ออสเตรเลียสงสัยว่านายจ้าวอาจมีส่วนเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดทางอาญา หลังจากมีความกังวลเรื่องเส้นทางการค้ายาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นผ่านประเทศฟิจิ โดยตำแหน่งภูมิศาสตร์ของฟิจินั้นถือว่าอยู่กึ่งกลางพอดีระหว่างภูมิภาคละตินอเมริกาหรืออเมริกาใต้ ที่เป็นแหล่งส่งออกและประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผู้ซื้อที่มีศักยภาพสำคัญ
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีสมาชิกพรรคคอมนิวนิสต์จีนถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่หมู่เกาะฟิจิ
โดยเครือข่ายผู้สื่อข่าวที่รายงานเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมและการทุจริตหรือว่า Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ได้รายงานข่าวกรณีที่นายจ้าวฟู่กัง (Zhao Fugang) นักธุรกิจจากจีน ที่ปัจจุบัน อาศัยอยู่ในโรงแรมหรูส่วนตัวบนยอดเขาชื่อว่าโรงแรม Yue Lai Hotel ซึ่งโรงแรมแห่งนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของกรุงซูวา เมืองหลวงริมทะเลของฟิจิ
แต่โรงแรมไม่ได้เป็นเพียงสํานักงานใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจท้องถิ่นของนายจ้าว ซึ่งมีตั้งแต่การท่องเที่ยวไปจนถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่มันยังเป็นฐานสำหรับภารกิจการส่งเสริมอิทธิพลของจีนในประเทศภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งนี่เป็นอีกบทบาทของนายจ้าวควบคู่กับการทำธุรกิจ
โดยแรงแรมสีแดงและดำมักจะเป็นสถานที่ยอดนิยมที่เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของฟิจิมาพบกับนายจ้าวและยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการสำหรับพลเมืองจีน ที่มีบทบาทในด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างจีนและฟิจิ
โรงแรม Yue Lai Hotel ในฟิจิ
บทบาทของนักธุรกิจอย่างนายจ้าวนั้นถือเป็นเรื่องปกติของความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลจีนในการสร้างความสำคัญในหมู่เกาะแปซิฟิก พรรคคอมมิวนิสต์จีนมักใช้สมาชิกที่มีลักษณะโดดเด่นของคนจีนโพ้นทะเลเป็นผู้รับมอบฉันทะเพื่อผลักดันผลประโยชน์ของจีนภายใต้กลยุทธ์ที่เรียกว่า "แนวร่วม"
ในขณะที่ประเทศตะวันตกวิตกกังวลต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งมีความสําคัญทางยุทธศาสตร์ ออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรสําคัญของสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งเป้าไปที่ตัวนายจ้าว โดยการสอบสวนร่วมกันโดย OCCRP และสื่อเก้าแห่งของออสเตรเลียพบว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยข่าวกรองของออสเตรเลียเชื่อว่านายจ้าวไม่ได้เป็นเพียงนักธุรกิจหรือผู้ปฏิบัติการทางการเมืองเท่านั้น พวกเขาสงสัยว่านายจ้าวป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมระดับอาวุโสอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2564 ด้วย และพวกเขากําลังผลักดันให้ฟิจิเคลื่อนไหวต่อต้านนายจ้าว
จากข้อมูลเอกสารระบุว่าองค์กรอาชญากรรมนี้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการค้ามนุษย์ การฟอกเงิน และการไหลของยาเสพติดจำนวนมากไปยังออสเตรเลีย โดยสมาชิกอาวุโสขององค์กรมีความสามารถในด้านการประสานงานในการดำเนินงานในระดับภูมิภาค
ตัวนายจ้าวไม่เคยถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมใดๆ ในออสเตรเลีย และทางการไม่เคยเปิดเผยข้อสงสัยต่อสาธารณะ ขณะที่ทางด้านของนายปิโอ ติโกดัวดัว (Pio Tikoduadua) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของฟิจิก็ยืนยันว่าทางการออสเตรเลียได้มีการแบ่งปันข้อมูลมาให้กับเขาจริง ในประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับนายจ้าว
นายติโกดัวดัวกล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของฟิจิอาจจะดำเนินการบางอย่างกับกรณีที่หน่วยข่าวกรองต่างประเทศได้หยิบยกขึ้นมา แต่เขาก็เสริมว่าข้อกล่าวหาต้องมีพื้นฐานบางอย่างในข้อเท็จจริงและในทางกฎหมายที่เหมาะสมให้เราตอบสนองกับมันได้
ส่วนตัวนายจ้าวได้กล่าวปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ ในระหว่างการซักถามกับผู้สื่อข่าวสั้นๆที่โรงแรมของเขา โดยผู้สื่อข่าวได้ถามเขาตอนหนึ่งว่าเขาทำงานในนามของรัฐบาลจีนหรือไม่ นายจ้าวได้ตอบกลับมาคำเดียวว่าใช่
นายจ้าวฟู่กัง
ขณะที่สถานทูตจีนในกรุงซูวาปฏิเสธที่จะตอบคําถามเกี่ยวกับนายจ้าว ซึ่งเป็นพลเมืองที่แปลงเป็นสัญชาติฟิจิ และกล่าวว่าคําถามทั้งหมดควรไปถามเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
“รัฐบาลจีนให้ความสําคัญอย่างยิ่งและมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการปกป้องความปลอดภัยและสิทธิและผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของชาวจีนโพ้นทะเล เราขอให้ชาวจีนโพ้นทะเลปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในท้องถิ่นเสมอ และไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ผิดกฎหมายใดๆ” สถานทูตจีนกล่าวและกล่าวอีกว่า “ความสงสัยของคุณเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและชุมชนชาวจีนในฟิจินั้นไม่มีมูลความจริงเลย”
@เกมการเมืองในแปซิฟิก
การพุ่งเป้าของออสเตรเลียไปที่ตัวนายจ้าวเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลของตะวันตก ซึ่งมองความทะเยอทะยานของจีนในหมู่เกาะแปซิฟิก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนสามารถสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับหมู่เกาะโซโลมอน คิริบาส และนาอูรู โดยโน้มน้าวให้พวกเขาละทิ้งการยอมรับทางการทูตของไต้หวัน พันธมิตรของสหรัฐฯ
ในปี 2565 จีนได้มีการบรรลุสนธิสัญญาความมั่นคงลับกับหมู่เกาะโซโลมอน โดยข้อมูลเอกสารที่รั่วไหลระบุว่ามีการอนุญาตให้รัฐบาลจีนส่งกองกําลังความมั่นคงไปยังหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อ "ปกป้องความปลอดภัยของบุคลากรจีนและโครงการสําคัญ" การประกาศข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ทางสหรัฐฯ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ค่อนข้างกังวล
ส่วนกรณีของประเทศฟิจิพบว่าในปี 2560 มีเหตุสำคัญเมื่อจีนได้ส่งเครื่องบินลำหนึ่งซึ่งบนเครื่องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากไปยังเกาะฟิจิ เพื่อที่จะดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยคดีฉ้อโกงออนไลน์และนําผู้ต้องสังเหล่านี้กลับไปยังประเทศจีน
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายค้านฟิจิ เพราะปรากฏภาพให้เห็นว่าผู้ต้องสงสัยถูกตำรวจจีนคลุมถุงดำครอบหัว และถูกต้อนเรียงแถวไปขึ้นเครื่องบิน พอต่อมานายแฟรงก์ ไบนิมารามา อดีตนายกรัฐมนตรีฟิจิพ้นจากตำแหน่งเพราะแพ้การโหวตเลือกนายกรัฐในรัฐสภาในปลายปี 2565 รัฐบาลหลังจากนายไบนิมารามาก็ได้สั่งห้ามการปฏิบัติการของตำรวจจีนบนฟิจิอย่างรวดเร็ว
ขณะที่สื่อและข่าวประชาสัมพันธ์จากจีนได้แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นอย่างน้อย นายจ้าวถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาให้กับนายไบนิมารามา ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ของนายจ้าวและรัฐบาลไบนิมารามาเป็นอย่างไร แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่านายจ้าวกำลังสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับทั้งตัวนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงฟิจิคนอื่นๆ
ย้อนไปในปี 2557 นายไบนิมารามายังเคยไปร่วมงานเปิดโรงแรม Yue Lai Hotel ของนายจ้าว โดยงานนี้มีแผ่นป้ายที่ระลึกถูกติดตั้งอยู่ใกล้กับทางเข้าโรงแรม และหลังจากที่นายไบนิมารามาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีการนำเอาสติกเกอร์มาปิดทับแผ่นป้ายนี้ไปแล้ว
กลับมาที่ตัวนายจ้าว เขาไมได้ตอบคำถามที่เป็นลายลักษณ์อักษรของผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไนน์จากออสเตรเลียแต่อย่างใด นายจ้าวกล่าวแค่ว่าเขาเพิ่งรู้จักกับนายไบนิมารามาเพราะอดีตนายกรัฐมนตรีเคยไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารของโรงแรมของเขาเท่านั้น
"ทุกคนรู้จักแฟรงก์" นายจ้าวกล่าวถึงอดีตนายกรัฐมนตรีด้วยชื่อต้นก่อนจะถ่ายรูปนักข่าวที่มาสัมภาษณ์เขา
ส่วนนายไบนิมารามาก็ไม่ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด
@นายหน้าของจีนในฟิจิ
บทบาทของนายจ้าวในฐานะตัวแทนของรัฐบาลจีนถูกระบุไว้อย่างละเอียดในรายงานของสื่อจีนและเอกสารทางการ
อย่างน้อยตั้งแต่กลางช่วง ค.ศ.ที่ 2010 เป็นต้นมานายจ้าวได้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหลายองค์กรที่ถูกควบคุมโดยสำนักงานชื่อว่า United Front Work Department หรือว่าฝ่ายงานแนวร่วม สำนักงานแห่งนี้เป็นสำนักงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ทำงานประสานความพยายามในการใช้ชาวจีนพลัดถิ่นในต่างประเทศเพื่อทำหน้าที่โน้มน้าวบุคคลระดับสูงในประเทศปลายทางและผลักดันผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน
นายจ้าวยังดำรงตำแหน่งระดับสูงอีกหลายตำแหน่งในฝ่ายงานแนวร่วม รวมไปถึงตำแหน่งเป็นผู้นำในองค์กรสําหรับชาวจีนพลัดถิ่นทางตอนเหนือในฟิจิ ตามรายงานของสื่อของรัฐจีน เขายังเป็นหัวหน้าองค์กรชาวจีนพลัดถิ่นในฟิจิที่สนับสนุน "การรวมชาติ" ของไต้หวันกับจีน
มีอยู่ช่วงหนึ่ง นายจ้าวได้ดำรงตำแหน่งในสภาออสเตรเลีย-แปซิฟิกไต้หวัน ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนการรวมชาติ โดยสภานี้มีผู้นำคือนายหวง เซียงโม่ (Huang Xiangmo) มหาเศรษฐีชาวจีนและยังเป็นผู้บริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองในออสเตรเลีย
นายหวงเคยมีที่อยู่ถาวรในออสเตรเลีย ก่อนที่มันจะถูกยกเลิกและตัวเขาถูกแบนห้ามเข้าออสเตรเลียในปี 2562 หลังจากที่หน่วยข่าวกรองภายในประเทศกล่าวหานายหวงว่ากําลังแทรกแซงการเมืองออสเตรเลียในนามของรัฐบาลจีน ซึ่งนายหวงก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ไป
รายงานของสื่อภาษาจีนระบุว่านายจ้าวได้เดินทางกลับประเทศจีนเพื่อพบกับเจ้าหน้าที่แนวร่วม และในปี 2560 และ 2562 เขาได้เข้าร่วมการประชุมประจําปีของหน่วยงาน
ขณะเดียวกันในฟิจินายจ้าวก็ได้เริ่มการสร้างสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูง
นายแฟรงก์ ไบนิมารามา อดีตนายกรัฐมนตรีฟิจิถูกศาลตัดสินว่าไม่มีความผิดในคดีทุจริต (อ้างอิงวิดีโอจาก ABC News)
@ไม่ใช่เพื่อน
บทบาทของนายจ้าวในฟิจินั้นดูเหมือนจะเน้นไปที่ด้านความมั่นคงเป็นหลัก
ในปี 2559 มีข้อมูลจากทั้งเอกสารบริษัทและข้อมูลจากสื่อรายงานว่านายจ้าวได้มีการจัดตั้งโรงแรมของเขา ซึ่งเป็นศูนย์บริการชาวจีนโพ้นทะเลอย่างเป็นทางการ ส่วนรัฐบาลจีนคำกล่าวอ้างจากรัฐบาลตะวันตกและนักวิจัยต่างๆ ที่อ้างว่าศูนย์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสํานักงานทั่วโลก ซึ่งในบางกรณีศูนย์เหล่านี้ถูกใช้เพื่อตรวจสอบพลเมืองจีนในต่างประเทศ จีนกล่าวว่าจุดประสงค์ของสํานักงานคือเพื่อช่วยให้พลเมืองจีนทํางานต่างๆที่มีลักษณะซ้ำซากได้ง่ายขึ้น เช่น การต่ออายุเอกสารราชการ
ในฐานะหัวหน้าศูนย์นายจ้าวได้เข้าร่วมและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงหลายครั้ง ตามรายงานของสื่อภาษาจีนพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงฟิจิ กลุ่มผู้นำธุรกิจชาวจีนในท้องถิ่น และบรรดาเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างก็เข้าร่วมการประชุมเหล่านี้
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ออสเตรเลียเริ่มสงสัยในตัวของนายจ้าวเพราะบทบาทของนายจ้าวที่อ้างว่าสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายในฟิจิ แต่ว่าฟิจิก็กำลังถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมองค์กรอาชญากรรมร้ายแรง
ในรายงานของ OCCRP เผยให้เห็นว่ารัฐบาลจีนพึ่งพานักธุรกิจที่มีประวัติน่าสงสัยหลายราย รวมไปถึงหัวหน้าอั๊งยี่ชื่อดังที่มีฉายาว่า “ฟันหัก” หรือว่า Broken Tooth เพื่อพัฒนาผลประโยชน์ของตนในที่อื่นในแปซิฟิก
ออสเตรเลียสงสัยว่านายจ้าวอาจมีส่วนเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดทางอาญา หลังจากมีความกังวลเรื่องเส้นทางการค้ายาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นผ่านประเทศฟิจิ โดยตำแหน่งภูมิศาสตร์ของฟิจินั้นถือว่าอยู่กึ่งกลางพอดีระหว่างภูมิภาคละตินอเมริกาหรืออเมริกาใต้ ที่เป็นแหล่งส่งออกและประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผู้ซื้อที่มีศักยภาพสำคัญ
OCCRP เคยรายงานเมื่อปี 2566 ว่าเหล่าบรรดาผู้นำระดับสูงของฟิจิในรัฐบาลที่แล้วได้มีการละเลยจนนำไปสู่การลักลอบขนเมทแอมเฟตามีนและโคเคนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ และย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ตํารวจฟิจิยึดยาบ้าได้เป็นจำนวน 4.8 ตัน คิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยาบ้าจำนวนนี้เพียงพอที่จะจัดหาให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งหมดในออสเตรเลียได้เป็นเวลาหกเดือน
อย่างไรก็ตาม OCCRP และสื่อพันธมิตรไม่ได้กล่าวหาว่านายจ้าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมยาเสพติดลอตดังกล่าวแต่อย่างใด
นายสตีเฟน ราบูก้า นายกรัฐมนตรีฟิจิคนปัจจุบันกล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ทราบถึงคํากล่าวอ้างของรัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับกรณีกล่าวหาว่านายจ้าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมแต่อย่างใด
รัฐบาลของราบูก้าประกาศเมื่อกลางเดือน มี.ค.ว่ากําลังเริ่มต้นข้อตกลงตํารวจที่ระงับไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ตัวนายราบูก้ากล่าวยอมรับว่าเขามีความกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรที่เคลื่อนไหวอยู่ในฟิจิ
“ผมไม่อยากเปิดประตูต้อนรับใครบางคนที่ปรากฎว่าเขาไม่ใช่เพื่อนเข้ามา” นายราบูก้ากล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.occrp.org/en/investigations/chinese-communist-party-backed-businessman-in-fiji-is-a-top-australian-criminal-target
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.แคนาดาประกาศยกเครื่องระบบจัดซื้อ หลังข้อครหาเอกชนทำใบเก็บเงินเท็จ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกชนสหรัฐฯจ่ายคอมมิชชั่นเจ้าชายซาอุฯ 501 ล. แลกสัญญากลาโหม 3.3 พัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกสาร กห.อังกฤษจ่ายสินบนให้ราชวงศ์ซาอุฯ แลกสัญญา บ.รบหมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดปม กองทัพอาระกันขายวัสดุนิวเคลียร์แลกอาวุธ ใช้ยากูซ่าเป็นนายหน้า
- ส่องคดีทุจริตโลก: ลูกขุนสหรัฐฯฟันอดีตพ่อค้าน้ำมัน บ.วิตอล คดีสินบนเม็กซิโก-เอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อัยการยุโรปสั่งสอบ 3 มหาวิทยาลัยเอี่ยวโกงงบช่วยเหลือ EU นับร้อยล้าน
- ส่องคดีทุจริตโลก:ปธน.เกาหลีใต้ อ้างเป็นเรื่องโชคร้าย หลังภรรยาถูกครหารับกระเป๋า 8 หมื่น
- ส่องคดีทุจริตโลก:บ.น้ำมันใหญ่จ่ายสินบนพัน ล.ให้ จนท.รัฐทุกระดับ-แลกสัญญาน้ำมันเอกวาดอร์
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตคนวงในแฉจนท. UN รวมหัวเรียกสินบนโครงการฟื้นฟูอิรัก 5.3 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดร่าแฉอดีต รมว.คลังมาเลย์ ถือครองอสังหาฯ 1.8 พันล. ณ ลอนดอน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกชนเยอรมันจ่ายเงิน 7.7พันล. ยุติคดีสินบนในต่างแดน
- ส่องคดีทุจริตโลก: สว.สหรัฐฯฉาวอีก ถูกครหารับสินบนนักลงทุน แลกออกแถลงการณ์สนับสนุนกาตาร์