3 หน่วยงาน ‘รถไฟ-อีอีซี-ซี.พี.’ เข้าชี้แจงอนุกรรมาธิการศาลฯ ปมไฮสปีด 3 สนามบิน ปธ.อนุฯอ้างเดตไลน์ 22 พ.ค. 67 ถ้าซี.พี.ไม่ได้ BOI ส่อล้มสัญญา ‘อัยการ’ ยาหอมถ้าเอกชนเลิกเอง ไม่โดนค่าปรับ เพราะ NTP ยังไม่ได้ส่งมอบ แต่ 2 หน่วยรัฐยังกังวลซ้ำรอย ‘โฮปเวลล์’ ยังไม่ชัดล้มสัญญาจะประมูลใหม่หรือคุย BSR ด้าน ซี.พี. แจงตรงอนุฯ ที่ยังไม่ส่งเอกสารให้ BOI ติดเงื่อนไขยังไม่ได้เงินกู้ ก่อนเผยสุ่มศึกษาตัวเลขใหม่ พบไม่คุ้มลงทุนแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 มีนาคม 2567 นางสาวเบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คณะที่ 1 เปิดเผยว่า ในการประชุมเมื่อวานนี้ (14 มี.ค. 67) ได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และบจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
@22 พ.ค. ไม่ได้ BOI เลิกสัญญาไฮสปีด
นางสาวเบญจา กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการแล้ว โดยเฉพาะการส่งมอบหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ที่ยังไม่สามารถส่งมอบให้เอกชนได้ มาจากเงื่อนไขที่จะต้องให้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ก่อน ซึ่งได้รับการขยายเวลาถึงวันที่ 22 พ.ค. 2567 นี้ หากพ้นวันดังกล่าวไป อาจจะนำมาสู่การยกเลิกสัญญาโครงการได้
ส่วนหลังจากนั้นจะเปิดประมูลโครงการใหม่ หรือเชิญกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) , บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) , บมจ.ราชกรุ๊ป ผู้เสนอราคารองลงมาที่ 169,934 ล้านบาทมาเจรจาต่อรอง ทางรฟท.และอีอีซี ยังไม่ตอบคำถามนี้ แต่ขอกับคณะอนุกรรมาธิการว่าจะกลับไปหารือภายในก่อน และอาจจะมีการหารือกับอัยการสูงสุดด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการจะทำหนังสือส่งไป เพื่อขอรายละเอียดในการหารือดังกล่าว
โดยคณะอนุกรรมาธิการ มีข้อเสนอว่า หากสามารถส่งเอกสารและหลักฐานให้ BOI ได้ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2567 ก็ควรทำ
เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คณะที่ 1
@รฟท.-อีอีซี ยังห่วง เลิกสัญญาโดนแบบ ‘โฮปเวลล์’
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการยกเลิกสัญญา ทางฝ่ายรัฐมีความเสี่ยงจะถูกเอกชนฟ้องร้องเหมือนกรณีโครงการโฮปเวลล์หรือไม่ นางสาวเบญจากล่าวว่า ในที่ประชุมทางอัยการสูงสุดได้กล่าวว่า ถ้าทางซี.พี.จะเป็นฝ่ายเลิกสัญญาในตอนนี้ จะไม่ต้องเสียค่าปรับอะไร เพราะ NTP ยังไม่ได้ส่งมอบให้เริ่มงาน แต่ด้านหนึ่งทาง รฟท.และอีอีซีก็ยังมีข้อกังวลคือ หากรัฐเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญากับ ซี.พี.เอง จะสุ่มเสี่ยงถูกเอกชนฟ้องร้องเหมือนโครงการโฮปเวลล์หรือไม่ แม้ในสัญญาจะมีช่องทางให้รัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชนได้ก็ตาม แต่เบื้องต้นทั้งรฟท.และอีอีซี ไม่ต้องการให้ไปถึงจุดที่ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับเอกชน เบื้องต้นทั้ง รฟท. อีอีซี และซี.พี.จะหารือกันอีกครั้ง
@ซี.พี. แจงยังไม่ส่งเอกสารขอ BOI เพราะยังไม่มีเงินกู้
ส่วนทางฝั่งเอกชน ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ยังไม่ได้ส่งรายละเอียดบางส่วนที่เกี่ยวกับการขอบัตรส่งเสริมการลงทุน มาจากการที่แหล่งเงินกู้ที่ไปยื่นขอไว้จากหลายๆแห่ง ยังไม่อนุมัติให้ โดยทางเอกชนชี้แจงในที่ประชุมว่า ขณะนี้การอนุมัติเงินกู้จากแหล่งเงินต่างๆที่ไปยื่นขอไว้ ทำได้ยาก เพราะผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงปี 2562-2564 ทำให้สถาบันการเงินที่ไปทำเรื่องไว้ต้องพิจารณาคำขอ เพราะที่เอกชนไปทำเรื่องไว้ ก็เป็นการขอกู้ในจำนวนเงินที่มหาศาล อย่างไรก็ตาม ทาง ซี.พี. ไม่ได้ชี้แจงว่า แหล่งเงินกู้ที่ไปขอไว้มีที่ไหน และอยู่ในหรือนอกประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการจับตามองว่า ลงนามในสัญญามาตั้งแต่ปี 2562 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถก่อสร้างได้ มาจากการที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ นางสาวเบญจากล่าวว่า ทางอัยการสูงสุดชี้แจงว่า ไม่ได้เอื้อเอกชน แต่เป็นการทำตามสัญญาร่วมทุน โดยในสัญญาข้อที่ 39 ระบุไว้ว่า เงื่อนไขของสัญญาที่จะเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถแก้เหตุสุดวิสัยเพื่อยกเลิกสัญญาหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาได้ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาพอสมควร ส่วนเหตุที่สัญญามีกำหนดแบบนี้ เพราะทางรัฐมองว่าโครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ไม่ใช่สัญญาที่มีสภาพบังคับเหมือนการจ้างก่อสร้างทั่วไป เมื่อสัญญาเป็นแบบนี้ จึงมีการจัดประชุมหารือกันบ่อยครั้ง เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน
“เขา (ซี.พี.) มีปัญหาสถานะทางการเงินและการยื่นกู้กับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ทีนี้ ประเด็นเรื่องสถานภาพทางการเงินนี้ ทาง รฟท.และอีอีซีรับทราบและเห็นชอบแล้ว กำลังจะทำเรื่องรายงาน ครม. เพื่อทราบ โดยเอกชนบอกว่า จะต้องไปแก้ปัญหาเหตุของตัวเองจากการได้รับการกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด สำหรับสถานะทางการเงินที่อ้างคือ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไปและไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ทำให้สถาบันทางการเงินต่างๆ มีปัญหากับการปล่อยกู้ให้ซี.พี. อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทางเอกชนชี้แจงในที่ประชุม” นางสาวเบญจากล่าว
@ซี.พี.สุ่มศึกษา IRR-EIRR ใหม่ พบไฮสปีดไม่คุ้มลงทุนแล้ว
นางสาวเบญจากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ซี.พี.ยังได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ได้ทำการศึกษาอัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ของโครงการใหม่ พบว่าผลการตอบแทนการลงทุนโครงการไม่คุ้มทุนแล้ว หลังจากก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลการตอบแทนโครงการยังคุ้มทุนอยู่ โดยมีการส่งข้อสังเกตนี้ให้สำนักงานอัยการสูงสุด รฟท.และอีอีซีรับทราบด้วย
อ่านประกอบ
- ซี.พี.ยื่นข้อเสนอไฮสปีด สร้างโครงสร้างร่วมแลกหักกลบ ’หนี้แอร์พอร์ตลิ้งค์’ หมื่นล้าน
- บอร์ดกำกับ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ นัดกลางเดือน ก.พ.นี้ หารือเงื่อนไขส่งมอบ NTP
- คงเงื่อนไขรอสิทธิ์ BOI ‘รถไฟ’ ยังไม่เคาะสร้าง ไฮสปีด 3 สนามบิน
- ‘รถไฟ’ รอ ‘อัยการฯ’ ตีความส่งเสริมลงทุน บีบ'ซี.พี.'รับ NTP สร้างไฮสปีด 3 สนามบิน
- ‘อีอีซี-คมนาคม-รฟท.’ สางเงื่อนไขไฮสปีด 3 สนามบิน บีบซี.พี.เริ่มสร้าง ม.ค. 67
- ‘รถไฟ’ วางเป้านับหนึ่งสร้างไฮสปีด 3 สนามบิน ไตรมาส 1 ปี 2567
- ซี.พี.ส่อไม่รับทำโครงสร้างร่วม ‘ไฮสปีดไทยจีน-3สนามบิน’ คาดงบบาน 2 หมื่นล้าน
- อีอีซีตั้งเป้า ม.ค. 67 เคลียร์แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน - ลุ้น NTP อู่ตะเภาสิ้นปี 66 นี้
- ‘รถไฟ’ขีดเส้นปี 66 ปัญหาไฮสปีด 3 สนามบินต้องจบ
- ส่องการบ้าน ‘คมนาคม’ เสิร์ฟสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ วัดฝีมือ ‘สุริยะ’ เข็นลงทุน 3.6 แสนล.
- ‘บิ๊กตู่’ ยกคณะดูงาน ไฮสปีดไทยจีน กทม.-โคราช ปักธงปี 2570 ได้นั่งแน่
- ครม.รับทราบผลงานไฮสปีดไทยจีน เฟส 1 ถึงโคราช เสร็จปี 69
- ครม.รับทราบความคืบหน้าไฮสปีด'ไทย-จีน'-จ่อถก 3 ชาติเชื่อมเส้นทาง'หนองคาย-เวียงจันทน์'
- เปิด 2 หลักการ'รบ.บิ๊กตู่'อุ้ม'ซีพี'ลุย'ไฮสปีด3สนามบิน' ชงรื้อสัญญาเยียวยา‘เหตุสุดวิสัย’
- ครม.เห็นชอบประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเหลือง - รับทราบแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน
- ไฮสปีด 3 สนามบิน ขยับส่งมอบ NTP เป็นในปี 66 สร้าง ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ ยังจบไม่ลง
- ไฮสปีด 3 สนามบินส่อส่งมอบ NTP ไม่ทัน มิ.ย. 66 ฝ่าทางตันบางซื่อ-ดอนเมือง 9 พ.ค.66
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ‘สุพัฒนพงษ์’ รับแก้สัญญา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้
- บอร์ดอีอีซี ไม่รับข้อเสนอ ซี.พี.จ่ายไปสร้างไปแสนล้าน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ยังนิ่ง ‘สุพัฒนพงษ์’ ลุ้น พ.ย. 65 คณะทำงานเริ่มคุยปม 4 ข้อเสนอ
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- ชง ‘อนุอีอีซี’ เคาะแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เล็งจบใน ต.ค. 65 ปักหมุดเปิดปี 70
- ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง จ่ายเวนคืนที่ดิน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ เพิ่มอีก 568 ล้าน
- ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบเวนคืนฯ 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เป็น 5.7 พันล้าน
- ไฟเขียวงบ 4.1 พันล้าน! รื้อย้ายสาธารณูปโภคแนว ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66
- ครม.เห็นชอบร่างพรฎ.เวนคืนที่ดิน5จว. สร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน