"...ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของทางแก้ปัญหาทั้ง 4 ข้อตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แล้วให้นำกลับมารายงานข้อพิจารณาทั้งหมดในการประชุมครั้งหน้า..."
โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกข้อครหาเอาโครงการจากร่าง พ.ร.บ.ให้อำานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (ร่างพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) มาทำต่อก็ตาม
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันจนสามารถผ่านไปได้ 2 โครงการสำคัญคือ 1.รถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกรุงเทพ - หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา และ 2.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) เป็นโครงการหลักภายใต้การพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แม้จะลงนามในสัญญาสัมปทานไปแล้วเมื่อปี 2562 แต่การก่อสร้างยังเริ่มขึ้นไม่ได้สักที เพราะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยผจญปัญหาโควิดจนเศรษฐกิจชะงักจากมาตรการ Lockdown ทุกกิจกรรม นำมาสู่การขอเปิดโต๊ะเจรจากับภาครัฐ เพื่อแก้สัญญาสัมปทานและเพิ่มเงื่อนไขในการช่วยเหลือเอกชน ซึ่งเอกชนคู่สัญญาคือ บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ที่มีกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ถือธงนำร่วมกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ.ช.การช่าง (CK) และ China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
จนในที่สุด ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบผลการเจรจา เหลือเพียงเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรืออีอีซี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเร่งรัดให้การก่อสร้างที่ควรจะเริ่มเมื่อปีที่แล้ว (2564) ได้ลงมือกันในปีนี้เสียที
ความเคลื่อนไหวล่าสุด แหล่งข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานเป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,554 ล้านบาท โดยมี รฟท. เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ซี.พี.) เป็นเอกชนผู้รับสัมปทาน 50 ปี
ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบและพิจารณาความเหมาะสมของทางแก้ปัญหา 4 ข้อตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แล้วให้นำกลับมารายงานข้อพิจารณาทั้งหมดในการประชุมครั้งหน้า
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามกับนายคณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ที่ประชุมสั่งการให้ไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จบ เวลาประชุม ครม.จะได้ไม่มีใครสงสัย พร้อมกับสั่งการให้ไปหารือกับผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่มีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นเจ้าของโครงการและมี บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (ร่วมทุนระหว่าง บางกอกแอร์เวย์ส , บีทีเอส และ ซิโนไทย) ในประเด็นการเชื่อมต่อโครงการทั้งสองให้ไร้รอยต่อที่สุด
นายคณิศ กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสนอการแบ่งจ่ายค่าใช้สิทธิรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่แบ่งได้หรือไม่ คงไปทางนั้นแน่นอน ซึ่ง ซี.พี.ได้ลงทุนพัฒนาโครงการนี้อีก 3,000 ล้านบาทด้วย ส่วนการส่งมอบพื้นที่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มก่อสร้างได้
คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ผ่าไส้ในข้อเสนอ 4 ข้อ
สำหรับข้อเสนอทั้ง 4 ข้อที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ที่ประชุม กบอ. พิจารณา ประกอบด้วย
1.การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท จากเดิมตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้จ่ายงวดเดียวตามวงเงินข้างต้นในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีหลังลงนามในสัญญาหรือ ภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 เปลี่ยนแปลงเป็น แบ่งจ่ายจำนวน 7 งวด งวดละ 1,067.11 ล้านบาท พร้อมเปิดทางให้แบ่งชำระไปจนกว่าผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หมดไป โดยการที่จะบอกว่า สถานการณ์โควิดในประเทศหมดไปนั้น การเจรจาระหว่างรัฐและเอกชนได้ข้อสรุปให้ยึดเอาวันที่มีประกาศยกเลิกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และพื้นที่ควบคุมโรคทั้งหมด พร้อมกับให้แก้ไขสัญญาสัมปทานให้เป็นไปตามนี้ด้วย
2.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. จากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) มีมติเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ให้รัฐเจรจากลุ่มซี.พี.ก่อสร้างงานโยธาช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง พร้อมปรับแก้หลักเกณฑ์สัญญา เพื่อชดเชยเอกชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
แหล่งข่าวจาก รฟท. เปิดเผยด้วยว่า สำหรับเงื่อนไขที่มีการเจรจากัน มีข้อสรุปคือ ทาง ซี.พี.จะรับภาระก่อสร้างงานโยธาเป็นโครงสร้างร่วมกับโครงการถไฟความเร็วสูงไทยจีน โดยจะต้องก่อสร้างงานโครงสร้างที่รองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 250 กม./ชม. แบบมาตรฐานจีนจากแผนเดิมที่จะก่อสร้างโครงสร้างร่วมที่รองรับความเร็วของรถไฟฟ้าที่ 160 กม./ชม. แบบมาตรฐานยุโรป ประเมินค่าก่อสร้างประมาณ 9,207 ล้านบาท
จากค่างานโยธาที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การเจรจาเงื่อนไขที่รัฐจะต้องจ่ายค่าร่วมลงทุนในโครงการนี้ วงเงิน 118,611 ล้านบาท ให้เร็วขึ้น จากเดิมตามสัญญาระบุให้เริ่มเบิกจ่ายเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นให้เริ่มจ่ายเมื่อเนื้องานโยธาส่วนใหญ่แล้วเสร็จ โดยให้เริ่มจ่ายในปีที่ 2-8 (2566-2570) และเพิ่มเงินประกันผลงาน 5% ของแต่ละงวดด้วย ซึ่งข้อเสนอข้อนี้ได้รับฟังความเห็นจากสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)แล้ว
3.ปรับแก้หลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการเจรจากันและเห็นร่วมกันว่า ควรจะเพิ่มเหตุผ่อนผัน พร้อมกับให้เพิ่มสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นคู่สัญญากับเอกชนร่วมกับ รฟท.ด้วย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภารกิจการบริหารโครงการ
และ 4.รายงานการส่งมอบพื้นที่โครงการ ตามที่เคยแบ่งไว้ 3 ส่วนคือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา, ช่วงพญาไท - บางซื่อ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์พญาไท - สุวรรณภูมิ ช่วงที่มีความพร้อมที่สุดคือ ช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ซึ่งได้เวนคืน และรุกไล่ที่จากผู้บุกรุกทั้งหมดแล้ว โดยได้ให้เอกชนเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมงานแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ต.ค.2565
ส่วนช่วงพญาไท - สุวรรณภูมิได้ให้เอกชนเดินรถและจัดเก็บรายได้ให้ รฟท. ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 โดยทำ MOU ไว้จนกว่าจะมีการจ่ายค่าใช้สิทธิทั้งหมด 10,671 ล้านบาท
ขณะที่ช่วงพญาไท - บางซื่อ คาดว่าจะส่งมอบให้ก่อสร้างได้ในเดือน มิ.ย. 2566 โดยอยู่ระหว่างย้ายท่อน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) พ้นแนวเส้นทางโครงการอยู่
นอกจากนี้ ยังได้ปรับการเริ่มต้นนับเวลาโครงการด้วย จากเดิมตามสัญญาให้เริ่มนับโครงการตั้งแต่วันที่ได้รับมอบพื้นที่ก่อสร้าง เป็นให้เริ่มนับเมื่อแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จ หรือประมาณต.ค. 2565
ส่วนการแก้ไขสัญญา ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างร่างสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมา โดยวางไทม์ไลน์ไว้คือ การร่างสัญญาฉบับใหม่จะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2565 นี้ จากนั้นภายในเดือนก.ย. 2565 จะส่งให้อัยการสูงสุดตรวจร่าง คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนในการพิจารณา ก่อนที่จะส่งมาให้บอร์ดอีอีซีพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วส่งให้ให้ ครม. พิจารณา โดยทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 2565 นี้ เพื่อให้ไปพร้อมกับการเริ่มก่อสร้างด้วย
TDRI ติงไม่ควรจ่ายเงินร่วมทุนเร็ว
ด้าน นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ข้อเสนอทั้ง 4 ประเด็น ถือเป็นข้อเสนอที่รับฟังได้ และไม่ได้เอื้อเอกชนจนเกินไป เพราะต้องยอมรับความจริงว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งหมด
เพียงแต่มีข้อกังวลในประเด็นการก่อสร้างโครงสร้างร่วมรถไฟความเร็วสูงไทยจีนบริเวณบางซื่อ - ดอนเมือง ซึ่งมีการขอให้รัฐจ่ายค่าลงทุนร่วม วงเงิน 118,000 ล้านบาททันที หากโครงการก่อสร้างคืบหน้าไปมากจากเดิมที่กำหนดให้จ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว 10 ปี
ตามหลักการที่ควรจะเป็นคือ ควรจะแก้ไขสัญญาปรับกรอบเวลา 10 ปี ให้น้อยลง แต่ไม่ควรจะจ่ายให้ในระหว่างก่อสร้าง เพราะหากจ่ายให้เลย รัฐบาลอาจจะเผชิญความเสี่ยงทางการเงินที่สูง และมีบางโครงการที่เผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีการแบ่งจ่ายในระหว่างก่อสร้าง เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ที่มีมีกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป เป็นผู้ลงทุนและรับสัมปทานโครงการ ก็เจอปัญหาเดียวกัน และยังไม่ได้มีการจ่ายเงินร่วมลงทุนด้วย
ส่วนการที่โครงการจะล่าช้าออกไปนั้นก็ถือเป็นเรื่องปกติของโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่การก่อสร้างมักจะล่าช้าอยู่แล้ว อย่างโครงการนี้ก็ล่าช้าจากเหตุผลที่รัฐส่งมอบพื้นที่ล่าช้าเองด้วย ดังนั้น รัฐจึงควรปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้รอบคอบกว่านี้ เพื่อให้การก่อสร้างต่างๆดำเนินการไปตามแผนงานที่ควรจะเป็น
สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI)