“...นอกจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่แล้ว แหล่งข่าวจาก สกพอ.ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ยังมีกรณีที่กลุ่มซี.พี.ทำหนังสือถึง รฟท. เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 เพื่อขอเจรจาข้อเสนอใหม่ด้วย โดยทาง ซี.พี. อ้างว่า เนื่องจากประสบปัญหาการระดมทุนจากสถาบันการเงินของโครงการ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ...”
เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุนรวม 271,823 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ที่ลงนามในสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งในการก่อสร้าง
โครงการนี้มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้ร่มธงของสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรืออีอีซี) ตามนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก และมี บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เป็นผู้รับสัมปทานในฐานะที่เสนอราคาให้รัฐอุดหนุนต่ำที่สุด
ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการอยู่ที่การลุ้นส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to proceed: NTP) ที่เลื่อนกำหนดส่งมอบกันมาเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการรอฝ่ายเอกชนได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งมอบ NTP ซึ่งมีเส้นตายกำหนดถึงวันที่ 22 พ.ค. 2567 นี้
จากความล่าช้านี้ ทำให้มีกระแสสังคมจับตามองโครงการนี้อย่างชนิดไม่กะพริบ กระแสเสียงมีทั้งให้เดินหน้าต่อ ยกเลิกโครงการ และการเรียกผู้ชนะอันดับที่ 2 คือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) , บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) , บมจ.ราชกรุ๊ป ผู้เสนอราคารองลงมาที่ 169,934 ล้านบาทมารับงานแทน
ในโอกาสที่ล่วงเข้าสู่เดือน พ.ค. 2567 อันเป็นเดือนสุดท้ายที่จะรู้ดำรู้แดงในการดำเนินโครงการต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอย้อนสรุปข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้และพาไปพูดคุยกับนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซีกัน
พื้นที่เชื่อมต่อโครงการสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงสถานีอู่ตะเภา
@ผ่า 2 ประเด็น ไฮสปีดติดหล่ม
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีปัญหาและอุปสรรคของโครงการไว้ 2 ประการ ได้แก่
1.การส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา มีการเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางเข้าสนามบินอู่ตะเภา และตำแหน่งของสถานีรถไฟความเร็วสูง ที่เกิดจากการปรับ Master Plan การพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ทำให้ต้องมีการลงพื้นที่ปักหลักเขตทางใหม่ และนัดตรวจร่วมกับเอกชนคู่สัญญา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารเพื่อส่งมอบภายใน
2.การดำเนินการตามเงื่อนไขการออก NTP โดยตามสัญญามี 3 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่
2.1 รฟท.ส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. ซึ่งได้ส่งมอบไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย. 2565 ทั้งนี้ ในการส่งมอบพื้นที่ของโครงการแบ่งเป็น 3 ส่วน นอกจากช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภาแล้ว ยังมีอีก 2 ช่วงสำคัญ (ดูภาพประกอบด้านล่าง) ประกอบด้วย
ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 13 กม. รฟท.ส่งมอบแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 2565
ช่วงพญาไท - บางซื่อ อยู่ระหว่างรื้อย้ายท่อส่งน้ำมันของ บจ.บาฟส์ขนส่งทางท่อ (FPT) และท่อรวบรวมน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2567 นี้
2.2 การส่งมอบพื้นที่สนับสนุนโครงการบริเวณมักกะสัน 140 ไร่ และบริเวณศรีราชา 25 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการที่เอกชนขอให้ถอนสภาพลำรางที่ไม่มีสภาพ โดยต้องรอให้สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) อนุมัติ
2.3 การได้บัตรส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สถานะปัจจุบันบอร์ด BOI อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 แต่อยู่ระหว่างรอ ซี.พี. ส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะมีกำหนดถึงวันที่ 22 พ.ค. 2567 นี้
@ปมใหม่ ซี.พี.ยื่นรัฐขอเพิ่ม 3 ข้อเสนอ
นอกจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่แล้ว แหล่งข่าวจาก สกพอ.ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ยังมีกรณีที่กลุ่มซี.พี.ทำหนังสือถึง รฟท. เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 เพื่อขอเจรจาข้อเสนอใหม่ด้วย โดยทาง ซี.พี. อ้างว่า เนื่องจากประสบปัญหาการระดมทุนจากสถาบันการเงินของโครงการ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.ขอให้รัฐชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนระหว่างการก่อสร้าง วงเงินประมาณ 109,843.91 ล้านบาท โดยขอให้ชำระตั้งแต่เดือนที่ 12 และชำระทุกเดือน จากเดิมที่จะต้องสร้างเสร็จก่อนจึงจะทยอยจ่าย 10 งวด 10 ปี
2.ขอเลื่อนการชำระค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ช่วงพญาไท - สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 10,671.09 ล้านบาท และค่าพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ (TOD) มักกะสันและศรีราชา วงเงิน 45,155.27 ล้านบาท ช่วง 20 ปีแรกออกไป โดยขอเริ่มจ่ายในปีที่ 21
และ 3.ขอเงินกู้สำรองฉุกเฉินสำหรับโครงการ (Contingency Credit Facility)
ปัจจุบันทั้ง 3 ข้อเสนอ อยู่ระหว่างการประชุมคณะทำงานเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งมีผู้แทนจาก รฟท. สกพอ. และเอกชนคู่สัญญา ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
@ส่งมอบ NTP เลื่อนไป มิ.ย. 67
สรุปว่า จากปัญหาและข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนที่เกิดขึ้น สกพอ.และรฟท.กำลังเจรจากับเอกชนคู่สัญญาต่อไป เพราะมีเรื่องแก้ไขสัญญาที่รออยู่อีก หลังที่ประชุมกพอ.เห็นชอบไปตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยคาดว่าจะออก NTP ภายในเดือนมิถุนายน 2567
หากกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถบรรลุผลการเจรจาได้ รฟท. และ สกพอ. จะร่วมกันปรับปรุงผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและดำเนินการตามกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการคัดเลือกแล้วเสร็จภายใน 3 ปี
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
@3 ฝ่ายเจรจาไปในแนวทางที่ดี / วืดสิทธิ์ BOI รอหลัง 22 พ.ค. จะชัด
ขณะที่นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี เปิดเผยว่า การเจรจา 3 ฝ่ายทั้ง อีอีซี รฟท.และซี.พี. มีทิศทางที่ดีและน่าจะมีทางออกที่ทำให้สามารถเดินหน้าโครงการได้ตามเป้าหมาย คาดว่าคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายจะเจรจาให้จบภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567
หากการเจรจาได้ข้อยุติ ตามขั้นตอนจะต้องเข้าสู่การแก้ไขสัญญาร่วมทุน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ.ร่วมทุน) พ.ศ. 2562 จากนั้น รฟท.จะต้องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เห็นชอบก่อน แล้วเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.หรือบอร์ดอีอีซี) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามขั้นตอน ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯแก้ไข จนสามารถลงนามแก้ไขสัญญาแล้ว รฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ได้
ส่วนเงื่อนไขการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เลขาธิการอีอีซีระบุว่า แนวทางของภาครัฐคือต้องหาทางให้โครงการเดินหน้าต่อไปตามเป้าหมาย ตอนนี้ยังออก NTP ให้เริ่มงานไม่ได้ เพราะเงื่อนไข NTP คือเอกชนต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ดังนั้นหลังวันที่ 22 พ.ค. 67 นี้ทั้งหมดจะชัดเจนแน่นอน เพราะเมื่อโครงการเดินหน้า เรื่องสิทธิประโยชน์การลงทุนเอกชนสามารถเจรจาได้ภายหลังได้ ตอนนี้ต้องมุ่งให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเกิดขึ้นให้ได้ก่อน เพราะโครงการจะส่งผลให้มีกิจกรรมอื่นๆ เกิดขึ้นตามไปอีกมากมาย และในมุมเอกชนผู้ลงทุน หากเร่งสร้างภายใน 4 ปีสามารถเปิดให้บริการได้เร็ว เอกชนก็จะมีรายได้เร็วตามไปด้วย
@ซี.พี.สร้างโครงสร้างร่วม บางซื่อ-ดอนเมือง
ส่วนประเด็นความคืบหน้าโครงสร้างร่วมระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 9,207 ล้านบาทนั้น แหล่งข่าวจากอีอีซีกล่าวว่า รฟท.น่าจะพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุด คือการให้ ซี.พี. เป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมดภายใต้มาตรฐานความเร็ว 160 กม./ชม.ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไขสัญญาใดๆ
ขณะที่เนื้องานที่จะต้องก่อสร้างให้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง นั้นถือเป็นงานในส่วนของการเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) ได้ ไม่ต้องแก้ไขสัญญาเช่นกัน โดย รฟท.ต้องพิจารณาว่า จะนำ VO นี้เป็นของโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน หรือจะเป็นงานของรถไฟไทย-จีน
ส่วนวงเงินค่าก่อสร้างที่ 9,207 ล้านบาท เบื้องต้นโครงการมีกรอบวงเงินแล้ว 4,000 ล้านบาท ต้องมีขั้นตอนในการขอเพิ่มกรอบวงเงินในสัญญาอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า กรณีที่มีข่าวว่าจะมีการนำค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ที่เอกชนต้องจ่ายตามเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนฯ ให้ รฟท.หักกับค่าก่อสร้างโครงสร้างร่วมสัญญา 4-1 ของรถไฟไทย-จีนนั้น เรื่องนี้ ครม.ได้เห็นชอบประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยรฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส ออกเป็น 7 งวดไปแล้วถือว่าผ่อนผันให้มากแล้ว รวมไปถึงการแก้ไขสัญญาร่วมทุนเงื่อนไข "เหตุสุดวิสัย" กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีสงคราม ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ
อย่างไรก็ตาม รฟท.เตรียมแผนการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ให้กับเอกชนตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยพื้นที่ส่วนแรกมีความพร้อม ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่วนช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ในช่วงรื้อย้ายท่อน้ำมัน ซึ่งคาดว่าพื้นที่โครงการฯ พร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. 2567
รูปแบบโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง
เหล่านี้ คือ ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ประชาชนรอคอย
จับตา 22 พ.ค. 2567 นี้ว่ากลุ่มซี.พี.จะได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หรือไม่?
เพราะประเด็นตรงจุดนี้ ถ้าเกิดอะไรขึ้นไม่ว่าหมู่หรือจ่า จะสามารถเป็นได้ทั้ง ‘จุดที่ได้ไปต่อ’ ‘จุดเปลี่ยน’ หรืออาจจะเป็น ‘จุดจบ’ ของโครงการก็เป็นได้
อ่านประกอบ
- ‘สุริยะ’ เผยเอง ‘ซี.พี.’ รับงานโครงสร้างร่วมไฮสปีด ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ แล้ว
- ‘อีอีซี’ศึกษาปั้น ‘TOD พัทยา-แปดริ้ว’ รับไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน
- ไฮสปีด 3 สนามบิน รอ 22 พ.ค. 67 'เลขาอีอีซี' มองพ้นเดตไลน์ รฟท.ส่งมอบ NTP ได้เลย
- ประธานอนุ กมธ.ฯอ้างไฮสปีด 3 สนามบิน ‘กลุ่ม ซี.พ.’ไม่ได้ BOI 22 พ.ค.ส่อเลิกสัญญา
- ซี.พี.ยื่นข้อเสนอไฮสปีด สร้างโครงสร้างร่วมแลกหักกลบ ’หนี้แอร์พอร์ตลิ้งค์’ หมื่นล้าน
- บอร์ดกำกับ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ นัดกลางเดือน ก.พ.นี้ หารือเงื่อนไขส่งมอบ NTP
- คงเงื่อนไขรอสิทธิ์ BOI ‘รถไฟ’ ยังไม่เคาะสร้าง ไฮสปีด 3 สนามบิน
- ‘รถไฟ’ รอ ‘อัยการฯ’ ตีความส่งเสริมลงทุน บีบ'ซี.พี.'รับ NTP สร้างไฮสปีด 3 สนามบิน
- ‘อีอีซี-คมนาคม-รฟท.’ สางเงื่อนไขไฮสปีด 3 สนามบิน บีบซี.พี.เริ่มสร้าง ม.ค. 67
- ‘รถไฟ’ วางเป้านับหนึ่งสร้างไฮสปีด 3 สนามบิน ไตรมาส 1 ปี 2567
- ซี.พี.ส่อไม่รับทำโครงสร้างร่วม ‘ไฮสปีดไทยจีน-3สนามบิน’ คาดงบบาน 2 หมื่นล้าน
- อีอีซีตั้งเป้า ม.ค. 67 เคลียร์แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน - ลุ้น NTP อู่ตะเภาสิ้นปี 66 นี้
- ‘รถไฟ’ขีดเส้นปี 66 ปัญหาไฮสปีด 3 สนามบินต้องจบ
- ส่องการบ้าน ‘คมนาคม’ เสิร์ฟสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ วัดฝีมือ ‘สุริยะ’ เข็นลงทุน 3.6 แสนล.
- ‘บิ๊กตู่’ ยกคณะดูงาน ไฮสปีดไทยจีน กทม.-โคราช ปักธงปี 2570 ได้นั่งแน่
- ครม.รับทราบผลงานไฮสปีดไทยจีน เฟส 1 ถึงโคราช เสร็จปี 69
- ครม.รับทราบความคืบหน้าไฮสปีด'ไทย-จีน'-จ่อถก 3 ชาติเชื่อมเส้นทาง'หนองคาย-เวียงจันทน์'
- เปิด 2 หลักการ'รบ.บิ๊กตู่'อุ้ม'ซีพี'ลุย'ไฮสปีด3สนามบิน' ชงรื้อสัญญาเยียวยา‘เหตุสุดวิสัย’
- ครม.เห็นชอบประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเหลือง - รับทราบแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน
- ไฮสปีด 3 สนามบิน ขยับส่งมอบ NTP เป็นในปี 66 สร้าง ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ ยังจบไม่ลง
- ไฮสปีด 3 สนามบินส่อส่งมอบ NTP ไม่ทัน มิ.ย. 66 ฝ่าทางตันบางซื่อ-ดอนเมือง 9 พ.ค.66
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ‘สุพัฒนพงษ์’ รับแก้สัญญา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้
- บอร์ดอีอีซี ไม่รับข้อเสนอ ซี.พี.จ่ายไปสร้างไปแสนล้าน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ยังนิ่ง ‘สุพัฒนพงษ์’ ลุ้น พ.ย. 65 คณะทำงานเริ่มคุยปม 4 ข้อเสนอ
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- ชง ‘อนุอีอีซี’ เคาะแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เล็งจบใน ต.ค. 65 ปักหมุดเปิดปี 70
- ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง จ่ายเวนคืนที่ดิน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ เพิ่มอีก 568 ล้าน
- ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบเวนคืนฯ 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เป็น 5.7 พันล้าน
- ไฟเขียวงบ 4.1 พันล้าน! รื้อย้ายสาธารณูปโภคแนว ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66
- ครม.เห็นชอบร่างพรฎ.เวนคืนที่ดิน5จว. สร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน