‘ผู้ว่ารถไฟ’ อัพเดท ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล้าน ชี้เดือนมิ.ย. 66 พร้อมส่งมอบพื้นที่ – ส่งหนังสือให้เริ่มก่อสร้างแน่นอน ชี้อุปสรรคใหม่เคลียร์ทางบางซื่อ – พญาไทต้องรื้ออาคาร ‘บ้านราชวิถี’ เผยอีก ‘ซี.พี.’ คู่สัญญายังไม่จ่ายค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตลิ้งก์ อ้างขอรอ ‘บีโอไอ’ อนุมัติข้อเสนอส่งเสริมการลงทุนก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 มกราคม 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งอยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน
ประเด็นที่พิจารณายังคงเป็น 4 ข้อเสนอเดิมที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ยังติดขัดประเด็นการลดโครงสร้างทับซ้อนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทางประมาณ 15 กม. ซึ่งทางกระทรวงและ รฟท. ได้ตอบกลับไปแล้วว่า พร้อมที่จะลดโครงสร้างช่วงทับซ้อนดังกล่าวจากเดิมต้องมีโครงสร้างรองรับรถไฟความเร็วสูง 220 กม./ชม. เป็นโครงสร้างรองรับรถไฟฟ้า 160 กม./ชม. ซึ่งต้องรอว่า กบอ. จะมีการพิจารณาอย่างไร หากเห็นด้วยกับสิ่งที่กระทรวงและ รฟท. เสนอก็จะเสนอต่อไปยังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่และส่งมอบหนังสือเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ตอนนี้วางไว้ว่า ภายในเดือน มิ.ย. 2566 น่าจะเคลียร์อุปสรรคได้ทั้งหมดและพร้อมส่งมอบ บจ.เอเชีย เอราวัณ (กลุ่มซี.พี.) เอกชนคู่สัญญาเริ่มต้นก่อสร้างได้ เพราะช่วงสุวรรณภูมิ – ฉะเชิงเทรา – สนามบินอู่ตะเภานั้นได้บริหารจัดการพื้นที่พร้อมส่งมอบให้เอกชนแล้ว ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพฯ ช่วงบางซื่อ - พญาไท พบว่าแนวเส้นทางของโครงการไปทับกับบ้านราชวิถี ซึ่งต้องเข้าไปรื้ออาคารบางส่วนออก แต่ก็เจรจากันจบแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยังออกหนังสือ NTP ไม่ได้ เพราะทาง ซี.พี. ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งก็กำลังรอบีโอไอพิจารณา
ขณะที่การจ่ายค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท นั้น ซี.พี.ระบุว่า ขอรอการสนับสนุนของบีโอไอก่อน จึงให้คำตอบได้
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมีบจ.เอเชีย เอรา วัน (ซีพี) เป็นเอกชนร่วมลงทุน (ประกอบด้วย บจ. เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซีพี) แกนนำกลุ่ม จับมือพันธมิตรประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) จากจีน, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)) เอกชนคู่สัญญา รับสัมปทานไป 50 ปี
ที่มาภาพปก: https://pixabay.com/th
อ่านประกอบ
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด