สุพัฒนพงษ์ ยอมรับ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ หลังจบไม่ลงข้อเสนอ ‘ซี.พี.’ ขอรัฐจ่ายเงินอุดหนุนเร็วขึ้น ย้ำหลักการ ‘เสร็จแล้วจึงจ่าย’ เท่านั้นแม้จะอ้างโควิดก็ตาม ด้านอีอีซีเผย สั่ง ‘รถไฟ’ หารือ ‘ อัยการฯ’ เพิ่มเหตุสุดวิสัยด้านโรคระบาดเข้าไปในสัญญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 มีนาคม 2566 หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ยังไม่พิจารณาเงื่อนไขของ บจ.เอเชีย เอราวัณ (ซี.พี.) เอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท ที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ
ที่เสนอเงื่อนไขการจ่ายค่าอุดหนุนโครงการของรัฐบาล วงเงิน 118,000 ล้านบาท จากต้องสร้างเสร็จและเปิดใช้ก่อน เป็นให้เริ่มจ่ายเมื่อเนื้องานโยธาส่วนใหญ่แล้วเสร็จ โดยให้เริ่มจ่ายในปีที่ 2-8 (2566-2570) และเพิ่มเงินประกันผลงาน 5% ของแต่ละงวด
โดยที่ประชุมให้ รฟท.และซี.พี. ไปเจรจากันมาให้เรียบร้อย โดยวางกรอบไว้ว่า ควรดำเนินการตามเนื่องไขเดิมใน TOR คือ จะเริ่มจ่ายปีที่ 6-15 หลังเปิดบริการไปแล้วจะใช้เวลา 10 ปี จึงจะจ่ายค่าอุดหนุนครบทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ อาจจะพิจารณาจ่ายในกรณีทยอยสร้างเสร็จ และทยอยเปิดเดินรถก็ได้ ต้องคุยกันนั้น
ล่าสุด ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในเดือน มี.ค.นี้ยังไม่ได้นัดหมายประชุมกับกรรมการท่านอื่น ส่วนข้อกังวลถึงกรณีที่ ซี.พี. เสนอเงื่อนไขจ่ายค่าอุดหนุนในเชิง ‘จ่ายไป-สร้างไป’ นั้น ควรไปถามทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
“หลักการที่ภาครัฐยึดถือ ไม่ว่าคุณ (ซี.พี.) จะมีข้อเสนออะไรก็แล้วแต่ ต้องไม่ขัดกับสัญญา สิ่งที่เสนอมาต้องเป็นไปตามสัญญา อันนี้หลักที่ 1 หลักที่ 2 เมื่อเงื่อนไขที่เสนอมาเป็นไปตามสัญญาแล้ว ต้องมาดูต่อว่า สิ่งที่เสนอมาขัดกับหลักการสำคัญของโครงการหรือเปล่า ซึ่งหลักการสำคัญคือ โครงการต้องเสร็จก่อน รัฐบาลจึงจะชำระเงิน หากก่อสร้างเสร็จแล้วใช้งานได้จริง ก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร ส่วนจะจ่ายกันเท่าไหร่ ก็ว่าไปตามรายละเอียด” รองนายกรัฐมนตรีระบุ
ส่วนกรณีที่กลุ่มซี.พี.อ้างปัจจัยการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าอ้างมาแบบนั้น ก็ต้องไปดูว่าตามสัญญาระบุถึงเหตุสุดวิสัยด้านโรคระบาดไว้ไหม ถ้าเข้าข่ายก็มานั่งคุยกัน แต่ผลลัพธ์ที่จะได้ ก็ต้องว่าตามหลักการของโครงการดังที่กล่าว และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนระหว่างและเอกชน (PPP) ด้วย ถึงจะไปกันได้
@รับแก้ไม่จบในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ขณะที่การแก้ไขสัญญา ยอมรับว่า ยังมีความยุ่งยากกว่าโครงการอื่นมากมาย เพราะมีรายละเอียดเยอะ ซึ่งปลายทางของประเด็นนี้ต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ส่วนตัวประเมินแล้วและเห็นว่า น่าจะไม่ทัน ครม.ชุดนี้แน่นอน
“ขั้นตอนการแก้ไขสัญญา ต้องกลับไปให้อัยการดูก่อน ถ้าดูแล้วถูกต้องก็ต้องร่างแก้ไขออกมา ก็ใช้เวลาอีกพอสมควร จึงจะเสนอต่อมายัง กบอ. เพื่อไป ครม.ในลำดับสุดท้าย ส่วนหากแก้สัญญาไม่ได้จะล้มโครงการเลยไหม น่าจะไม่ เพราะสัญญาเปิดช่องให้แก้ได้ เรื่องโรคระบาดน่าจะเข้าข่ายให้เจรจาได้ แต่จะช่วยมากช่วยน้อย ต้องว่าตามกฎหมาย PPP เจ็บก็เจ็บด้วยกัน ได้ก็ได้ด้วยกัน ไม่ใช่ใครเป็นลูกจ้างนายจ้างใครนะ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า กลุ่มซี.พี.ต้องการเงื่อนไขแบบสร้างไป-จ่ายไป ในความเป็นจริงทำได้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีตอบว่า อย่างที่กล่าวไป หากไม่ขัดกับหลักการคือ ‘เสร็จแล้วจึงจ่าย’ ก็ทำได้ แน่นอน ไม่ใช่ว่า จะต้องรอให้เสร็จทั้งหมด หากก่อสร้างเสร็จบางตอนก่อน ก็อาจจะเจรจาขอจ่ายอุดหนุนได้ ซึ่งเราก็มีบทเรียนกับมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครราชสีมา ที่สร้างเสร็จบางตอนแต่ก็เปิดใช้งานไม่ได้
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
@สั่ง รถไฟ คุย อัยการฯ เพิ่มเงื่อนไขโรคระบาดในสัญญา
ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการอีอีซี เปิดเผยสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า นอกจากประเด็นการขอจ่ายอุดหนุนของกลุ่มซี.พี.แล้ว ทางอีอีซีได้สั่งให้ รฟท. ในฐานะเจ้าของโครงการหารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด ในประเด็นการแก้ไขสัญญาโครงการ โดยจะต้องเพิ่มเติมเรื่องเหตุสุดวิสัยด้านโรคระบาดเข้าไปในสัญญา เพราะก่อนหน้านี้ในสัญญาไม่ได้ระบุถึงเงื่อนไขตรงนี้ไว้ ทำให้เวลาเจรจาในประเด็นนี้ต้องนำเอาหารือในบอร์ดอีอีซีทุกครั้ง หากมีการเพิ่มเติมตรงนี้ จะลดขั้นตอนการดำเนินงาน โดยยังอยู่ระหว่างการหารือ
และเมื่อหารือกันแล้ว ทางอัยการสูงสุดจะต้องส่งร่างสัญญาที่ได้รับการแก้ไขกลับที่อีอีซี เพื่อเสนอ กบอ. และบอร์ดอีอีซีเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาในลำดับสุดท้าย
ทั้งนี้ การแก้สัญญาดังกล่าว น่าจะไม่ทันในคณะรัฐบาลชุดนี้ คงต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารก่อน และต้องจับตาดูท่าทีของรัฐบาลใหม่ต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่
รวมระยะทาง 220 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมงเชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่ อีอีซี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 นาที
อ่านประกอบ
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด