ไฮสปีด 3 สนามบินยังไม่คืบ ‘ภูมิธรรม’ ยันสิ้นปี 2566 แนวทางจะชัดเจนว่าจะไปทางไหน ระบุไม่มีเลิกโครงการ ยังเดินต่อ ปิดทางคุย BTS ด้านเลขาอีอีซีไม่รู้ ‘รฟท.’ คุยนอกรอบ ‘ซี.พี.’ ปมโครงสร้างร่วมบางซื่อ-ดอนเมือง ก่อนแย้มอู่ตะเภามีลุ้นส่งมอบ NTP ได้ก่อน หลัง ทร.ประกวดราคารันเวย์ 2 ธ.ค.นี้ ด้านผู้ว่ารถไฟหวังไตรมาส 1 ปี 67 ส่งมอบ NTP เริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เป็นคู่สัญญาสัมปทานระยะเวลา 50 ปี ขณะนี้ยังมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาระสำคัญคือการเร่งเจรจากับเอกชน และถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้จบภายในปี 2566 นี้
เมื่อถามว่า ที่อยากให้จบในปี 2566 คือการเจรจาหรือการส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice To Profeed:NTP) ก่อสร้างโครงการ นายภูมิธรรมระบุว่า ก็พยายามจะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อย่างน้อยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากเคลียร์กันได้ ตกลงกันได้ ก็ต้องเริ่มต้นทันที ก็อยู่ที่แต่ละขั้นตอน
ถามอีกว่า ท่าทีของเอกชนยังจะไปต่อหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีตอบว่า ท่าทีของเอกชนก็ดีขึ้น เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นและอยากให้เกิด แต่มันมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องมาก โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่อย่างโควิดที่ทำให้การลงทุนล่าช้าไป ก็อยู่ว่าจะหาทางออกให้กับโครงการนี้ได้อย่างไร? ส่วนมองสมมติฐานที่เลวร้ายถึงขั้นต้องยกเลิกโครงการไว้หรือไม่ จริงๆมันมีแนวทางอยู่แล้ว แต่วันนี้ทางรัฐบาลยังไม่ได้ยอมรับความพ่ายแพ้ รัฐบาลพยายามฝ่าฟันทุกปัญหาไปให้ได้ พยายามพูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น วันนี้ยังมีความหวังที่จะเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งทั้งหมดภายในสิ้นปี 2566 นี้จะมีความชัดเจนในทุกๆเรื่องว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร?
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากกรณี ซี.พี.ไม่สามารถเป็นคู่สัญญาได้ต่อไป จะพูดคุยกับกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) กิจการร่วมค้าที่ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์-บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น-บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ในฐานะกลุ่มที่เสนอราคาให้รัฐอุดหนุนต่ำรองลงมาที่ 169,934 ล้านบาท หรือไม่ นายภูมิธรรมระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีการคว่ำโครงการ ทุกอย่างยังเดินหน้าตามขั้นตอน
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)
@ไม่รู้ รฟท.-ซี.พี.คุยนอกรอบงานบางซื่อ-ดอนเมือง
ด้านนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า จากกรณีที่นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. ระบุถึงการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ ซี.พี. ประเด็นโครงสร้างร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และมีแนวโน้มว่า รฟท.จะต้องรับภาระตรงนี้เอง ตอนนี้ทางอีอีซียังไม่ทราบถึงประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นทางการ อีอีซีจะเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อประเด็นดังกล่าวเข้ามาถึงขั้นตอนของคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เท่านั้น
@คุย 3 ฝ่ายยังไม่นัด
ส่วนการเจรจา 3 ฝ่าย ได้แก่ ซีพี, อีอีซี และรฟท. ยังไม่ได้นัดหมายกันอย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นทั้ง รฟท.และซี.พี. จะต้องไปคุยกันให้จบกัน เพราะถ้าเข้าสู่การหารือ 3 ฝ่าย จะถือว่าขั้นตอนจะเข้าใกล้การเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการ กบอ.และบอร์ดอีอีซีแล้ว
เมื่อถามว่า หากการเจรจา 3 ฝ่ายยังไม่เกิดขึ้น จะส่งผลต่อกำหนดที่นายภูมิธณรมวางไว้ว่า ต้องจบในสิ้นปี 2566 หรือไม่ นายจุฬาตอบว่า หลักๆคือการตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในสิ้นปี 2566 นี้จะเดินหน้าไปอย่างไรต่อเท่านั้น
@เป้า NTP ก่อสร้างยังไม่ชัวร์
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การส่งมอบหนังสือ NTP ตอนนี้คาดว่า จะส่งมอบให้ซี.พี.เริ่มต้นก่อสร้างได้เมื่อไหร่ เลขาธิการอีอีซีตอบว่า การจะส่งมอบหนังสือ NTP ต้องอยู่ที่ทาง ซี.พี.ต้องบัตรส่งเสริมลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน ซึ่งจนถึงปัจจุบันทาง ซี.พี. ยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ทำให้ยังวางเป้าหมายในการส่งมอบหนังสือ NTP เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างไม่ได้ชัดเจน
ส่วนการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการ นายจุฬากล่าวว่า เท่าที่ทราบเหลือประเด็นที่จะต้องแก้ไขกันน้อยมากแล้ว แต่ยังตอบแทนไม่ได้ เพราะหน้าที่ของการตรวจแก้ไขถ้อยคำต่างๆอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด
@ทัพเรือเคาะประมูลรันเวย์ 2 ธ.ค.66
นอกจากนี้ เลขาธิการอีอีซียังเปิดเผยเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีกองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ และมีบจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ, บีทีเอส และซิโน-ไทย) เป็นคู่สัญญา มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาทว่า ในเดือน ธ.ค. 2566 ทาง ทร.จะประกาศประกวดราคา โครงการก่อสร้างทางวิ่ง และทางขับที่ 2 (Runway 2) ของสนามบินอู่ตะเภา กรอบวงเงินจำนวน 16,493.76 ล้านบาท ซึ่งตามเงื่อนไขในสัญญา การจะส่งมอบ NTP ให้เริ่มก่อสร้าง จะต้องประกาศประกวดราคาโครงการดังกล่าวด้วย คาดว่าต้นปี 2567 จะสามารถส่งมอบ NTP ให้เอกชน
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
@ไตรมาส 1 ปี 67 ส่งมอบ NTP ลุยก่อสร้าง
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่ารฟท. เปิดเผยว่า หลังจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง รฟท. และ ซี.พี. ตอนนี้ยังไม่ได้นัดหมาย 3 ฝ่ายคุยกันตามที่เลขาธิการอีอีซีกล่าว โดยแนวโน้ม ซี.พี.จะไม่รับงานโครงการสร้างร่วม ซึ่งจะต้องรอเจรจา 3 ฝ่ายเป็นขั้นนตอนต่อไป โดยคาดว่าจะนัดหมายกันได้ภายในปี 2566 นี้ แต่จะตกลงกันได้หรือเปล่า ไม่ทราบ
อีกด้านหนึ่ง รฟท.ก็กำลังขอกับทางการจีนในการลดแบบก่อสร้างมาตรฐานจีน จากเดิมรองรับความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. เหลือส่วนความเร็ว 150 กม./ชม. ซึ่งจีนยังไม่ตอบกลับมา
ขณะที่ความคืบหน้าในการแก้ไขสัญญา กำลังเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ตามที่บอร์ดอีอีซีมีมติ ซึ่งน่าจะเสนอได้ใน พ.ย.-ธ.ค. 2566 นี้ โดยขั้นตอนหลังจากอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ก็ต้องไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในลำดับสุดท้าย แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องรอว่า ซี.พี.จะได้บัตรส่งเสริมการลงทุนเมื่อใด ตอนนี้ รฟท.วางเป้าหมายในการส่งมอบ NTP โครงการในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567
นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่ารฟท.
อ่านประกอบ
- ซี.พี.ส่อไม่รับทำโครงสร้างร่วม ‘ไฮสปีดไทยจีน-3สนามบิน’ คาดงบบาน 2 หมื่นล้าน
- อีอีซีตั้งเป้า ม.ค. 67 เคลียร์แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน - ลุ้น NTP อู่ตะเภาสิ้นปี 66 นี้
- ‘รถไฟ’ขีดเส้นปี 66 ปัญหาไฮสปีด 3 สนามบินต้องจบ
- ส่องการบ้าน ‘คมนาคม’ เสิร์ฟสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ วัดฝีมือ ‘สุริยะ’ เข็นลงทุน 3.6 แสนล.
- ‘บิ๊กตู่’ ยกคณะดูงาน ไฮสปีดไทยจีน กทม.-โคราช ปักธงปี 2570 ได้นั่งแน่
- ครม.รับทราบผลงานไฮสปีดไทยจีน เฟส 1 ถึงโคราช เสร็จปี 69
- ครม.รับทราบความคืบหน้าไฮสปีด'ไทย-จีน'-จ่อถก 3 ชาติเชื่อมเส้นทาง'หนองคาย-เวียงจันทน์'
- เปิด 2 หลักการ'รบ.บิ๊กตู่'อุ้ม'ซีพี'ลุย'ไฮสปีด3สนามบิน' ชงรื้อสัญญาเยียวยา‘เหตุสุดวิสัย’
- ครม.เห็นชอบประกาศเก็บค่าโดยสารสายสีเหลือง - รับทราบแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน
- ไฮสปีด 3 สนามบิน ขยับส่งมอบ NTP เป็นในปี 66 สร้าง ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ ยังจบไม่ลง
- ไฮสปีด 3 สนามบินส่อส่งมอบ NTP ไม่ทัน มิ.ย. 66 ฝ่าทางตันบางซื่อ-ดอนเมือง 9 พ.ค.66
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ‘สุพัฒนพงษ์’ รับแก้สัญญา ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้
- บอร์ดอีอีซี ไม่รับข้อเสนอ ซี.พี.จ่ายไปสร้างไปแสนล้าน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ยังนิ่ง ‘สุพัฒนพงษ์’ ลุ้น พ.ย. 65 คณะทำงานเริ่มคุยปม 4 ข้อเสนอ
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- ชง ‘อนุอีอีซี’ เคาะแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เล็งจบใน ต.ค. 65 ปักหมุดเปิดปี 70
- ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง จ่ายเวนคืนที่ดิน ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ เพิ่มอีก 568 ล้าน
- ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบเวนคืนฯ 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' เป็น 5.7 พันล้าน
- ไฟเขียวงบ 4.1 พันล้าน! รื้อย้ายสาธารณูปโภคแนว ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
- เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66
- ครม.เห็นชอบร่างพรฎ.เวนคืนที่ดิน5จว. สร้างไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน