บัญชีของทั้งสามคนนี้พบว่าเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าน้ำมันระหว่างประเทศอย่างน้อย 6 แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกสามบริษัทได้แก่วิตอล,กุนโวร์ กรุ๊ป (Gunvor Group) และทราฟิกูรา กรุ๊ป (Trafigura Group) และพวกเขาทั้งสามคนได้ซักทอดเจ้าหน้าที่รัฐเอกวาดอร์หลายคนว่ามีส่วนในการรับสินบน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ในรัฐวิสาหกิจน้ำมัน ไปจนถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง และสำนักประธานาธิบดีเอกวาดอร์
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอประเด็นสืบเนื่องจากกรณีสำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างในรายงานข่าวว่า บริษัทค้าน้ำมันระดับโลก 3 แห่ง ได้แก่ Gunvor Group, Vitol Group และ Trafigura Group ได้ใช้นายหน้า (Front) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากประเทศจีน ,ประเทศไทย ,ประเทศโอมาน และประเทศอุรุกวัย เป็นบริษัทนายหน้า ในการทำข้อตกลงซื้อขายน้ำมันมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐกับประเทศเอกวาดอร์ในช่วงปี 2553 ซึ่งมีการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเอกวาดอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงซื้อขายน้ำมัน
(อ่านประกอบ : อ้างคำให้การ 3 บ.น้ำมันยักษ์ใช้ ปตท.-รัฐวิสาหกิจ ตปท.เป็นนายหน้าในคดีสัญญาทุจริตกับเอกวาดอร์)
โดยวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานข่าวความคืบหน้ากรณีที่อีกครั้ง ระบุว่าตามคำให้การต่อคณะลูกขุนในช่วงสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ศาลแขวงบรู๊คลิน รัฐนิวยอร์ก พบว่ามีกรณีการให้สินบนหลายรายการ อาทิ นาฬิกาข้อมือปาเต็ก ฟิลิปป์ มูลค่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2,494,100 บาท), การปรับปรุงห้องน้ำสุดหรู,และถุงใส่เงินสดอย่างน้อยประมาณ 12 ถุง
ทั้งหมดที่ว่านี้คือสินบนที่ถูกจ่ายเพื่อจะชนะสัญญาการทำธุรกิจเพื่อที่จะค้าน้ำมันในประเทศเอกวาดอร์
คำให้การระบุต่อไปว่ามีบริษัทผู้ค้าสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนหลายแห่งพบว่ามีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องของการส่งซองสีน้ำตาลให้การให้เงินใต้โต๊ะ อย่างน้อยก็ในสมัยที่นายมาร์ค ริช ผู้ก่อตั้งบมจ.เกลนคอร์ (Glencore Plc) ซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันสัญชาติสวิสยังคงปฏิบัติหน้าที่บริหารอยู่
แต่ในการสอบสวนอดีตผู้ค้าน้ำมันของบริษัทวิตอล กรุ๊ป (Vitol Group)ได้มีการเปิดโปงการกระทำผิดซึ่งๆหน้า ที่ได้ดำเนินต่อเรื่อยๆจนถึงทศวรรษปัจจุบัน
คำให้การจากนายนิลเซ่น อาเรียส (Nilsen Arias) อดีตหัวหน้าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจค้าน้ำมันของเอกวาดอร์และนายอันโตนิโอ และ เอ็นริเก้ เปเร่ (Antonio and Enrique Pere) สองพี่น้องเพื่อมีส่วนในการจัดการเรื่องการจ่ายสินบน แสดงให้เห็นว่ามีการทุจริตที่แพร่หลายเป็นระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา โดยการทุจริตเกิดขึ้นทั้งในกลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และในกลุ่มนักการเมืองระดับสูงของเอกวาดอร์
บัญชีของทั้งสามคนนี้พบว่าเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าน้ำมันระหว่างประเทศอย่างน้อย 6 แห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกสามบริษัทได้แก่วิตอล,กุนโวร์ กรุ๊ป (Gunvor Group) และทราฟิกูรา กรุ๊ป (Trafigura Group) และพวกเขาทั้งสามคนได้ซักทอดเจ้าหน้าที่รัฐเอกวาดอร์หลายคนว่ามีส่วนในการรับสินบน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ในรัฐวิสาหกิจน้ำมัน ไปจนถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง และสำนักประธานาธิบดีเอกวาดอร์
นายนิลเซ่น อาเรียสอดีตหัวหน้าผู้บริหารปิโตรเอกวาดอร์ (อ้างอิงวิดีโอจาก Ecuavisa)
โดยในตอนหนึ่งนายอันโตนิโอ เปเร่ ซึ่งเป็นคนกลางได้ออกมายอมรับว่าเขาได้เป็นผู้จัดการการจ่ายเงินอันไม่โปร่งใสกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,573,000,000 บาท) และยังมีการตั้งคำถามนายอันโตนิโอว่า “คุณไม่ได้ติดสินบนเลขาธิการประธานาธิบดี ใช่หรื่อไม่”
นายอันโตนิโอ เปเร่กล่าวตอบกลับมาว่า “ผมตั้งใจที่จะทำเช่นนั้น ผมเคยมีการพบปะมาก่อนแล้ว การพบปะนั้นก็คือเจตนา”
@เวทีเกมของผู้ค้าน้ำมัน
ประเทศเอกวาดอร์เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันขนาดกลาง ผลิตน้ำมันได้ 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ทว่านับตั้งแต่ปี 2553 ประเทศนี้ก็ได้กลายเป็นสนามสำหรับผู้ค้าโภคภัณฑ์ในระดับโลก
มีรายงานว่ารัฐบาลที่อยู่ในสภาพขัดสนเงินของนายราฟาเอล กอร์เรอา (ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ช่วงปี 2550-2560) ได้พยายามขอสินเชื่อซึ่งมีน้ำมันเป็นหลักประกัน คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยขอสินเชื่อทั้งจากรัฐวิสาหกิจประเทศโอมาน,จีน และไทย ซึ่งในคำให้การระบุว่าเบื้องหลังข้อตกลงเหล่านี้มีกรณีที่เกี่ยวกับบริษัทผู้ค้าโภคภัณฑ์ที่พยายามเข้าไปจัดการข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
นายอาเรียสซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้บริหารปิโตรเอกวาดอร์จนกระทั่งกลางปี 2560 ให้การว่าเขาได้รับสินบนจากผู้ค้าน้ำมันซึ่งรวมถึงวิตอล,กุนโวร์,ทราฟิกูรา,โนเบิล กรุ๊ป (Noble Group),เปเตรเดค (Petredec) และซาร์จแอนท์ มารีน (Sargeant Marine) และยังมีบุคคลอีก 20-24 คน ที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์การให้สินบนนี้
ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีการจ่ายเงินสินบนผ่านพี่น้องเปเร่ โดยพบว่ามีบริษัทอีกหลายแห่งที่มีการจดทะเบียน จัดตั้งขึ้นใหม่ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และปานามา เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ของการจ่ายสินบนนี้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็รวมไปถึงบริษัทที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยบริษัทสำนักกฎหมาย มอสแซค ฟอนเซกา ตัวละครสำคัญในเอกสารปานามาเปเปอร์สอันโด่งดัง
ทางบริษัทวิตอลและซาร์จแอนท์ มารีน ออกมายอมรับว่าได้มีการจ่ายเงินสินบนจริง ในประเทศเอกวาดอร์ ส่วนกุนโวร์ได้มีการเปิดเผยการสอบสวนของสหรัฐฯเกี่ยวกับการติดสินบนในเอกวาดอร์และเตรียมเงินสำรองไว้กว่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (23,094,500,000 บาท)
นายฮาเวียร์ อากีลาร์ (Javier Aguilar) อดีตผู้ค้าน้ำมันของวิตอลที่ตอนนี้กำลังถูกสอบวนในข้อหาเรื่องสินบนและการฟอกเงินได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของทางรัฐบาลสหรัฐฯไปแล้ว โดยเขาอ้างว่าไม่รู้ว่าพี่น้องเปเร่ได้จ่ายเงินสินบนเพื่อที่จะทำให้ชนะการทำสัญญาธุรกิจและตัวเขาเองก็ยังถูกใส่ความจากผู้บริหารระดับสูงของวิตอล
@กรณีการจ่ายเงินของกุนโวร์
พี่น้องเปเร่ให้การรับสารภาพว่าบริษัทกุนโวร์แค่เพียงรายเดียวได้จ่ายเงินให้กับพวกเขากว่า 97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,465,810,000 บาท) และหลังจากที่เก็บเงินส่วนแบ่งของตัวเองแล้ว สองพี่น้องได้ใช้เงินจำนวนนี้เพื่อเป็นสินบนจ่ายต่อให้กับเจ้าหน้าที่อีกหลายคน ซึ่งรวมถึงนายอาเรียสที่ออกมายอมรับว่าได้รับสินบนไปกว่า 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (478,442,970 บาท)
ข่าวทางการเอกวาดอร์กักตัวอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในข้อหาพัวพันกับสินบน
โดยสินบนที่นายอาเรียสได้รับในจำนวนนี้รวมไปถึงนาฬิกาข้อมือปาเต็ก ฟิลิปป์ มูลค่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทางนายอาเรียสกล่าวว่านายอันโตนิโอ เปเร่ ซื้อนาฬิกาให้กับเขาในนามของตัวแทนผู้บริหารบริษัทกุนโวร์ และในเวลาต่อมานาฬิกาเรือนนี้ก็ได้ถูกยึดโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นหลักฐานในคดีสินบน
นายอาเรียสให้การอีกว่านายเอ็นริเก้ เปเร่ได้เคยจ่ายเงินให้กับมัณฑนากรคิดเป็นมูลค่า 1.2 แสนยูโร (4,595,816 บาท) โดยเป็นค่าจ้างให้ตกแต่งภายในสำหรับพื้นหินอ่อน และห้องน้ำจำนวนสี่ห้องที่บ้านของนายอาเรียสในประเทศโปรตุเกส
พี่น้องเปเร่ให้การว่าสินบนบางส่วนที่ให้กับนายอาเรียสถูกจ่ายเป็นรูปแบบของเงินสด ซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 30,000-110,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,063,206 - 3,898,424 บาท) โดยมีทั้งกรณีที่นายเอ็นริเก้ เปเร่ เป็นผู้ส่งมอบเงินด้วยตัวเอง และมีทั้งการว่าจ้างให้คนขับรถนำเงินไปส่ง ซึ่งเงินจะถูกส่งมอบที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองกวายากิล เมืองท่าบนชายฝั่งแปซิฟิกของเอกวาดอร์
นายอาเรียสและพี่น้องเปเร่ได้มีการบันทึกความคืบหน้าสัญญาน้ำมันต่างๆลงบนสเปรดชีต ซึ่งมีการคำนวณเงินค้างชำระและสินบนที่จะต้องจ่ายให้กับแต่ละคนเอาไว้แล้ว ยกตัวอย่างเช่นในกรณีสัญญาน้ำมันกับวิตอล บริษัทน้ำมันจะต้องมีการจ่ายเงินให้กับพี่น้องเปเร่คิดเป็นมูลค่า 25 เซ็นต์ในแต่ละบาร์เรลน้ำมันที่ได้มีการค้าขาย โดยจ่ายผ่านตัวกลางในประเทศกูราเซา
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่นายอันโตนิโอ เปเร่ถูกถามว่าเขาเคยช่วยลูกค้าทําธุรกิจกับรัฐบาลเอกวาดอร์โดยไม่จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่
นายอันโตนิโอ เปเร่ตอบกลับว่า “ผมไม่แน่ใจ ผมจำไม่ได้”
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับกรณีประเทศไทย ซึ่งมีการกล่าวหาว่า บมจ.ปตท.เป็นนายหน้าให้กับกุนโวร์กรุ๊ปนั้น ทางด้านของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. ระหว่างวันที่ 10 ก.ย.2554-18 ก.ย.2558 ได้ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่าปตท.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของกุนโวร์แต่อย่างใด เพราะการทำสัญญาซื้อขายน้ำมันดังกล่าว เป็นการทำสัญญาระหว่าง ปตท. กับรัฐวิสาหกิจของเอกวาดอร์ ส่วนกรณีของจีน และโอมาน ก็เป็นการทำสัญญากับรัฐวิสาหกิจของเอกวาดอร์เช่นกัน เป็นเพียงการซื้อตามคำแนะนำเท่านั้น อีกทั้งคณะกรรมการ ปตท. ได้มีการตรวจสอบ มีการวิจารณ์กันในบอร์ดหลายครั้ง และมีจ้างคนนอกเข้ามาตรวจสอบด้วย
- ซื้อตามคำแนะนำ! 'อดีตCEO'ยัน'ปตท.'ไม่เกี่ยวคดีสินบนน้ำมัน'เอกวาดอร์'-บอร์ดฯเคยสั่งสอบแล้ว
- อ้างคำให้การ 3 บ.น้ำมันยักษ์ใช้ ปตท.-รัฐวิสาหกิจ ตปท.เป็นนายหน้าในคดีสัญญาทุจริตกับเอกวาดอร์
- เปิดชื่อ‘บอร์ด-CEO’ปี 51-55 หลัง‘บลูมเบิร์ก‘ตีข่าว อ้างปตท.พันคดีสินบนซื้อน้ำมัน‘เอกวาดอร์’
- เปิดประวัติ 'กุนโวร์ กรุ๊ป' เอกชนสวิส ถูกกล่าวหาใช้ ปตท.เป็นนายหน้าคดีสัญญาเอกวาดอร์
อ่านประกอบ:
- ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตคนวงในแฉจนท. UN รวมหัวเรียกสินบนโครงการฟื้นฟูอิรัก 5.3 หมื่น ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกสารแพนโดร่าแฉอดีต รมว.คลังมาเลย์ ถือครองอสังหาฯ 1.8 พันล. ณ ลอนดอน
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกชนเยอรมันจ่ายเงิน 7.7พันล. ยุติคดีสินบนในต่างแดน
- ส่องคดีทุจริตโลก: สว.สหรัฐฯฉาวอีก ถูกครหารับสินบนนักลงทุน แลกออกแถลงการณ์สนับสนุนกาตาร์