สรุปตัวเลขสัดส่วนผู้ถือหุ้นก็คือทั้งบริษัท PMI,บริษัท Eastern Company และก็บริษัทสัญชาติอังกฤษที่มีนายอัล ฮุสไซนี เป็นเจ้าของด้วยส่วนหนึ่ง ทั้งหมดเข้าไปถือหุ้นในบริษัท United Tobacco เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 62 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามใครเป็นเจ้าของในสัดส่วนหุ้นที่เหลือ ตอนนี้ยังถือว่าเป็นความลับ
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีความไม่โปร่งใสของบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิสอย่าง ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนลหรือ PMI ที่เข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศอียิปต์
โดยสำนักข่าวเชิงสืบสวนอย่างสำนักข่าวโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริต ( OCCRP )ได้รายงานข่าวในกรณีนี้ว่าบริษัท PMI นั้นพบว่าเป็นบริษัทที่มีการถือหุ้นอยู่ในบริษัทลูกอีกแห่งชื่อว่าบริษัท United Tobacco ควบคู่ไปกับนักธุรกิจชาวเอมิเรตส์อีกคนที่ถือหุ้นชื่อว่านายอับดุลลาห์ อัล ฮุสไซนี (Abdullah Al Hussaini) ซึ่งเขาเป็นผู้ที่ขายบุหรี่ให้กับบริษัท PMI มานานหลายสิบปีแล้ว และบริษัท PMI ก็มีส่วนในการถือหุ้นในบริษัทอียิปต์อีกแห่งชื่อว่าบริษัท Eastern Company ซึ่งเคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน โดยบริษัท Eastern Company แห่งนี้ได้เข้าไปถือหุ้นเป็นจำนวน 24 เปอร์เซ็นต์ในบริษัท United Tobacco ทันทีหลังจากที่ United Tobacco ได้รับใบอนุญาตเพื่อผลิตบุหรี่จากหน่วยงานพัฒนาอุตสาหกรรมของอียิปต์ในช่วงเดือน เม.ย. 2565
ที่ทำการบริษัท Eastern Tobacco Company ในเมืองกิซา อียิปต์
สรุปตัวเลขสัดส่วนผู้ถือหุ้นก็คือทั้งบริษัท PMI,บริษัท Eastern Company และก็บริษัทสัญชาติอังกฤษที่มีนายอัล ฮุสไซนี เป็นเจ้าของด้วยส่วนหนึ่ง ทั้งหมดเข้าไปถือหุ้นในบริษัท United Tobacco เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 62 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามใครเป็นเจ้าของในสัดส่วนหุ้นที่เหลือ ตอนนี้ยังถือว่าเป็นความลับ โดยทางด้านของนายอิบราฮิม อิมบาบี (Ibrahim Imbabi) หัวหน้าแผนกยาสูบของสภาอุตสาหกรรมอียิปต์ซึ่งเชื่อมโยงกับกระทรวงอุตสาหกรรมอียิปต์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อพันธมิตรของ OCCRP ในอียิปต์ว่าประเด็นการตรวจสอบรายละเอียดความเป็นเจ้าของบริษัท United Tobacco เป็น "ปัญหาของรัฐบาลและเรื่องนี้ถือเป็นความลับ
กรณีนี้ สำนักข่าว OCCRP และสำนักข่าวพันธมิตรอย่าง The Examination ซึ่งเป็นสำนักข่าวด้านสุขภาพจึงได้มีการทำข่าวสืบสวนร่วมกันเพื่อจะนำเสนอที่ไปที่มาของสัญญาของบริษัท United Tobacco ว่าเป็นอย่างไร
เริ่มต้นที่การประกวดราคาที่นำไปสู่การออกใบอนุญาตผลิตบุหรี่ให้กับบริษัท United Tobacco การประกวดราคาที่ว่ามานี้ถูกโต้แย้งจากบริษัทยาสูบต่างชาติรายใหญ่ทั้งหมดที่มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในประเทศอียิปต์ ยกเว้นฟิลลิป มอร์ริส หรือว่า PMI นั่นเอง
เงื่อนไขการประกวดราคาระบุว่าผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องผลิตบุหรี่จำนวน 1.5 หมื่นล้านมวนต่อปี ซึ่งมีแค่ PMI เท่านั้นที่จำหน่ายบุหรี่ในจำนวนที่ว่านี้ต่อปี นั่นหมายความว่าบริษัทอื่นถ้าชนะใบอนุญาตก็จะต้องผลิตผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งเพื่อให้ถึงโควต้า 1.5 หมื่นล้านมวน
ตัวแทนจากบริษัท British American Tobacco,บริษัท Japan Tobacco และบริษัท Imperial Group ได้ทำหนังสือประท้วงร่วมกันส่งไปยังนายมอสตาฟา แมดบูลี (Mostafa Madbouly) นายกรัฐมนตรีอียิปต์ นี่จึงเป็นเหตุทำให้มีการปรับเงื่อนไขการประกวดราคาให้เหลืออยู่ที่โควตา 1 พันล้านมวน แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยังคงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการประกวดราคา
บริษัทเหล่านี้ได้ย้ำกับนายแมดบูลีว่าการออกใบอนุญาตให้กับเอกชนเพียงเจ้าเดียวนั้นจะทำเกิดการบิดเบือนตลาดและการผูกขาดในรูปแบบใหม่ ส่วน PMI ก็เป็นเอกชนเพียงเจ้าเดียวที่ไม่ได้ลงนามในจดหมายประท้วง และ United Tobacco ก็เป็นผู้เสนอราคารายเดียวในรอบสุดท้าย
ทาง PMI ไม่ได้มีการตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับข้อครหาการผูกขาด ขณะที่นายอัล ฮุสไซนีก็ไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอให้แสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด เช่นเดียวกับโฆษกของบริษัท Eastern Company ก็ไม่ได้ตอบคำถามเช่นกัน
@บริษัทพี่สาว น้องสาว
ข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท PMI และนายอัล ฮุสไซนี ในบริษัท United Tobacco นั้นมาจากการที่บริษัท PMI ได้ยื่นข้อมูลกับทางตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาหรือ SEC ในช่วงเดือน มิ.ย. 2566 ระบุว่าบริษัท PMI ได้รับผลประโยชน์จากบริษัท United Tobacco 25 เปอร์เซ็นต์ ผ่านบริษัทในดูไบชื่อว่าบริษัท Egypt Investments Holding
ส่วนนายอัล ฮุสไซนีก็ได้รับผลประโยชน์จากบริษัท United Tobacco ผ่านบริษัท Egypt Investments เช่นกัน โดยเขาเป็นเจ้าของในบริษัทนี้ส่วนหนึ่งผ่านบริษัทที่จดทะเบียนในลอนดอนชื่อว่าบริษัท Trans-Emirates Trading & Investment U.K. Limited ซึ่งบริษัทในอังกฤษนั้นพบว่านายอัล ฮุสไซนีเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกับนายราเชด อัล นูไอมี (Rashed Al Nuaimi) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อย่างไรก็ตามนายอัล นูไอมี ก็ไม่ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ส่งไปถึงทนายส่วนตัวของเขาเช่นกัน
PMI แจ้งต่อ SEC ว่า บริษัท Egypt Investments เป็นเจ้าของบริษัท United Tobacco ทั้งหมด 38 เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือจาก Egypt Investments และบริษัท Eastern Company แล้ว ก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครถือหุ้นในส่วนที่เหลือ
บุหรี่ของฟิลลิป มอร์ริสที่ขายในอียิปต์
นางชานา มาร์แชล รองผู้อํานวยการสถาบันตะวันออกกลางศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันให้สัมภาษณ์กับ The Examination ว่าการขาดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของบริษัทบุหรี่ในอียิปต์นั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าอาจมีกรณีที่บริษัทซึ่งมีกองทัพอียิปต์เป็นเจ้าของเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวในประเทศ
ตามข้อมูลของศูนย์คาร์เนกี มิดเดิล อีสต์ เซ็นเตอร์ (Carnegie Middle East Center) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนระบุว่ากองทัพอียิปต์เป็นเจ้าของบริษัทหลายสิบแห่งในอียิปต์ รวมถึงอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ การสํารวจแร่ทองคํา และการจัดการสวนสัตว์ และบทบาททางเศรษฐกิจของกองทัพได้ขยายตัวอย่างมากในรอบทศวรรษนับตั้งแต่ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซีเข้ายึดอํานาจผ่านการรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ
ทางด้านนางมาร์แชลกล่าวว่าบางครั้งกองทัพยังคงถือหุ้นส่วนน้อยในอุตสาหกรรมที่มียุทธศาสตร์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่ยัง "เป็นสัมปทานพิเศษที่เจ้าของธุรกิจต้องทําเพื่อดําเนินการในอียิปต์"
อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ากองทัพอียิปต์มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท United Tobacco หรือไม่ ขณะที่ PMI นายอัล ฮุสไซนี และโฆษกของบริษัท Eastern Company ก็ไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับตัวตนของผู้ถือหุ้นบริษัท United Tobacco รายอื่นๆ
อียิปต์ได้เริ่มกระบวนการไปอีกก้าวหนึ่งในการแปรรูปภาคธุรกิจอุตสาหกรมยาสูบในประเทศตั้งแต่ในช่วงเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา โดยทางรัฐบาลอียิปต์ได้มีการขายหุ้นในบริษัท Eastern Company บางส่วนให้กับบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งใหม่ในดูไบชื่อว่าบริษัท Global Investments Holding แน่นอนว่าบริษัทแห่งนี้มีเจ้าของส่วนหนึ่งคือนายอัล ฮุสไซนี
ผลก็คือว่าบริษัท Global Investments ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวในบริษัท Eastern Company โดยมีสัดส่วนหุ้นทั้งสิ้น 30 เปอร์เซ็นต์ในบริษัท นี่หมายความว่านายอัล ฮุสไซนี มีหุ้นในสองบริษัทในอียิปต์ซึ่งมีสิทธิในการผลิตบุหรี่ได้แก่บริษัท Eastern Company และ บริษัท United Tobacco ส่วนตัวนายอิมบาบีที่เป็นหัวหน้าแผนกยาสูบของสภาอุตสาหกรรมอียิปต์ก็ได้อธิบายว่าบริษัท Global Investments และบริษัท United Tobacco มีความสัมพันธ์เป็นบริษัทพี่สาวและน้องสาว
หรือก็คือนายอัล ฮุสไซนี อยู่ในตำแหน่งที่มีความมั่งคั่งเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากยาสูบเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูมากในอียิปต์ โดยในปี 2564 ภาษีสรรพสามิตยาสูบมีส่วนสนับสนุนงบประมาณของอียิปต์มากที่สุด แซงหน้าคลองสุเอซ และให้ภาษี 4.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (171,202,200,000 บาท) แก่รัฐบาลอียิปต์ที่กำลังถูกปัญหารุมเร้าด้วยอัตราเงินเฟ้อและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
ด้วยยอดขายบุหรี่ 1.14 แสนล้านมวนในปี 2565 ทำให้คาดกันว่าอียิปต์ยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ความต้องการยาสูบน่าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก
นายอับดุลลาห์ อัล ฮุสไซนี ผู้ขายบุหรี่รายสำคัญให้กับฟิลลิป มอร์ริส
@ข้อกล่าวหาการลักลอบขนบุหรี่เถื่อน
PMI ถูกกล่าวหาว่าได้กระทําการสมรู้ร่วมคิดกับผู้ลักลอบขนบุหรี่เพื่อเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ของตนเข้าสู่ตลาดโลก พร้อมกับบริษัทยาสูบรายใหญ่อีกสามแห่ง โดยทั้งหมดถูกสหภาพยุโรปหรืออียูฟ้องร้องในช่วงต้น ค.ศ. 2000 และทั้งหมดตกลงกันในช่วงค.ศ. 2004 ว่าจะจ่ายค่าปรับ 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (45,753,750,000 บาท) และใช้มาตรการเพื่อควบคุมห่วงโซ่อุปทานของตนให้ดีขึ้น แต่ PMI ก็ปฏิเสธเสียงแข็งต่อข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการร้องเรียนต่อศาลสหรัฐฯ ในปี 2563 ตัวแทนผู้จัดจําหน่ายของ PMI ในระดับภูมิภาคกล่าวหาว่าบริษัท PMI ได้สั่งให้เขาลักลอบนําผลิตภัณฑ์บุหรี่ของ PMIเข้าสู่ลิเบียและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
นายราอูล เซทรูค (Raoul Setrouk) ตัวแทนผู้จัดจำหน่ายได้มีการนำเข้าบุหรี่ของบริษัท PMI เข้าสู่ประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกาอาทิ ชาด เป็นต้น โดยในคำร้องของนายเซทรูค (คำร้องถูกตีตกเพราะปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล) ระบุว่า PMI ได้ขอให้เขาสร้างเอกสารยอดขายปลอมแสดงข้อมูลว่าบุหรี่ถูกขายให้กับบริษัทชื่อว่า Rashideen โดย PMI ยังได้ส่งเอกสารต่างๆอาทิมาให้เขา อาทิ ใบเสร็จรับเงิน เพื่อสร้างความสมจริงในการทำเอกสารยอดขายปลอมๆ
แม้ว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะไม่เปิดเผยรายละเอียดการเป็นเจ้าของบริษัทต่อสาธารณะ แต่ OCCRP ก็พบเครือข่ายของบริษัทที่เรียกว่า Rashideen และมีหลักฐานมากมายว่านายอัล ฮุสไซนีน่าจะเป็นบุคคลสําคัญที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการนี้
นายเซทรูคได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวพร้อมกับเอกสารใบเสร็จรับเงินต่างๆเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของเขาในเอกสารคำฟ้องต่อศาลสหรัฐฯ โดยในเอกสารใบเสร็จรับเงินระบุว่าบริษัทของเขาได้มีการนำเข้าบุหรี่จากบริษัท PMI เข้าไปยังชาดผ่านบริษัทที่ชื่อว่า Transafrica Trading Limited ซึ่งบริษัทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท Rashideen อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของนายเซทรูค และจากข้อมูลบันทึกบริษัท PMI ไม่พบว่านายอัล ฮุสไซนี และบริษัท Rashideen ตกเป็นจำเลยแต่อย่างใด
ในปี 2563 PMI ได้ให้สัมภาษณ์สื่อฝรั่งเศสว่าข้อกล่าวหาของนายเซทรูคที่นิวยอร์ก นั้นไม่มีมูลความจริงและปฏิเสธการมีส่วนร่วมใด ๆ ในการลักลอบนําเข้า โดยกล่าวเสริมว่าจุดมุ่งหมายของการร้องเรียนของนายเซทรูคคือ "เพื่อพยายามทําให้ PMI เสื่อมเสียชื่อเสียง" เพื่อให้นายเซทรูคได้รับค่าตอบแทนที่ไม่สมควรได้รับจากบริษัท
ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อหาทางนายอัล ฮุสไซนี และกลุ่มบริษัท Rashideen เพื่อขอความเห็นเป็นจำนวนหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อโดยตรง ติดต่อผ่านผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัท แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด
ส่วนฟิลลิป มอร์ริส หรือ PMI ก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามทางอีเมลที่ถูกส่งโดยสำนักข่าว OCCRP และ The Examination ซึ่งถามเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการลักลอบนําเข้าและคําถามเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของ United Tobacco แต่ฟิลลิป มอร์ริสกล่าวตอบเพียงแค่ว่า "สิ่งนี้ไม่ถือเป็นการยอมรับว่าข้อกล่าวหาใดๆ ที่คุณแจ้งนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง"
อนึ่งก่อนหน้านี้ฟิลลิป มอร์ริสได้เคยตอบคำถามผ่านจดหมายถึงสำนักข่าว OCCRP แล้วครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าบริษัทพยายามจะ "ยับยั้งการไหลบ่าของยาสูบที่ผิดกฎหมาย" โดยการลงทุนใน "การควบคุมห่วงโซ่อุปทาน" และ "การตรวจสอบสถานะของลูกค้าและซัพพลายเออร์" รวมถึงมาตรการอื่นๆ และบริษัทยังยืนยันว่าสนับสนุนความคิดริเริ่มขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO เพื่อต่อสู้กับการลักลอบนําเข้ายาสูบ
เรียบเรียงจาก: https://www.occrp.org/en/investigations/philip-morris-enters-egypt-market-following-disputed-tender
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก : สส.เท็กซัส ถูกกล่าวหารับสินบน 22 ล.แลกผลักดัน กม.เอื้อ ปย.อาเซอร์ไบจาน
- ส่องคดีทุจริตโลก: รมช.กห.รัสเซียถูกจับสินบน สะท้อนเกมการเมือง ก่อน ปูตินเป็น ปธน.สมัย 5
- ส่องคดีทุจริตโลก: บ.กลาโหมอังกฤษ กำไรแสนล. หาผลประโยชน์ รบ.ทุจริต-ละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ยุโรปเดินหน้าสอบเอกชนกรีซ ส่อฮั้วประมูลโครงการ EU 9.7 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารแอฟริกาแบนเอกชนจีน 1 ปี เหตุทำธุรกิจ-เดินหน้าสัญญาถนนไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก: นักธุรกิจ-นายหน้า รบ.จีน ในฟิจิ ถูกออสซี่กล่าวหาพัวพันองค์กรอาชญากรรม
- ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.แคนาดาประกาศยกเครื่องระบบจัดซื้อ หลังข้อครหาเอกชนทำใบเก็บเงินเท็จ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกชนสหรัฐฯจ่ายคอมมิชชั่นเจ้าชายซาอุฯ 501 ล. แลกสัญญากลาโหม 3.3 พัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกสาร กห.อังกฤษจ่ายสินบนให้ราชวงศ์ซาอุฯ แลกสัญญา บ.รบหมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปม กองทัพอาระกันขายวัสดุนิวเคลียร์แลกอาวุธ ใช้ยากูซ่าเป็นนายหน้า
- ส่องคดีทุจริตโลก: ลูกขุนสหรัฐฯฟันอดีตพ่อค้าน้ำมัน บ.วิตอล คดีสินบนเม็กซิโก-เอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อัยการยุโรปสั่งสอบ 3 มหาวิทยาลัยเอี่ยวโกงงบช่วยเหลือ EU นับร้อยล้าน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ปธน.เกาหลีใต้ อ้างเป็นเรื่องโชคร้าย หลังภรรยาถูกครหารับกระเป๋า 8 หมื่น
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.น้ำมันใหญ่จ่ายสินบนพัน ล.ให้ จนท.รัฐทุกระดับ-แลกสัญญาน้ำมันเอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตคนวงในแฉจนท. UN รวมหัวเรียกสินบนโครงการฟื้นฟูอิรัก 5.3 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดร่าแฉอดีต รมว.คลังมาเลย์ ถือครองอสังหาฯ 1.8 พันล. ณ ลอนดอน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกชนเยอรมันจ่ายเงิน 7.7พันล. ยุติคดีสินบนในต่างแดน
- ส่องคดีทุจริตโลก: สว.สหรัฐฯฉาวอีก ถูกครหารับสินบนนักลงทุน แลกออกแถลงการณ์สนับสนุนกาตาร์