“…คณะผู้ทำแผนพื้นฟูกิจการ บกท. เชื่อว่า บกท. ยังมีจุดแข็งในหลายๆ ด้านและมีศักยภาพเพียงพอในการเติบโตในอนาคตหลังจากการพื้นฟูกิจการประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ ที่จะต้องเร่งสร้างความชัดเจนเพื่อประกอบการทำแผนพื้นฟูกิจการ บกท. ได้แก่ แผนการจัดหาเงินทุนและการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเงินของ บกท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม…”
.................
การส่งแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อส่งให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงและลูกหนี้ ตามมาตรา 90/43 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลายฯ กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดแล้ว
หลังคณะผู้ทำแผนฯกำหนดตารางเวลา (ไทม์ไลน์) ว่า จะส่งแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ให้เจ้าพนักพิทักษ์ทรัพย์ ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ก่อนจะมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้ 5,000 ราย เพื่อปรึกษาลงมติว่า ‘จะยอมรับแผนหรือไม่หรือจะแก้ไขอย่างไร’ ในช่วงต้นเดือนเม.ย.2564
หากที่ประชุมเจ้าหนี้โหวตรับแผนฯแล้ว ก็คาดว่าศาลล้มละลายจะเห็นชอบแผนฯ และแต่งตั้ง ‘ผู้บริหารแผน’ ได้ ประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย.2564 และเริ่ม ‘นับหนึ่ง’ ในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ซึ่งกฎหมายให้เวลาดำเนินการตามแผนฯ 5 ปี และต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆละ 1 ปี
หากทำตามแผนฯไม่สำเร็จ บริษัท การบินไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการ ‘ล้มละลาย’ ต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้ว่าล่าสุดคณะผู้ทำแผนเตรียมเสนอศาลล้มละลาย เพื่อขอเลื่อนเวลาส่งแผนฯเป็นครั้งที่ 2 และคาดว่าจะส่งแผนฯได้ในช่วงปลายเดือนก.พ. ถึงต้นเดือนมี.ค.2564 (อ่านประกอบ : เลื่อนส่งแผนฟื้นฟูฯรอบ2! ‘การบินไทย’ ขอศาลฯขยายเวลา 1 เดือน-คาดปีนี้ใช้เครื่อง 28 ลำ)
แต่ตลอดระยะเวลา 4 เดือนเศษ ของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ของคณะผู้ทำแผนฯ ภายใต้คำแนะนำของบริษัทที่ปรึกษาฯ ‘แมคคินซีย์ แอนด์ โค’ พบว่าการจัดทำแผนคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆกับการเดินสายเจรจากับ ‘เจ้าหนี้’ เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทฯที่มียอดหนี้หลายแสนล้านบาท
และแม้ว่าจนถึงขณะนี้ 'คณะผู้ทำแผน' จะยังไม่มีเปิดเผยแผนฯที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อ ‘เจ้าหนี้’ อย่างเป็นทางการ
แต่เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2563 บริษัท การบินไทย รายงานความคืบหน้าการจัดทำแผนฟื้นฟูฯของคณะผู้ทำแผน ณ เดือนธ.ค.2563 ให้ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทยฯ ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบ ก่อนจะรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันถัดมา
โดยสรุปรายละเอียด 'กิจกรรมหลัก' ในการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย (บกท.) ที่ต้องเร่งดำเนินการ เป็น 7 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การปรับวิสัยทัศน์ โดยเน้นการเป็นสายการบินของประเทศไทยที่ให้บริการที่ดี สามารถเชื่อมโยงเส้นทางการบินได้ทั่วโลก และสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
2.การปรับโครงข่ายการบิน โดยเน้นเส้นทางการบินที่มีกำไร ซึ่งคาดว่าจะมีการยกเลิกเส้นทางการบินจำนวน 16 เส้นทาง และเพิ่มเส้นทางการบินตามฤดูกาล (Seasonal routes) จากสนามบินสำคัญๆ เช่น เพิ่ม 12 เส้นทางการบินจากสนามบินภูเก็ต เป็นต้น
3.การปรับฝูงบิน โดยเน้นประสิทธิภาพในการบริหารฝูงบินควบคู่กับการทบทวนส้นทางการบิน และการใช้พนักงานการบินในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าบริษัท การบินไทย จะลดจำนวนแบบเครื่องบิน (Airframes) จาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ และลดจำนวนแบบเครื่องยนต์ (Engines) จาก 9 แบบ เหลือ 5 แบบ
(เครื่องบินแอร์บัส A-340 บริษัท การบินไทย)
4.การเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ โดยจะมีการแยกบริการหลัก ได้แก่ บริการการบิน และบริการเสริม (เช่น น้ำหนักกระเป๋า อาหาร ที่นั่ง) ออกจากกันเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม รวมถึงการพัฒนาระบบการซื้อตั๋วโดยสารและขนสินค้า (Cargo) ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
5.การดำเนินการกับบริษัทลูกและหน่วยธุรกิจที่มีศักยภาพ ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของสายการบินไทยสมายล์ บริการภาคพื้นดิน (Ground services) บริการซ่อมบำรุง (Maintenance) บริการขนส่งสินค้า (Cargo) บริการครัวการบิน (Catering)
โดยในระยะถัดไปจะมีการพิจารณาความเหมาะสมในการพัฒนาสายการบินไทยสมายล์ ให้เป็นหน่วยงานที่ให้บริการการบินเพียงหน่วยงานเดียวแทน บริษัท การบินไทย ตลอดจนความเป็นไปได้ในการแยกหน่วยธุรกิจที่มีศักยภาพเป็นบริษัทลูกเพื่อหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic partners) ในระยะถัดไป
6.การลดจำนวนพนักงานและค่าใช้จ่ายพนักงาน โดยบริษัท การบินไทย อยู่ระหว่างดำเนินการลดขนาดองค์กรจากพนักงานจำนวน 29,000 คน ในปี 2562 ให้เหลือพนักงานจำนวน 20,000 คนในปี 2563 และเหลือพนักงานจำนวน 13,000 คน ในปี 2565 ตามลำดับ รวมถึงการปรับลดค่าตอบแทนพนักงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรม
7.การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติจริง โดยบริษัท การบินไทย ได้สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของพนักงานในการพื้นฟูกิจการ มีการกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) รายบุคคลซึ่งเชื่อมโยงกับระบบแรงจูงใจ รวมถึงมีการตั้งตำแหน่ง Chief Transformation Officer และทีมงานจำนวน 30 คน เพื่อรับผิดชอบเฉพาะในการติดตามผลการดำเนินการตามแผนอย่างใกล้ชิดโดยจะมีการรายงานผลเป็นรายสัปดาห์
“คณะผู้ทำแผนพื้นฟูกิจการ บกท. เชื่อว่า บกท. ยังมีจุดแข็งในหลายๆ ด้านและมีศักยภาพเพียงพอในการเติบโตในอนาคตหลังจากการพื้นฟูกิจการประสบผลสำเร็จ
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ ที่จะต้องเร่งสร้างความชัดเจนเพื่อประกอบการทำแผนพื้นฟูกิจการ บกท. ได้แก่ แผนการจัดหาเงินทุนและการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเงินของ บกท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม และจะได้นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับต่อไป” การบินไทยระบุ
ขณะที่ ชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี (DE) บริษัท การบินไทย ระบุในรายการ ‘เดินไปข้างหน้ากับ DD ชาญศิลป์’ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2564 ตอนหนึ่ง ว่า บริษัท การบินไทย จำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุนใหม่หรือกู้เงินใหม่ หลังจากแผนฟื้นฟูกิจการฯได้รับความเห็นชอบจากศาลฯแล้ว
“ต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาเรื่องเงิน เราต้องมีเงินใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมทุนใหม่ หรือเงินกู้ใหม่ ดังนั้น แผนฯ จะต้องตอบคำถามนี้ได้ด้วย” ชายย้ำ
ชาย ยังชี้แจงถึงกระแสข่าวการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินรายหนึ่งเป็นเงินสูงถึง 630 ล้านบาท ว่า เงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอที่บริษัทแห่งหนึ่งเสนอเข้ามา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นค่าใช้จ่ายก่อนที่ศาลฯจะให้ความเห็นชอบแผนฯ และส่วนที่สองเป็นช่วงการดำเนินงานในช่วงการหาผู้ร่วมทุนใหม่
“สมมุติว่าเราต้องเพิ่มทุน เขามีหน้าที่ไปหาเงินทุนเหล่านั้นมา ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนจากผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งเงินจำนวน 630 ล้านบาทนั้น เป็นข้อเสนอที่รวมทั้ง 2 เฟสเข้าด้วยกัน ซึ่งเฟสแรกน้อยกว่านั้นมาก แต่ถ้าเอาทั้ง 2 เฟสมารวมกัน ค่าใช้จ่ายที่เสนอ 630 ล้านบาทนั้น เป็นข้อเสนอที่ต่ำสุดแล้ว บางรายเสนอมาสูงกว่านี้มาก” ชายกล่าว
ด้าน แหล่งข่าวระดับบริหารของบริษัท การบินไทย รายหนึ่ง กล่าวว่า ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯ บริษัท การบินไทย จะใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์ซ่อมหลักฯ หลังจากปิดศูนย์ซ่อมฯที่สนามบินอู่ตะเภาไปแล้ว ส่วนแผนลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมศูนย์ซ่อมบํารุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) จะเดินหน้าต่อไป
“หนึ่งคณะผู้ทำแผนฯ ได้รับปากกับผู้บริหารระดับสูงสำนักงานอีอีซี (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ว่า การบินไทย จะตามไปเปิดศูนย์ซ่อมฯที่สนามบินอู่ตะเภา (MRO) ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ก็ยังติดปัญหาว่าจะไปได้อย่างไร เพราะการบินไทยไม่มีเงิน” แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะผู้ทำแผนฯ มั่นใจว่า แผนฟื้นฟูกิจการฯจะทำให้บริษัท การบินไทย กลับมายืนหยัดได้อีกครั้งภายใน 5 ปีของแผนฯ
แต่ในขณะเดียวกัน บริษัท การบินไทย ได้ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในประเด็นกฎหมาย สัญญา และสิทธิต่างๆ เช่น ขอให้กรมธรารักษ์ลดค่าตอบแทนและค่าเช่าตลอดเวลาที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ ขอให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ให้สิทธิ์ในการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินดอนเมืองต่อไป
ขอให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณาแก้ไขประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในกรณีที่การบินไทยเข้าฟื้นฟูกิจการ
โดยเฉพาะกรณีที่สัญญาที่บริษัท การบินไทย ครบกำหนดแล้ว หรือใกล้จะหมดอายุ ซึ่งต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ให้หน่วยงานคู่สัญญาอนุญาตให้ บริษัท การบินไทย ต่อสัญญาไปพรางก่อน และให้ดำเนินการคัดเลือกบริษัท การบินไทย เป็นคู่สัญญาโดยไม่ใช้วิธีการประมูล (อ่านเอกสารประกอบ)
นอกจากนี้ ในภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้บริษัท การบินไทย ยังประสบปัญหาทางการเงินจากการขาดรายได้จากธุรกิจหลัก ในขณะที่บริษัทฯมีค่าใช้จ่ายที่อาจหลีกเลี่ยงได้จำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ซึ่งพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
บริษัท การบินไทย จึงขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐในประเด็นกฎหมาย สัญญา และสิทธิต่างๆ ‘เพิ่มเติม’
เช่น ขอให้กรมศุลกากร แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง เรื่อง การจัดตั้งและการเลิกดำเนินการเขตปลอดอากร พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร พ.ศ.2560 เพื่อให้ การบินไทย ได้รับยกเว้นคาธรรมเนียม เหตุเพราะพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจตามมติครม.
ขอแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมศุลกากร เพื่อให้บริษัท การบินไทย ได้รับยกเว้นในการวางหลักประกันตามสัญญา เหตุเพราะพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจตามมติครม. และขอให้กรมศุลกากร เสนอเรื่องให้คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับพิจารณาและยุติข้อพิพาททั้งทางอาญา และแพ่งกับบริษัท การบินไทย ในขณะที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ
พร้อมทั้งขอให้กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คัดเลือกบริษัท การบินไทย เข้าเป็นคู่สัญญาในการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือเฮลิคอปเตอร์ของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นต้น (อ่านประกอบ : 'การบินไทย'ขอสิทธิพิเศษ! ให้ ‘ทอ.-ตช.’ เปิดทางเข้าซ่อม ‘เครื่องบิน-ฮ.’-ทอท.ลดค่าเช่า) (อ่านเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้ ครม.มีมติตามข้อเสนอของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทยฯ โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาประเด็นการขอรับสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนกฎและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอคณะกรรมการฯ ภายใน 1 เดือน เพื่อเสนอครม.ต่อไป
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ในช่วงหัวโค้งสุดท้าย ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งภายใน ‘คณะผู้ทำแผน’ ซึ่งอาจ 'แตกหัก' ได้ทุกเมื่อ
อ่านประกอบ :
การบินไทย'ขอสิทธิพิเศษ! ให้ ‘ทอ.-ตช.’ เปิดทางเข้าซ่อม ‘เครื่องบิน-ฮ.’-ทอท.ลดค่าเช่า
ตุนเงินสด 2.7 พันล้าน! 'การบินไทย' ตัดขายหุ้น 'BAFS' 15.53%-ยังเหลืออีก 7.06%
‘แฮร์คัทหนี้’ ทางรอด ‘การบินไทย’? จับตา 'เงินใหม่’ ต่อยอดแผนฟื้นฟูฯ
ตั้ง 4 บิ๊กการบินไทย! คณะผู้ทำแผนจัดโครงสร้างรับฟื้นฟูฯ ‘ชาย เอี่ยมศิริ’ คุมการเงิน
เดินสายกล่อมเจ้าหนี้! ศาลฯอนุญาต ‘การบินไทย’ เลื่อนส่งแผนฟื้นฟูฯถึง 4 ก.พ.64
ชัดเจน ก.พ.ปีหน้า! โครงสร้าง ‘การบินไทย’-เงินเดือนอัตราใหม่ เล็งเปิดเออร์ลี่ฯอีก
ยื่นศาลขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูฯ 1 เดือน! ‘ดีดีการบินไทย’ ยันเจ้าหนี้ได้ประโยชน์มากกว่า 'ล้มละลาย'
สภาพคล่องยังวิกฤติ! ‘การบินไทย’ เปิดพนง.ร่วมโครงการ ‘ลาหยุดไม่รับเงินเดือน’ ถึง 30 เม.ย.ปีหน้า
โล๊ะสินทรัพย์ล็อตใหญ่! ‘การบินไทย’ ประกาศขายเครื่องบินเพิ่มเป็น 43 ลำ-เลหลังแอร์บัส A-380
ร่อนจม.หาพันธมิตร! ‘การบินไทย’ เปิดร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ-มี ‘ไทยเบฟฯ-คิงพาวเวอร์’ ด้วย
‘การบินไทย’ อนุมัติพนง.เข้าโครงการเออร์ลี่ฯ 4,820 คน-สะพัด 3 ‘EVP สรรหา’ ลาออกแล้ว
‘บิ๊กการบินไทย’ แห่ร่วมใจจากองค์กร-‘ชาญศิลป์’ เซ็นตั้ง 'ชวาล' คุมเปลี่ยนผ่าน
ป.ป.ช.ฟ้องเอง-คุกจริง 2 ปี! ‘วัลลภ’อดีต ปธ.บอร์ดบินไทยขนสัมภาระเกินสิทธ์แต่ไม่จ่ายเพิ่ม
ขาดทุน 4.95 หมื่นล้าน! 'การบินไทย'แจ้งผลประกอบการงวด 9 เดือน-ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบเกือบ 4 หมื่นล.
ชงเข้าแผนฟื้นฟูฯ! 'การบินไทย' ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา-ตั้ง ‘บ.ร่วมทุนฯ’ ถือหุ้น 51%
โล๊ะเครื่องบินล็อตใหญ่ 34 ลำ! ‘การบินไทย’ ประกาศขาย ‘โบอิ้ง-แอร์บัส’ 7 รุ่น
พนง.ร่วมมือ'เสียสละ'! ‘ชาญศิลป์’ย้ำ‘การบินไทย’มุ่งมั่นปรับตัวเข้มข้น รับแผนฟื้นฟูฯ
สมัครโครงการ‘เสียสละ’เกือบ 5 พันคน! สหภาพฯการบินไทย ร้องเปิดเวทีแจง 'สัญญาจ้างใหม่'
จ่ายชดเชยตามกม.-เงินพิเศษสูงสุดอีก 4 เดือน!‘การบินไทย’ ประกาศ 2 แพ็กเกจ ‘ร่วมใจเสียสละ’
ผลประโยชน์ทับซ้อน? ทอท. ตั้ง ‘ศูนย์ซ่อมฯเครื่องบิน’ แข่ง 'การบินไทย'
ประมาทเลินเล่อ! ชงลงโทษวินัย-ชดใช้ 3 แสน ‘พนง.การบินไทย’ ทำเครื่องยนต์ตกขณะขนย้าย
ดึงอดีตผู้บริหารนั่งที่ปรึกษาฯ!‘การบินไทย’ตั้งทีมถกเจ้าหนี้‘โรลส์รอยซ์-จีอี-แอร์บัส-โบอิ้ง’
'การบินไทย'ตั้งกก.สอบ! เครื่องยนต์ GE90 ตกพื้นเสียหายขณะขนย้าย-ส่งซ่อมเมืองจีน
ลดรายจ่าย 4 หมื่นล.! ‘ชาญศิลป์’ดึงไอเดีย พนง.ฟื้น‘การบินไทย’-จ่อแยกธุรกิจ'ฝ่ายช่าง-ครัว'
ศึกใน 'การบินไทย' คุกรุ่น! สะเทือนแผนฟื้นฟูฯ กับวาทะ 'ชาญศิลป์' : ทีจีกรุ๊ปไม่สิ้นคนดี
‘การบินไทย’ เปิดเออรี่รีไทร์! ตุนเงินใช้ถึงเม.ย.64-สร.กบท.จี้ทบทวนตั้งเมียประธานบอร์ด
นัดพนง.การบินไทยแต่งดำ! สร.กบท.ชงคำถามซัก ‘ชาญศิลป์’ กรณีโยกย้าย-ยุบไทยสมายล์
โชว์คำสั่ง‘การบินไทย’! โยกย้ายล็อตใหญ่-‘พงศ์อุมา ดิษยะศริน’ รษก.ผอ.ฝ่ายกิจกรรมฯ
89 สหกรณ์ยื่น‘การบินไทย’! เปิดจุดยืนพักจ่ายต้น 5 ปี-แปลงหนี้ที่'แฮร์คัท'เป็นทุน
ราชกิจจาฯแพร่คำสั่งศาลฯ! ตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ 'การบินไทย'-ให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ 1 เดือน
บ.อีวายฯ-ชื่อผู้จัดทำแผนน่าเชื่อถือ! ศาลล้มละลายอนุญาต'การบินไทย'ฟื้นฟูกิจการ
เจาะลึกปม ‘จ่ายสินบน-ล็อบบี้-ผูกขาด’ เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์’ ทุบ ‘การบินไทย’ ร่วงจากฟ้า
มรดกเก่า ‘การบินไทย’! แอร์บัส A340 ‘ซื้อแพง-จอดทิ้งขายไม่ออก-ด้อยค่าแล้ว 1.5 หมื่นล.’
ส่อเอื้อพวกพ้อง! เปิดหลักเกณฑ์-สัญญาจ้าง ‘EVP สรรหา’ ทำ ‘การบินไทย’ เสียหาย?
ชำแหละปม ‘การบินไทย’ เช่า ‘โบอิ้ง’ 8 ลำ เปิดทาง ‘โรลส์รอยซ์’ ผูกสัญญาซ่อม 1.4 หมื่นล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage