จาก 93 ประเทศที่บริษัท BAE Systems ได้มีความสัมพันธ์ทางการค้าด้วยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มากกว่าครึ่ง (55%) มีคะแนนในดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือ (CPI Index) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ Transparency International ต่ำกว่า 50 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน (ไทยได้ 35 คะแนน)
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอประเด็นความไม่โปร่งใสของบริษัทค้าอาวุธในระดับโลก
โดยสำนักข่าว CNBC ของสหรัฐอเมริการายงานว่าบริษัท BAE Systems ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาด้านกลาโหมที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร ถูกตรวจสอบในรายงานเกี่ยวกับธุรกิจด้านการค้าอาวุธ โดยพบว่าบริษัทนี้มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดในด้านสิทธิมนุษยชน
การสอบสวนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของอังกฤษชื่อว่าองค์กร Action on Armed Violence (AOAV) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิมูลนิธิโจเซฟ ราวน์ทรีพบว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา บริษัทด้านกลาโหมแห่งนี้พบว่ามีความกิจกรรมด้านการค้าชัดเจนกับ 81 ประเทศ และมีความสัมพันธ์กับ 12 ประเทศ หรือก็คือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ของทุกประเทศทั่วโลก
ประเทศเหล่านี้พบว่ามี 13 ประเทศ ที่อังกฤษได้ขึ้นบัญชีว่าเป็นประเทศเฝ้าระวัง เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีอีก 29 ประเทศที่พบว่าใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างโหดร้ายต่อพลเรือนจนเป็นเหตุทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
เครื่องบินแบบ BAE Hawk ของกองทัพมาเลเซียกับเครื่องบิน F-22 ของกองทัพสหรัฐฯ (อ้างอิงวิดีโอจาก Hisham Ace)
ทาง BAE ได้กล่าวว่าจะไม่ขอยืนยันหรือว่าปฏิเสธว่าได้มีการขายอุปกรณ์ด้านกลาโหมให้ใคร แต่ BAE ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งให้สำนักข่าว CNBC ว่าบริษัทมีบทบาทสำคัญในการทำให้รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถปกป้องตัวเองและปกป้องประชาชนของตัวเองได้ และบริษัทได้รักษามาตรฐานทางจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
รายงานระบุว่ายอดขายของบริษัท BAE Systems พุ่งขึ้นถึง 1.94 แสนล้านปอนด์ (8,837,668,092,980 บาท) ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 โดยมีกำไรสะสมจากผลการดำเนินงานอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านปอนด์ (774,434,832,890 บาท) ในช่วงเวลาดังกล่าว
ในปี 2566 บริษัทรายงานว่ายอดขายของบริษัทนั้นเกินเป้าหมาย โดยไปอยู่ที่ 3.77 หมื่นล้านปอนด์ (1,717,423,129,409 บาท) และหุ้นของบริษัทก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
รายงานระบุว่าการค้าที่เฟื่องฟูเน้นย้ำว่าบริษัทด้านกลาโหมบางแห่งทํากําไรจากการค้าอาวุธที่ร่ำรวยท่ามกลางความไม่มั่นคงทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น
@การค้าทางทหารที่พุ่งสูงขึ้น
อุตสาหกรรมกลาโหมทั่วโลกมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทอาวุธได้เพิ่มการผลิต และรัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณทางทหารเพื่อตอบสนองต่อสงครามที่กําลังดําเนินอยู่ระหว่างรัสเซียและยูเครน และอิสราเอลและฉนวนกาซา
รายงานระบุว่าบริษัทกลาโหมต่างๆ เช่น BAE Systems ล้มเหลวในการคัดกรองประเทศและระบอบการปกครองที่พวกเขามีความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเหมาะสม
จาก 93 ประเทศที่บริษัท BAE Systems ได้มีความสัมพันธ์ทางการค้าด้วยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มากกว่าครึ่ง (55%) มีคะแนนในดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือ (CPI Index) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ Transparency International ต่ำกว่า 50 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน (ไทยได้ 35 คะแนน)
วิดีโอโปรโมตกิจกรรมบริษัท BAE Systems ในปี 2565 (อ้างอิงวิดีโอจาก BAE Systems)
โดยคะแนนในดัชนีดังกล่าวนั้นถ้าหากยิ่งต่ำก็แสดงว่าการทุจริตในประเทศนั้นค่อนข้างสูง
ส่วนบริษัท BAE Systems อ้างว่าได้ปฏิบัติตามการควบคุมการส่งออกทั้งหมดอย่างสมบูรณ์และประเมินคู่ค้าแต่ละรายเป็นรายบุคคล
“อุตสาหกรรมของเราเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดที่สุดในทุกภาคส่วน และเราปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับควบคุมการส่งออกที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในประเทศที่เราดําเนินธุรกิจอย่างเต็มที่” โฆษกบริษัทกล่าวในแถลงการณ์
อนึ่งกฎระเบียบองสหราชอาณาจักรระบุว่าทุกบริษัทจะต้องดำเนินการเพื่อยื่นขอใบอนุญาตส่งออกหรือการค้าสําหรับสินค้า "ยุทธภัณฑ์" ต่างๆ รวมถึงสินค้าทางทหาร อาวุธปืน สินค้าที่ใช้ในกิจการตํารวจ และสินค้าที่กึ่งใช้ในกิจการทหาร
อย่างไรก็ตามนายเอียน โอเวอร์ตัน ผู้ร่วมเขียนรายงานและประธานบริหารขององค์กร AOAV ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่ารายงานนี้บ่งชี้ชัดเจนว่ารัฐบาลอังกฤษล้มเหลวในการตรวจสอบสถานะสัญญาของบริษัทต่างๆ และยังสื่อให้เห็นว่ารัฐบาลอังกฤษนั้นพูดอย่างทำอย่าง เนื่องจากที่ผ่านมาอังกฤษมักจะบอกเป้าหมายตัวเองเสมอว่าจะเป็นผู้ส่งออกประชาธิปไตย
“เรากําลังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอังกฤษว่าขาดความโปร่งใส ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจหลังเบร็กซิต รัฐบาลไม่มีความกระหายที่จะจํากัดการส่งออกอาวุธเลย” นายโอเวอร์ตันกล่าว
ขณะที่โฆษกรัฐบาลอังกฤษได้ส่งแถลงการณ์ถึงสำนักข่าว CNBC ระบุว่าอังกฤษให้ความสําคัญกับความรับผิดชอบในการส่งออกด้านอุปกรณ์กลาโหม "อย่างจริงจัง" และ "ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ดำเนินมาตรการควบคุมใบอนุญาตส่งออกที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก"
แถลงการณ์รัฐบาลอังกฤษระบุว่ารัฐบาลจะประเมินการขอใบอนุญาตส่งออกทั้งหมดเป็นกรณี ๆ ไปและสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
ในอดีตบริษัท BAE Systems ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตในอังกฤษ รวมถึงการทุจริตในข้อตกลงด้านอาวุธชื่อว่าอว่าสัญญาอัล-ยามามาห์ (al-Yamamah) กับซาอุดีอาระเบียระหว่างปี 2528 ถึง 2550 ตลอดจนการขายอาวุธให้กับแอฟริกาใต้ในช่วงต้น ค.ศ.2000
โฆษกของ BAE Systems กล่าวว่าทางบริษัทได้มีการทำตกลงข้อตกลงกับทางการสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในปี 2553 และ 2554 เกี่ยวกับ "ปัญหาสืบเนื่องต่างๆ" โดยกล่าวเสริมว่า "ไม่พบการติดสินบนหรือการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนเหล่านั้น"
เรียบเรียงจาก:https://www.cnbc.com/2024/04/19/bae-systems-linked-to-deals-in-countries-accused-of-human-rights-abuses-report.html
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก:ยุโรปเดินหน้าสอบเอกชนกรีซ ส่อฮั้วประมูลโครงการ EU 9.7 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารแอฟริกาแบนเอกชนจีน 1 ปี เหตุทำธุรกิจ-เดินหน้าสัญญาถนนไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก: นักธุรกิจ-นายหน้า รบ.จีน ในฟิจิ ถูกออสซี่กล่าวหาพัวพันองค์กรอาชญากรรม
- ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.แคนาดาประกาศยกเครื่องระบบจัดซื้อ หลังข้อครหาเอกชนทำใบเก็บเงินเท็จ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกชนสหรัฐฯจ่ายคอมมิชชั่นเจ้าชายซาอุฯ 501 ล. แลกสัญญากลาโหม 3.3 พัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกสาร กห.อังกฤษจ่ายสินบนให้ราชวงศ์ซาอุฯ แลกสัญญา บ.รบหมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปม กองทัพอาระกันขายวัสดุนิวเคลียร์แลกอาวุธ ใช้ยากูซ่าเป็นนายหน้า
- ส่องคดีทุจริตโลก: ลูกขุนสหรัฐฯฟันอดีตพ่อค้าน้ำมัน บ.วิตอล คดีสินบนเม็กซิโก-เอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อัยการยุโรปสั่งสอบ 3 มหาวิทยาลัยเอี่ยวโกงงบช่วยเหลือ EU นับร้อยล้าน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ปธน.เกาหลีใต้ อ้างเป็นเรื่องโชคร้าย หลังภรรยาถูกครหารับกระเป๋า 8 หมื่น
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.น้ำมันใหญ่จ่ายสินบนพัน ล.ให้ จนท.รัฐทุกระดับ-แลกสัญญาน้ำมันเอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตคนวงในแฉจนท. UN รวมหัวเรียกสินบนโครงการฟื้นฟูอิรัก 5.3 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดร่าแฉอดีต รมว.คลังมาเลย์ ถือครองอสังหาฯ 1.8 พันล. ณ ลอนดอน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกชนเยอรมันจ่ายเงิน 7.7พันล. ยุติคดีสินบนในต่างแดน
- ส่องคดีทุจริตโลก: สว.สหรัฐฯฉาวอีก ถูกครหารับสินบนนักลงทุน แลกออกแถลงการณ์สนับสนุนกาตาร์