คณะกรรมการเร่งรัดลงทุนอีอีซี สะสางเงื่อนไขส่งมอบ NTP ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ‘รฟท.’ ยื่นถามอัยการฯ งดเงื่อนไขรอบัตรส่งเสริมลงทุน บีบ ซี.พี. เริ่มก่อสร้าง ม.ค.67 เผยเตรียมแผนรับหากอัยการฯไม่เห็นด้วยแล้ว ยันไม่กระทบสนามบินอู่ตะเภาแน่ ทุบโต๊ะแก้สัญญาต้องจบในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนปมสร้างบางซื่อ-ดอนเมือง ‘คมนาคม’ แท็กทีม ‘รฟท.’ ช่วยกันดู แต่ยังไม่เคาะใครสร้าง ขณะที่แอร์พอร์ตลิ้งค์ เล็งรวบจ่ายงวด 1-3 เป็นก้อนเดียว งวดที่ 4 เริ่มจ่าย ต.ค. 67
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 มีการติดตามความก้าวหน้าโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี (EEC Project List) จำนวน 4 โครงการ วงเงินโครงการรวม 683,944.36 ล้านบาท
@ทุบโต๊ะปัญหายื้อส่ง NTP ต้องจบ ธ.ค. 66 นี้
โครงการแรก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เป็นคู่สัญญาสัมปทานระยะเวลา 50 ปี ที่ประชุมหารือโดยมีข้อสรุปว่า ต้องการให้ประเด็นต่างๆที่มีผลกระทบกับการส่งมอบหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed หรือ NTP) สรุปให้จบในเดือน ธ.ค. 2566 นี้
ประเด็นสำคัญคือ การที่ทางซี.พี.อยู่ระหว่างรอบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีระยะเวลาการรับบัตรส่งเสริการลงทุนถึงวันที่ 22 ม.ค. 2567 นี้ หากพ้นวันที่ 22 ม.ค. 2567 นี้ไป สิทธิประโยชน์ที่ซี.พี.ได้รับจาก BOI ก็จะหายไป ซึ่งในสัญญาร่วมลงทุนที่มีการเซ็นไว้เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562 กำหนดตรงนี้ไว้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะต้องได้ก่อน จึงจะส่งมอบ NTP ได้
@ถามอัยการฯ โละเงื่อนไข BOI ผ่าทางตันเริ่มก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา รฟท.ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อสอบถามว่า หากซี.พี.ยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รฟท. จะสามารถยกเว้นเงื่อนไขนี้ได้หรือไม่ โดยเป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขในสัญญาร่วมลงทุนที่ระบุว่า หากมีบางเงื่อนไขที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามได้ คู่สัญญาสามารถขอยกเลิกเงื่อนไขที่ทำไม่ได้ออกไปได้ ขณะนี้ยังรอการตอบกลับจากอัยการสูงสุดอยู่ ถ้าหากอัยการสูงสุดตอบกลับมาว่า สามารถกระทำได้ ก็จะดำเนินการส่งมอบหนังสือ NTP ให้ซี.พี.ได้ภายในเดือน ม.ค. 2567 ได้ทันที
ทั้งนี้ ทางฝั่งของซี.พี. หากกำหนดระยะเวลาการรับบัตรส่งเสริมการลงทุนหมดลง ก็จะต้องไปเริ่มกระบวนการขอส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ใหม่ ส่วนจะส่งผลกับ NTP หรือไม่ ต้องรอคำตอบจากอัยการสูงสุดที่ รฟท.ถามไปก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง หากอัยการสูงสุดเห็นด้วยกับสิ่งที่ รฟท.ขอไปก็ส่งมอบ NTP ได้ทันที แต่หากอัยการสูงสุดไม่เห็นชอบก็ต้องรอทาง ซี.พี.ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนต่อไป
เมื่อสื่อมวลชนถามว่า ถ้าหาก ซี.พี.ไม่ได้การส่งเสริมการลงทุน แต่ฝ่ายรัฐให้เริ่มก่อสร้างจะมีความเสี่ยงด้านเงินลงทุนของโครงการหรือไม่ เลขาธิการอีอีซีตอบว่า ซี.พี.สามารถยื่นขอ BOI ใหม่ได้ เพราะสิทธิทางภาษีเอกชนจะเริ่มได้เมื่อมีรายได้ในโครงการนี้เท่านั้น และถ้าได้ BOI ทางซี.พี.ก็จะสามารถออกไปเชื้อเชิญนักลงทุนมาร่วมได้ คาดว่า ซี.พี.จะขอ BOI ในเงื่อนไขเดิม ส่วนจะกระทบกับการหาเงินทุนของทางซี.พี.หรือไม่ ก็มีความเป็นไปได้ แต่ต่อไปอีอีซีก็กำลังจะออกกฎหมายที่สามารถขอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในพื้นที่ของอีอีซี ซึ่งซี.พี.อาจจะมาขอสิทธิประโยชน์การลงทุนกับอีอีซีได้
@แก้สัญญาไฮสปีดต้องจบในเดือน ธ.ค. 2566
ส่วนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน นายจุฬาระบุว่า ที่ประชุมเห็นควรให้มีข้อสรุปภายในเดือน ธ.ค. 2566 นี้เช่นกัน โดยภายในวันที่ 13 ธ.ค. 2566 นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย (รฟท. อีอีซี และซี.พี.) กัน สำหรับประเด็นที่จะมีการพูดคุยคือ การแก้ไขสัญญาในส่วนของการเพิ่มถ้อยคำเกี่ยวกับเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นประเด็นทีผ่านบอร์ดอีอีซีเมื่อเดือน มี.ค.2566 ที่ผ่านมา หากไม่มีอะไรก็จะส่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป เมื่ออัยการสูงสุดตรวจแล้วเสร็จก็จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
เมื่อถามว่า การตรวจร่างสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุดจะเสร็จทันกำหนดส่งมอบหนังสือ NTP ที่วางไว้ในเดือน ม.ค. 2567 หรือไม่ เลขาธิการอีอีซีตอบว่า ไม่เกี่ยวกันโดยตรง เพราะสัญญาที่แก้เป็นการแก้ที่ไปได้อีก 40-50 ปีตามอนุสัญญาที่มี ซึ่งอยู่ที่ถ้อยคำอย่างเดียวว่า หากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น ให้คู่สัญญาเจรจากันเท่านั้น ไม่ได้กระทบสาระสำคัญอะไรของสัญญาร่วมทุน
@NTP ช้า ไม่กระทบอู่ตะเภา
เมื่อถามอีกว่า หาก NTP ของรถไฟความเร็วสูงไม่สามารถส่งมอบได้ จะกระทบกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาหรือไม่ โดยเฉพาะการประมูลโครงการก่อสร้างงานก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 2 และทางขับที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการส่งมอบ NTP สนามบินอู่ตะเภา นายจุฬาตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะทางอู่ตะเภามีแผนประมูลไว้แล้ว แต่จะไปติดขัดในงานโครงสร้างการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟความเร็วสูงกับสนามบิน ที่ออกแบบไว้ในลักษณะลอดใต้รันเวย์ที่ 2 รูปแบบเดียวกับแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ที่ลอดใต้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งก็ได้วางแผนรองรับไว้แล้วว่า จะให้เอกชนคู่สัญญากับสนามบินอู่ตะเภา ก่อสร้างโครงสร้างร่วมเอาไว้ แล้วเมื่อรถไฟความเร็วสูงพร้อมก่อสร้างมาเชื่อมก็จ่ายค่างานส่วนที่เหลือไป
@คมนาคม-รถไฟ ดูโครงสร้างร่วมบางซื่อ-ดอนเมือง แต่ไม่สรุปใครสร้าง
ขณะที่ประเด็นการก่อสร้างโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง นายจุฬาระบุว่า ที่ประชุมมอบหมายกระทรวงคมนาคมและรฟท.เป็นผู้ดูแลแล้ว ส่วนจะหมายความว่าทาง รฟท.จะเป็นผู้ก่อสร้างเอง ไม่ใช่ ซี.พี.แล้วใช่หรือไม่ ยังไม่รู้ เพียงแต่ที่ประชุมให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ไปหาข้อยุติมา ซึ่งประเด็นนี้ไม่จำเป็นต้องได้ข้อยุติพร้อมๆกันประเด็น BOI และการแก้สัญญา เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับส่วนงานที่เหลือของโครงการ ตอนนี้งานหลักของโครงการคือการก่อสร้างตั้งแต่ช่วงมักกะสัน - สนามบินอู่ตะเภาก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นโครงสร้างร่วมบางซื่อ - ดอนเมือง จะกลายเป็นประเด็นที่กระทบกับการส่งมอบ NTP หรือไม่ เพราะทางเอกชนก็สามารถอ้างได้ว่า พื้นที่ตรงนี้ยังไม่สรุป เท่ากับยังส่งมอบพื้นที่โครงการไม่ได้ 100% เลขาธิการอีอีซีตอบว่า ก็สามารถอ้างได้ แต่พื้นที่นี้ถ้าเอกชนจะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ ก็ค่อยส่งมอบพื้นที่กันภายหลังได้ เพราะโครงการนี้ช่วงพญาไท - บางซื่อ ก็ยังอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กบ้านราชวิถี และกำลังเคลื่อนย้ายท่อน้ำมัน (FPT) และท่อระบายน้ำ กทม. ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2567 นี้
เมื่อถามว่า หาก รฟท.ก่อสร้างเอง จะต้องแก้สัญญาด้วยหรือไม่ เลขาธิการอีอีซีตอบว่า อาจจะเจรจากันใหม่ เพราะค่าใช้จ่ายในส่วนของเอกชนไม่มีแล้ว แต่เบื้องต้นเงื่อนไขที่มอบหมายกระทรวงและรฟท.ไปดูจะต้องจบก่อน อาจจะคำนวณค่าก่อสร้างก่อนว่าเท่าไหร่ แล้วจึงหักออก จะออกไปในประเด็นการบริหารสัญญามากกว่า
โครงสร้างงานโยธาที่ใช้ร่วมกัน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง
@แอร์พอร์ตลิ้งค์ แก้สัญญาไปในคราวเดียวกัน
เมื่อถามอีกถึงการแก้ไขสัญญาที่มีประเด็นการรับมอบสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ ซึ่งมีกรณีการแบ่งจ่ายค่าใช้สิทธิ์ 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด นายจุฬาตอบว่า ก็จะแก้ไปในคราวเดียวกันกับการเพิ่มถ้อยคำเหตุสุดวิสัย โดยอาจจะรวมในบันทึกแนบท้ายสัญญาไป
สำหรับแนวทางการจ่ายค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตลิ้งค์ล่าสุดที่มีการหารือกัน ทางเอกชนจะต้องจ่ายรวบงวดที่ 1-3 (ระหว่างปี 2564-2566) เป็นก้อนเดียว ซึ่งงวดที่ 4-7 ซึ่งจะเริ่มจ่ายในเดือน ต.ค. 2567
@ประมูลรันเวย์ 2 ในธ.ค.นี้ เริ่มสร้าสนามบิน ม.ค. 67
เลขาธิการอีอีซี กล่าวต่อว่า โครงการที่สอง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท มีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) ที่มีบมจ.การบินกรุงเทพ (บางกอกแอร์เวย์ส), บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ร่วมลงทุน ประเด็นสำคัญคือ ภายในเดือน ธ.ค. 2566 นี้ ทางทร.จะออกประกาศร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference: TOR) โครงการก่อสร้างงานก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 2 และทางขับ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา กรอบวงเงิน 16,493.76 ล้านบาท เพราะตามเงื่อนไขในการส่งมอบ NTP จะต้องเปิดประมูลโครงการนี้ก่อน โดยคาดว่าในเดือน ม.ค. 2567 จะส่งมอบ NTP ได้ เพราะตอนนี้กำหนดวันที่จะมีการวางศิลาฤกษ์แล้ว แต่ยังเปิดเผยไม่ได้
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
โครงการที่ 3 ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล ประกอบด้วยบมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และบจ.เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง ในฐานะเอกชนร่วมลงทุน มีความคืบหน้าในภาพรวมที่ 14.84% ช้ากว่าแผน 1.81%
และโครงการที่ 4 ท่าเรือมาบตาพุตระยะที่ 3 วงเงินโครงการ 64,000 ล้านบาท มีการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เป็นเจ้าของโครงการ และมีบจ.กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล (GMTP) ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และบมจ. พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล เป็นเอกชนคู่สัญญา ตามแผนงานแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเล งานระบบสาธารณูปโภค งานอุปกรณ์เดินเรือ และการพัฒนาท่าเรือก๊าซบนพื้นที่ 200 ไร่ วงเงินลงทุน 47,900 ล้านบาท ซึ่ง GMTP ทำสัญญางานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (EPC Contract) กับบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2564 มูลค่าโครงการ 10,500 ล้านบาท คืบหน้าแล้ว 69.64% ช้ากว่าแผน 2.01% ความล่าช้าเกิดจากความล่าช้าของการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุในการก่อสร้าง และความล่าช้าในการขนส่งหินอันเกิดจากสภาพคล่องทางของผู้รับจ้าง โดยที่ประชุมกำชับ กนอ.เพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบ กำกับดูแล การดำเนินการตามมาตรการด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง และเร่งแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้รับจ้างที่ทำให้การขนส่งหินเข้าโครงการล่าช้า และเร่งรัดงานก่อสร้างให้ทันตามแผน
และช่วงที่ 2 งานก่อสร้างท่าเทียบเรือ ติดตั้งอุปกรณ์ และการบริหารจัดการท่าเรือบริการสินค้าเหลว ซึ่งเอกชนจะได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่แปลง A พื้นที่ 200 ไร่ และแปลง C พื้นที่ 150 ไร่ วงเงิน 7,500 ล้านบาท เป็นระยะเวลาแปลงละ 32 ปี แบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และระยะเวลาประกอบธุรกิจ 30 ปี ปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ มีมติให้ กนอ. ทบทวนรายงานการศึกษาและ
วิเคราะห์โครงการ และพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการต่อไป
อ่านประกอบ
- ‘รถไฟ’ วางเป้านับหนึ่งสร้างไฮสปีด 3 สนามบิน ไตรมาส 1 ปี 2567
- ซี.พี.ส่อไม่รับทำโครงสร้างร่วม ‘ไฮสปีดไทยจีน-3สนามบิน’ คาดงบบาน 2 หมื่นล้าน
- อีอีซีตั้งเป้า ม.ค. 67 เคลียร์แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน - ลุ้น NTP อู่ตะเภาสิ้นปี 66 นี้
- ‘รถไฟ’ขีดเส้นปี 66 ปัญหาไฮสปีด 3 สนามบินต้องจบ
- ส่องการบ้าน ‘คมนาคม’ เสิร์ฟสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ วัดฝีมือ ‘สุริยะ’ เข็นลงทุน 3.6 แสนล.
- ‘บิ๊กตู่’ ยกคณะดูงาน ไฮสปีดไทยจีน กทม.-โคราช ปักธงปี 2570 ได้นั่งแน่
- ครม.รับทราบผลงานไฮสปีดไทยจีน เฟส 1 ถึงโคราช เสร็จปี 69
- ครม.รับทราบความคืบหน้าไฮสปีด'ไทย-จีน'-จ่อถก 3 ชาติเชื่อมเส้นทาง'หนองคาย-เวียงจันทน์'
- เปิด 2 หลักการ'รบ.บิ๊กตู่'อุ้ม'ซีพี'ลุย'ไฮสปีด3สนามบิน' ชงรื้อสัญญาเยียวยา‘เหตุสุดวิสัย’
- ครม.เห็นชอบประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเหลือง - รับทราบแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน
- ไฮสปีด 3 สนามบิน ขยับส่งมอบ NTP เป็นในปี 66 สร้าง ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ ยังจบไม่ลง
- ไฮสปีด 3 สนามบินส่อส่งมอบ NTP ไม่ทัน มิ.ย. 66 ฝ่าทางตันบางซื่อ-ดอนเมือง 9 พ.ค.66
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ‘สุพัฒนพงษ์’ รับแก้สัญญา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้
- บอร์ดอีอีซี ไม่รับข้อเสนอ ซี.พี.จ่ายไปสร้างไปแสนล้าน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ยังนิ่ง ‘สุพัฒนพงษ์’ ลุ้น พ.ย. 65 คณะทำงานเริ่มคุยปม 4 ข้อเสนอ
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- ชง ‘อนุอีอีซี’ เคาะแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เล็งจบใน ต.ค. 65 ปักหมุดเปิดปี 70
- ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง จ่ายเวนคืนที่ดิน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ เพิ่มอีก 568 ล้าน
- ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบเวนคืนฯ 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เป็น 5.7 พันล้าน
- ไฟเขียวงบ 4.1 พันล้าน! รื้อย้ายสาธารณูปโภคแนว ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66
- ครม.เห็นชอบร่างพรฎ.เวนคืนที่ดิน5จว. สร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน