“...ช่วงเดือน มี.ค. 2565 กลุ่มซี.พี. ขอคัดสำเนาโฉนดพื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่สนับสนุนโครงการสำหรับพัฒนา TOD (Transit Oriented Development) ขนาด 150 ไร่ แล้วพบว่า มีการระบุลำรางสาธารณะประโยชน์ในโฉนดที่ดิน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ให้ได้เต็มศักยภาพ…”
ยังไม่จบง่ายๆ
สำหรับการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,554 ล้านบาท มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ซี.พี.) เป็นเอกชนผู้รับสัมปทาน 50 ปี
โดยโครงการนี้ ถือเป็นโปรเจ็กต์ระดับเรือธงของนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หมายมั่นปั่นมือที่จะส่งให้ถึงฝันให้ได้ เพราะหากโครงการนี้ไม่เกิด EEC ที่ตั้งใจจะบูมให้โต ก็อาจจะแท้งเสียก่อนได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานเป็นประธาน ได้สั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของทางแก้ปัญหา 4 ข้อตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท
2.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง
3.ปรับแก้หลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ
และ 4. รายงานการส่งมอบพื้นที่โครงการ ตามที่เคยแบ่งไว้ 3 ส่วนคือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา, ช่วงพญาไท - บางซื่อ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์พญาไท - สุวรรณภูมิ
ครม.เคาะ ‘มหาดไทย-กรมที่ดิน’ แก้ลำรางสาธารณะ
แต่เมื่อเจาะในข้อ 4 ในการรายงานส่งมอบพื้นที่ พบว่าปมสำคัญที่มีผลกระทบกับการส่งมอบพื้นที่คือ พื้นที่ในเขตมักกะสันบางส่วนอยู่ในพื้นที่ที่เป็น ‘ลำรางสาธารณะ’ อันนำมาสู่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ก.ย. 2565 ที่ให้กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไข ทบทวน หรือปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543
ในรายละเอียด น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต และการห้ามไม่ให้ขุดพื้นดินลึกจากพื้นดินทั่วไปเกินกว่า 5 เมตร เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการขออนุญาตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และขออนุญาตก่อสร้างได้ ในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการขอถอนสภาพ
สำหรับการขอใช้และการขอถอนสภาพลำรางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติปัจจุบันนั้น เมื่อได้มีการปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทย และมีผลบังคับใช้แล้วให้สามารถใช้แนวทางปฏิบัติตามระเบียบใหม่ไปดำเนินการต่อเนื่องได้
ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ดำเนินการยื่นขอเพิกถอนลำรางสาธารณะดังกล่าวแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอให้สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ที่มาปัญหา ‘ลำรางสาธารณะมักกะสัน’
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลจากเอกสารที่เสนอ ครม. เลขที่ สกพอ. 1002/65/3076 ลงวันที่ 6 กันยายน 2565 ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง การแก้ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน
ซึ่งในเอกสารระบุว่า หลังจากมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2564 ประมาณ 1 ปี ช่วงเดือน มี.ค. 2565 กลุ่มซี.พี. ขอคัดสำเนาโฉนดพื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่สนับสนุนโครงการสำหรับพัฒนา TOD (Transit Oriented Development) ขนาด 150 ไร่ แล้วพบว่า มีการระบุลำรางสาธารณะประโยชน์ในโฉนดที่ดิน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ให้ได้เต็มศักยภาพ
ทำให้ รฟท. และ สกพอ. ต้องยื่นขอใช้และขอถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงมหาดไทยจะสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ก่อน
โดยหลังจากการลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นลำรางสาธารณะที่ตื้นเขิน ไม่อาจใช้เป็นทางสัญจรไปมา และไม่มีสภาพการใช้ประโยชน์ร่วมกันของพลเมืองแล้ว รวมถึงไม่สามารถฟื้นฟูสภาพได้
ทั้งนี้ ในการถอนสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ในส่วนที่เป็นลำรางสาธารณะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) และระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีกระบวนการและขั้นตอนจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ก่อให้เกิดความล่าช้าส่งผลกระทบต่อการดำเนินการ
พื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสันที่ต้องส่งมอบให้ ซี.พี. พัฒนา TOD ที่มาภาพ: Facebook รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา
กฤษฎีกา’ ประเมิน 3 ทางเลือก ถอนลำรางฯ
อย่างไรก็ตาม เพื่อความรอบคอบ ทาง สกพอ.ได้ส่งปมปัญหาให้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) หารือถึงประเด็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขอถอนสภาพลำรางสาธารณะ ที่พ้นสภาพการใช้ประโยชน์ร่วมกันของพลเมืองในพื้นที่ โดย สกพอ. เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้ 3 แนวทาง ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นไว้ ดังนี้
1.กรณีใช้ มาตรา 9 ตาม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 (พ.ร.บ.อีอีซี) เสนอ ครม. เพื่อกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยตรา พ.ร.ฎ. ถอนสภาพความในมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดินขึ้นเป็นเฉพาะ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ไม่อาจกระทำได้ เพราะเห็นว่า การใช้ช่องทางดังกล่าว ไม่ใช่การเสนอให้มีการปรับปรุงหรือเสนอให้มีกฎหมายขึ้นใหม่
2.กรณีใช้มาตรา 9 และหรือมาตรา 33 ของพ.ร.บ.อีอีซี เพื่อกำหนดให้ สกพอ. เป็นผู้ดำเนินการถอนสภาพลำราง โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนปกติที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า การถอนสภาพที่ดินดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียน และการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน 2550 ดังนั้น สกพอ. จึงเสนอ ครม. ขอถอนสภาพที่ดินดังกล่าวเองไม่ได้
3.กรณีใช้มาตรา 9 พ.ร.บ.อีอีซี เสนอ ครม. เพื่อมีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กำหนดกฎระเบียบกรณีหน่วยงานของรัฐขอใช้ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันชั่วคราวเป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่การถอนสภาพยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ควรใช้แนวทางนี้
ซึ่งในท้ายที่สุด สกพอ. พิจารณาใช้แนวทางที่ 3 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นไว้
ต่อมา มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สกพอ. และ กรมที่ดิน เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 ได้ข้อสรุปให้แก้ไขหรือทบทวนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับขออนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน 2543 กรณีที่บังคับใช้ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยปัจจุบัน สกพอ. ได้ดำเนินการยื่นขอเพิกถอนลำรางดังกล่าวแล้ว โดยอยู่ระหว่างเสนอให้ สภากทม. ให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ก่อสร้างเลื่อนไปต้นปี 66
ด้านแหล่งข่าวจาก สกพอ. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ความคืบหน้าในการจัดการปัญหาด้านการส่งมอบพื้นที่โครงการ ปัจจุบัน หลังจากนายสุพัฒนพงษ์ สั่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอทั้ง 4 ประการนั้น ขณะนี้ ยังไม่ได้ประชุมอะไรกัน คาดว่าจะมีการประชุมนัดแรกในเดือน ต.ค. 2565 นี้ เป็นผลให้กำหนดการก่อสร้างโครงการจากเดิมที่วางไว้ในเดือน ต.ค. 2565 เลื่อนไปเป็นต้นปี 2566 แทน
เพราะทั้ง 4 ข้อเสนอดังกล่าว ต้องมีการหารือกันให้ละเอียดรอบคอบ และหลังจากหารือกันแล้ว ก็ต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ดอีอีซี) พิจารณาด้วย นอกจากนั้น จะต้องพิจารณาแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จด้วย จากภาระต่างๆ ทำให้การก่อสร้างโครงกาารจะเริ่มต้นในต้นปี 2566 ดังกล่าว
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,554 ล้านบาท ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ วาดไว้ จะให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงสำคัญ
จะสำเร็จสมปรารถนาหรือไม่ ต้องจับตาดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตา
ที่มารถไฟประกอบปก จาก pixabay.com/th/photos/