‘ประยุทธ์’ ยกทีมงานตรวจรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกทม.-โคราช แถวอุโมงค์มวกเหล็ก คาดปี 2570 ได้ใช้งาน ด้านคมนาคมสรุปอุปสรรค 4 ด้าน กำชับ ‘กรมราง’ เร่งรายการแก้ไขปัญหาโครงการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 17 สิงหาคม 2566 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ ณ อุโมงค์มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานโยธาสัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง โดยตัวอุโมงค์มวกเหล็กอยู่ระหว่างสถานีรถไฟผาเสด็จและสถานีรถไฟหินลับ มีลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ รูปทรงเกือกม้า ความยาว 3.465 กิโลเมตร สูง 8.50 เมตร กว้าง 11.50 เมตร ขณะนี้มีความคืบหน้างานก่อสร้างอยู่ที่ 1.43 กิโลเมตร คิดเป็น 41.3 %
นายกรัฐมนตรีรับฟังรายงานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา มีระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้ภายในปี 2570 ปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2566 ในส่วนแผนก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปตั้งแต่เมื่อปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา
@4 อุปสรรคทำไฮสปีดจีนติดหล่ม
ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ปัจจุบันพบปัญหาอุปสรรค ดังนี้
1. การรังวัดที่ดิน สำหรับที่ดินที่ได้รับการเวนคืน มีความล่าช้าเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รังวัดไม่เพียงพอ
2. กรณีผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก สถานีอยุธยา ของสัญญางานโยธา 4-5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว รฟท. อยู่ระหว่างศึกษารายงาน HIA และคณะกรรมการ รฟท. ได้อนุมัติการจัดจ้างให้มีการก่อสร้างในส่วนของงานรางก่อน และจะก่อสร้างสถานี ขณะนี้ รฟท. นำส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนลงนามในสัญญาต่อไป
3. การขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการจากระดับดิน มาเป็นยกระดับ ของสัญญา 3-4 และ 3-5 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า เนื่องจากต้องมีการออกแบบรายละเอียดใหม่ พร้อมทั้งต้องขอปรับปรุงรายงาน EIA
4. งานโยธาทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนว่า เอกชน หรือ รฟท. จะเป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งหาก รฟท. เป็นผู้ก่อสร้าง จะต้องก่อสร้างเพื่อรองรับความเร็ว 250 กม./ชม. หรือ 160 กม./ชม. ซึ่งหากก่อสร้างล่าช้า จะส่งผลต่อภาพรวมโครงการ
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าของโครงการที่เกิดขึ้น ควรมีการดำเนินการดังนี้
1. กระทรวงคมนาคมจะประสานกรมที่ดินเป็นพิเศษ เพื่อเร่งรัดการรังวัดที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ยังคงเหลือ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการเวนคืนที่ดิน
2 กรณีงานโยธา สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ที่ยังคงทีการศึกษารายงาน HIA ของสถานีอยุธยา กระทรวงฯ จะผลักดันให้มีการก่อสร้างงานรางภายในเดือนตุลาคม
3 การที่มีกรณีประชาชนขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการจากทางระดับดิน เป็นทางยกระดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบอาจจะส่งผลให้โครงการเกิดความล่าช้า จึงเห็นควรให้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดทำเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อออกแบบประเภททางในลักษณะต่าง ๆ โดยนำองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง เช่น ความหนาแน่นของเมือง และ ระดับเมือง เป็นต้น มาพิจารณา เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการออกแบบ
4. งานโยธาทับซ้อน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ส่งผลกระทบต่อ งานโยธา สัญญ 4-1 ขร ในฐานะ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน นัดประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาแนวทางการก่อสร้างโครงการช่วงดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า และมีความชัดเจนเกี่ยวกับความเร็วที่จะใช้ก่อสร้าง เพื่อให้สามารถส่งมอบงานให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินการของสัญญา 2.3 ต่อไป
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ขร. ดำเนินการจัดทำ checklist การแก้ไขปัญหาทั่งหมดของโครงการ เพื่อเร่งช่วยเหลือการรถไฟแห่งประเทศไทยประสานการดำเนินการให้โครงการมีความคืบหน้า