มีรายงานว่าอุตสาหกรรมเพชรของอิสราเอลได้อุดหนุนเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32,927,000,000 บาท)ให้กับกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ทำให้กลายเป็นแหล่งเงินทุนมหาศาลเพื่อเกื้อหนุนให้อิสราเอลเข้าไปยึดครองพื้นที่ปาเลสไตน์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ในการค้านี้เป็นอดีตนายพลกองทัพอิสราเอลและตัวแทนของมอสซาดหรือหน่วยสืบราชการลับอิสราเอล
ส่องคดีทุจริตโลกสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอการเปิดโปงว่าอิสราเอลมีส่วนในการใช้เพชรที่เกิดจากความขัดแย้งหรือว่าเพชรสีเลือดในทวีปแอฟริกา เพื่อสนับสนุบปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา
โดยรายงานข่าวจากสำนักข่าว TRT World ของตุรเคียระบุว่าอิสราเอลนั้นเป็นหนึ่งในห้าผู้ส่งออกเพชรที่มีการเจียระไนแล้ว แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรเพชรเป็นของตัวเองก็ตาม
@วิธีการทำงาน
รายงานจากหน่วยงาน Kimberley Process ซึ่งเป็นการรวมตัวของหน่วยงานด้านการค้านานาชาติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหลั่งไหลของเพชรสีเลือดเข้าสู่ตลาด เผยให้เห็นว่าปัจจุบันนี้ 6 ใน 10 ประเทศผู้เป็นแหล่งผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกายังเป็นประเทศซึ่งอยู่ในภาวะขัดแย้งในดินแดนที่อุดมไปด้วยเพชร
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อิสราเอลได้ขยายสถานะของตัวเองในทวีปแอฟริกาอย่างมีกลยุทธ์โดยอาศัยการลงทุนและได้ผลกำไรอย่างมากจากเหมืองเพชรของแอฟริกา
บริษัทอิสราเอลที่มีส่วนในการค้าอุปกรณ์ทางทหารและเชื่อมโยงกับกองทัพ ถูกกล่าวหาว่าสามารถเข้าถึงเพชรและแร่ธาตุอื่นๆในราคาที่ถูกลงอย่างมาก ช่วยให้อุตสาหกรรมเพชรของอิสราเอลเติบโตต่อไปได้
ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมเพชรของอิสราเอลจึงกลายเป็นผู้ที่มีส่วนในการค้าเพชรสีเลือดที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ยากของผู้คนนับล้าน
ประเด็นปัญหาเพชรสีเลือดและการสกัดแร่ธาตุล้ำค่าอย่างผิดกฎหมายในประเทศที่ยังคงมีความขัดแย้ง เช่นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนคองโก (DRC) ได้ถูกบันทึกอย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตามรายงานของนายฮาบิบุ จูมา (Habibu Djuma) นักวิจัยที่ศูนย์ประสานงานและฝึกอบรมแอฟริกา (AKEM)
“แร่ธาตุเหล่านี้มักถูกสกัดด้วยสภาวะที่มีความรุนแรงในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง โดยมีการใช้ผลกําไรเพื่อเป็นเงินทุนแก่กลุ่มติดอาวุธที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในพื้นที่” นายจูมากล่าว
อนึ่งประเทศคองโกมีกลุ่มติดอาวุธอยู่หล่ายกลุ่ม โดยส่วนมากมีฐานที่ตั้งในภูมิภาคตะวันออกของประเทศ กลุ่มที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่กลุ่ม M23 มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่จังหวัดนอร์ทคิวู (North Kivu) ส่วนกลุ่มอื่นๆมีฐานอยู่ที่จังหวัดอิตูรี (Ituri) และจังหวัดเซาท์คิวู (South Kivu) ตามรายงานของนายเอสปอร์ เอ็นงาลูกิ (Espoir Ngalukiye) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในคองโก
เหมืองเพชรในจังหวัดนอร์ทคิวู คองโก (อ้างอิงวิดีโอจาก Mongabay)
“กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ขึ้นชื่อเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง พวกเขามีส่วนร่วมในความรุนแรงอย่างกว้างขวาง รวมถึงการสังหารพลเรือนและความรุนแรงทางเพศ ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติมากมาย” นายเอ็นงาลูกิกล่าว
เพชรในพื้นที่เหล่านี้กลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดสงครามกลางเมืองและความทุกข์ทรมานในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เช่นที่เซียร์ราลีโอน แองโกลา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
นายจูมากล่าวต่อไปว่าในอดีตยูกันดาและรวันดามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำแร่ธาตุมีค่าเหล่านี้ขนข้ามพรมแดน จากคองโก และสองประเทศที่ว่านี้ก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่แข็งแกร่งและมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับอิสราเอล
“ในสถานการณ์นี้ อิทธิพลของอิสราเอลไม่จําเป็นต้องเปิดเผย แต่ก็ชัดเจนว่าอิสราเอลมีแนวโน้มที่จะดําเนินการผ่านผู้มีบทบาท อาทิ บริษัท เอกชน ธุรกิจ หรือเครือข่ายข่าวกรองที่ได้รับประโยชน์จากความไม่มั่นคงในภูมิภาค” นายจูมากล่าว
ย้อนไปในปี 2552 สหประชาชาติหรือยูเอ็นได้มีการกล่าวหาว่า อิสราเอลนําเข้าเพชรอย่างผิดกฎหมายจากแอฟริกา โดยเฉพาะจากไอวอรี่โคสต์และเซียร์ราลีโอน
มีการกล่าวอ้างว่านักธุรกิจอิสราเอลรายหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่ผิดจรรยาบรรณ เช่นการติดสินบนและการสกัดทรัพยากรที่ผิดกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ต้นทางของเพชร
แม้ว่ายูเอ็นจะมีมติตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1990 เพื่อจะป้องกันการไหลบ่าของเพชรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจากการกลายเป็นแหล่งเงินทุนให้กับสงครามแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าอิสราเอลจะยังได้ประโยชน์จากการค้านี้
@เงินทุนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายจูมากล่าวว่าอิสราเอลทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่สําคัญในอุตสาหกรรมเพชรทั่วโลกมาอย่างยาวนาน โดยเศรษฐกิจส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับกิจกรรมต่างๆ เช่น การตัดเพชร การขัดเงา และการค้า
คองโกเองก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตเพชรทั่วโลก โดยเหมืองในคองโกส่วนมากยังเป็นเหมืองแบบดั้งเดิมและเป็นเหมืองที่ใช้แรงงานมือเป็นหลัก ในปี 2563 คองโกผลิตเพชรได้รวมกว่า 10 ล้านกะรัต ทำให้กลายเป้นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตชั้นนำของโลก
ในปี 2566 คองโกมีสัดส่วนการผลิตเพชรอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตเพชรรายใหญ่อันดับสี่ของโลก
“แม้ว่าจะมีหลักฐานที่จำกัดซึ่งเชื่อมโยงไปถึงตัวละครจากอิสราเอลกับเพชรแห่งความขัดแย้งในประเทศคองโก แต่มีรายงานบางฉบับชี้ชัดว่าบริษัทและบุคคลจากอิสราเอลอาจได้รับผลประโยชน์จากการเข้าถึงพื้นที่ความขัดแย้ง โดยอาศัยประโยชน์จากประเทศเพื่อนบ้าน” นายจูมากล่าว
ตลาดแลกเปลี่ยนเพชรของอิสราเอลนั้นตั้งอยู่ที่เมืองรามัท กัน ใกล้กับกรุงเทลอาวีฟ มีบทบาทสําคัญในการค้าเพชรทั่วโลก โดยเป็นตลาดที่มีความเชี่ยวชาญในการขัดเงาเพชรและอัญมณีมีค่าอื่นๆ
ในช่วงปี 2554 รายได้จากอุตสาหกรรมเพชรที่ตลาดแห่งนี้คิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมประชาชาติ และในปี 2557 การค้าเพชรหยาบและเพชรขัดเงาของอิสราเอลก็มีมูลค่าอยู่ที่ 9.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (302,928,400,000 บาท)
ในปี 2566 การส่งออกเพชรของอิสราเอลมีส่วนสําคัญต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดหมู่ "อัญมณีและโลหะมีค่า" ที่มีสัดส่วนกว้างขึ้น ซึ่งคิดเป็น 12.3 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ และมีรายงานว่าอุตสาหกรรมเพชรของอิสราเอลได้อุดหนุนเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32,927,000,000 บาท)ให้กับกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ทำให้กลายเป็นแหล่งเงินทุนมหาศาลเพื่อเกื้อหนุนให้อิสราเอลเข้าไปยึดครองพื้นที่ปาเลสไตน์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ในการค้านี้เป็นอดีตนายพลกองทัพอิสราเอลและตัวแทนของมอสซาดหรือหน่วยสืบราชการลับอิสราเอลที่เข้าไปเดินเรื่องซื้อขายอาวุธและใช้ผลกำไรเข้าไปเกื้อหนุนอิสราเอลในการตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์
ในปี 2563 อิสราเอลส่งออกเพชรมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (246,952,500,000 บาท) ทําให้เป็นผู้ส่งออกเพชรรายใหญ่เป็นอันดับหกของโลก
ต่อมาในปี 2565 การส่งออกเพชรขัดเงาของอิสราเอลมีมูลค่าประมาณ 9.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (301,611,320,000 บาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 6.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (227,525,570,000 บาท) ในปี 2564
อิสราเอลได้ส่งออกเพชรขัดเงาประมาณ 2.26 ล้านกะรัต ในช่วงปี 2565 ซึ่งถ้าคิดเป็นราคาปลีกจะอยู่ที่กะรัตละ 4,058 ดอลลาร์สหรัฐฯ (133,617 บาท) ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเพชรอันดับต้นๆของโลก
ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างการค้าเพชรและอุตสาหกรรมอาวุธของอิสราเอลยังเชื่อมโยงกับการจัดหาเงินทุนสําหรับโครงการตั้งถิ่นฐานในเยรูซาเล็มและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง
หนึ่งในเครือข่ายการค้าเพชรที่กำลังเผชิญกับข้อหาครหาก็คือเครือข่ายของนายเลฟ เลวีฟ (Lev Leviev) มหาเศรษฐีพันล้านชาวยิวที่มีต้นกำเนิดมาจากรัสเซีย โดยเขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ในกองทัพอิสราเอลก่อนจะกลายมาเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมการค้าเพชรในระดับโลก
นายเลวีฟและครอบครัวถูกกล่าวหาว่าลักลอบนำเข้าเพชรเข้าสู่อิสราเอลโดยผิดกฎหมาย คิดเป็นมูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (592,686,000 บาท) และมีส่วนร่วมกับเงินทุนเพื่อเกื้อหนุนเพื่อเกื้อหนุนกิจกรรมการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เวสต์แบงก์ผ่านกองทุนที่ดินของอิสราเอล ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มหัวรุนแรง
การแสวงหาประโยชน์อย่างต่อเนื่องของอิสราเอลในทรัพยากรแอฟริกาผ่านการค้าเพชรจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชนและจริยธรรม
กลุ่มกบฎ M23 ในคองโก (อ้างอิงวิดีโอจาก African Biographics)
@ตัวละครจากอิสราเอลที่มีพฤติกรรมทุจริต
นายเบนนี่ สไตน์เม็ตซ์ (Benny Steinmetz) นักธุรกิจชาวอิสราเอลที่มีชื่อเสียง เป็นอีกหนึ่งรายที่พัวพันกับความขัดแย้งเกี่ยวกับการค้าเพชรของแอฟริกาอย่างลึกซึ้ง
นายสไตน์เม็ตซ์ถูกจับกุมที่เกาะไซปรัสของกรีกในปี 2566 และต้องเผชิญกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการทุจริตในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของแอฟริกา
ย้อนไปในปี 2564 นายสไตน์เม็ตซ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดในสวิตเซอร์แลนด์ในข้อหาว่าเขาได้จ่ายสินบน 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (279,879,500 บาท) เพื่อแลกกับการรักษาสิทธิ์ในการทำเหมืองในประเทศกินี โดยมีการจ่ายเงินผ่านภรรยาอดีตประธานาธิบดีกินีซึ่งก็คือนายล็องซานา คอนเต (Lansana Conté) ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2527-2551
บริษัท BSG Resources ของนายสไตน์เม็ตซ์ ยังเชื่อมโยงกับข้อตกลงที่น่าสงสัยอย่างต่อเนื่องในประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงในคองโกที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อหาผลกำไร
ความสัมพันธ์ของนายสไตน์เม็ตซ์ยังขยายออกไปนอกแอฟริกา โดยบริษัทของเขาเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้กับบริษัททิฟฟานีแอนด์โค (Tiffany & Co) บริษัทค้าอัญมณีในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นผู้สนับสนุนกองกองทัพอิสราเอล โดยเฉพาะกองพลน้อย Givati ซึ่งถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามในระหว่างการโจมตีฉนวนกาซาในช่วงปี 2551-2552
อีกกรณีหนึ่งได้แก่บริษัท Israel Diamond Exchange ซึ่งเป็นอีกผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมการค้าเพชร ก็ปรากฎว่ามีการระดมทุนจำนวนมากเพื่อสนับสนุนกองทัพอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโจมตีฉนวนกาซาในปี 2557
รายงานข่าวนำเสนอบทบาทของอิสราเอลกับเพชรสีเลือด และสงครามในพื้นที่ปาเลสไตน์ (อ้างอิงวิดีโอจาก TRT World)
นายแดน เกอร์ตเลอร์ หรือแดน จี (Dan G) นักธุรกิจอิสราเอลอีกรายพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำข้อตกลงที่ทุจริตในการค้าเพชรที่คองโก
“มีความเชื่อมโยงระหว่างอิสราเอลกับวิกฤตการณ์ในคองโกในปัจจุบัน นายแดน เกอร์ตเลอร์ พลเมืองอิสราเอล เคยทําสัญญากับรัฐบาลคองโกหลายฉบับ สัญญาเหล่านี้ครอบคลุมทรัพยากรแร่ต่างๆ รวมถึงเพชรที่มาจากภูมิภาคคาไซ (Kasai) และคาตังกา (Katanga)” นายเอ็นงาลูกิกล่าว
นายเกอร์ตเลอร์มีบทบาทสำคัญในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของคองโก ในฐานะที่เขาเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับนายโฌแซ็ฟ กาบีลา (Joseph Kabila) นี่ทำให้นายเกอร์ตเลอร์ได้รับสัญญาทำเหมืองมูลค่ามหาศาลในคองโก
นายเกอร์ตเลอร์จัดตั้งบริษัท IDI (International Diamond Industries) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 และผูกขาดการส่งออกเพชรในประเทศคองโก
การผูกขาดดังกล่าวเอื้อให้นายเกอร์ตเลอร์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพชรของคองโกในการหาผลกำไรอย่างมีนัยสำคัญจากความมั่งคั่งของประเทศในขณะที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ภายใต้อิทธิพลของเขา บริษัท IDI-Congo ควบคุมผลกำไร 70 เปอร์เซ็นต์ จากการขุดเพชร ขณะที่รัฐบาลคองได้รับผลกำไรเพียง 30 เปอร์เซ็นต์
บริษัทอีกแห่งของนายเกอร์ตเลอร์ชื่อว่า Gertler Group ยังได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจเหมืองแร่ของคองโก ส่งผลทำให้ได้ข้อตกลงที่มีมุลค่าต่ำกว่าตลาด ผ่านการปฏิบัติที่น่าสงสัย อาทิการติดสินบนเป็นต้น
ในที่สุดปฏิบัติการของนายเกอร์ตเลอร์ในคองโก ก็ทำให้เขาถูกทางการสหรัฐฯ คว่ำบาตร ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทุจิต และบ่อนทำลายเสถียรภาพโดยร่วม เนื่องจากการมีส่วนร่วมในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากร
เรียบเรียงจาก:https://www.trtworld.com/africa/israel-uses-conflict-diamonds-to-finance-gaza-genocide-18209038
- ส่องคดีทุจริตโลก:ศาลฝรั่งเศสพิจารณาคดี เสธ.ฯฮั้วจัดจ้าง บ.โลจิสติกส์ ขนส่งพื้นที่ขัดแย้ง
- ส่องคดีทุจริตโลก: สส.พรรคปฏิรูปอังกฤษ เจอข้อครหาซุกทรัพย์สินนับล้าน ณ เกาะเจอร์ซีย์
- ส่องคดีทุจริตโลก: ศาลโปแลนด์ออกหมายจับ ขรก.จัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไม่ส่งมอบให้ยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีต รบ.โปแลนด์จ้างเอกชนไร้ประสบการณ์ ผลิตกระสุนปืนใหญ่มูลค่าแสน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:สธ.ยูเครนสั่งยกเลิกประกวดราคาสร้าง รพ.หลังสื่อตีข่าวกระบวนการไม่เหมาะสม
- ส่องคดีทุจริตโลก:ตั้งข้อหาผู้บริหาร บ.คู่กรณีพันธมิตรทรัมป์ จ่ายสินบน ปธ.กกต.ฟิลิปปินส์
- ส่องคดีทุจริตโลก:EU เดินหน้าสอบ-เรียกเงิน รบ.ไซปรัสสร้างสถานีก๊าซ 2 หมื่นล. 6 ปีไม่เสร็จ
- ส่องคดีทุจริตโลก:รบ.เคนยาเดินหน้า เจาะจงเอกชนอินเดียยึดสัมปทาน บริหารสนามบินนาน 30 ปี
- ส่องคดีทุจริตโลก:อดีตผู้บริหารโกลด์แมนแซคส์ ถูกสอบจ่ายสินบน จนท.กานา แลกสัญญาโรงไฟฟ้า
- ส่องคดีทุจริตโลก:ผบ.ทร.ญี่ปุ่นประกาศลาออก เซ่นปมอื้อฉาว จนท.เบิกงบเท็จ-ความลับรั่วไหล
- ส่องคดีทุจริตโลก: ตร.บราซิลแจ้งข้อหาฟอกเงิน อดีต ปธน.หลังสั่งผู้ช่วยขายนาฬิการับจากซาอุฯ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ป.ป.ช.ออสซี่สอบสัญญา กห.3.6 หมื่นล. หลัง บ.ฝรั่งเศสประกวดราคาเจ้าเดียว
- ส่องคดีทุจริตโลก:สหรัฐฯ เผยขบวนการค้ายาเม็กซิโกใช้กลุ่มชาวจีนฟอกเงิน หากำไรนับพัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.จีนสร้างทางหลวงหมื่น ล.10ปีไม่เสร็จ ได้งานรัฐมาซิโดเนียเหนือ 2 สัญญา
- ส่องคดีทุจริตโลก:อดีต รมช.กห.จอร์เจีย แจ้งรายได้7แสน/ปี ซื้อแฟลตหรูในลอนดอน 26 ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:ภรรยานายกฯทาจิกิสถาน ไม่แจ้งรายได้ ซื้อวิลล่าหรู 51 ล.ณ นครดูไบ
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปงชาวรัสเซีย ซื้ออสังหาฯในดูไบ 2.3 แสนล. หลังเหตุรุกรานยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:พันธมิตรสื่อทั่วโลกแฉดูไบ แหล่งฟอกเงินผู้ก่อการร้าย-กลุ่มอาชญากร
- ส่องคดีทุจริตโลก:ฟิลลิป มอร์ริส ส่อใช้ช่องไม่โปร่งใส ผูกขาดธุรกิจบุหรี่แสน ล.ในอียิปต์
- ส่องคดีทุจริตโลก : สส.เท็กซัส ถูกกล่าวหารับสินบน 22 ล.แลกผลักดัน กม.เอื้อ ปย.อาเซอร์ไบจาน
- ส่องคดีทุจริตโลก: รมช.กห.รัสเซียถูกจับสินบน สะท้อนเกมการเมือง ก่อน ปูตินเป็น ปธน.สมัย 5
- ส่องคดีทุจริตโลก: บ.กลาโหมอังกฤษ กำไรแสนล. หาผลประโยชน์ รบ.ทุจริต-ละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ยุโรปเดินหน้าสอบเอกชนกรีซ ส่อฮั้วประมูลโครงการ EU 9.7 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารแอฟริกาแบนเอกชนจีน 1 ปี เหตุทำธุรกิจ-เดินหน้าสัญญาถนนไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก: นักธุรกิจ-นายหน้า รบ.จีน ในฟิจิ ถูกออสซี่กล่าวหาพัวพันองค์กรอาชญากรรม
- ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.แคนาดาประกาศยกเครื่องระบบจัดซื้อ หลังข้อครหาเอกชนทำใบเก็บเงินเท็จ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกชนสหรัฐฯจ่ายคอมมิชชั่นเจ้าชายซาอุฯ 501 ล. แลกสัญญากลาโหม 3.3 พัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกสาร กห.อังกฤษจ่ายสินบนให้ราชวงศ์ซาอุฯ แลกสัญญา บ.รบหมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปม กองทัพอาระกันขายวัสดุนิวเคลียร์แลกอาวุธ ใช้ยากูซ่าเป็นนายหน้า
- ส่องคดีทุจริตโลก: ลูกขุนสหรัฐฯฟันอดีตพ่อค้าน้ำมัน บ.วิตอล คดีสินบนเม็กซิโก-เอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อัยการยุโรปสั่งสอบ 3 มหาวิทยาลัยเอี่ยวโกงงบช่วยเหลือ EU นับร้อยล้าน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ปธน.เกาหลีใต้ อ้างเป็นเรื่องโชคร้าย หลังภรรยาถูกครหารับกระเป๋า 8 หมื่น
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.น้ำมันใหญ่จ่ายสินบนพัน ล.ให้ จนท.รัฐทุกระดับ-แลกสัญญาน้ำมันเอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตคนวงในแฉจนท. UN รวมหัวเรียกสินบนโครงการฟื้นฟูอิรัก 5.3 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดร่าแฉอดีต รมว.คลังมาเลย์ ถือครองอสังหาฯ 1.8 พันล. ณ ลอนดอน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกชนเยอรมันจ่ายเงิน 7.7พันล. ยุติคดีสินบนในต่างแดน
- ส่องคดีทุจริตโลก: สว.สหรัฐฯฉาวอีก ถูกครหารับสินบนนักลงทุน แลกออกแถลงการณ์สนับสนุนกาตาร์