"...เราจะมีกระบวนการ ซึ่งผมเรียกว่า HREMM (คณะกรรมการบริหารระดับสูงด้านทรัพยากรบุคคล) ผมให้ EVP (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) สลับกันปีละคน เป็นประธาน กรองคนมาให้ผม...เรากรองคนจากข้างในเป็นหลัก เราคิดว่าคนข้างในเนี่ย อยุธยาไม่สิ้นคนดี ก็เหมือนกันคน TG Group ไม่สิ้นคนดี เพียงแต่ว่าหาคนดีตรงไหน คนเก่งอยู่ตรงไหน แต่ไม่ใช่ว่าได้แต่พูดเก่งนะ ต้องทำเก่งด้วย ต้องทำดีให้องค์กร และต้องกล้าที่จะทำ ต้องกล้าอดทน กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง..."
.................
เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังระงมไปทั่วทั้ง ‘การบินไทย’ จนถึงขั้นมีการรณรงค์แต่ง ‘ชุดดำ’ ประท้วง
เมื่อ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงนามคำสั่งโยกย้าย พงศ์อุมา ดิษยะศริน ‘ผู้จัดการกอง’ บริหารทรัพยากรและสนับสนุนปฏิบัติการ ด้านความปลอดภัยความมั่นคงและมาตรฐานการบิน (ระดับ 9) ขึ้นเป็นรักษาการ ‘ผู้อำนวยการ’ ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ระดับ 10)
แม้คำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย พงศ์อุมา ซึ่งปัจจุบันเป็นภรรยาของ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการการบินไทย (DH) และผู้บริหารไม่น้อยกว่า 30 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา ไม่ได้ผิดระเบียบบริษัทฯ และเป็นอำนาจโดยชอบของ 'รักษาการดีดี' การบินไทย ที่จะแต่งตั้งโยกย้ายบุคคลเข้ามาทดแทนตำแหน่งที่ ‘ว่างลง’ หรือ ‘เกษียณอายุ’
แต่ก็มีคำถามจากพนักงานในระดับปฏิบัติงานถึง ‘ความเหมาะสม’ ในการแต่งตั้งผู้บริหาร ‘ล็อตใหญ่’ ครั้งนี้
เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัท การบินไทย อยู่ในห้วงเวลา 3 เดือนของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้โหวต และหนึ่งในแผนสำคัญ คือ การปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานลง ประกอบกับเที่ยวบินส่วนใหญ่ยังคงหยุดปฏิบัติการบิน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
จึงทำให้เกิดความระส่ำระสายในบริษัทฯ ว่า 'ใครบ้างที่จะได้ไปต่อกับบริษัท' และเกิดเป็นข้อสงสัยว่าผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งในรอบนี้ จะเป็นกลุ่มคนที่มี 'โอกาสสูง' ที่จะได้ 'อยู่ต่อ' ภายใต้โครงสร้างองค์กรใหม่ใช่หรือไม่
(ชาญศิลป์ ตรีนุชกร เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอสินค้า puff&pie และ ปาท่องโก๋การบินไทย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ขอบคุณภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
ที่สำคัญมีคำถามอีกว่า การแต่งตั้งผู้บริหารในบางตำแหน่งอาจ ‘ขัดแย้ง’ กับสิ่งที่ ชาญศิลป์ เคยส่งสัญญาณไปถึงพนักงานว่า อย่าปล่อยให้มีการทุจริต และการเล่นพรรคเล่นพวกในบริษัท การบินไทย หรือไม่
“อย่าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป อดีตช่างมัน ทำอะไรไม่ได้ แต่ข้างหน้า คุณอย่าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป คุณอย่าให้มีการทุจริต คุณอย่าให้มีการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่ว่านามสกุลอะไร มาอยู่ในการบินไทย มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าเท่ากัน มีโอกาสเท่ากัน” ชาญศิลป์ กล่าวถึงปัญหา 15 ปีที่ผ่านมาของการบินไทย ในการประชุม staff meeting หลังเข้ามาทำงานในการบินไทยได้ 1 เดือนกับอีก 10 วัน หรือประมาณกลางเดือนส.ค.2563 ที่ผ่านมา
(ที่มา : 1 ในแผ่นสไลด์ที่ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ใช้ประกอบการชี้แจงในการประชุม staff meeting ในช่วงเดือนส.ค.2563)
นอกจากนี้ เบื้องหลังในการแต่งตั้งพนักงานระดับบริหารของบริษัท การบินไทย ในคราวนี้ พบว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะการคัดสรรและกลั่นกรองรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งนั้น ล้วนแล้วมาคัดสรรโดยคณะผู้บริหารระดับสูงชุดหนึ่งที่เรียกว่า ‘HREMM’ ก่อนที่รายชื่อเหล่านั้นจะถูกส่งไปให้ ชาญศิลป์ ลงนาม
“…เราเรียกว่ามีวาระลับในเรื่องของการพิจารณาคนทุกๆอาทิตย์เลย ต่อไปนี้ หลังจาก 1 ต.ค. ทุกอาทิตย์หรือว่าทุกๆเดือนเลย จะมีการโยกย้าย เพื่อที่จะให้มีการดูแลพนักงาน จะมีการสร้าง Career Path (ความก้าวหน้าในอาชีพ) และจะมีการทำให้เกิดสถาบันพัฒนา
ซึ่งเรามีอยู่แล้วในเรื่อง Function แต่เรื่องผู้นำเรายังขาดไป คุณจะเห็นว่าเรามี cross function อยู่มาก โดยเฉพาะคณะทำงาน คณะกรรมการทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งเท่านั้น ถ้ามีความเก่ง ความดี มีความสามารถ เราจะเอาขึ้นมา และไม่จำเป็นต้องมีนามสกุลอะไรก็ตาม ผมมาจากลูกกรรมกร ไม่จำเป็น โอเคมั้ย
แต่ว่าพวกเราต้องช่วยกัน และเราจะมีกระบวนการ ซึ่งผมเรียกว่า HREMM (คณะกรรมการบริหารระดับสูงด้านทรัพยากรบุคคล) ผมให้ EVP (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) สลับกันปีละคน เป็นประธาน กรองคนมาให้ผม...
เรากรองคนจากข้างในเป็นหลัก เราคิดว่าคนข้างในเนี่ย อยุธยาไม่สิ้นคนดี ก็เหมือนกันคน TG Group ไม่สิ้นคนดี เพียงแต่ว่าหาคนดีตรงไหน คนเก่งอยู่ตรงไหน แต่ไม่ใช่ว่าได้แต่พูดเก่งนะ ต้องทำเก่งด้วย ต้องทำดีให้องค์กร และต้องกล้าที่จะทำ ต้องกล้าอดทน กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
อย่าเอาตัวเองเป็นหลัก หลายเรื่อง เราเอาตัวเองเป็นหลักไม่ได้แล้ว เวลานี้ต้องหาคนที่เป็นผู้นำ และต้องเสียสละ” แหล่งข่าวอ้างคำพูดของ ชาญศิลป์ ที่กล่าวในการประชุม staff meeting กลุ่มย่อยกับพนักงานจำนวนหนึ่ง ในช่วงกลางเดือน ก.ย.2563 ที่ผ่านมา
หากแต่ว่าคณะ HREMM ที่มาจาก EVP นั้น หากไม่รวม EVP ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (DB) ที่ชาญศิลป์ ลงมารักษาการเอง และมอบหมาย VP (ผู้อำนวยการใหญ่) ทำหน้าที่แทน จะพบว่า EVP บางคน เติบใหญ่ในการบินไทยภายใต้การอุปถัมภ์ของโครงสร้าง ‘ขั้วอำนาจเดิม’ ซึ่งมีเส้นสายโยงใยกับนักการเมืองมาเกือบ 10 ปี
ทำให้พนักงานบางกลุ่มมองว่า การบินไทย ไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากโครงสร้างขั้วอำนาจเดิมยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ ชาญศิลป์ ทั้งๆที่อาจรู้ดีว่าแม้แต่ตัว ชาญศิลป์ เองก็ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า 'หัวเดียวกระเทียมลีบ'
“EVP บางคน เดิมเป็น VP อยู่สำนักงานใหญ่ แต่ข้ามห้วยมาเป็น EVP ฝ่ายหนึ่ง ทั้งๆที่ไม่เคยมีแม้แต่ใบอนุญาตซ่อมเครื่องบิน และมี EVP สรรหาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีขายตั๋ว ซึ่งคณะทำงานของท่านถาวร (เสนเนียม รมช.คมนาคม) ตั้งประเด็นว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ แต่ก็ไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวนอะไรทั้งนั้น” แหล่งข่าวจากบินไทยรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของ EVP บางคนในช่วงที่ผ่านมา
แน่นอนว่าความคุกรุ่นในการบินไทยที่เริ่มต้นฉากใหม่ ด้วยกรณี ‘แต่งตั้งโยกย้าย’ ภรรยาของประธานบอร์ดการบินไทย หลังเหตุการณ์สงบมา 1-2 เดือนนั้น ได้ตอกย้ำให้เห็นว่าความไม่ไว้วางใจระหว่าง ‘ฝ่ายบริหาร’ และ ‘พนักงาน’ ที่มีมายาวนาน
และนั่นอาจจะสร้างความยุ่งยากในการจัดทำแผนและการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ไม่น้อยเลยทีเดียว
(ทีมผู้บริหารบริษัท การบินไทย จัดประชุม staff meeting กับพนักงานการบินไทย เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2563 นำโดย ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการดีดีการบินไทย ,ชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี (รักษาการ DE) และ โอม พลาณิชย์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น)
ขณะเดียวกัน ศึกภายใน ‘คณะผู้ทำแผน’ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปเช่นกัน โดยเฉพาะหลังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เรื่องการ ‘ยุบ-ไม่ยุบ’ สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ได้จุดชนวนรอยร้าวและก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ มาตั้งแต่ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำแต่งตั้ง ‘คณะผู้ทำแผน’ ที่บริษัท การบินไทย เสนอแล้ว
สะท้อนได้จากคำสั่ง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 086/2563 เรื่อง การแต่งตั้งผู้ให้ข้อมูลของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ลงนามโดย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ในฐานะประธานบอร์ดการบินไทย เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2563 โดยคำสั่งดังกล่าวมอบหมายให้ ชาญศิลป์ เป็นผู้สื่อสารข้อมูลของบริษัทฯเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ความเห็นส่วนตัว
“ด้วยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น การนำข้อมูลภายในที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ไปเปิดเผยแก่บุคคลเฉพาะกลุ่มก่อนการเปิดเผยแก่ผู้ลงทุนทั่วไป อาจทำให้เกิดการได้เปรียบและนำไปสู่การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
…ในการนี้ บริษัทฯ จึงขอแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) หรือบุคคลที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) มอบหมายให้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลของบริษัทฯ เพื่อจำกัดบุคคลที่จะเปิดเผยข้อมูล
และเพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายสามารถอธิบายให้ความกระจ่างเกี่ยวกับข้อมูลที่บริษัทฯ ต้องการเปิดเผย โดยหลีกเลี่ยงการให้ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ ซึ่งมิได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมจากบริษัทฯก่อน” คำสั่งบริษัท การบินไทย ที่ 086/2563 ระบุ
ในขณะที่ ‘คณะผู้ทำแผน’ เดินหน้าทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย เพื่อเสนอให้กับที่ประชุมเจ้าหนี้โหวตว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือน จะพบว่า ‘ศึกใน’ ที่คุกรุ่นในบริษัท การบินไทย ณ ตอนนี้ กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของบรรดาเจ้าหนี้ไปทีละน้อย และเกิดคำถามว่าการบินไทย จะฟื้นคืนชีพและกลับมาจ่ายหนี้คืนเจ้าหนี้ได้หรือไม่
เพราะแม้ว่า ชาญศิลป์ จะเคยบอกกับพนักงานการบินไทย ว่า ทีจีกรุ๊ป (TG Group) 'ไม่สิ้นคนดี' เหมือนดั่ง ‘อยุธยาไม่สิ้นคนดี’
แต่หากไม่อาจสลัดทิ้ง ‘ความขัดแย้งภายใน’ และ ‘การถูกแทรกแซง’ ที่มีมายาวนานหลายทศวรรษได้ ก็ยากที่ 'การบินไทย' จะกลับมายืนสง่าในฐานะ ‘สายการบินแห่งชาติ’ ได้อีกครั้ง
อ่านประกอบ :
‘การบินไทย’ เปิดเออรี่รีไทร์! ตุนเงินใช้ถึงเม.ย.64-สร.กบท.จี้ทบทวนตั้งเมียประธานบอร์ด
นัดพนง.การบินไทยแต่งดำ! สร.กบท.ชงคำถามซัก ‘ชาญศิลป์’ กรณีโยกย้าย-ยุบไทยสมายล์
โชว์คำสั่ง‘การบินไทย’! โยกย้ายล็อตใหญ่-‘พงศ์อุมา ดิษยะศริน’ รษก.ผอ.ฝ่ายกิจกรรมฯ
89 สหกรณ์ยื่น‘การบินไทย’! เปิดจุดยืนพักจ่ายต้น 5 ปี-แปลงหนี้ที่'แฮร์คัท'เป็นทุน
ราชกิจจาฯแพร่คำสั่งศาลฯ! ตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ 'การบินไทย'-ให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ 1 เดือน
บ.อีวายฯ-ชื่อผู้จัดทำแผนน่าเชื่อถือ! ศาลล้มละลายอนุญาต'การบินไทย'ฟื้นฟูกิจการ
เจาะลึกปม ‘จ่ายสินบน-ล็อบบี้-ผูกขาด’ เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์’ ทุบ ‘การบินไทย’ ร่วงจากฟ้า
มรดกเก่า ‘การบินไทย’! แอร์บัส A340 ‘ซื้อแพง-จอดทิ้งขายไม่ออก-ด้อยค่าแล้ว 1.5 หมื่นล.’
ส่อเอื้อพวกพ้อง! เปิดหลักเกณฑ์-สัญญาจ้าง ‘EVP สรรหา’ ทำ ‘การบินไทย’ เสียหาย?
ชำแหละปม ‘การบินไทย’ เช่า ‘โบอิ้ง’ 8 ลำ เปิดทาง ‘โรลส์รอยซ์’ ผูกสัญญาซ่อม 1.4 หมื่นล.
ไม่ยุบไทยสมายล์แอร์เวย์! ‘ชาญศิลป์’ ยันเปิดบินเหมือนเดิม-มั่นใจกลับมาทำกำไรได้
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage