‘รฟท.-อีอีซี’ ยังจบไม่ลง หลังบอร์ด กพอ. ให้หาทางอื่นที่ดีกว่าเงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน เร่งยุติข้อถกเถียงสิ้นเดือนนี้ เผย 2 มุมมอง ไม่เอาเงื่อนไขนี้ ‘รถไฟ’ แบกค่างานทับซ้อนหมื่นล้าน แต่ถ้าเอาเสี่ยงจบไม่สวยแบบ ‘โฮปเวลล์’ คาดเริ่มคุยอัยการฯแก้สัญญา เม.ย.66 ส่วนแอร์พอร์ตลิ้งก์ ซี.พี.โยกเงินประกัน MOU จ่ายดอกพันล้านแล้ว และจะเริ่มผ่อนจ่ายงวดแรกปี 2567 ยันยืนเป้าก่อสร้าง มิ.ย. 66
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ไม่เห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท โดยเฉพาะการพิจารณาในเงื่อนไขที่รัฐจะต้องจ่ายค่าร่วมลงทุนในโครงการนี้ วงเงิน 118,611 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น จากเดิมตามสัญญาระบุให้เริ่มเบิกจ่ายเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นให้เริ่มจ่ายเมื่อเนื้องานโยธาส่วนใหญ่แล้วเสร็จ โดยให้เริ่มจ่ายในปีที่ 2-8 (2566-2570) และเพิ่มเงินประกันผลงาน 5% ของแต่ละงวดด้วย
เบื้องต้น ที่ประชุมยังไม่ได้หารือกันในประเด็นนี้ โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บจ.เอเชีย เอราวัณ (ซี.พี.) ไปเจรจากันมาให้เรียบร้อย ซึ่งในที่สุดก็ดำเนินการไม่ทันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากมีการยุบสภาในวันที่ 20 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา
- ‘สุพัฒนพงษ์’ รับแก้สัญญา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้
- บอร์ดอีอีซี ไม่รับข้อเสนอ ซี.พี.จ่ายไปสร้างไปแสนล้าน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
@ยังจบไม่ลง เงื่อนไขสร้างไป-จ่ายไป
แหล่งข่าว สกพอ. ระบุว่า ในความจริง บอร์ด กพอ. ไม่ใช่ไม่เห็นชอบแนวทาง ‘สร้างไปจ่ายไป’ เพียงแต่ในที่ประชุมวันดังกล่าวหารือจนได้ข้อสรุปว่า จะเห็นชอบในหลักการไปก่อน แต่ให้ รฟท.หารือกับ สกพอ.มาว่า มีแนวทางที่ดีกว่านี้หรือไม่ ซึ่งยังอยู่ระหว่างหารือกันอยู่ และจนวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า มีแนวทางอื่นที่ดีกว่าหรือไม่
"สิ่งที่ทำให้ยังจบไม่ลง เพราะเงื่อนไขหนึ่งของการเจรจาให้มีการจ่ายไป-สร้างไปนั้นคือ หากยอมเงื่อนไขนี้ ทางกลุ่มซี.พี.จะก่อสร้างโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา เส้นทางบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. มูลค่างานก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านบาทให้ ดังนั้น หากไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ ก็มีแนวโน้มที่ รฟท.จะต้องนำโครงสร้างทับซ้อนมาดำเนินการเอง" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แต่อีกด้านหนึ่ง ในคณะกรรมการบางส่วนที่ยืนยันไม่ยอมรับเงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ก็แสดงเหตุผลไว้ว่า ในอดีต รฟท. เคยมีบทเรียนในการยอมให้มีการ ‘สร้างไป-จ่ายไป’ มาแล้ว นั่นคือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร หรือโครงการโฮปเวลล์ ซึ่งปรากฎว่า ในเวลาต่อมาประสบปัญหา เอกชนก่อสร้างไม่คืบหน้าตามแผนอย่างมาก เพราะมาจากการเวนคืนและส่งมอบที่ดินล่าช้า จนสุดท้ายต้องยกเลิกโครงการและกลายเป็นคดีความที่ รฟท.และกระทรวงคมนาคม ต้องมาจ่ายค่าชดเชยสูงถึงหมื่นล้านบาทในที่สุด
แหล่งข่าวจาก สกพอ. ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม ทั้ง รฟท.และ สกพอ. เข้าใจดีว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ประชาชนจับตามอง ประกอบกับไทม์ไลน์โครงการล่าช้าไป 2 ปีแล้ว ดังนั้น จะพยายามสรุปและจบการถกเถียงในประเด็นนี้ให้ได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2566 นี้ เพื่อให้ในเดือน เม.ย. 2566 รฟท. จะได้เริ่มหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุดในประเด็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเสียที ซึ่งคาดว่าจะทันกับกำหนดส่งมอบหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ประมาณเดือน มิ.ย. 2566 นี้
@ซี.พี.จ่ายดอก ค่ารับสิทธิ์แอร์พอร์ตลิ้งค์แล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท นั้น มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง หลังจากบอร์ด กพอ. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 เห็นชอบให้แบ่งจ่าย 7 งวด และคิดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 1,046 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท
แหล่งข่าวจาก สกพอ. ระบุว่า กลุ่มซี.พี.ได้นำเงินหลักประกันที่ให้ไว้จำนวน 1,067.11 ล้านบาทในวันที่ลงนามสัญญา MOU ระหว่าง รฟท.กับกลุ่มซี.พี. ที่ทำไว้เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 จากผลกระทบโควิด-19 มาชำระดอกเบี้ยที่บอร์ด กพอ.คิด 1,046 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มผ่อนจ่ายค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์งวดแรกในปี 2567
"ขณะนี้กลุ่มซี.พี.ได้มาโอเปอเรตโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารระบบเต็มตัว ต้องจ่ายให้ครบ 7 งวดก่อน จึงจะรับเอาโครงการไปบริหารได้" แหล่งข่าวระบุ
อ่านประกอบ
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด