โครงการสร้างทางหลวง 57 กม.ไม่ใช่โครงการเดียวที่บริษัทซิโนไฮโดรรับผิดชอบอยู่ เพราะบริษัทยังเคยชนะการประกวดราคาในอีกสองโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าตอนที่ชนะการประกวดราคา บริษัทยังมีปัญหาการก่อสร้างทางหลวงล่าช้า และเผชิญข้อครหาเรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะก็ตาม
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีที่บริษัทจีนซึ่งยังดำเนินการก่อสร้างถนนล่าช้าเป็นเวลานานนับสิบปี และมีข้อครหาเรื่องการจ่ายสินบนในประเทศมาซิโดเนียเหนือ แต่กลับยังชนะสัญญาจากรัฐบาลเป็นจำนวนหลายรายการ
สำนักข่าวบอลข่านอินไซท์ได้รายงานข่าวเล่าเรื่องรายของนายไอวาน ที่อาศัยอยู่ในกรุงสโกเปีย เมืองหลวงของมาซิโดเนียเหนือ แต่เขาเติบโตในเมืองสตรูกา เมืองชายฝั่งของทะเลสาบโอครีด โดยทุกสัปดาห์เขาต้องกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวที่บ้านเกิด ด้วยการขับรถไปตามถนนที่วิ่งไปทางตะวันตกจากกรุงสโกเปียไปยังเมืองคิเชโว แล้วลงใต้ไปยังเมืองโอครีด
การเดินทางที่ว่ามานี้กินเวลาสองชั่วโมงครึ่ง แต่พอถึงปี 2557 บริษัทจีนแห่งหนึ่งชื่อว่าซิโนไฮโดร (Sinohydro) ได้เริ่มโครงการสร้างทางหลวงระหว่างเมืองคิเชโวและเมืองโอครีด ระยะทาง 57 กิโลเมตร
เส้นทางคิเชโว-โอครีดที่กำลังก่อสร้าง
ในช่วงปี 2557 จีนหยิบยื่นข้อเสนอโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญหลายโครงการในคาบสมุทรบอลข่านด้วยข้อเสนอที่มักจะต่ำกว่าข้อเสนอจากคู่แข่งในยุโรปและมักจะควบคู่ไปกับการจัดหาเงินทุนจากธนาคารของรัฐหลายแห่ง
บริษัทซิโนไฮโดรได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีนิโคลา กรูฟสกี้ (Nikola Gruevski) ของมาซิโดเนียเหนือ สองปีถัดมา นายกรูฟสกี้ก็ต้องออกจากตำแหน่ง หลังจากเจอข้อครหาเรื่องการทุจริตมากมาย และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นเกี่ยวกับโครงการทางหลวงคิเชโว-โอครีด
ในวันนี้ทางหลวงดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้าในการก่อสร้างต้องเผชิญกับเหตุล่าช้าอยู่หลายครั้ง สภาพล่าสุด ถนนส่วนใหญ่ซึ่งยังไม่เสร็จ ส่งผลทำให้ต้องยืดเวลาการเดินทางจากกรุงสโกเปียไปยังเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศอย่างโอครีดออกไปอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง
“สภาพการเดินทางแย่ลงในทุกๆครั้ง รถบรรทุกที่ขนส่งวัสดุไปยังสถานที่ก่อสร้างทางหลวงกําลังทําลายยางมะตอยและฐานกรวดด้านล่างของถนน” นายไอวานที่ขอปกปิดนามสกุลกล่าวกับสำนักข่าว BIRN ซึ่งเป็นเครือข่ายทำข่าวสืบสวนของบอลข่านอินไซท์ และเขายังกล่าวต่อไปอีกว่าพื้นผิวถนนที่เขาต้องขับรถปั้นเสื่อมโทรมมาก จนทำให้รถของเขาสั่น แม้จะขับด้วยความเร็ว 50 กม.ต่อชั่วโมง
มีประเด็นที่น่าสนใจคือว่าบริษัทซิโนไฮโดรนั้นอยู่ในบัญชีดำของธนาคารโลกแล้ว ในช่วงที่บริษัทชนะการประกวดราคาในโครงการทางหลวงคิเชโว-โอครีด
ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีอีกรายซึ่งก็คือนายดิมิทาร์ โควาเชฟสกี้ (Dimitar Kovachevski) ได้ออกมากล่าวถึงความเป็นไปได้ว่าจะฉีกสัญญานี้ โดยเขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าทศวรรษในการสร้างทางหลวง 57 กม. ทว่าแท้จริงแล้วนายโควาเชฟสกี้กลับไม่ได้ฉีกสัญญา และในเดือน เม.ย. รัฐสภามาซิโดเนียเหนือได้มีมติให้ขยายกำหนดเวลาก่อสร้างทางหลวงออกไป ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2569
แต่โครงการสร้างทางหลวง 57 กม.ไม่ใช่โครงการเดียวที่บริษัทซิโนไฮโดรรับผิดชอบอยู่ เพราะบริษัทยังเคยชนะการประกวดราคาในอีกสองโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าตอนที่ชนะการประกวดราคา บริษัทยังมีปัญหาการก่อสร้างทางหลวงล่าช้า และเผชิญข้อครหาเรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะก็ตาม
วิดีโอแสดงปัญหาเรื่องการก่อสร้างทางหลวง (อ้างอิงวิดีโอจาก IDSCS)
@ซิโนไฮโดร กับข้อครหาเรื่องการจ่ายเงินสินบน
อดีตนายกรัฐนตรีกรูฟสกี้ต้องลาออกจากตำแหน่งในปี 2559 หลังมีการปล่อยเทปเสียงบันทึกสนทนาลับ รายละเอียดเนื้อหามีการกล่าวหาว่าตัวเขาและพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดเกี่ยวในการทุจริตและการจับกุมโดยภาครัฐ ซึ่งข้อกล่าวหารวมถึงกรณีเงินสินบนในโครงการก่อสร้างทางหลวงคิเชโว-โอครีดของซิโนไฮโดร
หนึ่งปีต่อมาอัยการพิเศษด้านการต่อต้านสินบนได้กล่าวหากรณีซิโนไฮโดรชนะการประกวดราคาด้วยข้อเสนอการก่อสร้างมูลค่า 411 ล้านยูโร (16,161,550,582 บาท) โดยในการประกวดราคาดังกล่าวพบว่า มีคู่เทียบคือบริษัทจีนอีกแห่งที่เสนอข้อเสนอการก่อสร้างมูลค่า 369 ล้านยูโร (15,571,712,970 บาท) ซึ่งนายกรูฟสกี้กล่าวว่าเหตุผลที่เลือกซิโนไฮโดรเพราะว่าบริษัทนี้ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า แต่ว่าอัยการฯกล่าวหาว่านายกรูฟสกี้นั้นโกหกเรื่องข้อเสนอดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คดีมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย เนื่องจากอัยการพิเศษต่อต้านการทุจริตก็ต้องเผชิญกับเรื่องอื้อฉาว และข้อครหาการทุจริตในหน่วยงานตัวเองเช่นกัน
ส่วนนายกรูฟสกี้ได้หลบหนีโทษจำคุกคดีทุจริตซึ่งเป็นคดีอื่นๆ ในช่วงปี 2561 และต่อมารัฐบาลฮังการีของนายวิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการีคนปัจจุบัน ก็ได้อนุมัติให้นายกรูฟสกี้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศ
ในช่วงเวลาที่ว่านี้เอง ในประเทศมาซิโดเนียเหนือก็เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง จากพรรคอนุรักษ์นิยม VMRO-DPMNE ของนายกรูฟสกี้ กลายมาเป็นพรรคโซเชียลเดโมแครต ที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล
ส่วนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทางหลวงก็พุ่งขึ้นมาเป็น 600 ล้านยูโร (23,593,504,500 บาท) ซึ่งที่มาของเงินที่ใช้จ่ายจำนวนนี้ก็มาจากการที่รัฐบาลมาซิโดเนียเหนือต้องไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกหรือว่าเอ็กซิมแบงก์ของประเทศจีน
ทำให้ในเดือน พ.ย. 2566 นายโควาเชฟสกี้จากพรรคโซเชียลเดโมแครตออกมาประกาศว่าเขาจะดำเนินการตรวจสอบโครงการนี้และขู่ว่าจะยกเลิกสัญญา
“มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ว่าทางหลวงอยู่ระหว่างการก่อสร้างมานานกว่า 10 ปีและตอนนี้ยังไม่ได้สร้างเลย” นายโควาเชฟสกี้กล่าวและกล่าวอีกในตอนนั้นว่า “โครงการนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์เป็นเวลาถึงสิบปีด้วยเหตุผลหลายประการตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการดําเนินโครงการเอง ผมคิดว่าเราควรพิจารณายกเลิกสัญญานี้และมองหาผู้รับเหมาที่จะดำเนินการก่อสร้างอย่างมีคุณภาพ”
อดีตนายกรัฐมนตรีดิมิทาร์ โควาเชฟสกี้ ขณะตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างทางหลวง
ทว่าในวันที่ 1 เม.ย. หรือก็คือไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งทั้งการเลือกสมาชิกรัฐสภาและการเลือกประธานาธิบดี รัฐสภามาซิโดเนียเหนือได้ลงมติให้ขยายกําหนดเวลาโครงการออกไปอีกสามปีเป็นวันที่ 31 ธ.ค. 2569 โดยอ้างว่าได้รับฟังจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการว่าจ้างให้ตรวจสอบการดําเนินการโครงการ
โดยนายโจซิฟ โยซิฟอฟสกี้ (Josif Josifovski) ศาสตราจารย์ประจําคณะวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัย Ss. Cyril and Methodius กล่าวว่าทุกฝ่ายควรรับผิดชอบในความล่าช้า ไม่ใช่แค่ซิโนไฮโดรฝ่ายเดียว
“เมื่อการก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นก็เป็นที่ชัดเจนว่าโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นดินแตกต่างจากที่สันนิษฐานไว้ในตอนแรก ซึ่งทุกฝ่ายควรตระหนักและตอบสนองก่อนหน้านี้” นายโยซิฟอฟสกี้กล่าวและกล่าวย้ำว่าดังนั้นความรับผิดชอบต่อความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการทางหลวงคิเชโว-โอครีด จึงไม่สามารถอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ แต่ทุกฝ่ายต้องแบ่งรับความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมกับการก่อสร้าง
นายโยซิฟอฟสกี้กล่าวอีกว่าเป็นที่ชัดเจนสําหรับทั้งนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญที่เข้าไปกำกับดูแลว่าจําเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากขึ้นในโครงการ มันจะหมายถึงการออกแบบ การตัดถนนใหม่ด้วยความลาดชันที่นุ่มนวลกว่ามาก จะนําไปสู่การเวนคืนที่ดินมากขึ้นและขยายกําหนดเวลาออกไปนานขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญมาซิโดเนียเหนือกล่าวอีกว่าการดำเนินโครงการในเริ่มต้นนั้นเกิดขึ้นโดยไม่เล็งเห็นถึงการก่อสร้างถนนคู่ขนานกับไป สำหรับการจราจรทางเลือก และการก่อสร้างหลุมฝังกลบ ซึ่งจะต้องใช้ทั้งเงินและเวลามากขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่บริษัทซิโนไฮโดร และบริษัทแม่ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนอย่าง PowerChina ไม่ยอมตอบคำถามของผู้สื่อข่าว
@แถลงการณ์ของรัฐบาลไม่ได้กล่าวถึงบริษัท
ในช่วงปี 2563 มีการรับทราบกันโดยทั่วไปว่าการก่อสร้างทางหลวงนั้นประสบปัญหา และซิโนไฮโดรก็ถูกกล่าวหาว่ามีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ
อย่างไรก็ตาม เรื่องอื้อฉาวไม่ได้หยุดยั้งให้กระทรวงคมนาคมภายใต้การดูแลของอดีตรัฐมนตรีอย่างนายบลาโกจ บอชวาร์สกี้ (Blagoj Bochvarski) เลือกบริษัทจีนแห่งนี้ให้เป็นผู้ชนะในโครงการก่อสร้างส่วนถนนระหว่างถนนเชื่อมต่อเมืองกราดสโก (Gradsko) และเมืองปรีเล็ป (Prilep) โดยมูลค่าโครงการนี้อยู่ที่ 39.5 ล้านยูโร (1,553,239,046 บาท) โดยโครงการนี้เริ่มเมื่อเดือน มิ.ย. 2564 และมีกำหนดว่าจะต้องเสร็จในเดือน มี.ค. 2566 แต่ปัจจุบันโครงการนี้ก็ยังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ซึ่งถ้าอ้างอิงจากคำแถลงสุดท้ายของนายบอชวาร์สกี้ โครงการนี้ก็น่าจะเสร็จภายในปีนี้
ทางด้านนักข่าว BIRN ในที่สุดก็ได้รับชุดเอกสารหนึ่งที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจสําหรับการก่อสร้างถนนของรัฐ ระบุว่าประกาศเชิญชวนประกวดราคางานก่อสร้างที่เผยแพร่โดยรัฐวิสาหกิจสําหรับถนนของรัฐมาซิโดเนียเหนือ
รายละเอียดเอกสารระบุว่าในปี 2562 ซิโนไฮโดรยังได้ชนะในการประกวดราคาระหว่างประเทศ โดยรายละเอียดของโครงการนี้จะเป็นการก่อสร้างทางด่วนในระยะที่สองระหว่างเมืองสติป-โคคานี้ (Stip-Kocani) โครงการมีมูลค่า 17.9 ล้านยูโร (703,872,884 บาท) มีกำหนดการจะต้องเสร็จในเบื้องต้นในเดือน เม.ย.2564 ทว่าโครงการนี้ต้องเผชิญกับความล่าช้าอีกเช่นกัน เนื่องจากปัญหาการเวนคืนที่ดินที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและความคืบหน้าอื่นๆที่ช้ากว่าที่คาดไว้
แต่ในที่สุดหลังจากขยายเวลามาหลายครั้ง ทางด่วนนี้ก็ก่อสร้างเสร็จสิ้นหนึ่งวันก่อนเส้นตายสุดท้าย ในช่วงปี 2565
โดยทั้งสองโครงการที่ซิโนไฮโดรเข้าไปรับผิดชอบทั้งโครงการในปี 2562 และในปี 2563 ทั้งหมดได้รับเงินสนับสนุนมาจากธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนาหรือ EBRD
ทาง EBRD ชี้แจงกับสำนักข่าว BIRN ว่าทั้งสองโครงการนั้นมีกระบวนการคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งเป็นการดําเนินการตามนโยบายและหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของธนาคาร รวมถึงกระบวนการประกวดราคาแบบเปิด (Open Tendering) ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียทุกรายจะได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าร่วม
ส่วนกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของมาซิโดเนียเหนือไม่ตอบสนองต่อคําขอให้แสดงความคิดเห็นของสำนักข่าว
เรียบเรียงจาก: https://balkaninsight.com/2024/06/11/despite-delay-and-scandal-chinese-firm-wins-more-work-in-north-macedonia/
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก:อดีต รมช.กห.จอร์เจีย แจ้งรายได้7แสน/ปี ซื้อแฟลตหรูในลอนดอน 26 ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:ภรรยานายกฯทาจิกิสถาน ไม่แจ้งรายได้ ซื้อวิลล่าหรู 51 ล.ณ นครดูไบ
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปงชาวรัสเซีย ซื้ออสังหาฯในดูไบ 2.3 แสนล. หลังเหตุรุกรานยูเครน
- ส่องคดีทุจริตโลก:พันธมิตรสื่อทั่วโลกแฉดูไบ แหล่งฟอกเงินผู้ก่อการร้าย-กลุ่มอาชญากร
- ส่องคดีทุจริตโลก:ฟิลลิป มอร์ริส ส่อใช้ช่องไม่โปร่งใส ผูกขาดธุรกิจบุหรี่แสน ล.ในอียิปต์
- ส่องคดีทุจริตโลก : สส.เท็กซัส ถูกกล่าวหารับสินบน 22 ล.แลกผลักดัน กม.เอื้อ ปย.อาเซอร์ไบจาน
- ส่องคดีทุจริตโลก: รมช.กห.รัสเซียถูกจับสินบน สะท้อนเกมการเมือง ก่อน ปูตินเป็น ปธน.สมัย 5
- ส่องคดีทุจริตโลก: บ.กลาโหมอังกฤษ กำไรแสนล. หาผลประโยชน์ รบ.ทุจริต-ละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ยุโรปเดินหน้าสอบเอกชนกรีซ ส่อฮั้วประมูลโครงการ EU 9.7 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: ธนาคารแอฟริกาแบนเอกชนจีน 1 ปี เหตุทำธุรกิจ-เดินหน้าสัญญาถนนไม่โปร่งใส
- ส่องคดีทุจริตโลก: นักธุรกิจ-นายหน้า รบ.จีน ในฟิจิ ถูกออสซี่กล่าวหาพัวพันองค์กรอาชญากรรม
- ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.แคนาดาประกาศยกเครื่องระบบจัดซื้อ หลังข้อครหาเอกชนทำใบเก็บเงินเท็จ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกชนสหรัฐฯจ่ายคอมมิชชั่นเจ้าชายซาอุฯ 501 ล. แลกสัญญากลาโหม 3.3 พัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกสาร กห.อังกฤษจ่ายสินบนให้ราชวงศ์ซาอุฯ แลกสัญญา บ.รบหมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปม กองทัพอาระกันขายวัสดุนิวเคลียร์แลกอาวุธ ใช้ยากูซ่าเป็นนายหน้า
- ส่องคดีทุจริตโลก: ลูกขุนสหรัฐฯฟันอดีตพ่อค้าน้ำมัน บ.วิตอล คดีสินบนเม็กซิโก-เอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อัยการยุโรปสั่งสอบ 3 มหาวิทยาลัยเอี่ยวโกงงบช่วยเหลือ EU นับร้อยล้าน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ปธน.เกาหลีใต้ อ้างเป็นเรื่องโชคร้าย หลังภรรยาถูกครหารับกระเป๋า 8 หมื่น
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.น้ำมันใหญ่จ่ายสินบนพัน ล.ให้ จนท.รัฐทุกระดับ-แลกสัญญาน้ำมันเอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตคนวงในแฉจนท. UN รวมหัวเรียกสินบนโครงการฟื้นฟูอิรัก 5.3 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดร่าแฉอดีต รมว.คลังมาเลย์ ถือครองอสังหาฯ 1.8 พันล. ณ ลอนดอน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกชนเยอรมันจ่ายเงิน 7.7พันล. ยุติคดีสินบนในต่างแดน
- ส่องคดีทุจริตโลก: สว.สหรัฐฯฉาวอีก ถูกครหารับสินบนนักลงทุน แลกออกแถลงการณ์สนับสนุนกาตาร์