‘ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน’ ยังติดหล่ม ที่ประชุมปลัดคลังยังไม่เห็นชอบข้อเสนอ 4 ข้อครบทุกข้อ เหลือปมสร้างโครงสร้างร่วม ‘ไทยจีน’ ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง มอบ ‘คมนาคม’ คุย ‘จีน’ ลดสเปกโครงสร้างร่วมจากรับรถไฟความเร็วสูง เป็นรับรถไฟฟ้าในเมือง 160 กม./ชม. ก่อนให้รายงานกลับมาใหม่ในการประชุมครั้งต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 ธันวาคม 2565 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาข้อเสนอและเงื่อนไขโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ได้เห็นชอบข้อเสนอ 3 ข้อ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ที่ประชุม กบอ.พิจารณาเมื่อเดือน ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา
โดยข้อเสนอที่เห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย 1. การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท 2. ปรับแก้หลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และ 3. รายงานการส่งมอบพื้นที่โครงการทั้ง 3 ส่วน
ส่วนอีก 1 ข้อเสนอคือ การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งในท้ายที่สุดได้เห็นชอบร่วมกันว่า จะปรับโครงสร้างงานก่อสร้าง จากเดิมที่รองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 250 กม./ชม. แบบมาตรฐานจีน มาเป็นโครงสร้างร่วมที่รองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 160 กม./ชม. แบบมาตรฐานยุโรปแทน ซึ่งจะทำให้ค่าก่อสร้างที่วางไว้ 9,207 ล้านบาท ลดลงจากเดิม
ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้กระทรวงคมนาคมไปเจรจากับทางการจีน ที่เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทยจีน เพื่อขอความเห็นชอบในการปรับลดโครงสร้างต่อไป หากได้ผลการเจรจาอย่างไร ให้นำกลับมารายงานที่ประชุมคณะทำงานชุดปลัดกระทรวงการคลังในครั้งถัดไป ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมอีกครั้งประมาณต้นเดือน ม.ค. 2566
ส่วนการแก้ไขสัญญาโครงการและการจ่ายค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ อาจจะต้องรอให้ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อผ่านการพิจารณาทั้งหมดก่อน แล้วจึงค่อยเข้าสู่การแก้ไขสัญญาในลำดับต่อไป ซึ่งขณะนี้วางกำหนดส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มต้นก่อสร้างในเดือน ม.ค. 2566
ส่วนความเกี่ยวเนื่องกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่มีบจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) เป็นเอกชนคู่สัญญาซึ่งได้เจรจาขอแก้ไขสัญญา แล้วมีบางประเด็นเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงนั้น เบื้องต้น ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงให้เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารของสนามบินแล้ว รวมถึงรับทราบถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆเรียบร้อยแล้ว
สำหรับโครงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมีบจ.เอเชีย เอรา วัน (ซีพี) เป็นเอกชนร่วมลงทุน (ประกอบด้วย บจ. เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซีพี) แกนนำกลุ่ม จับมือพันธมิตรประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) จากจีน, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)) เอกชนคู่สัญญา รับสัมปทานไป 50 ปี
อ่านประกอบ