ผู้ว่ารถไฟ อัพเดทไฮสปีด 3 สนามบิน นัดถก 3 ฝ่าย รฟท.-อีอีซี-ซี.พี. วันที่ 9 พ.ค.นี้ สร้าง-ไม่สร้างโครงสร้างร่วมบางซื่อ - ดอนเมือง ด้านเลขาอีอีซีมองแนวโน้ม 2 ทางฝ่าทางตันก่อสร้างโครงสร้างร่วม ก่อนระบุส่งมอบ NTP เสี่ยงหลุดไทม์ไลน์ มิ.ย. 66 หลังซี.พี.ยังไม่ได้ BOI
สำนัข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 เมษายน 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท หลังจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 เห็นชอบให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด และเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเงื่อนไขสัญญา “กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย” แต่ไม่พิจารณากรณีการปรับเงื่อนไขการชำระค่าก่อสร้าง เป็นก่อสร้างไป-จ่ายไป และการก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงทับซ้อน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (รถไฟไทย-จีน) สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น
@นัดถก 3 ฝ่าย 9 พ.ค.66 ซี.พี.สร้าง-ไม่สร้างช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง
บอร์ดอีอีซีเมื่อวันดังกล่าวให้ความเห็นว่า หากเอกชนไม่สร้าง รฟท.ต้องก่อสร้างเอง ซึ่งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ รฟท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา) จะประชุมร่วมกันในวันที่ 9 พ.ค.2566 เพื่อเร่งหาข้อยุติกรณีโครงสร้างร่วม
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมทุนฯ ซี.พี.ต้องก่อสร้างโครงสร้างของรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ต่อมามีการเจรจาให้ ซี.พี.ก่อสร้างโครงสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองด้วย และให้รับผิดชอบค่าก่อสร้างเพิ่มโครงสร้างร่วมของรถไฟไทย-จีน วงเงินประมาณ 9,207 ล้านบาท โดยมีการเจรจาปรับเงื่อนไขในการจ่ายเงินอุดหนุน ซึ่ง ซี.พี.ยอมตกลงแนวทางนี้แล้ว
นายนิรุฒกล่าวว่า กรณีโครงสร้างร่วมตรงจุดทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น ไม่ ซี.พี.ทำก็ต้อง รฟท.ทำ จะต่างคนต่างทำในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมีพื้นที่จำกัดและจะทำให้โครงการต้องเสียเวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี และยังมีค่าก่อสร้างเพิ่มในส่วนของรถไฟไทย-จีน ที่แนวทางให้ ซี.พี.สร้างและรับผิดชอบค่าก่อสร้างนั้น รฟท.จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับเพิ่มในส่วนของโครงการรถไฟไทย-จีนแทน
โดยตนเห็นว่าต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในประเด็นโครงสร้างร่วม อยู่ดี เนื่องจากแนวทางต่างคนต่างทำแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อสร้าง ซึ่งหากรถไฟก่อสร้างโครงสร้างร่วมจะต้องปรับรายละเอียดงานโยธาหักค่างานส่วนนี้ของซี.พี.ออก หากให้ ซี.พี.ก่อสร้าง ต้องปรับรายละเอียดงานโยธา เพิ่มค่างานส่วนนี้ให้ซี.พี.
“ก่อนหน้านี้อีอีซีให้เวลา ซี.พี.ตัดสินใจ 2 สัปดาห์ ว่าจะยังคงรับเรื่องก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงทับซ้อนอยู่หรือไม่ แต่ซี.พี.ขอขยายเวลา ตอนนี้ยังไม่เห็นแนวทางอื่น ต้องเจรจาในคณะกรรมการ 3 ฝ่ายก่อน” นายนิรุฒกล่าว
ด้านนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของอีอีซี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มซี.พี. ในประเด็นของการก่อสร้างโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 11.83 กม.
ส่วนที่ ผู้ว่าฯรฟท. ระบุว่าจะมีการประชุม 3 ฝ่าย เพื่อสรุปประเด็นนี้ว่า ซี.พี.จะยินยอมก่อสร้างช่วงโครงสร้างร่วมดังกล่าวหรือไม่ในวันที่ 9 พ.ค. 66 นี้นััน ยังไม่ทราบ เพราะเรื่องนี้มีผู้บริหารคนอื่นดูแลอยู่แล้ว ขอเวลาสอบถามกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน
@2 แนวโน้มสร้างทับซ้อนบางซื่อ - ดอนเมือง
เมื่อถามว่า ตอนนี้แนวโน้มกลุ่มซี.พี.จะรับเงื่อนไขสร้างโครงสร้างร่วมให้หรือไม่นั้น นายจุฬาระบุว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่ความเป็นไปได้ออกได้ 2 แบบ แบบแรกคือ ซี.พี.ยอมรับเงื่อนไข ซึ่งก็จะดำเนินการง่าย เพราะจะเป็นไปตามสิ่งที่ รฟท. และ ซี.พี. เจรจากันในช่วงเกิดโควิด แต่ซี.พี.จะรับภาระเรื่องงบลงทุนสูง
กับแบบที่ 2 หาก ซี.พี.ไม่รับเงื่อนไขนี้ หรือรับบางส่วน เช่น จะก่อสร้างเฉพาะส่วนที่เป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่สร้างให้รถไฟไทยจีน ก็จะเกิดปัญหาด้านวิศวกรรม เพราะแนวเส้นทางบริเวณดังกล่าวมีจำกัด หากต่างคนต่างเข้าทำงาน คาดว่าจะกระทบกับแผนงานของทั้ง 2 โครงการพอสมควร
@ส่งมอบ NTP ส่อหลุด มิ.ย.66
ส่วนแผนงานส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice To Profeed:NTP) ตอนนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มซี.พี.จะได้รับการอนุมัติบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อใด ส่วนทาง ซี.พี.ได้ยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนอะไรบ้าง ยังไม่มีการเปิดเผย
เมื่อถามว่า การส่งมอบหนังสือ NTP จะยังทำได้ตามกำหนดเดิมในเดือน มิ.ย. 2566 หรือไม่ นายจุฬากล่าวว่า ยังตอบชัดเจนไม่ได้ ต้องรอว่ากลุ่ม ซี.พี.จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเมิ่อใด ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่กำหนดให้มีก่อนถึงจะส่งมอบหนังสือ NTP ได้
อ่านประกอบ
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนดฃ
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด