฎหมายและยังเป็นการสร้างช่องทางอันรวดเร็วในการโอนเงินไปยังหลายสิบบัญชีในต่างประเทศ
“นายแมกซิมคนนี้ สามารถที่จะหาผู้อำนวยการบริษัทปลอมๆ มาใส่ในเอกสารประกอบการธุรกิจของบริษัทได้ด้วยซ้ำ ถ้าหากมีเงินจ่ายให้เขา” รายงานระบุ
รายงานข่าวความไม่โปร่งใสของธนาคารดันสเก เอสโตเนีย (อ้างอิงรูปวิดีโอจาก Financial Times)
ขณะที่ผู้สืบสวนของประเทศเอสโตเนียได้กล่าวว่าตัวตนของนายแม็กซิมดังกล่าวนั้นแท้จริงแล้วคือนาย Jevgeni Agnevštšikov และเขาก็เป็น 1 ใน 19 คนที่อยู่ในทีมงานด้านต่างประเทศของธนาคารธนาคารดันสเกสาขาประเทศเอสโตเนีย ซึ่งทีมดังกล่าวนี้มีส่วนในการฟอกผิดเงินผิดกฎหมายกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (51,910,400,000 บาท) ให้กับลูกค้าของพวกเขา
โดยต้นกำเนิดของเงินจำนวนดังกล่าวนั้นมาจากทั้งประเทศรัสเซีย,อาเซอร์ไบจาน, สหรัฐอเมริกา, อิหร่าน, สวิสเซอร์แลนด์, และจอร์เจีย รวมไปถึงเงินที่มาจากการโกงบนเพจเฟซบุ๊กคิดเป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,244,400,000 บาท) ซึ่งเงินเหล่านี้ก็ได้ผ่านไปยังบัญชีธนาคารดันสเกเอสโตเนีย ระหว่างปี 2550-2558 ในช่วงเวลาที่ธนาคารแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางของเรื่องอื้อฉาวด้านการฟอกเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป
มีรายงานว่าในช่วงปลายปี 2564 ผู้สืบสวนได้นำเสอข้อมูลรายงานจำนวนกว่า 160 หน้าที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับนายธนาคารจำนวน 19 คน พร้อมทั้งระบุถึงข้อกล่าวหาต่อนายธนาคารเหล่านี้ ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลที่ทางสื่อของเอสโตเนียชื่อว่า Eesti Ekspress ได้ส่งต่อให้กับ OCCRP และส่งให้กับสื่อของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ชื่อว่าเบอร์ลินเกสเก โดยคาดว่าในไม่กี่เดือนข้างหน้านั้นคาดว่าทางอัยการได้นำเอาข้อกล่าวหาไปส่งฟ้องในชั้นศาลต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าน่าจะมีนายธนาคารแค่ 15 คนเท่านั้นที่จะต้องเผชิญกับข้อกล่าวหานี้ เพราะนายธนาคาร 2 คนไม่พบว่ามีส่ วนเกี่ยวข้อง และอีก 2 คนเป็นผู้ที่ได้มอบหลักฐานในเรื่องนี้
ผู้สืบสวนยังได้กล่าวโทษเจ้านายของนาย Agnevštšikov อีก 2 คนได้แก่นายจูรี คิดจาเยฟ และนายอีริค ลิดเมตส์ ซึ่งทั้ง 2 คนนั้นได้ดำเนินการให้บริการด้านบัญชีนับตั้งแต่ปี 2548 ในช่วงเวลาที่พวกเขายังทำงานกับธนาคารซัมโปสาขาประเทศเอสโตเนีย และพวกเขาก็ยังเปิดให้บริการด้านบัญชีต่อไปหลังจากที่ธนาคารดันสเกได้เข้าซื้อกิจการธนาคารซัมโปในช่วงปี 2550 โดยทั้ง 2 คนนี้นั้นได้ดำเนินการว่าจ้างนายธนาคารคนอื่น ให้เข้าร่วมทีมด้วย
ต่อมาในปี 2558 เมื่อธนาคารดันสเกสาขาประเทศเอสโตเนียได้ปิดตัวลง พบว่ามีนายธนาคารหลายคนในทีมนี้นั้นได้แยกย้ายกันไปทำงานให้กับผู้ปล่อยกู้เงินรายอื่นๆในประเทศเอสโตเนีย ขณะที่ผู้สืบสวนก็ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีบางคนได้ดำเนินกิจกรรมการฟอกเงินหลังากนั้นเป็นระยะเวลานานถึง 4 ปี
จากกรณีดังกล่าวนั้นทางด้านของนายลิดเมตส์ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหานี้ ส่วนนายคิดจาเยฟ ผู้สื่อข่าวยังไม่สามารถจะติดต่อได้ ณ เวลานี้ ส่วนนายอันเดรส ซิมสัน ทนายความของนาย Agnevštšikov และนายธนาคารคนอื่นที่ถูกกล่าวหานั้นก็ได้ปฏิเสธจะให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีเช่นกัน โดยเขากล่าวแค่ว่ายืนยันว่าลูกความของเขาปฏิเสธความผิดใดๆที่ถูกกล่าวหามา
ทางด้านของนายฟิลิปป์ โวลลอต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของะนาคารดันสเกได้กล่าวว่าธนาคารนั้นพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางการในการดำเนินการสอบสวน เนื่องจากการต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงินและการฟอกเงินนั้นเป็นหัวใจสำคัญของธนาคารดันสเกอยู่แล้ว
ส่วนนางมาเนีย เอนท์ซิก อัยการของเอสโตเนียก็ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆเกี่ยวกับายงานนี้ โดยเธอกล่าวว่าไม่ควรเปิดเผยรายละเอียดใดๆก่อนการไต่วนเริ่มขึ้น ซึ่งอีกไม่นานก็คาดว่าทางตำรวจจะได้ส่งสำนวนคดีฉบับเต็มมาให้กับอัยการ เพื่อที่พวกเขาจะได้ตัดสินใจต่อไปว่าจะเดินหน้าดีหรือไม่
“จนถึงปัจจุบันมีการยึดเงินไปแล้วกว่า 10 ล้านยูโร ทั้งจากผู้ต้องสงสัยและจากบุคคลที่ 3 ซึ่งการยึดเงินจำนวนดังกล่าวนั้นก็เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยจากอาชญากรรมและเป็นไปตามข้อกำหนดเรื่องการยึดทรัพย์ของรัฐ” นางเอนท์ซิกกล่าว
@โฟโต้ชอปจงเจริญ
ในรายงานเอกสารการสืบสวนยังพบรายละเอียดการสนทนาที่แสดงให้เห็นว่านายธนาคารนั้นมีส่วนช่วยให้ลูกค้าของพวกเขาสามารถจะหลีกเลี่ยงจากมาตรการการควบคุมด้านการฟอกเงินของธนาคารดันสเกอย่างไรบ้าง
อาทิ ในการสนทนาบนโปรเกรมสไกป์ครั้งหนึ่งพบว่า นายธนาคารชื่อว่ามิคาอิล เมอร์นิคอฟ ได้แนะนำผู้ใช้งานที่ชื่อว่า thunderball1111 ถึงวิธีการว่าจะกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการมอบฉันทะอย่างไรดี เพื่อที่จะให้มั่นใจได้ว่าธนาคารในสาขากรุงมอสโกจะรับรองเอกสารนี้ ซึ่งวิธีการที่ว่านั้นก็รวมไปถึงการปลอมตราประทับและลายเซ็น
“โฟโต้ชอปจงเจริญ” นายเมอร์นิคอฟกล่าวติดตลก
ขณะที่ในการสนทนาอีกรายการหนึ่งในช่วงประมาณเดือน ก.ย. 2557 พบข้อมูลว่านายเมอร์นิคอฟได้ไปติดต่อกับใครบางคนที่ใช้ชื่อสไกป์ว่า Richard-zorge77 ซึ่งในการสนทนา นายเมอร์นิคอฟได้อธิบายว่านี่คือ “ข้อเสนอขนาดใหญ่มาก”
“ถ้าหากกการทำเอกสารสัญญาต่างๆนั้นยากไปสำหรับคุณ และไม่เป็นที่ราบรื่นนัก เราก็มีบริการอื่นๆ เรามีการทำสัญญาด้วยแสตมป์และลายเซ็นสำหรับทั้งจากธนาคารของเขาและธนาคารอื่นๆทุกธนาคาร และถ้าสำหรับเอกสารอื่นๆนอกเหนือากนี้ เราก็มีบริการให้เช่นกัน ด้วยสนนราคาต่อบริษัทที่บริษัทละ 1,500 ยูโร (54,856 บาท)” นายเมอร์นิคอฟระบุในการสนทนา
โดย ณ เวลานี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้ใช้งานชื่อว่า Richard-zorge77 ได้รับข้อเสนอขนาดใหญ่ของนายเมอร์นิคอฟนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณเดือน เม.ย. 2558 นายเมอร์นิคอฟก็ได้ทักข้อความไปอีก
ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2558 เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าจับกุมนายเมอร์นิคอฟเนื่องจากพบว่าเขาเคยหารือเกี่ยวกับการสร้างผู้รับผลประโยชน์ลวงสำหรับบริษัทหลายแห่งร่วมกับนายธนาคารคนอื่นๆ ได้แก่ นางเจคาเทรีนา ปันคราโตวา ผู้ต้องสงสัยคดีฟอกเงินในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ตัวอย่างการแชทสนทนาของมิคาอิล เมอร์นิคอฟทั้งกับผู้ใช้งานที่ชื่อว่า Richard-zorge77 และนางเจคาเทรีนา ปันคราโตวา
แต่ทว่านายเมอร์นิคอฟก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงประเด็นเหล่านี้ เมื่อถูกติดต่อสอบถามจากทางผู้สื่อข่าว และที่นางปันคราโตวา ก็ไม่สามารถจะติดต่อได้เช่นกัน
อนึ่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ของนายลิดเมตส์ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนได้รับทราบว่ากลุ่มนายธนาคารที่ว่ามานั้นมีส่วนช่วยจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขตกว่า 1,122 แห่งในระหว่างปี 2549-2553 และสามารถทำเงินได้นับล้านยูโรทั้งจากค่าธรรมเนียมและค่าคอมมิสชันต่างๆ
ในข้อมูลเอกสารที่ถูกยึดมาได้ยังแสดงให้เห็นว่ามีการแบ่งเงินไปด้วยกันมากกว่าสิบวิธี รวมไปถึงการนำเงินไปยังบริษัทที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยนายธนาคารเหล่านี้เพื่อจะเป็นฉากหน้าของพวกเขา ซึ่งนี่ทำให้นายคิดจาเยฟและนายลิดเมตส์จะต้องถูกปรับเงินกว่า 50-150 ยูโร (1,828 บาท- 5,485 บาท) ต่อบริการหนึ่งครั้งที่พวกเขาได้กระทำ ส่วนเงินค่าปรับที่เหลือก็จะไปยังนายธนาคารคนอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทำข้อตกลงในแต่ละรายการ
รายงานระบุต่อไปด้วยว่าในบางกรณีนั้นนายธนาคารได้มีคิดค่าบริการเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินทุนที่พวกเขาะอนุมัติเพื่อให้เงินนั้นผ่านไปยังช่องทางบัญชีของธนาคารดันสเก และในบางครั้งนายธนาคารก็จะมีการเสนอลูกค้าให้รับ “บริการขนส่งเงิน” ทำให้ลูกค้าเหล่านี้สามารถโยกย้ายเงินจากบัญชีหนึ่งที่อยู่ในบัญชีของบริษัทนอกอาณาเขตไปยังบัญชีของนายธนาคารที่เขามีส่วนควบคุมอย่างลับๆได้
โดยเจ้าหน้าที่สืบสวนกล่าวว่าระบบเหล่านี้มีประสิทธิภาพมาก ทำให้นายธนาคารหลายคนยังคงใช้ระบบนี้ต่อไปแม้ว่าธนาคารดันสเกที่ประเทศเอสโตเนียจะปิดแผนกให้บริการในต่างประเทศไปแล้วก็ตาม โดยมีรายงานว่านายธนาคารเหล่านี้ยังได้เป็นผู้ที่พาลูกค้าของพวกเขาไปยังธนาคารอื่นๆในประเทศเอสโตเนีย หรือไม่ก็เปลี่ยนไปยังธนาคารที่ประเทศลัตเวีย และบางรายถึงขั้นยอมรับกับผู้สืบสวนในช่วงปี 2561 ว่าพวกเขานั้นมีส่วนในการฟอกเงินด้วย
@ตัวอย่างการปลอม การฉ้อโกง
ทั้งนี้นายธนาคารนั้นดูเหมือนว่าจะไม่สนใจเลยว่าเงินจะมีที่มาจากแหล่งใดก็ตาม แต่ทางผู้สืบสวนได้ตวจสอบพบว่ามีมีเงินที่มาจากคดีอาชญากรรมอย่างน้อย 8 รายการนั้นถูกส่งมาให้ฟอกเงิน
โดยกรณีแรกพบว่ามีเงินจำนวนเกือบ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4,866,600,000 บาท) คาดว่าน่าจะถูกฟอกจากที่มาซึ่งมาจากการฉ่อโกงภาษีครั้งใหญ่ในประเทศรัสเซีย ที่เรียกกันว่าคดีแมกนิตสกี ซึ่งชื่อของคดีนั้นก็มาจากชื่อของนายเซอร์เกย์ แมกนิตสกี ทนายความที่พบการฉ้อโกงนี้ โดยเขาทำงานให้กับผู้จัดการทรัพย์สินชาวสหรัฐฯ ซึ่งผู้จัดการคนนี้ถูกใช้โดยไม่รู้ตัวในการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฉ้อโกง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายแมกนิสสกีได้รายงานเรื่องนี้ต่อทางการรัสเซีย เขาก็ถูกจับขังคุก และในเวลาต่อมาก็เสียชีวิตจากการถูกทารุณกรรม
และก็มีการรายงานเกี่ยวกับกรณีการฟอกเงินออกจากประเทศอาเซอร์ไบจาน ในช่วงระหว่างปี 2555-2557 ประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (95,624,600,000 บาท) ซึ่งทางผู้สืบสวนได้รายงานว่าน่าจะมีเงินจำนวนอย่างน้อย 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (45,421,600,000 บาท) ถูกนำไปฟอกผ่านบัญชีธนาคารจำนวน 56 แห่งของธนาคารดันสเกที่เอสโตเนียนี้เช่นกัน
ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ก็มีกรณีที่หนึ่งในกลุ่มนายธนาคารเหล่านี้นั้นก็ได้ถูกกล่าวหาว่าไปมีส่วนในการปกปิดที่มาของการจ่ายเงินที่ผิดกฎหมาย ซึ่งดำเนินการโดยนายปาสคาล คอลาร์ด โดยนายคอลาร์ดนั้นเป็นอดีตลูกจ้างบริษัทน้ำมันกันวอร์ที่ถูกกล่าวหาว่าให้สินบนกับผู้นำรัฐบาลประเทศคองโกและประเทศโกตดิวัวร์ เพื่อแลกกับสัญญามูลค่ามหาศาล ในปี 2561
โดยผู้สืบสวนได้รายงานถึงกรณีนี้ว่าพบว่ามีการจ่ายเงินกว่า 180,000 ยูโร (6,582,757) ไปให้กับพลเมืองสัญชาติสวิสรายหนึ่งที่มีบัญชีหลายบัญชีในธนาคารดันสเก เอสโตเนีย โดยเมื่อเจ้าหน้าที่กำกับดูแลได้ถามถึงเหตุผลในการทำธุรกรรม พวกเขาก็แจ้งว่าเป็นเงินสำหรับซื้อรถเบนท์ลีย์
ต่อมาในปี 2562 อัยการสวิสก็ได้สั่งให้บริษัทกันวอร์จ่ายเงินกว่า 95 ล้านดอลารร์สหรัฐฯ (3,082,180,000 บาท) ในข้อหาว่าไม่สามารถป้องกันให้เกิดกรณีสินบนนี้ขึ้นมา
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อังกฤษ' ยกเลิกวีซ่านักลงทุน หวั่นเปิดช่องฟอกเงิน โต้ 'วิกฤติยูเครน'
- ส่องคดีทุจริตโลก: อายุน้อยร้อย ล.-เมื่อเด็กเป็นเจ้าของ บ.ในลักเซมเบิร์กเกือบ 300 แห่ง
- ส่องคดีทุจริตโลก:'อังกฤษ'ยึดทรัพย์ทุจริต'อาเซอร์ไบจาน' แสน ล.โยงฟอกเงินผ่าน'เอสโตเนีย'
- ส่องคดีทุจริตโลก:'คูเวต'เร่งสอบ ปมจัดซื้อเครื่องบินไต้ฝุ่น 2.9 แสน ล.แพง
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อัยการเบอร์ลิน'สอบผู้บริหารพรรคกรีนส์-รมต.อนุมัติโบนัสโควิดไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.อิสราเอล จ่อตั้ง กก.สอบปมสินบนเรือดำน้ำเยอรมนี หลังเรื่องแดงปี 59
- ส่องคดีทุจริตโลก:'เพนตากอน'ถลุงงบหลายแสน ล.ไร้ประสิทธิภาพ-เอื้อปย.เอกชนช่วงสงครามอัฟกาฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก: 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ปธน.เบลารุส บุคคลคอร์รัปชันแห่งปี 64