‘สุริยะ’ เผย ‘ซี.พี.’ รับงานก่อสร้างโครงสร้างร่วม 2 ไฮสปีดเทรน ‘ไทยจีน-3สนามบิน’ แล้ว ส่วนสถานีอยุธยา รอ สผ. เสนอ HIA ถึงยูเนสโก รออีก 2-3 เดือน ก่อนระบุร่วมประชุม ครม. 7 พ.ค.นี้ก่อนบินไปจีน เลื่อนภารกิจพบ รมว.คมนาคมจีนไปก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 1/2567 ที่ประชุมได้หารือถึงความก้าวหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร โดยมีงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 สัญญา และรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา ซึ่งภาพรวมมีความก้าวหน้า 32.31% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2571
โดยโครงการระยะแรก ที่มีงานโยธา 14 สัญญา ขณะนี้ภาพรวมการส่งมอบพื้นที่ไม่มีปัญหา ปัญหาอุปสรรคแก้ไขได้ตามแผนงาน ส่วนอีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนามก่อสร้างคือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.นั้น ช่วงสถานีอยุธยา มีประเด็นมรดกโลก ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะจัดส่ง รายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ให้ยูเนสโกพิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2-3 เดือนนี้
ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ที่มีประเด็นโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 9,207 ล้านบาทนั้น ล่าสุด ทาง บริษัท เอเชีย เอรา วันจำกัด (ซี.พี.) ยืนยันรับเป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด ดังนั้น โครงการจะเดินหน้าต่อไป
นอกจากนี้ จะได้เร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย สำหรับการเชื่อมต่อโครงการสู่ สปป.ลาว โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการใน ปี 2573 และได้หารือถึงการพัฒนาสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย ให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน และได้เสนอให้ศึกษาแนวทางรูปแบบเดียวกับโครงการสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับเป็นแนวทางโครงการก่อสร้างทางรถไฟและสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ในช่วงสถานีเวียงจันทน์ใต้ – สะพานข้ามแม่น้ำโขง – สถานีนาทา
นอกจากนี้จะเดินหน้าในเรื่องด้านการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีรถไฟและรถไฟความเร็วสูงจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทดสอบและรับรองชิ้นส่วน รวมทั้งสนับสนุนศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงที่สถานีเชียงรากน้อย โดยอยู่ระหว่างจัดทำร่างบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ China State Railway Group Co., Ltd.
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างสองประเทศ ยกระดับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เสริมสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนขยายเครือข่ายเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งและการเชื่อมโยงในภูมิภาคต่อไป
ทั้งนี้ นายสุริยะระบุว่า ในการเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำหนดขึ้นในวันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2567 นั้น เบื้องต้น ได้แจ้งกับทางการจีนว่า จะขอเลื่อนการเดินทางออกไปเล็กน้อย โดยขอเลื่อนภารกิจพบปะนายหลี่เสี่ยวเผิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของทางการจีน ออกไปก่อน เนื่องจากจะขอร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเช้าวันที่ 7 พ.ค.นี้ก่อน จากนั้น จึงจะเดินไปประเทศจีนในภายหลังเพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 31 ต่อไป