ครม.อนุมัติงบกลาง 568 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนที่ดินฯ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะที่วงเงินเวนคืนทั้งโครงการแตะ 5.7 พันล้าน
.....................
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2564 วงเงิน 568 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2564 ครม.รับทราบการขยายกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็น 5,740 ล้านบาท จากเดิม 3,570 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,170 ล้านบาท โดยวงเงินที่เพิ่มส่วนแรก 580 ล้านบาท มาจากงบกลางฯ ปีงบ 2564 ส่วนที่เหลือ 1,562 ล้านบาทให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ (สกพอ.) โอนมาจากงบบูรณาการภายใต้แผนงาน EEC ปีงบ 2565
ส่วนความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น รฟท. จะส่งมอบพื้นที่โครงการช่วงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เอกชนคู่สัญญาภายในวันที่ 24 ต.ค.2564
น.ส.รัชดา ยังระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นดังกล่าว จะสร้างงานระหว่างการก่อสร้าง 1.6 หมื่นอัตรา เกิดการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 1 แสนอัตราในช่วง 5 ปี เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ เช่น เหล็ก 1 ล้านตัน ปูน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มมูลค่าการพัฒนาเศรษฐกิจ ในรัศมี 2 กิโลเมตร ตามเส้นทางรถไฟกว่า 2.14 แสนล้านบาท
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ปีงบ 2564 วงเงิน 168 ล้านบาท สำหรับอุดหนุนเงินทุนหมุนเวียนให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพื่อดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระยะที่ 3 โดยให้เบิกจ่ายตามส่วนลดค่าบริการในการขึ้น-ลงของอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยานที่เกิดขึ้นจริง
มติครม.ดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายเวลาการปรับลดค่าบริการในการขึ้น-ลงของอากาศยาน (Landing Charge) ในอัตรา 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทำให้ ทย. สูญเสียรายได้จำนวน 166 ล้านบาท และการยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ให้แก่อากาศยานของสายการบิน ทำให้สูญเสียรายได้จำนวน 1.49 ล้านบาท รวมสูญเสียรายได้ 168 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 25% ของรายได้
น.ส.ไตรศุลี ยังกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ให้นำบทบัญญัติภายใต้มาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับ พ.ศ.....
สำหรับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มาตรา 30 บัญญัติว่า “ในระยะเริ่มแรก มิให้นำส่วนที่ 3 การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 44/1 มาตรา 44/2 มาตรา 44/3 มาตรา 44/4 มาตรา 44/5 และส่วนที่ 4 การกำกับการประกอบกิจการ มาตรา 45 มาตรา 46 ในหมวด 2 การกำกับดูแลการประกอบกิจการ
และมาตรา 65 (1) มาตรา 78 มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 84 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 16 มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 มาใช้บังคับ จนกว่า กสทช. จะมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว และให้เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นำบทบัญญัตินั้นมาใช้บังคับ”
“หลังจาก พ.ร.ฎ.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับแล้ว จะมีผลต่อการอนุญาต การประกอบกิจการ และการกำกับดูแลเกี่ยวกับคลื่นความถี่ เพื่อให้การใช้ความถี่เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยใช้คลื่นความถี่ที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์จากการหลอมรวมคลื่นความถี่ ผู้ประกอบการก็สามารถพัฒนาหรือผลิตการให้บริการใหม่ๆ ที่หลากหลาย” น.ส.ไตรศุลีกล่าว
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบเวนคืนฯ 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เป็น 5.7 พันล้าน
ไฟเขียวงบ 4.1 พันล้าน! รื้อย้ายสาธารณูปโภคแนว ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66
ครม.เห็นชอบร่างพรฎ.เวนคืนที่ดิน5จว. สร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/