โครงการใช้จ่ายเงินเพื่อฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานคิดเป็นงบประมาณมูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(262,158,000,000 บาท) เพื่อสร้างถนนสายใหม่ โรงพยาบาล สะพานและโรงงานต่างๆในประเทศอัฟกานิสถาน กลับปรากฏว่ามีการใช้จ่ายที่ตรงตามวัตถุประสงค์แค่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (40,332,000,000 บาท) หรือคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณเท่านั้น
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอประเด็นเรื่องการใช้จ่ายเงินของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาหรือเพนตากอน ที่ลงไปกับโครงการพัฒนาประเทศอัฟกานิสถาน
โดยสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นัลของสหรัฐฯได้รายงานว่านับตั้งแต่เหตุการณ์การก่อการร้าย 9-11 เมื่อปี 2544 จนถึงปัจจุบัน พบข้อมูลว่า กองทัพสหรัฐฯนั้นได้ใช้งบประมาณคิดเป็นจำนวนกว่า 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (470.82 ล้านล้านบาท) เพื่อว่าจ้างผู้รับงานเอกชนหรือว่าเอาท์ซอร์ส ซึ่งการใช้งบประมาณจำนวนดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นผลกำไรมูลค่ามหาศาสมากสำหรับบริษัทเอกชนที่ได้รับสัญญา ในช่วงเวลาที่สงครามทั้งในประเทศอัฟกานิสถานและประเทศอิรักได้ดำเนินไป
ทั้งนี้พบข้อมูลจากโครงการต้นทุนสงครามของมหาวิทยาลัยบราวน์ว่าจำนวนหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าสัญญารวมทั้งหมดนั้นจะไปตกอยู่กับบริษัทกลาโหมขนาดใหญ่จำนวน 5 รายด้วยกัน อันได้แก่ 1.บริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน 2.บริษัทโบอิ้ง 3.บริษัทเรย์ธีออน เทคโนโลยี 4.บริษัทเจนเนรัล ไดนามิค และ 5.บริษัทนอร์ทรอป กรัมแมน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (70.623 ล้านล้านบาท) ซึ่งสัญญากับบริษัทเหล่านี้นั้นจะเป็นในเรื่องของการจัดหาอาวุธ ยุทธภัณฑ์ และบริการอื่นๆ
ขณะที่ผู้ตรวจการพิเศษของสหรัฐฯ สำหรับโครงการบูรณะฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งทำหน้าที่จับตาการใช้จ่ายเงินคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5,044,500,000,000 บาท) ก็ได้ส่งรายงานเป็นจำนวนนับร้อยฉบับระบุว่ามีการใช้จ่ายเงินไปโดยสูญเปล่า การดำเนินโครงการไปโดยเสียเวลาเปล่า และพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
โดยรายงานจากการสำรวจข้อมูลที่ถูกเปิดโปงในช่วงต้นปี 2564 นั้นพบว่า โครงการใช้จ่ายเงินเพื่อฟื้นฟูประเทศอัฟกานิสถานคิดเป็นงบประมาณมูลค่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(262,158,000,000 บาท) เพื่อสร้างถนนสายใหม่ โรงพยาบาล สะพานและโรงงานต่างๆในประเทศอัฟกานิสถาน กลับปรากฏว่ามีการใช้จ่ายที่ตรงตามวัตถุประสงค์แค่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (40,332,000,000 บาท) หรือคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณเท่านั้น ขณะที่เงินอีกจำนวนกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (80,664,000,000 บาท) กลับถูกนำไปใช้กับเครื่องบินทางการทหาร,เจ้าหน้าที่ตำรวจ โครงการทำฟาร์ม และโครงการพัฒนาอื่นๆที่ถูกยกเลิกโครงการ,ทำลายโครงการ หรือเปลี่ยนแปลงโครงการไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
รายงานข่าวการถอนผู้รับเหมาเอกชนเมื่อเดือน พ.ค. 2564 (อ้างอิงวิดีโอจาก :Ariana News)
มีรายงานด้วยว่าเพนตากอนนั้นได้ใช้จ่ายเงินไปจำนวนกว่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (201,660,000 บาท) สำหรับโครงการเพื่อจะนำเข้าแพะจากอิตาลีจำนวน 9 ตัวเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมตลาดแคชเมียร์ของประเทศอัฟกานิสถาน และโครงการดังกล่าวนั้นก็ไม่เคยที่จะขยายขนาดไปจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้แต่อย่างใด ขณะที่องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯก็เคยมอบเงินเป็นจำนวนกว่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,074,700,000 บาท) เพื่อให้สร้างถนนกรวดกว่า 1,200 ไมล์ แต่ท้ายที่สุด องค์กรฯก็ได้รายงานว่าโครงการนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนถนนซึ่งใช้เวลาสร้าง 3 ปี และมีผู้เสียชีวิตจากกการถูกกลุ่มกบฎลอบโจมตี ก็สร้างเสร็จไปได้แค่เพียง 100 ไมล์เท่านั้น
รายงานข่าวเพนตากอนใช้เงินกว่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนำเข้าแพะหายาก 9 ตัวจากอิตาลีเมื่อปี 2559
ทั้งนี้ทางด้านของนายจอห์น ซอปโก้ ผู้ตรวจการฯที่ทำหน้าที่นับตั้งแต่ปี 2555 และยังเป็นผู้ที่ทำบันทึกเอกสารความล้มเหลวในผลการดำเนินงานของผู้รับเหมาเอกชนเป็นระยะเวลานานหลายปีก็ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเช่นกันว่าที่ผ่านมานั้นพบว่ามีผู้รับเหมาหลายรายพยายามที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อทำตามเงื่อนไขในสัญญา แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหานั้นมาจากทางด้านของฝ่ายนโยบายที่ดำเนินการตัดสินใจได้แย่มาก
“มันเป็นการง่ายมากที่จะไปเหมารวมผู้รับเหมาเอกชนทั้งหมดว่าเป็นโจรหรือค้ากำไรกับสงคราม ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงแล้วมีแค่บางรายเท่านั้นที่ทำเงินได้เยอะมาก ซึ่งนี่คือระบบทุนนิยม” นายซอปโก้กล่าว
ทั้งนี้หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้เข้าไปแสวงหาผลกำไรเป็นมูลค่ามหาศาลก็คือนายดั๊ก เอเดลแมน จากเมืองสต็อกตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งในช่วงปี 2541 เขาได้เปิดกิจการบาร์ควบคู่ไปกับธุรกิจค้าน้ำมันในกรุงบิชเคก เมืองหลวงของประเทศคีร์กีซสถาน 3 ปีหลังจากนั้น เมื่อสงครามเกิดขึ้นในประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อนบ้านของประเทศคีร์กีซสถาน กรุงบิชเคกก็กลายเป็นศูนย์กลางของกองกำลังสหรัฐฯ และทรัพยากรที่จำเป็นต่างๆ ซึ่งทางด้านของอดีตผู้ช่วยรายหนึ่งของนายเอเดลแมน ก็ได้กล่าวว่าตัวนายเอเดลแมนเองก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับบริษัทสัญชาติคีร์กิซอีกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่บริษัทเรดสตาร์ และบริษัท ไมน่า คอร์ป และทั้ง 2 บริษัทนั้นก็ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญเกี่ยวกับสงครามนี้
อดีตผู้ช่วยของนายเอเดลแมนกล่าวต่อไปว่า หลังจากที่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับนายเอเดลแมนได้ชนะสัญญาของเพนตากอน เนื่องจากว่าเพนตากอนได้ใช้วิธีการประกวดราคาแบบพิเศษในช่วงสงคราม บริษัทดังกล่าวก็ได้ตกลงที่จะสร้างฐานส่งน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน ที่ฐานทัพอกาศบาแกรม ในอัฟกานิสถาน เพื่อจะเติมน้ำมันให้กับเครื่องบินเติมน้ำมัน C-135 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ
ต่อมาเมื่อปี 2563 ก็ปรากฏกรณีการฟ้องร้องในชั้นศาลขึ้น โดยอดีตหุ้นส่วนของนายเอเดลแมนที่ฟ้องร้องว่านายเอเดลแมนนั้นพยายามที่จะตัดเขาออกจากสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัท ซึ่งจากข้อมูลสำนวนการฟ้องและจากการให้ปากคำของหุ้นส่วนของนายเอเดลแมนก็พบว่าบริษัทของนายเอเดลแมนสามารถชนะสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะตัวของนายเอเดลแมนก็ได้รับเงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเขาก็ยังเคยพำนักอาศัยอยู่ในแมนชั่นหรูกลางกรุงลอนดอน ซึ่งแมนชั่นที่ว่านี้ก็เคยเป็นของนายคอนราด แบล็ก นักธุรกิจสื่อชื่อดัง
อย่างไรก็ตามนายเอเดลแมนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดในชั้นศาลและปฏิเสธที่จะพูดถึงในกรณีดังกล่าวนี้
ส่วนอีกบริษัทที่พบว่าสามารถแสวงหาความร่ำรวยได้จากสัญญาในประเทศอัฟกานิสถานก็คือบริษัท Mission Essentials Group ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในรัฐโอไฮโอ และบริษัทนี้ก็ได้กลายมาเป็นบริษัทชั้นนำในเรื่องของการจัดหาล่ามในสนามรบในประเทศอัฟกานิสถาน
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท Mission Essentials Group นั้นถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงปี 2546 หลังจากที่นายแชด โมนิน และนายเกร็ก มิลเลอร์ เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังพิทักษ์ชาติหรือว่า National Guard เล็งเห็นแล้วว่ากองทัพนั้นใช้ล่ามที่มีคุณภาพต่ำและพวกเขาต้องการที่จะทำให้ได้ดีกว่า จึงได้ก่อตั้งบริษัทดังกล่าวขึ้นมา
ต่อมาในปี 2550 บริษัทนี้ก็สามารถชนะสัญญา 5 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (10,083,000,000 บาท) ในการดำเนินการจัดหาล่ามและที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมในประเทศอัฟกานิสถาน
โดยหลังจากที่บริษัทชนะสัญญาดังกล่าว บริษัทก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่ง นายโมนินสามารถเป็นเจ้าของรถเฟอร์รารี่รุ่นปี 1970 และสามารถซื้อบ้านหลังใหม่ใกล้กับสนามกอล์ฟคิดเป็นมูลค่าบ้านกว่า 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (43,693,000 บาท)ได้
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าค่าจ้างของล่ามชาวอัฟกันนั้นกลับลดลงเมื่อเสร็จสิ้นในสัญญาทางธุรกิจในแต่ละครั้ง และยิ่งไปกว่านั้นในช่วงปี 2555 บริษัท Mission Essentials Group ก็ถูกกดดันให้ต้องลดค่าใช้จ่ายลง บริษัทแห่งนี้ก็ต้องไปเจรจากับนักภาษาศาสตร์ชาวอัฟกันใหม่ เพื่อลดค่าจ้างรายเดือนลงในอัตรา 20-25 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของนักภาษาศาสตร์ชาวอัฟกันนั้นลดลงจาก 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ (25,207 บาท) ในช่วงปี 2555 มาอยู่ที่ประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,805 บาท) ในช่วงปี 2564
“พวกเขารับเงินเป็นพันล้านจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่กลับปฏิบัติกับนักภาษาศาสตร์ได้แย่และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง” นายอาณีส คาลิล นักภาษาศาสตร์ชาวอัฟกัน-อเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานตามสัญญารับช่วงต่อจากบริษัท Mission Essentials subcontractor เป็นระยะเวลาหลายเดือนกล่าว
บทสัมภาษณ์ล่ามชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับบริษัท Mission Essentials Group ในช่วงปี 2552 โดยล่ามชาวอัฟกันได้เรียกร้องไปยังบริษัทดูแลพวกเขาให้ดีกว่านี้ (อ้างอิงวิดีโอจาก CorpWatch)
นายอาณีสและอดีตลูกจ้างรายอื่นๆกล่าวว่านักภาษาศาสตร์ชาวอัฟกันหลายคนที่ทำงานร่วมกันทหารสหรัฐฯในพื้นที่ซึ่งมีสถานการณ์รุนแรงที่สุดในประเทศนั้นกลับได้รับเงินค่าจ้างจริงๆอยู่ที่ประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ (10,083 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น
แต่ทว่าบริษัท Mission Essentials ก็ได้ปฏิเสธเรื่องนี้ และยืนยันว่าไม่มีบันทึกแสดงให้เห็นว่ามีการจ่ายเงินค่าจ้างต่อเดือนแค่ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน ให้กับผู้ที่ทำงานเต็มเวลาแต่อย่างใด
บริษัท Mission Essentials ยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่า บริษัทนั้นจ่ายเงินเดือนในอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับอัตราเงินเดือนเฉลี่ยในท้องตลาด,บริษัทยังได้ให้ความสำคัญว่าลูกจ้างของบริษัทนั้นจะได้รับการดูแลอย่างดี และบริษัทยังได้ทำหน้าที่จนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของภารกิจในการช่วยเหลือลูกจ้างให้พ้นจากเงื้อมมือของกลุ่มตาลีบันไปได้อย่างปลอดภัย
เรียบเรียงจาก:https://www.wsj.com/articles/who-won-in-afghanistan-private-contractors-troops-withdrawal-war-pentagon-11640988154
อ่านประกอบ: