เลขาครม.เผย ที่ประชุมเคาะข้อบังคับเก็บค่าโดยสารสายสีเหลืองแล้ว รอประกาศราชกิจจาฯ ส่วนไฮสปีด 3 สนามบิน รับทราบขั้นตอนแก้สัญญา 2 ปม จ่าย 7 งวดแอร์พอร์ตลิ้งค์ - เพื่มเหตุสุดวิสัยในสัญญา ชี้รถไฟ-อีอีซี ดำเนินการเฉพาะส่วนที่ไม่ต้องเสนอ ครม.เท่านั้น ส่วนที่เกี่ยวข้องให้รอรัฐบาลหน้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 มิถุนายน 2566 นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แจ้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกำหนดการประชุมเพื่อทำรัฐพิธี เปิดประชุมสภาในวันที่ 3 ก.ค. 2566 โดย ครม.ทั้งคณะจะร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แจ้งกับ ครม. ทุกคนให้เตรียมพร้อม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอหมายกำหนดการที่เป็นทางการอยู่
ขณะเดียวกัน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังเปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมครม.วันนี้ มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน MRT) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเนื่องจากเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับรองที่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2543 ซึ่งเป็นกฎหมายหลัก หลังจากนี้จะต้องรอร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อจัดเก็บค่าโดยสารต่อไป
สาระสำคัญคือ การกำหนดจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองระหว่าง 15-45 บาท โดยเป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่มีอยู่แล้ว ส่วนที่มีการเอารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงพ่วงเข้ามาในร่างข้อบังคับดังกล่าว เนื่องจากรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายอยู่ภายใต้การกำกับของ รฟม. ที่มีแนวคิดจะเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ส่วนในรายละเอียดจะออกแบบวิธีการที่จะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียวอย่างไร ขอให้ไปถามทาง รฟม. เพิ่มเติม
ณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ภาพจาก: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
@ครม.ทราบปมแก้สัญญาไฮสปีด
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการดำเนินการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 276,561 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือ กลุ่มซี.พี. เป็นเอกชนคู่สัญญา โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.หรือบอร์ดอีอีซี) เป็นผู้นำเสนอ
เรื่องที่รับทราบมี 2 ประเด็นคือ 1. รับทราบผลการแก้ไขสัญญาในประเด็นการเพิ่มเติมเหตุสุดวิสัย เพราะในการแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เกิดจากทางเอกชนเป็นฝ่ายร้องขอ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อช่วงปี 2563-2564 ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ วงเงิน 10,671 ล้านบาทได้ทันกำหนดในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นกำหนดการที่ระบุเป็นเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานว่า จะต้องจ่ายภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่มีการลงนามในสัญญา
และ 2.รับทราบผลการประชุมบอร์ดอีอีซีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 กรณีเห็นชอบกระบวนการจ่ายเงินค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ 10,671.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด งวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย รวมถึงการคิดดอกเบี้ยกับกลุ่มซี.พี.เพิ่ม 1,046 ล้านบาท เป็น 11,717.09 ล้านบาท
ทั้งนี้ การรับทราบใน 2 ประเด็นดังกล่าว เป็นการรายงานเพื่อทราบเท่านั้น ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอะไร โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และอีอีซี สามารถดำเนินการในสิ่งที่ไม่ต้องเสนอ ครม.เท่านั้น หากจะดำเนินการเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทาน คงต้องรอรัฐบาลหน้า
@เห็นชอบร่างข้อบังคับ รฟม. 5 ฉบับ บังคับใช้ 3 ก.ค.66
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายสีเหลือง สายเฉลิมรัชมงคล และสายฉลองรัชธรรม, ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... และร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่น ๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. .... รวม 5 ฉบับ ดังนี้
1. ร่างข้อบังคับ รฟม.ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร รถไฟฟ้า สายสีเหลือง พ.ศ. .... (ช่วงลาดพร้าว - สำโรง) สาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามวิธีการในสัญญาสัมปทาน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท (23 สถานี) และหลักเกณฑ์อื่น อาทิ กำหนดหลักเกณฑ์ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบแก่ผู้โดยสาร กรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม. ให้จัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รฟม.) มาสายสีเหลือง (รฟม.) ณ สถานีลาดพร้าว
ส่วนกรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม. กับรถไฟฟ้าสายอื่น คณะกรรมการ รฟม. ประกาศกำหนดระยะเวลาสูงสุดสำหรับการเปลี่ยนถ่ายระบบ เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสาย Airport Rail Link (รฟท.) มาสายสีเหลือง (รฟม.) ณ สถานีหัวหมาก (เช่น ภายใน 30 นาที) ให้ผู้โดยสารได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า กำหนดหลักเกณฑ์รายการส่งเสริมการเดินทาง ส่วนลดกลุ่มบุคคล เช่น เด็กนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบตามประเภทผู้ถือบัตร การจัดโปรโมชั่น กิจกรรมการตลาด การจำหน่ายตั๋วรายเดือน ตั๋วเป็นชุด ตั๋วราคาพิเศษ ความร่วมมือกับพันธมิตร สวัสดิการพนักงาน สนับสนุนนโยบายภาครัฐ เป็นต้น รวมทั้ง หลักเกณฑ์สนับสนุนกิจกรรมพิเศษ เช่น งานเฉลิมฉลอง งานพระราชพิธี เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า กิจกรรมตามนโยบายของรัฐ หรือกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถในวันที่ 3 ก.ค. 2566 นี้
2. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... (สายสีน้ำเงิน) มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ฯ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล 2565 และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่าย ระบบกับรถไฟฟ้าสายอื่น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง/หลักเกณฑ์สำหรับ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษไว้เช่นเดิม (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิม มี 12 สถานี เริ่มต้นที่ 17 บาท สิ้นสุด 43 บาท)
3. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. .... (สายสีม่วง) มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ฯ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. 2565 และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบ กับรถไฟฟ้าสายอื่น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง/หลักเกณฑ์สำหรับ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษไว้เช่นเดิม (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิม มี 16 สถานี เริ่มต้นที่ 14 บาท สิ้นสุด 42 บาท)
4. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 พ.ศ. .... เป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วย การกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 เนื่องจากข้อบังคับฉบับนี้ เป็นการกำหนดส่วนลดค่าแรกเข้าในการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง
5. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. .... กำหนดอัตราค่าบริการจอดรถยนต์ และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์สำหรับอาคารจอดรถยนต์ทุกแห่ง รวมถึงอาคาร จอดรถยนต์อื่น ๆ ในอนาคตของ รฟม. เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยรวมไว้ในฉบับเดียวกัน ซึ่งจะรองรับการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของผู้มาใช้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 3 ก.ค. 2566 ปัจจุบัน มีการเปิดบริการและคิดค่าบริการจอดรถ จำนวน 3 แห่ง (สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ)
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ร่างข้อบังคับ รฟม. ทั้ง 5 ฉบับ คณะกรรมการ. รฟม. เห็นชอบแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป
อ่านประกอบ
- ไฮสปีด 3 สนามบิน ขยับส่งมอบ NTP เป็นในปี 66 สร้าง ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ ยังจบไม่ลง
- ซี.พี.ขอเลื่อนถก 3 ฝ่าย ผ่าทางตันทับซ้อน ‘บางซื่อ - ดอนเมือง’
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- บอร์ดรถไฟ เคลียร์ปัญหา ‘ไฮสปีดไทยจีน’ 2 สัญญา ปักเป้าปี 69 ก่อสร้างเสร็จ