2 รถไฟความเร็วสูงไทยแลนด์ยังนิ่ง ‘3 สนามบิน’ ขยับไทม์ไลน์อีก ส่งมอบ NTPขยับจากมิ.ย. 66 เป็นภายในปีนี้แทน ส่วนการส่งมอบพื้นที่ ‘พญาไท - บางซื่อ’ มาแน่ ต.ค.นี้ ด้านพื้นที่ทับซ้อน ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ ยังจบไม่ลง เหตุซี.พี.ขอเลื่อนประชุม 3 ฝ่าย ขณะที่ไฮสปีดไทยจีนเหลืออีก 3 สัญญาสุดท้ายที่ยังไม่ประมูล-ลงนาม ดีเดย์เซ็น ‘อิตาเลี่ยนไทย-ไชน่าฯ’ ปิดดีลสัญญา 3-1 เดือนก.ค. 66 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.เอเชีย เอราวัณ (ซี.พี.) เป็นเอกชนคู่สัญญาสัมปทาน 50 ปี
ได้รับรายงานมาว่า ทางซี.พี.ขอเลื่อนการประชุม 3 ฝ่าย (อีอีซี, รฟท.และซี.พี.) เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมาออกไปก่อน โดยให้เหตุผลด้านความไม่พร้อมในด้านข้อมูลที่จะนำมาเจรจาร่วมกันไม่ครบถ้วน โดยขณะนี้ยังไม่ได้นัดหมายวันเวลาที่จะมีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย เนื่องจากกลุ่มซี.พี.ยังไม่ตอบรับกลับมาว่า จะพร้อมประชุมอีกรอบเมื่อไหร่
ส่วนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ซี.พี.ต้องไปขอมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่นั้น นายจุฬาระบุว่า ซี.พี.ยังไม่ได้อัพเดทอะไรเกี่ยวกับกรณีนี้ และยังไม่เปิดเผยว่า ที่ยื่นขอบีโอไอไปนั้นมีอะไรบ้าง
@ต.ค.66 ช่วงพญาไท - บางซื่อส่งมอบครบ
ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการให้กับเอกชนตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยส่วนแรกได้ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา เรียบร้อยแล้ว ส่วนช่วงพญาไท - บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ในช่วงรื้อย้ายท่อน้ำมัน ซึ่งคาดว่าพื้นที่โครงการ ฯ พร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมด ภายในเดือน ต.ค. 2566 และคาดว่าภายในปี 2566 จะสามารถแจ้งให้เอกชนเริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) ส่วนการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 และปัญหาความขัดแย้งในประเทศรัสเซีย ยูเครน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหา และมีความคืบหน้าเป็นลำดับ
@จบไม่ลง ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่ารฟท.กล่าวว่า ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในส่วนงานทับซ้อนกับสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง โครงรถไฟความเร็วสูงไทยจีน วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะนี้รอซี.พี.แจ้งวันประชุม 3 ฝ่ายอีกรอบ โดยยังเป็นประเด็นของเจ้าภาพที่จะทำโครงสร้างเพื่อรับโครงการรถไฟความเร็งสูงทั้งไทยจีนและ 3 สนามบิน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องประชุม 3 ฝ่ายก่อน
เมื่อถามว่า แต่ข้อเสนอที่ซี.พี.เคยยื่นมาแลกเปลี่ยนกับการรับภาระงานทับซ้อนคือ เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างให้เร็วขึ้นถูก อีอีซี ไม่รับไปแล้ว ตอนนี้ซี.พี.เสนออะไรมาแลกใหม่หรือไม่ นายนิรุฒตอบว่า ยังไม่เห็นข้อเสนอใหม่ของทางซี.พี.แต่เป้าหมายก็อยากให้เดินหน้า และไม่อยากให้แผนงานกลายไปเป็นต่างคนต่างสร้างส่วนงานของตัวเอง เพราะจะมีผลกระทบด้านวิศวกรรมค่อนข้างมาก และหากรถไฟความเร็วสูงไปเริ่มที่ดอนเมือง ก็ดูเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีสถานีต้นทาง และหากออกมาทางนี้ จะต้องแก้ไขสัญญาอีก เพราะในสัญญากำหนดให้ ซี.พี. ต้องก่อสร้างโครงสร้างร่วมดังกล่าว
ทั้งนี้ หาก รฟท. รับภาระก่อสร้างโครงสร้างร่วมดังกล่าว จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000-8,000 ล้านบาท ส่วนโครงสร้างร่วมตอนนี้ ยังกำหนดให้รองรับที่ 250 กม./ชม. ส่วนที่เคยมีมติให้ปรับมารับรถไฟในเมืองที่ 160 กม./ชม. นั้น ทางอีอีซียังไม่มีมติออกมา ต้องรอให้อีอีซีพิจารณาก่อน
@รถไฟไทยจีน ยังนิ่ง
ส่วนความคึบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ในส่วนของสัญญาที่ 3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. ราคากลาง 11,386 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10JV ประกอบด้วย บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ (ITD) กับ China Railway Engineering Corporation เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,349 ล้านบาท
ปัจจุบันมีระยะเวลายืนราคากลางถึงเดือน ก.ค. 2566 นี้ ลำดับต่อไปก็จะลงนามในสัญญาต่อไป ส่วนจะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เห็นชอบก่อนหรือไม่นั้น ขอหารือกันก่อน
ขณะที่สัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ราคากลาง 11,801 ล้านบาท มี บจ.บุญชัยพาณิชย์ (1979) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 10,325 ล้านบาท ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เบื้องต้น รฟท.จะยืนยันตามที่กรมบัญชีกลางและสำนักงานอัยการสูงสุดแนะนำมาคือ หากตัวสถานียังปรับแก้ไม่ผ่าน ก็จะสร้างทางวิ่งไปก่อน เพื่อไม่ให้ทั้งโครงการต้องมาติดขัด และผู้รับงานก็ยอมเงื่อนไขตรงนี้
นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่ารฟท.
@ลงนาม ‘อิตาเลี่ยนไทย-ไชน่าฯ’ สัญญา 3-1 ก.ค.นี้
ด้านแหล่งข่าวจาก รฟท. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ความคืบหน้าโดยรวมของรถไฟความเร็วสูงไทยจีนอยู่ที่ 20% แล้ว ล่าช้าจากแผนประมาณ 30% ซึ่งตอนนี้คาดการณ์ไว้ว่า จะแล้วเสร็จในปี 2570
สำหรับ 3 สัญญาที่ยังอยู่ระหว่างรอการประมูล ได้แก่ สัญญาที่ 3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. ราคากลาง 11,386 ล้านบาท, สัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ราคากลาง 11,801 ล้านบาท และสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง วงเงิน 10,000 ล้านบาท
ในส่วนของสัญญา 3-1 ตามที่กำหนดยืนราคาของกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10JV จะสิ้นสุดในเดือน ก.ค. 2566 หลังจากนี้จะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขอลงนามในสัญญา หากได้รับการอนุมัติ จะพยายามลงนามกันให้ได้ภายในเดือน ก.ค. 2566 ส่วนการส่งมอบหนังสือ NTP จะต้องหารือกับผู้รับเหมาอีกรอบหนึ่งแล้วจะพร้อมลงพื้นที่เข้างานเมื่อไหร่ แต่คาดว่า จะส่งมอบหนังสือ NTP ได้ประมาณ 1-2 เดือนหลังการลงนามในสัญญา หรือประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566
ขณะที่สัญญาที่ 4-5 เบื้องต้น จะทำตามแนวทางเดิม ซึ่งจะต้องผ่านกลางเมืองอยุธยา ส่วนตัวสถานีอยุธยา จะยึดตามรายงาน EIA ของโครงการถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ซึ่งขั้นตอนต่อไป ได้จัดทำร่างสัญญาส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจร่าง
ที่มาภาพปก: รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา
อ่านประกอบ
- ซี.พี.ขอเลื่อนถก 3 ฝ่าย ผ่าทางตันทับซ้อน ‘บางซื่อ - ดอนเมือง’
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- บอร์ดรถไฟ เคลียร์ปัญหา ‘ไฮสปีดไทยจีน’ 2 สัญญา ปักเป้าปี 69 ก่อสร้างเสร็จ