"...โรงซ่อมเครื่องบินที่ดอนเมืองสามารถรองรับเครื่องบินได้พร้อมกัน 7 สล็อต แบ่งเป็นเครื่องบินแบบตัวกว้าง 6 สล็อต และแบบตัวแคบ 1 สล็อต ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการซ่อมเครื่องบินได้อย่างน้อย 5 ปี โดยที่ไม่ต้องลงทุนใหม่ แต่จะพบว่าปัจจุบันการบินไทยต้องเสียค่าเช่าให้ ทอท. สูงถึงเดือนละ 35 ล้านบาท ทั้งๆที่ทอท.จ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาทให้กับกองทัพอากาศ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมธนารักษ์ให้เป็นผู้ดูแลพื้นที่ดังกล่าว ทำให้การบินไทยแข่งขันได้ยาก...”
...............
นับเป็นความพยายามอีกครั้งของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ในการเดินหน้าผลักดันโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) มูลค่าเงินลงทุน 295 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.03 หมื่นล้านบาท หลังจากบริษัท Airbus S.A.S หรือ แอร์บัส ได้ปฏิเสธการยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายเมื่อเดือนเม.ย.2563 จบดีลที่กินระยะเวลานานกว่า 2 ปีเต็ม
เพราะเพียง 2 เดือนเศษ หลังทีมผู้บริหารการบินไทย เข้าพบ พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ และประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กองทัพเรือ เพื่อขอให้กองทัพเรือยืนยันเจตจำนงในการสานต่อโครงการ MRO
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย มีคำสั่งแต่งตั้ง 'คณะที่ปรึกษาพิเศษสำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา' โดยมีภารกิจในการผลักดันให้การดำเนินโครงการ TG MRO ของบริษัท การบินไทย มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ
สำหรับคณะที่ปรึกษาพิเศษฯชุดดังกล่าว มี ร.ท.รณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารเครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบิน (DV) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (D6) ทำหน้าที่เป็นประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษฯ ร่วมกับที่ปรึกษาอีก 2 คน
มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ MRO และการแสวงหาผู้ร่วมทุน ,ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ-ก่อสร้าง Smart-hanger (โรงซ่อมอากาศยาน) และให้คำปรึกษาในการจัดทำ initiative plan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โครงการ TG MRO ได้รับการคาดหวังจากทีมผู้บริหารการบินไทยในอดีตและปัจจุบันว่า โครงการนี้จะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัทฯในอนาคต
สะท้อนได้จากผลการศึกษา ‘ความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์’ ที่จัดทำเมื่อปี 2561 ที่มีการประเมินว่า ตลอดระยะเวลาโครงการ 50 ปี (2565-2614) บริษัทฯจะมีรายได้จาก TG MRO ประมาณ 5.45 แสนล้านบาท และมีรายจ่ายอยู่ที่ 10,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.76 แสนล้านบาท (ไม่รวมเงินลงทุน 1.03 หมื่นล้านบาท)
แต่จะพบว่าการเดินหน้าโครงการ TG MRO มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพิจารณาในหลายจุด
โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก และก่อนหน้านี้สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่า ธุรกิจการบินจะกลับมาดำเนินธุรกิจเป็นปกติเท่ากับก่อนเกิดโควิดต้องใช้เวลา 4 ปี หรือต้องรอจนถึงปี 2567
ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2562 บริษัท การบินไทย ได้ว่าจ้าง ICF บริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐฯ ให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ TG MRO และต่อมามีการเสนอผลศึกษาให้บอร์ดการบินไทยรับทราบเมื่อเดือนก.พ.2563 ก่อนที่บริษัท Airbus S.A.S จะถอนตัวจากการร่วมทุนในอีก 2 เดือนต่อมา
ผลศึกษาของ ICF ระบุว่า เงื่อนไขที่จะทำให้โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาสำเร็จ คือ แอร์บัสต้องส่งลูกค้ามาให้ที่อู่ตะเภา ไม่ใช่รอแต่เครื่องบินของการบินไทยเท่านั้น ส่วนการลงทุนด้านการซ่อมเครื่องยนต์เครื่องบินนั้น ICF เห็นว่าควรใช้โรงซ่อมเครื่องบินที่สนามบินดอนเมืองให้เต็มความจุเสียก่อน
(ที่มา : ผลศึกษาของ ICF ที่เสนอให้บอร์ดการบินไทยรับทราบเมื่อเดือนก.พ.2563)
แต่ทว่าผลศึกษาของ ICF ไม่ได้รับความสนใจจากบอร์ดการบินไทยเท่าใดนัก โดยผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งกล่าวในที่ประชุมบอร์ดว่า “ถ้าเชื่อบริษัทที่ปรึกษาฯคงเจริญไปแล้ว และการบินไทยคงไม่ขาดทุนอย่างนี้”
ที่สำคัญการถอนตัวของ ‘แอร์บัส’ ในการเป็นพันธมิตรร่วมทุนโครงการ TG MRO จะทำให้โครงการฯมีความเสี่ยงสูงที่การบินไทยจะหาลูกค้าไม่ได้ตามเป้าหมาย และยังต้องแข่งขันกับศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่เมืองเซปัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งทางแอร์บัสได้เข้าไปลงทุนไว้ก่อนหน้านี้
ดังนั้น การรีบเร่งลงทุนโครงการ TG MRO อาจไม่เป็นผลดีกับบริษัทฯนัก ในขณะที่บริษัทฯ มี ‘หนี้สินล้นพ้นตัว’ และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเดินหน้าโครงการ TG MRO จะมีความเสี่ยงสูง แต่แน่นอนว่าจะต้องมีแรงกดดันจากรัฐบาล และ ‘กองทัพเรือ’ ไปยังบริษัท การบินไทย เพื่อเร่งรัดโครงการนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
นั่นเพราะนอกจากโครงการ TG MRO จะเป็น 1 ในโครงการยุทธศาสตร์ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้ว
จะพบว่าปัจจุบันกองทัพเรืออยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์ เพื่อเปิดประมูลโครงการก่อสร้างอาคารโรงซ่อมอากาศยานเพื่อรองรับโครงการ MRO หลังจากได้รับจัดสรรงบปี 2564 ในวงเงินกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะเวลา 3 ปี 6 เดือน
หากไม่ต้องการให้โรงซ่อมฯ 'ว่างเปล่า' ในทันทีที่สร้างเสร็จ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเร่งรัดให้ บริษัท การบินไทย อนุมัติโครงการ TG MRO และหาผู้ร่วมลงทุนได้ทันท่วงที
"ตอนนี้กองทัพเรือกำลังจะเริ่มงานถมหน้าดินในพื้นที่โครงการ MRO ภายใต้งบ 35 ล้านบาท และอยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์ประมูลก่อสร้าง Hanger (อาคารโรงซ่อมเครื่องบิน) มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท" รายงานข่าวจากกองทัพเรือระบุ
ขณะที่กองทัพเรือจะมีรายได้จากค่าเช่าอาคารโรงซ่อมฯในอัตรา 3% ของเงินลงทุนก่อสร้างอาคาร หรือประมาณปีละ 180 ล้านบาท และได้รับส่วนแบ่งรายได้ในอัตรา 1% ของรายได้ค่าซ่อมอากาศยานของการบินไทย ตลอดอายุสัญญา 50 ปีด้วย
(ที่มา : เอกสารเผยแพร่กลุ่มงาน MRO Team บริษัท การบินไทย เดือนเม.ย.2561)
นอกจากนี้ ทันทีที่บริษัท การบินไทย ย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจากสนามบินดอนเมืองไปยังที่อู่ตะเภา ยังเป็นการเปิดทางให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และพันธมิตร เข้าไปประกอบกิจการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินดอนเมือง โดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่าบริษัท การบินไทย มาก
“โรงซ่อมเครื่องบินที่ดอนเมืองสามารถรองรับเครื่องบินได้พร้อมกัน 7 สล็อต แบ่งเป็นเครื่องบินแบบตัวกว้าง 6 สล็อต และแบบตัวแคบ 1 สล็อต ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการซ่อมเครื่องบินได้อย่างน้อย 5 ปี โดยที่ไม่ต้องลงทุนใหม่
แต่จะพบว่าปัจจุบันการบินไทยต้องเสียค่าเช่าให้ ทอท. สูงถึงเดือนละ 35 ล้านบาท ทั้งๆที่ทอท.จ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาทให้กับกองทัพอากาศ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมธนารักษ์ให้เป็นผู้ดูแลพื้นที่ดังกล่าว ทำให้การบินไทยแข่งขันได้ยาก” แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
อย่างไรก็ตาม มีการนำปมปัญหาค่าเช่าที่ดินศูนย์ซ่อมอากาศยานฯดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีทอท.เรียกร้องมูลหนี้จากบริษัท การบินไทย ที่มี พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เมื่อ 26 พ.ย.2562
และที่ประชุมมีมติให้ ทอท. และการบินไทย ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเจรจาลดค่าเช่าที่ราชพัสดุที่ตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินของการบินไทยที่ดอนเมือง แต่ปรากฎว่าผ่านมาเกือบปีแล้วการเจรจายังไม่มีความคืบหน้า และไม่มีการรายงานผลการเจรจาให้คณะกรรมการรับทราบแต่อย่างใด
ทำให้เกิดคำถามในหมู่พนักงานการบินไทยว่า อาจมีความเกี่ยวพันกับกรณีบอร์ด ทอท. มีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2562 อนุมัติในหลักการให้ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับทอท. ประกอบกิจการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ณ สนามบินดอนเมือง (MRO) หรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฎข้อมูลว่ากรรมการบริษัท การบินไทยคนหนึ่ง ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นบอร์ดในเดือนต.ค.2562 ก่อนจะลาออกไปในเดือนมี.ค.2563 นั้น มีการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ควบคู่กันไปด้วย
ท่ามกลางซากปรักหักพังของ ‘การบินไทย’ ที่กำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการฯ การรีบเร่งเดินหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาอาจไม่เป็นผลดีเท่าใดนัก และอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปม 'ผลประโยชน์ทับซ้อน' อีกด้วย
ขณะที่รัฐบาลเองต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่า นโยบายการพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานฯของไทยจะเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้มีการใช้ทรัพยากรของรัฐไปเปล่าประโยชน์
อ่านประกอบ :
ประมาทเลินเล่อ! ชงลงโทษวินัย-ชดใช้ 3 แสน ‘พนง.การบินไทย’ ทำเครื่องยนต์ตกขณะขนย้าย
ดึงอดีตผู้บริหารนั่งที่ปรึกษาฯ!‘การบินไทย’ตั้งทีมถกเจ้าหนี้‘โรลส์รอยซ์-จีอี-แอร์บัส-โบอิ้ง’
'การบินไทย'ตั้งกก.สอบ! เครื่องยนต์ GE90 ตกพื้นเสียหายขณะขนย้าย-ส่งซ่อมเมืองจีน
ลดรายจ่าย 4 หมื่นล.! ‘ชาญศิลป์’ดึงไอเดีย พนง.ฟื้น‘การบินไทย’-จ่อแยกธุรกิจ'ฝ่ายช่าง-ครัว'
ศึกใน 'การบินไทย' คุกรุ่น! สะเทือนแผนฟื้นฟูฯ กับวาทะ 'ชาญศิลป์' : ทีจีกรุ๊ปไม่สิ้นคนดี
‘การบินไทย’ เปิดเออรี่รีไทร์! ตุนเงินใช้ถึงเม.ย.64-สร.กบท.จี้ทบทวนตั้งเมียประธานบอร์ด
นัดพนง.การบินไทยแต่งดำ! สร.กบท.ชงคำถามซัก ‘ชาญศิลป์’ กรณีโยกย้าย-ยุบไทยสมายล์
โชว์คำสั่ง‘การบินไทย’! โยกย้ายล็อตใหญ่-‘พงศ์อุมา ดิษยะศริน’ รษก.ผอ.ฝ่ายกิจกรรมฯ
89 สหกรณ์ยื่น‘การบินไทย’! เปิดจุดยืนพักจ่ายต้น 5 ปี-แปลงหนี้ที่'แฮร์คัท'เป็นทุน
ราชกิจจาฯแพร่คำสั่งศาลฯ! ตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ 'การบินไทย'-ให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ 1 เดือน
บ.อีวายฯ-ชื่อผู้จัดทำแผนน่าเชื่อถือ! ศาลล้มละลายอนุญาต'การบินไทย'ฟื้นฟูกิจการ
เจาะลึกปม ‘จ่ายสินบน-ล็อบบี้-ผูกขาด’ เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์’ ทุบ ‘การบินไทย’ ร่วงจากฟ้า
มรดกเก่า ‘การบินไทย’! แอร์บัส A340 ‘ซื้อแพง-จอดทิ้งขายไม่ออก-ด้อยค่าแล้ว 1.5 หมื่นล.’
ส่อเอื้อพวกพ้อง! เปิดหลักเกณฑ์-สัญญาจ้าง ‘EVP สรรหา’ ทำ ‘การบินไทย’ เสียหาย?
ชำแหละปม ‘การบินไทย’ เช่า ‘โบอิ้ง’ 8 ลำ เปิดทาง ‘โรลส์รอยซ์’ ผูกสัญญาซ่อม 1.4 หมื่นล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage