"...หากเปรียบเทียบสถานะของ นายวิวัฒน์ หรือ กำนันตุ้ย กับ นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีกล่าวหาทุจริตไปแล้ว จะพบว่า บุคคลทั้งสอง กระทำความผิดในสถานะเป็นกรรมการบริษัทเอกชน ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหมือนกัน..."
กรณี นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือ กำนันตุ้ย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี ที่ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในจำเลยคดีกล่าวหาทุจริตในการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามโครงการแทรกแซงตลาด มันสำปะหลังปี 2551/2552 ครั้งที่ 9 เพื่อใช้ภายในประเทศ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย ปัจจุบันศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 รับฟ้องคดีไปแล้ว ซึ่งมีการถกเถียงทางข้อกฎหมายว่า จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
มีความชัดเจนแล้วว่า นายวิวัฒน์ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายก อบจ. ราชบุรี เนื่องจากขณะกระทำความผิดไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้ได้ ตามความเห็นชอง ป.ป.ช. ที่ตอบข้อหารือความเห็นทางกฎหมายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับประเด็นข้อถกเถียงทางกฎหมายกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และศาลฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้อง จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น
ก่อนหน้าที่จะมีความเห็นจาก ป.ป.ช. ในการตอบข้อหารือจังหวัดราชบุรี ต่อกรณี นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา ออกมานั้นในส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีการถกเถียงประเด็นนี้เช่นกัน เนื่องจากในการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.2567 นี้ ปรากฏชื่อ นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นผู้สมัครหมายเลข 3 ด้วย
เนื่องจากในช่วงเดือน ก.ย.2567 ที่ผ่านมา สำนักงาน ปปช.ประจำจังหวัดสระแก้ว ได้เปิดแถลงข่าวผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมึคดีทุจริตสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิด นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บ.เอี่ยมบูรพา จำกัด ร่วมอยู่ด้วย
@ จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล
คดีดังกล่าว เป็นกรณีกล่าวหา นายพจน์ งามจั่นศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายก อบต.หนองน้ำใส กับพวก กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีลงลายมือชื่อในใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ และมีการนำใบอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวไปใช้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มี 4 ราย คือ 1. นายพจน์ งามจันศรี รองนายก อบต.หนองน้ำใส อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว , บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด ผู้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้าง , นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด และ นายทศวรรษ หวังศุภกิจโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาสำนวนไต่สวน มีมติดังนี้
1. การกระทำของนายพจน์ งามจั่นศรี รองนายก อบต. หนองน้ำใส มีมูลความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสารกระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ตามมาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
2. การกระทำของบริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด มีมูลความผิดอาญา ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามมาตรา 267 มาตรา 268
3.การกระทำของนางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด มีมูลความผิดอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใด ในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามมาตรา 123
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเติมฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการและฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามมาตรา 266 มาตรา 267 มาตรา 268แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ซึ่งมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ตามมาตรา161 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
4.การกระทำของนายทศวรรษ หวังศุภกิจโกศล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด มีมูลความผิดอาญาฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามมาตรา 267 มาตรา 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามมาตรา 123 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเติมฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ซึ่งมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น และฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามมาตรา 161 มาตรา 266 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
หากเปรียบเทียบสถานะของ นายวิวัฒน์ หรือ กำนันตุ้ย กับ นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีกล่าวหาทุจริตไปแล้ว จะพบว่า บุคคลทั้งสอง กระทำความผิดในสถานะเป็นกรรมการบริษัทเอกชน ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหมือนกัน
โดยกรณีนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา ในสำนวนไต่สวน ป.ป.ช.ระบุว่า เป็นเจ้าของบริษัท กาญจนาฟาร์ม จำกัด ที่เป็นผู้ซื้อตั๋วแลกเงิน ที่บริษัท กาญจนพันธ์ ฟาร์ม จำกัด นำไปใช้เป็นหลักประกันสัญญาซื้อขายมันสำปะหลัง ในสต็อกรัฐบาล ขณะที่ นางจิตรวรรณ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด
ดังนั้น กรณีของนางจิตรวรรณ ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลในสถานะเป็น กรรมการบริษัทเอกชน ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว หากพิจารณาตามความเห็นของ ป.ป.ช. จะพบว่า ถ้าศาลฯ มีคำสั่งรับฟ้องคดีไปแล้ว และนางจิตรวรรณถ้าชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ. อุบลราชธานีแต่อย่างใด
ส่วนสาเหตุที่จะทำให้ทั้ง นายวิวัฒน์ และ นางจิตรวรรณ (กรณีชนะเลือกตั้ง) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ คงมีเพียง 2 ประการเท่านั้น คือ
1. เจ้าตัวลาออกจากตำแหน่ง
2. ศาลฯ มีคำพิพากษาถึงที่สุด ว่ามีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 2 คดี ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
บทสรุปสุดท้าย ทั้ง 2 คดี ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ติดตามดูกันต่อไป