บอร์ดอีอีซีนัดแรก ขีดเส้น 99 วัน ถึง ม.ค. 67 แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ‘เหตุสุดวิสัย-แบ่งจ่ายแอร์พอร์ตลิ้งก์ 7 งวด’ ต้องจบ ส่วนสนามบินอู่ตะเภา ‘ทัพเรือ’ จ่อประมูลรันเวย์ 2 พ.ย.นี้ ก่อนลุ้นออก NTP ก่อสร้างเร็วสุดสิ้นปีนี้ - ต้นปี 67
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 ตุลาคม 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงดอนเมือง - สุวรรณภูมิ ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.เอเชีย เอราวัณ (ซี.พี.) เป็นเอกชนคู่สัญญาสัมปทาน 50 ปี
สำหรับทิศทางของรัฐบาลใหม่ที่มีต่อโครงการนี้ ก็สั่งการให้เดินหน้าตามแผนการที่มีมาทั้งหมด ทางอีอีซีก็ต้องประสานงานให้เกิดการพูดคุยให้มากขึ้น และอย่างน้อยที่สุด ภายใน 99 วัน (นับถึง ม.ค. 2567) จะต้องเคลียร์ปัญหาร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมให้ได้
@ม.ค.67 แก้สัญญาต้องจบ
ด้านนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันแผนงานต่างๆของอีอีซีในระยะเวลา 99 วัน ก็ได้รวมเอาประเด็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย ประเด็นสำคัญคือ การแก้ไขสัญญา ซึ่งจะว่าด้วยประเด็นการเพิ่มเหตุสุดวิสัยลงไปในสัญญาและการแบ่งจ่ายค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ วงเงิน 10,687 ล้านบาทเป็น 7 งวด โดยการแก้ไขสัญญานี้ จะเชื่อมโยงกับปัญหาอีก 3 ประเด็นคือ การก่อสร้างโครงสร้างร่วมรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง, ปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ และการเชื่อมต่อกับสนามบินอู่ตะเภา ที่จะต้องเอามาคุยด้วยกันหมด
สำหรับสถานะ ตอนนี้การแก้ไขสัญญายังอยู่ที่ รฟท. หารือกับ ซี.พี.และสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อแก้เสร็จแล้ว จึงจะส่งกลับมาที่อีอีซี เพื่อเสนอบอร์ด กพอ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว จะนัดหมายวันลงนามในการแก้ไขสัญญาต่อไป
ส่วนกรณีที่ทางซี.พี.อ้างว่า ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จึงยังไม่สามารถรับมอบแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ได้นั้น ทราบมาว่า ซี.พี.ขอขยายเวลารับการส่งเสริมการลงทุนไปถึงวันที่ 22 ม.ค.2567 หลังจากนั้น ก็คงต้องหารือกับ ซี.พี.อีกครั้ง
ขณะที่ปัญหาการก่อสร้างโครงสร้างร่วมรถไฟความรเ็วสูงไทย-จีนช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทางประมาณ 15 กม. ประเมินวงเงินก่อสร้าง 10,000 ล้านบาท ตอนนี้ทางอีอีซีอยู่ระหว่างรอ รฟท.และซี.พี.คุยกันให้จบว่า ใครจะเป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งหลังจากมีการประชุมบอร์ด กพอ.ครั้งแรก รัฐบาลก็คาดหวังว่า ประเด็นนี้จะได้ข้อสรุปภายใน ม.ค. 2567 โดยหากทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อสรุปเมื่อไหร่ ก็จะนัดหารือ 3 ฝ่ายกันอีกที
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
@ลุ้นสิ้นปี 66 นับหนึ่ง ‘อู่ตะเภา’
เลขาธิการอีอีซีกล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาทที่มีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นเจ้าของโครงการ โดยเอกชนที่รับสัมปทาน 50 ปี คือ บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) ล่าสุด ทร.รายงานมาว่า ในเดือนพ.ย.2566 นี้ จะดำเนินการประกาศประกวดราคางานก่อสร้างงานก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 2 และทางขับ สนามบินอู่ตะเภา กรอบวงเงิน 16,493.76 ล้านบาท เมื่อออกประกาศแล้ว อีอีซีจะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือช้าสุดคือ ม.ค. 2567 โดยเมื่ออก NTP แล้ว เอกชนจะเริ่มก่อสร้างได้ทันที และจะมีการหารือเกี่ยวกับการออกแบบรถไฟความเร็วสูงด้วย เพราะตามแบบที่วางไว้รถไฟจะต้องลอดใต้รันเวย์ของสนามบิน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในวาระ 4 ปี ของรัฐบาลนี้ จะได้เห็นทั้งรถไฟความเร็วสูงและสนามบินอู่ตะเภา เปิดให้บริการหรือไม่ เลขาธิการอีอีซีตอบว่า รถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี ในการก่อสร้าง ก็นับได้ว่ายังอยู่ในวิสัยที่น่าจะก่อสร้างและเสร็จได้ทัน เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของรถไฟจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี ที่เหลือทั้งการเอาขบวนรถไฟมาวิ่งและวางงานระบบก็รวมๆไม่น่าจะเกิน 4 ปี
เมื่อถามถึงงความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) นายจุฬาตอบว่า ตอนนี้ยังต้องรอทาง บมจ.การบินไทย ตัดสินใจว่าจะยังลงทุนหรือไม่ โดยจะรอยืนยันจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ เพราะทางการบินไทยก็ต้องนำหารือกับผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการให้เรียบร้อยก่อน แม้ตัวการบินไทยจะอยากทำ แต่ก็ต้องไปคุยกับผู้บริหารแผนฟื้นฟูให้ตกผลึกก่อน
อ่านประกอบ
- ‘รถไฟ’ขีดเส้นปี 66 ปัญหาไฮสปีด 3 สนามบินต้องจบ
- ส่องการบ้าน ‘คมนาคม’ เสิร์ฟสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ วัดฝีมือ ‘สุริยะ’ เข็นลงทุน 3.6 แสนล.
- ‘บิ๊กตู่’ ยกคณะดูงาน ไฮสปีดไทยจีน กทม.-โคราช ปักธงปี 2570 ได้นั่งแน่
- ครม.รับทราบผลงานไฮสปีดไทยจีน เฟส 1 ถึงโคราช เสร็จปี 69
- ครม.รับทราบความคืบหน้าไฮสปีด'ไทย-จีน'-จ่อถก 3 ชาติเชื่อมเส้นทาง'หนองคาย-เวียงจันทน์'
- เปิด 2 หลักการ'รบ.บิ๊กตู่'อุ้ม'ซีพี'ลุย'ไฮสปีด3สนามบิน' ชงรื้อสัญญาเยียวยา‘เหตุสุดวิสัย’
- ครม.เห็นชอบประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเหลือง - รับทราบแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน
- ไฮสปีด 3 สนามบิน ขยับส่งมอบ NTP เป็นในปี 66 สร้าง ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ ยังจบไม่ลง
- ไฮสปีด 3 สนามบินส่อส่งมอบ NTP ไม่ทัน มิ.ย. 66 ฝ่าทางตันบางซื่อ-ดอนเมือง 9 พ.ค.66
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ‘สุพัฒนพงษ์’ รับแก้สัญญา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้
- บอร์ดอีอีซี ไม่รับข้อเสนอ ซี.พี.จ่ายไปสร้างไปแสนล้าน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ยังนิ่ง ‘สุพัฒนพงษ์’ ลุ้น พ.ย. 65 คณะทำงานเริ่มคุยปม 4 ข้อเสนอ
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- ชง ‘อนุอีอีซี’ เคาะแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เล็งจบใน ต.ค. 65 ปักหมุดเปิดปี 70
- ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง จ่ายเวนคืนที่ดิน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ เพิ่มอีก 568 ล้าน
- ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบเวนคืนฯ 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เป็น 5.7 พันล้าน
- ไฟเขียวงบ 4.1 พันล้าน! รื้อย้ายสาธารณูปโภคแนว ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66
- ครม.เห็นชอบร่างพรฎ.เวนคืนที่ดิน5จว. สร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน