กรณีของมหาวิทยาลัยเดากัฟปิลส์ (Daugavpils) พบว่ามีความเสียหายอยู่ที่ 6 แสนยูโร (23,160,855 บาท),กรณีการสืบสวนเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยลูเซียน บลาก้า แห่งซีบิว (Lucian Blaga University of Sibiu) ว่ามีการฉ้อโกงกองทุน Erasmus+ เป็นมูลค่า 1 ล้านยูโร (38,601,426 บาท) และกรณีสุดท้ายเกี่ยวกับคณะภูมิมาตรศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยซาเกร็บประเทศโครเอเชีย ซึ่งเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์และบุคคลต้องสงสัยอีก 27 คน ถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงเงินอดหนุนและทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2 ล้านยูโร (77,202,852 บาท)
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีการทุจริตเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปหรืออียู
โดยนิตยสารScience|Business ของประเทศเบลเยียมที่รายงานข่าวเกี่ยวกับแวดวงวิชาการได้รายงานข่าวว่าตอนนี้สํานักงานอัยการยุโรปหรือ EPPO กำลังดำเนินการสืบสวนมหาวิทยาลัยจำนวนสามแห่งในภูมิภาคยุโรปกลางและในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ซึ่งการดำเนินการสืบสวนเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.ด้วยข้อกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยเหล่านี้ทุจริตเงินสนับสนุนจากอียู
คดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาการฉ้อโกงการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้กองทุนเพื่อสังคมของสหภาพยุโรป โดยการฉ้อโกงใน สามกรณี พบว่ากรณีของมหาวิทยาลัยเดากัฟปิลส์ (Daugavpils) พบว่ามีความเสียหายอยู่ที่ 6 แสนยูโร (23,160,855 บาท),กรณีการสืบสวนเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยลูเซียน บลาก้า แห่งซีบิว (Lucian Blaga University of Sibiu) ว่ามีการฉ้อโกงกองทุน Erasmus+ เป็นมูลค่า 1 ล้านยูโร (38,601,426 บาท) และกรณีสุดท้ายเกี่ยวกับคณะภูมิมาตรศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยซาเกร็บประเทศโครเอเชีย ซึ่งเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์และบุคคลต้องสงสัยอีก 27 คน ถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงเงินอดหนุนและทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2 ล้านยูโร (77,202,852 บาท) โดยเงินจำนวนนี้รวมไปถึงเงินที่มาจากการอุดหนุนของอียู 1.7 ล้านยูโร (65,622,424 บาท)
มหาวิทยาลัยซาเกร็บ
โฆษกของ EPPO ได้ยืนยันกับนิตยสาร Science|Business ว่าข้อกล่าวหาฉ้อโกงที่มหาวิทยาลัยซาเกร็บเกี่ยวกับเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาภูมิภาคยุโรปหรือ ERDF ซึ่งเงินนี้มีจุดประสงค์ที่นำไปให้กับภูมิภาคที่ด้อยพัฒนา และยังเกี่ยวกับเงินจากกองทุนสมานฉันท์ (Solidarity Fund) ซึ่งมีจุดประสงค์ให้นำไปใช้เยียวยาเหตุจากภัยธรรมชาติ
ส่วนโฆษกของหน่วยงานการเงินและการทําสัญญากลางของโครเอเชีย (CFCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการเงินจากกองทุน ERDF กล่าวยืนยันว่าทางหน่วยงานยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ EPPO เพื่อจะแก้ไขปัญหา และ CFCA ก็มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการสืบสวนแล้ว
“เราพบการกระทําที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงการให้ทุน ซึ่งส่งผลทำให้มีการสืบหาเพื่อระบุความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการใช้สิ่งที่มอบให้ที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ” โฆษกกล่าว โดยตอนนี้ CFCA ได้มีการระงับการจ่ายเงินทุกอย่างให้กับคณะภูมิมาตรศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยซาเกร็บแล้ว
สำหรับการสืบสวนที่มหาวิทยาลัยเดากัฟปิลส์นั้นเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา และยังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ขณะที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ตอบคำขอให้แสดงความเห็นแต่อย่างใด
ส่วนคดีที่มหาวิทยาลัยลูเซียน บลาก้า แห่งซีบิวในโรมาเนียนั้นมีความแตกต่างเล็กน้อยกับคดีอื่นๆ เนื่องจากมีการวางระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยใหม่ในปี 2563 จึงทำให้สามารถรายงานความผิดปกติที่พบในการใช้งบจากกองทุน Erasmus+ ได้
“ทีมจัดการที่มหาวิทยาลัยลูเซียน บลาก้า แห่งซีบิวมีความกระตือรือร้นที่จะไขคดีนี้ และมั่นใจว่าการดำเนินการของทีมงานที่ดำเนินมาสักพักจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งหมดได้อย่างแน่นอน” แถลงการณ์มหาวิทยาลัยระบุ
ทางด้านของนางสมารันดา เซอลัณ โฆษกหญิงของมหาวิทยาลัยยืนยันว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การตัดสินใจที่ทำงานในแผนกเกี่ยวกับกองทุน Erasmus นั้นไม่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว และแผนกนี้ก็ได้มีการบริหารจัดการใหม่แล้วเช่นกัน
“ในแง่ของการตรวจสอบและควบคุม มีขั้นตอนใหม่ที่ควบคุมในแง่ของการตัดสินใจเกี่ยวกับกองทุน Erasmus ซึ่งมีความโดดเด่นมาก เพื่อให้ความรับผิดชอบมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นและกระบวนการโปร่งใสมากขึ้น” นางเซอลัณกล่าว
EPPO ไม่ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีทั้งสามแต่กล่าวในภาพรวมว่า “เงินของกองทุนจากอียูที่ถูกฉ้อโกงไปซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยต่างๆนั้นไม่ได้เป็นส่วนสำคัญของการสืบสวนของ EPPO”
ทางด้านของสมาคมมหาวิทยาลัยยุโรป ซึ่งมีทั้งสามมหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกสมาคมก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเมื่อถูกถามเกี่ยวกับข้อกังวลของเงินทุนของอียู เช่นเดียวกับคณะกรรมาธิการยุโรปที่ปฏิเสธจะแสดงความเห็นเช่นกัน
@คดีที่แยกออกจากคดีอื่น
กรณีการจับกุมที่มหาวิทยาลัยซาเกร็บถูกรายงานบนหน้าสื่อโครเอเชียระบุว่าอดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยซาดาร์ (Zadar) ชื่อว่านางดิจานา วิคาน (Dijana Vican) ซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยซาเกร็บในบทบาทอื่นนั้นถูกสอบสวนในกรณีการฉ้อโกงการจัดซื้อจัดจ้างในกรณีอื่น แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ให้ความเห็นแต่อย่างใด
นางบลาเชนกา ดิฟยัค (Blaženka Divjak) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2560-2563 และตอนนี้ยังเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยซาเกร็บให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Science|Business ว่าตัวเธอเห็นว่าท่าทีที่ค่อนข้างจะเงียบงันเกี่ยวกับกรณีการกล่าวหาการฉ้อโกงเป็นอะไรที่น่ากังวลมาก นางดิฟยัคเชื่อว่าในคดีอื่นๆที่เกี่ยวข้อกับการสอบสวนของอียู นั้นยังไม่แสดงให้เห็นถึงการทุจริตวงกว้างในด้านการศึกษาระดับสูงที่ประเทศโครเอเชีย อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าทางมหาวิทยาลัยต่างๆควรจะสื่อสารถึงผลการสอบสวนต่อสาธารณะ
“กรณีเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก แต่ปฏิกิริยาหลังจากนั้นเป็นสิ่งสําคัญ เพื่อค้นหาว่ามีอะไรผิดปกติกับระบบการทำ เหตุใดจึงไม่พบการทุจริต" นางดิฟยัคกล่าวและย้ำว่าความเป็นไปได้ว่าจะมีการทุจริตซึ่งมาจากการตรวจสอบนั้นอันตรายต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง และมันสำคัญเนื่องจากว่าไม่มปฏิกิริยาใดๆออกมาเลย
ข่าวบนหน้าเว็บไซต์อัยการยุโรปเกี่ยวข้องกับการจับกุมผู้ต้องสงสัยในโครเอเชียจำนวน 29 ราย
@ข้อกังวลที่กว้างขวางขึ้น
ความเงียบงันเกี่ยวกับคดีการฉ้อโกงในมหาวิทยาลัยในโครเอเชียนั้นขยายวงไปถึงรัฐบาลซึ่งไม่ยอมตอบคำถามใดๆเกี่ยวกับการสืบสวนอีกเช่นกัน
ประเด็นนี้ทำให้เกิดความกังวลในแวดวงวิชาการที่โครเอเชีย เพราะมีการมองว่ามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างนักการเมืองระดับชั้นนำและมหาวิทยาลัยต่างๆ
ย้อนไปเมื่อต้นปี 2566 นักวิชาการจำนวน 16 คน รวมถึงนางดิฟยัคได้เขียนจดหมายเปิดผนึกส่งไปถึงประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี,เขียนไปถึงคณะกรรมการอธิการบดีแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้มีการยุติการแต่งตั้งนักการเมืองเพื่อไปดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ในระหว่างที่ยังทำงานการเมืองอยู่
การเขียนจดหมายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีความพยายามที่จะแต่งตั้งนายมาริโอ บาโนซิช (Mario Banožić) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโครเอเชีย (ออกจากตำแหน่งต้นเดือน พ.ย.) ไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ถึงรองศาสตราจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโจซิป ยูราจ สตรอสเมเยอร์ (Josip Juraj Strossmayer University)
จดหมายเน้นย้ำถึงกรณีอื่นๆ ของเหตุการณ์นี้ในอดีต โดยอธิบายว่านี่เป็นปัญหาเชิงระบบ
“กรณีนี้ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ว่ามันผิดจรรยาบรรณทางวิชาการอย่างมากสําหรับคนที่อยู่ในตําแหน่งที่มีอํานาจ เพื่อที่จะไปดำเนินการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูง นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งอันตรายของคำว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์” จดหมายระบุ
ในจดหมายยังได้มีการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรแห่งชาติเพื่อจริยธรรมทางวิทยาศาสตร์และอุดมศึกษาด้วยเช่นกัน ซึ่งองค์กรนี้ถูกยุบไปเมื่อปี 2565 ซึ่งการตั้งองค์กรที่ว่านั้นจะช่วยตรวจสอบการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับกรณีของมหาวิทยาลัยซาเกร็บนั้นมีรายงานเพิ่มเติมว่าเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมาเว็บไซต์สำนักอัยการยุโรปได้เผยแพร่ข่าวระบุว่าอัยการได้ดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับกรณีมหาวิทยาลัยซาเกร็บเป้นการเฉพาะ โดยการสอบสวนจะมุ่งเน้นไปที่การรวบรวมหลักฐานเกี่ยวข้องกับกรณีพลเมืองโครเอเชียหลายคนว่าต้องสงสัยในการกระทำความผิดทางอาญาและใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อทำลายผลประโยชน์ทางการเงินอยู
โดยการรวบรวมหลักฐานมีขึ้นหลังจาก EPPO ร่วมกับสํานักงานตํารวจแห่งชาติเพื่อการปราบปรามการทุจริตและองค์กรอาชญากรรม (PNUSKOK) และภาคการสอบสวนทางการเงินอิสระของสํานักงานภาษีเก็บข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง
เรียบเรียงจาก:https://sciencebusiness.net/news/universities/european-prosecutors-office-investigating-three-universities-over-alleged-fraud,https://www.eppo.europa.eu/en/news/croatia-eppo-conducts-new-searches-investigation-university-zagreb
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก:ปธน.เกาหลีใต้ อ้างเป็นเรื่องโชคร้าย หลังภรรยาถูกครหารับกระเป๋า 8 หมื่น
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.น้ำมันใหญ่จ่ายสินบนพัน ล.ให้ จนท.รัฐทุกระดับ-แลกสัญญาน้ำมันเอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตคนวงในแฉจนท. UN รวมหัวเรียกสินบนโครงการฟื้นฟูอิรัก 5.3 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดร่าแฉอดีต รมว.คลังมาเลย์ ถือครองอสังหาฯ 1.8 พันล. ณ ลอนดอน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกชนเยอรมันจ่ายเงิน 7.7พันล. ยุติคดีสินบนในต่างแดน
- ส่องคดีทุจริตโลก: สว.สหรัฐฯฉาวอีก ถูกครหารับสินบนนักลงทุน แลกออกแถลงการณ์สนับสนุนกาตาร์