บัญชีทรัพย์สินของนายมูจิริก็ไม่ปรากฏว่าทั้งเขาและครอบครัวมีรายได้หรือทรัพย์สินพอจะซื้อแฟลตได้ ส่วนเอกสารทะเบียนที่ดินของอังกฤษปรากฏว่าการซื้อแฟลตดังกล่าวเป็นการซื้อโดยทันทีด้วยเงินสด ไม่มีการจำนองหรือว่าใช้เงินกู้จากธนาคาร
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีที่อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) กระทรวงกลาโหมประเทศจอร์เจีย ซื้ออสังหาริมทรัพย์สุดหรูกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
โดยสำนักข่าวโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริต (OCCRP)ได้รายงานข่าวกรณีอดีตรัฐมนตรีคนดังกล่าวได้ไปซื้อแฟลตใจกลางกรุงลอนดอน ผ่านบริษัทเปลือกหอย และเขายังไม่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทตามที่กฎหมายจอร์เจียกำหนด
อย่างไรก็ตาม ด้วยกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลฉบับใหม่ในสหราชอาณาจักร ผู้สื่อข่าวเลยสืบทราบว่านายมามูกา มูจิริ (Mamuka Mujiri) อดีต รมช.ได้มีการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขตในประเทศเซเชลส์ ไม่นานหลังจากที่เขาพ้นตำแหน่ง รมช.ในปี 2551 โดยนายมูจิริยังได้ใช้บริษัทที่ว่ามานี้ดำเนินการซื้ออพาร์ตเมนต์แบบสองห้องนอนมูลค่า 5.6 แสนปอนด์ (26,162,501 บาท) ในย่านเซาท์แฮมป์สตีด (South Hampstead) กรุงลอนดอน ในช่วงปี 2552
นายมูจิริได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รมช.ในปี 2548 ทำให้เขามีส่วนร่วมในการจัดหาอาวุธต่างๆของจอร์เจีย อย่างไรก็ตามสามปีหลังจากนั้น เขาถูกปลดออกในช่วงการสับเปลี่ยนตำแหน่งทางทหารครั้งใหญ่ หลังจากเหตุรัสเซียรุกรานจอร์เจีย
ตามกฎหมายที่จอร์เจีย นายมูจิริจำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินในทุกๆปีตั้งแต่ปี 2546-2551 และเขายังต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อพ้นจากตำแหน่ง รมช. ทว่าในการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นครั้งสุดท้าย เขากลับไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินซึ่งรวมถึงบริษัทนอกอาณาเขตชื่อว่าบริษัท Brentley Corporation และเขาก็ไม่ได้ยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้ หรือการอธิบายว่าทำไมเขาถึงสามารถซื้อแฟลตกลางกรุงลอนดอนได้
ส่วนทางด้านของนายบาตู คูเตเลีย (Batu Kutelia) อดีต รมช.กระทรวงกลาโหมจอร์เจียอีกคนที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเดียวกับนายมูจิริ กล่าวยืนยันว่าทางการควรดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่เขายืนยันว่าเขาไม่รู้เรื่องราวความผิดปกติใดๆที่เกี่ยวข้องกับนายมูจิริเลย
ขณะที่นายมูจิริก็ไม่ได้ตอบกลับคำขอให้แสดงความเห็นเช่นกัน
ขณะที่บัญชีทรัพย์สินของนายมูจิริก็ไม่ปรากฏว่าทั้งเขาและครอบครัวมีรายได้หรือทรัพย์สินพอจะซื้อแฟลตได้ ส่วนเอกสารทะเบียนที่ดินของอังกฤษปรากฏว่าการซื้อแฟลตดังกล่าวเป็นการซื้อโดยทันทีด้วยเงินสด ไม่มีการจำนองหรือว่าใช้เงินกู้จากธนาคาร
ข้อมูลเงินเดือนทั้งปีของนายมูจิริพบว่าไม่เคยเกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (735,700 บาท) ขณะที่ภรรยาและพ่อแม่ของเขามีรายได้ต่อปีรวมกันน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (367,850 บาท) ซึ่งรายได้ดังกล่าวนั้นถือว่าใกล้เคียงกับรายได้ประชาชาติโดยรวมต่อคน ซึ่งธนาคารโลกเคยประเมินไว้ในปี 2553 ว่าจอร์เจียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 9,580 ดอลลาร์สหรัฐฯ (352,400 บาท) และอีก 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรยังต้องเผชิญกับความยากจน
ทรัพย์สินที่ประกาศของครอบครัวมูจิริ เกือบทั้งหมดเป็นของพ่อของเขาในขณะนั้น ก็ไม่สามารถอธิบายแหล่งที่มาของเงินทุนสําหรับอพาร์ตเมนต์ในอังกฤษได้เช่นกัน พวกเขามีทรัพย์สินรวมถึงอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าประมาณ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (7,357,000 บาท) ในปี 2551 มีเงินออม ภาพวาดแจกันโบราณและหลักทรัพย์มูลค่าประมาณ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (5,517,750 บาท) ขณะที่ทะเบียนที่ดินของจอร์เจียไม่แสดงว่านายมูจิริเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ในประเทศก่อนปี 2560
ส่วนเอกสารที่ได้มาโดยสำนักข่าว OCCRP และสำนักข่าวพันธมิตรในจอร์เจียอย่าง GMC ก็ไม่ปรากฏข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจทั้งของนายมูจิริและบริษัท Brentley Corporation ของเขา ที่สามารถอธิบายถึงแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับการซื้อแฟลตกลางกรุงลอนดอนได้
ทางเข้าแฟลตกลางกรุงลอนดอน
@กฎระเบียบใหม่นำไปสู่การเปิดเผยครั้งใหม่
เป็นเวลานานกว่าสิบปี ที่แฟลตของนายมูจิริรวมไปถึงบริษัทนอกอาณาเขตของเขาถูกเก็บเป็นความลับ
ต่อมาในปี 2565 สหราชอาณาจักรได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้นิติบุคคลต่างชาติที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินในประเทศอังกฤษและเวลส์ ต้องเปิดเผยตัวตนของเจ้าของผลประโยชน์สูงสุดหรือ UBO ซึ่งก็คือบุคคลในระดับขั้นสุดที่ควบคุมนิติบุคคลและสามารถหาผลกำไรได้จากมัน
นี่ส่งผลทำให้บริษัท Brentley Corporation ต้องทำตามกฎหมายฉบับใหม่ด้วยเช่นกัน โดยวันที่ 12 ม.ค. 2566 บริษัทได้มีการเปิดข้อมูลว่าเขาเป็นผู้รับผลประโยชน์สูงสุดนับแต่ก่อตั้งบริษัท และเพียงไม่กี่อาทิตย์หลังจากที่ข้อมูลกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของนายมูจิริเปิดเผยสู่สาธารณะ เอกสารบันทึกที่ดินก็ระบุว่าเขาได้ขายแฟลตของเขาในราคา 615,000 ปอนด์ (28,795,399 บาท)
ช่วงเวลาที่นายมูจิริได้ของแฟลต เขาออกจากราชการมานานกว่า 14 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงภายใต้ประธานาธิบดีจอร์เจียสองคนติดต่อกัน
นายมูจิริเคยดำรงตำแหน่งภายใต้การบริหารงานของอดีตประธานาธิบดีเอดูอาร์ด เชวาร์ดนัดเซ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีคนนี้ต้องลาออกไปในเดือน พ.ย. 2546 หลังการประท้วงที่เรียกว่าการปฏิวัติกุหลาบ ต่อมานายมูจิริก็ได้ดำรงตำแหน่งภายใต้การบริหารงานของนายมีเคอิล ซาคัชวีลี อดีตประธานาธิบดีจอร์เจีย ผู้ที่ว่ากันว่าเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของนายเชวาร์ดนัดเซ
ก่อนที่นายมูจิริจะดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงกลาโหม เขาเคยมีตำแหน่งในกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ,สํานักงานอัยการสูงสุดและกระทรวงกิจการภายในของจอร์เจีย
ในช่วงที่รัสเซียได้รุกรานจอร์เจียเป็นเวลาห้าวัน นี่ดูเหมือนกับจะเป็นการยุติอาชีพข้าราชการของนายมูจิริ โดยสงครามนี้ถูกมองว่าเป็นหายนะของจอร์เจีย และกองกำลังรัสเซียยังยึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่ของจอร์เจียในปัจจุบัน
หลังการรุกราน ประเทศสมาชิกนาโตเรียกร้องให้จอร์เจียปฏิรูปการป้องกันประเทศ ส่วนฝ่ายค้านจอร์เจียเรียกร้องให้มีการปลดนายดาวิต เคเซราชวิลี (Davit Kezerashvili) รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหมในเวลานั้น
ภายใต้แรงกดดัน อดีตประธานาธิบดีซาคัชวีลีจึงต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงการปลดนายเคเซราชวิลีและนายมูจิริ รมช.กระทรวงกลาโหม
ข่าวความเสี่ยงว่ารัสเซียอาจจะรบกันจอร์เจียอีกครั้งหนึ่ง (อ้างอิงวิดีโอจาก Kanal13)
@ข้อตกลงด้านอาวุธที่น่าสงสัย
นายมูจิริพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธที่น่าสงสัยตามข้อมูลเอกสารการสนทนาทางการทูตสหรัฐฯ ซึ่งถูกเผยแพร่โดยวิกิลีกส์ในเดือน พ.ย. 2551
เอกสารการสนทนาที่อยู่ในชั้นเอกสารความลับระบุว่าศูนย์การปฏิบัติตามกฎระเบียบการควบคุมการค้าของสํานักงานกลาโหมของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (DTCC) มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความพยายามของจอร์เจียที่จะจัดหาปืนไรเฟิลและเครื่องยิงลูกระเบิด ซึ่งนายมูจิริได้ลงนามในเอกสารสำหรับการจัดส่ง ในนามของกระทรวงกลาโหมจอร์เจีย
ข้อตกลงดังกล่าวพบว่ามีบริษัทที่เป็นนายหน้าได้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในเซเชลส์และในบัลแกเรีย โดย DTCC ระบุว่าทั้งสองบริษัทมีความเชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมและการค้าอาวุธสีเทา
ขณะที่กระทรวงกลาโหมจอร์เจียไม่ตอบคำขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการจัดซื้ออาวุธและบทบาทของนายมูจิริ
ทางด้านของนายคูเตเลีย อดีต รมช.อีกคนที่เคยทำงานกับนายมูจิริกล่าวว่าในเวลานั้นจอร์เจียถูกห้ามไม่ให้ซื้ออาวุธเช่น รถหุ้มเกราะ ปืนใหญ่ และระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ผลิตในตะวันตก
"ดังนั้น ความสามารถในการป้องกันประเทศส่วนใหญ่ที่จอร์เจียได้รับจึงเป็นมาตรฐานเก่าของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นการจัดซื้อในตลาดหลังโซเวียตล่มสลาย ตลาดเหล่านั้นมีความเสี่ยงในการทุจริตในระดับสูง" นายคูเตเลียกล่าวและย้ำว่าเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับบทบาทของนายมูจิริในการจัดซื้อทางทหารแต่อย่างใด โดยสิ่งเหล่านี้ถือว่าอยู่นอก “แฟ้มงานของผม ในช่วงที่ผมทำงานให้กับกระทรวง”
เรียบเรียงจาก:https://www.occrp.org/en/37-ccblog/ccblog/18772-former-georgian-defense-official-paid-cash-for-a-secret-london-flat
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก:ภรรยานายกฯทาจิกิสถาน ไม่แจ้งรายได้ ซื้อวิลล่าหรู 51 ล.ณ นครดูไบ
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปงชาวรัสเซีย ซื้ออสังหาฯในดูไบ 2.3 แสนล. หลังเหตุรุกรานยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:พันธมิตรสื่อทั่วโลกแฉดูไบ แหล่งฟอกเงินผู้ก่อการร้าย-กลุ่มอาชญากร
- ส่องคดีทุจริตโลก:ฟิลลิป มอร์ริส ส่อใช้ช่องไม่โปร่งใส ผูกขาดธุรกิจบุหรี่แสน ล.ในอียิปต์
- ส่องคดีทุจริตโลก : สส.เท็กซัส ถูกกล่าวหารับสินบน 22 ล.แลกผลักดัน กม.เอื้อ ปย.อาเซอร์ไบจาน
- ส่องคดีทุจริตโลก: รมช.กห.รัสเซียถูกจับสินบน สะท้อนเกมการเมือง ก่อน ปูตินเป็น ปธน.สมัย 5
- ส่องคดีทุจริตโลก: บ.กลาโหมอังกฤษ กำไรแสนล. หาผลประโยชน์ รบ.ทุจริต-ละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ยุโรปเดินหน้าสอบเอกชนกรีซ ส่อฮั้วประมูลโครงการ EU 9.7 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารแอฟริกาแบนเอกชนจีน 1 ปี เหตุทำธุรกิจ-เดินหน้าสัญญาถนนไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก: นักธุรกิจ-นายหน้า รบ.จีน ในฟิจิ ถูกออสซี่กล่าวหาพัวพันองค์กรอาชญากรรม
- ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.แคนาดาประกาศยกเครื่องระบบจัดซื้อ หลังข้อครหาเอกชนทำใบเก็บเงินเท็จ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกชนสหรัฐฯจ่ายคอมมิชชั่นเจ้าชายซาอุฯ 501 ล. แลกสัญญากลาโหม 3.3 พัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกสาร กห.อังกฤษจ่ายสินบนให้ราชวงศ์ซาอุฯ แลกสัญญา บ.รบหมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปม กองทัพอาระกันขายวัสดุนิวเคลียร์แลกอาวุธ ใช้ยากูซ่าเป็นนายหน้า
- ส่องคดีทุจริตโลก: ลูกขุนสหรัฐฯฟันอดีตพ่อค้าน้ำมัน บ.วิตอล คดีสินบนเม็กซิโก-เอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อัยการยุโรปสั่งสอบ 3 มหาวิทยาลัยเอี่ยวโกงงบช่วยเหลือ EU นับร้อยล้าน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ปธน.เกาหลีใต้ อ้างเป็นเรื่องโชคร้าย หลังภรรยาถูกครหารับกระเป๋า 8 หมื่น
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.น้ำมันใหญ่จ่ายสินบนพัน ล.ให้ จนท.รัฐทุกระดับ-แลกสัญญาน้ำมันเอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตคนวงในแฉจนท. UN รวมหัวเรียกสินบนโครงการฟื้นฟูอิรัก 5.3 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดร่าแฉอดีต รมว.คลังมาเลย์ ถือครองอสังหาฯ 1.8 พันล. ณ ลอนดอน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกชนเยอรมันจ่ายเงิน 7.7พันล. ยุติคดีสินบนในต่างแดน
- ส่องคดีทุจริตโลก: สว.สหรัฐฯฉาวอีก ถูกครหารับสินบนนักลงทุน แลกออกแถลงการณ์สนับสนุนกาตาร์