ตรวจการบ้านหน่วยงานคมนาคม บิ๊กโปรเจ็กต์พรึ่บ วงเงิน 3.6 แสนล้านบาท เตรียมเสนอ ‘สุริยะ’ เดตไลน์สิ้น ก.ย.นี้ ‘รถไฟ’ ดันทางคู่ขอนแก่น-ต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง ‘รฟม.’ เสนอสายสีน้ำตาล-ระบบขนส่งภูธร ‘ทางหลวง’ ชงต่อขยายโทลล์เวย์ถึงบางปะอิน-วงแหวนตะวันตกบางขุนเทียนถึงบางบัวทอง ‘การทาง’ 4 ทางด่วน ‘จตุโชติ-N2-ด่วน 2 ชั้น-ภูเก็ต’ ‘ทอท.’เสิร์ฟ 4 บิ๊กโปรเจ็กต์ ‘สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-เชียงใหม่-ภูเก็ต’ ‘บขส.’ ขอรถใหม่ ด้าน ‘ท่าเรือ’ ชงท่าเรือบก จ.ขอนแก่น
นับเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนแล้ว ที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ามาบริหารงานประเทศเป็นทางการ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา
เหล่าบรรดากระทรวงต่างๆ ได้รัฐมนตรีตัวจริงเข้ามาบริหารงานขับเคลื่อนแผนงานนโยบายต่างๆ ตามที่ประกาศหาเสียงไว้
กล่าวสำหรับกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีทั้ง 3 ตำแหน่งมาจากโควตาของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตกเป็นของ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ นักการเมืองมากประสบการณ์ที่กลับมาอยู่พรรคเพื่อไทยอีกครั้ง หลังจากสังกัดพรรคพลังประชารัฐอยู่หลายปี
ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 ตำแหน่ง เบอร์ 2 ตกเป็นของ ‘มนพร เจริญศรี’ สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ผู้หาญเอาชนะ ‘ศุภชัย โพธิ์สุ’ อดีต สส.พื้นที่เดิม และราชรถ 3 ‘สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ อดีตนายก อบจ.กาญจนบุรี ที่มีกระแสข่าวว่า มาด้วย ‘ภารกิจพิเศษ’
โดยรัฐมนตรีทั้ง 3 ตบเท้าเข้ากระทรวง เพื่อพบปะข้าราชการ หัวหน้าหน่วยงานและสื่อมวลชนไปเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา มีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจนแล้ว รวมถึงได้แจ้งทุกหน่วยงาน ทำแผนงานและโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่มีความเร่งด่วนนำเสนอกลับมาภายในเดือน ก.ย.นี้ และจะมีการลำดับความสำคัญต่อไป
- ‘สุริยะ’ แบ่งงาน 3 รมต. สั่งการบ้านรวมโปรเจ็กต์ลงทุนด่วน ส่งสิ้น ก.ย. 66
- ‘คมนาคม’ ชูรับนักท่องเที่ยวไฮซีซั่น 5 ล้านคน เป็นงานด่วน - ลุยต่อ ‘สุวรรณภูมิ-ภูเก็ต’
- ‘สุริยะ’ ประกาศไม่เหลือคราบ รมต.CTX บิ๊กรถไฟฟ้าหนุนหลังแค่ข่าว
- โพรไฟล์ 3 รมต.คมนาคม 'สุริยะ' นำทัพคืนรังรอบ 21 ปี-บิ๊กนักธุรกิจรถไฟฟ้าโผล่คีย์แมน?
น่าสนใจว่า แผนงานและโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่จะมีการนำเสนอกลับมาให้ 3 รัฐมนตรี พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ มีอะไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมแผนงานและโครงการที่แต่ละหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคมจะรวบรวมเสนอในช่วงสิ้นเดือน ก.ย.2566 นี้มาบางส่วนจำนวน 21 โครงการ วงเงินรวม 362,540 ล้านบาท มีดังนี้
@รถไฟ: ทางคู่ขอนแก่น – แดงต่อขยาย 3 เส้นทาง
เริ่มต้นที่ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า โครงการที่คาดว่าจะเสนอให้นายสุริยะพิจารณาตามที่ได้สั่งการไว้ จะมี 2 โครงการสำคัญคือ 1. รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 2.แผนพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) สถานีนาทา พื้นที่ 268 ไร่ ซึ่งรูปแบบโครงการเป็นเอกชนร่วมลงทุน (PPP) และ 3.ส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้ง 3 สายทาง รวมวงเงิน 21,734.96 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะเสนอแผนจัดหารถโดยสารดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และแผนการพัฒนารถโดยสารดีเซลรางใหม่ในรูปแบบขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV on Train) ซึ่งในภาพรวมน่าจะเป็นผลดีต่อระบบขนส่งของประเทศ และเป็นผลดีต่อ รฟท.ด้วย
ส่วนเรื่องแผนการพัฒนาที่ดินผืนสำคัญๆของ รฟท. นายนิรุฒระบุว่า จะยังไม่เสนอ เพราะเป็นช่วงที่รัฐมนตรีเพิ่งรับตำแหน่ง และต้องไปหารือกันในรายละเอียดกับรัฐมนตรีอีกรอบหนึ่ง ส่วนจะนัดหมายกันเมื่อไหร่ ยังไม่ทราบ
นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
ที่มา: ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
@รฟม.: ดันสายสีน้ำตาล 4.1 หมื่นล้านบาท
ขณะที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของรฟม.จะเสนอโครงการและแผนงานให้นายสุริยะ 2 โครงการ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. วงเงินโครงการ 41,720 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 มีมติเห็นชอบหลักการ ผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ในรูปแบบ PPP-Net Cost
ทั้งนี้ ตามกรอบเวลาที่ รฟม.วางไว้คาดว่าโครงการนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการของโครงการร่วมลงทุนได้ประมาณเดือน ก.พ. 2567 จากนั้นจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ช่วงเดือน ก.ย. 2567 - ก.ย. 2568 โดยจะสำรวจอสังหาริมทรัพย์ การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการส่งมอบพื้นที่ ประมาณเดือนมี.ค. 2568-เม.ย. 2571 และจะเริ่มก่อสร้างโครงการในเดือน ต.ค. 2568 ก่อนจะเปิดให้บริการเดือนใน ต.ค. 2571
@เสนอ 3 รูปแบบ ระบบขนส่ง 4 จังหวัด
อีกแผนงานสำคัญที่จะเสนอให้นายสุริยะพิจารณาคือ โครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค ซึ่งรฟม.มีแผนนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก ซึ่งเดิมในสมัยของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของโครงการจาก รถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) มาสู่ระบบแทรมขับเคลื่อนด้วยล้อยาง (ART) หรือระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) และปรับเปลี่ยนอีกครั้งเป็นระบบรถเมล์ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ EV-BRT โดยทาง รฟม. จะนำผลการศึกษาของโครงการที่ทำไว้ทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ รถไฟฟ้ารางเบา, รถเมล์ล้อยาง และรถเมล์แบบใช้พลังไฟฟ้า ส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ที่มา: รฟม.
@’ทางหลวง’ เข็น 2 มอเตอร์เวย์ 8.7 หมื่นล้าน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของ ทล.จะเสนอโครงการลงทุนจำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 87,393 ล้านบาท ได้แก่ โครงการต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ระยะทาง 29 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท สถานะโครงการปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบโครงการแล้วเมื่อเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ส่วนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIAX คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติรายงานไปตั้งแต่ปี 2564 แล้ว สำหรับรูปแบบการลงทุน อยู่ในรูปแบบ PPP Gross Cost (รัฐลงทุนก่อสร้างทั้งหมดแล้วจ้างเอกชนบริหารจัดการอายุสัมปทาน 30 ปี) ตามไทม์ไลน์เดิมคาดว่าจะ ก่อสร้างช่วงปี 2567-2570 และเปิดให้บริการปี 2571
อีก 1 โครงการคือ โครงการมอเตอร์เวย์ วงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก (M9) ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือที่รู้จักในโครงการวงแหวนตะวันตก ระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท สถานะปัจจุบันบอร์ด PPP อนุมัติรูปแบบการลงทุนของโครงการแล้ว โดยกำหนดให้ลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP Net Cost) ระยะเวลาสัญญา 34 ปี (ออกแบบและก่อสร้าง 4 ปี และบริหารงานระบบ 30 ปี) ขณะที่รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ระหว่างทำเล่มแก้ไขเพิ่มเติม โดยคาดว่ารายงาน EIA จะผ่านการพิจารณาในปี 2566
หากได้รับการอนุมัติในปี 2566 ก็จะดำเนินการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน พร้อมกับการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนทั้งหมดภายในปี 2566 ก่อนที่จะลงนามในสัญญาและเริ่มก่อสร้างช่วงปี 2567 แล้วเสร็จประมาณปี 2571
สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)
ที่มา: กรมทางหลวง
@การทางฯ ดันทางด่วน 1.2 แสนล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า มี 4 โครงการที่จะเสนอนายสุริยะพิจารณา ได้แก่
1.โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. วงเงินลงทุนรวม 24,060.04 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการประกาศร่างเอกสารเชิญชวน (TOR) ควบคู่ไปกับออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตเวนคืนที่ดิน
2.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. วงเงินลงทุน 16,960 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอครม.
3.โครงการครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ Double Deck ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 34,028 ล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาเพื่อนำเสนอบอร์ด กทพ. และครม. พิจารณาภายในปีนี้
และ 4. โครงการการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จ.ภูเก็ต ระยะทาง 30 กม. มูลค่าโครงการ 45,300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอโครงการขอความเห็นชอบจาก ครม.
สุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
ที่มา: การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
@ทอท.ดัน 4 โปรเจ็กต์ 6 หมื่นล้านบาท
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า แผนงานและโครงการสำคัญที่จะเสนอให้นายสุริยะพิจารณา ประกอบด้วย 1.ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 8,000 ล้านบาท ศักยภาพเพิ่มพื้นที่อีก 60,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน/ปี ทำให้ลดความหนาแน่นบริเวณพื้นที่ให้บริการของอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบก่อสร้างเพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแบบฯ แล้วเสร็จเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างในต้นปี 2567 สร้างเสร็จ 2570
2.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 36,000 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ คาดจะออกแบบแล้วเสร็จในปลายปี 2567 เปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2570
3.โครงการขยายอาคารบินระหว่างประเทศ (International Terminal) ท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 6,000 ล้านบาท จะเป็นการเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารทั้งในและระหว่างประเทศสูงสุดที่ 18 ล้านคน/ปี ขั้นตอนหลังจากนี้ อยู่ในช่วงออกแบบโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ดังนั้น จากนั้นจะเสนอ ครม.ได้ช่วงปลายปี 2567
4.โครงการการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศใหม่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ โดยว่าจ้างกลุ่มบริษัท ที.ซี.เอ็ม.เอ.(TCMA) ดำเนินการเป็นที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบโครงการ
กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)
ที่มา: ทอท.
@บขส.เสนอแผนหารถใหม่ 332 คัน
ขณะที่นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจ.ขนส่ง (บขส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนของ บขส.จะเสนอนายสุริยะพิจารณาแผนการจัดหารถใหม่จำนวน 332 คัน วงเงินประมาณ 1,596 ล้านบาท โดยแผนงานเร่งด่วนจะเป็นการเช่ารถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 54 คัน วงเงิน 228 ล้านบาท และการเช่ารถโดยสารรแบบปรับอากาศพิเศษ (1 ข.) จำนวน 21 คัน วงเงิน 368 ล้านบาท ทั้ง 2 แผนงานอยู่ระหว่างร่าง TOR
ส่วนแผนในระยะยาวคือ การจัดหารถโดยสารจำนวน 257 คัน วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรถโดยสารประเภทใช้น้ำมันดีเซล 185 คันและรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 72 คัน ซึ่งแผนนี้จะเสนอในที่ประชุมบอร์เดือน ก.ย. 2566 นี้ ก่อนที่จะมีการประมูลในปี 2567 และคาดว่าจะได้รับมอบรถในปี 2568 ต่อไป
@ท่าเรือ ชง ‘ท่าเรือบก ขอนแก่น’
ปิดท้ายที่นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า สำหรับ กทท.จะเสนอโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จ.ขอนแก่น ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนพยอม ต.ม่วงหวาน อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น ใช้พื้นที่ 1,500-2,000 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
เหล่านี้ คือ ข้อมูลแผนงานและโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ที่จะมีการนำเสนอกลับมาให้ 3 รัฐมนตรี พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ ที่สำนักข่าวอิศรา พอจะรวบรวมมาได้
หลังจากนี้ ต้องจับตาดูว่า หลังจากที่ได้เห็นรายการโปรเจ็กต์ต่างๆแล้ว กระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของ 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' จะสามารถผลักดันโปรเจ็กต์ลงทุนระดับเรือธงต่างๆของกระทรวงได้มากแค่ไหน?
หรือหลังจากที่ได้เห็นแล้วจะมีการทบทวน รวมถึงมีไอเดียอะไรออกมาเสริมอีกบ้าง
จากนี้ต้องติดตาม