"...แต่เมื่อบริษัท Rolls-Royce มีการเปลี่ยนรุ่นเครื่องยนต์จากรุ่น RR Trent 1000AE เป็นรุ่น RR Trent 1000D ทำให้ค่าบริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ฯ (Total Care) ของเครื่องบินโบอิ้ง B787-800 และ B787-900 ดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็น 433.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14,342.05 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 368.66 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.77%..."
ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมและสาธารณชน
สำหรับปัญหาการบริหารกิจการและปัญหาการทุจริตใน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นประธานฯ เผยรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา
หนึ่งในประเด็นที่คณะทำงานฯ ทำการตรวจสอบและพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัท การบินไทย เสียหาย นั่นก็คือการเช่าเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) โดยเฉพาะการสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ (มูลค่ารวม 28,266.9) และเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น B787-900 จำนวน 2 ลำ
คณะทำงานฯ ระบุว่า จากข้อมูลพบว่า บริษัท การบินไทย มีการเช่าเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) จำนวน 42 ลำ ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีภาระปผูกพัน 3,587.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 108,818.64 ล้านบาท ประกอบด้วย
สัญญาเช่าเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A320-200 จำนวน 15 ลำ ,เครื่องบินแอร์บัส รุ่น A350-900 จำนวน 8 ลำ ,เครื่องบินโบอิ้ง รุ่น B777-300ER จำนวน 11 ลำ ,เครื่องบินโบอิ้ง รุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ และเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น B787-900 จำนวน 2 ลำ โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 มีการส่งมอบแล้ว 39 ลำ เหลือเครื่องบินที่ยังไม่ส่งมอบ 3 ลำ
สำหรับเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงานทั้ง 42 ลำ ดังกล่าว มีเครื่องที่ครบกำหนดสัญญาเช่าปี 2563-2567 จำนวน 6 ลำ อีก 36 ลำ ครบกำหนดสัญญาเช่าในปี 2568-2573 มีภาระผูกพันค่าเช่าภายใน 1 ปี 13,418.27 ล้านบาท มีภาระผูกพันเกิน 1 ปี-5 ปี 56,815.80 ล้านบาท และมีภาระผูกพันเกิน 5 ปี 38,584.57 ล้านบาท
(การแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2563)
ทั้งนี้ คณะทำงานฯพบว่า แม้ว่าสัญญาเช่าเครื่องบินแบบ Operating Lease ดังกล่าว จะไม่ทำให้บริษัทฯมีภาระในการกู้เงินมาจ่ายค่าซื้อเครื่องบิน แต่เนื่องจากจำนวนเงินค่าเช่าจะถูกนับเป็นหนี้สิน ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio : D/E) ของบริษัทฯเพิ่มไปอยู่ที่ 10.03 เท่าในปี 2562
“ในกรณีการซื้อเครื่องบิน การกู้เงินจะทำได้ 75% ของวงเงินทั้งหมด แต่ถ้าเป็นการเช่าเครื่องบินจะต้องกู้เงินเต็มจำนวน ซึ่งทำให้ยอดหนี้สินสูงขึ้นเล็กน้อย แต่เนื่องจากดอกเบี้ยการเช่าเครื่องบินจะมีอัตราสูงถึง 6.30% เทียบกับการซื้อเครื่องบินที่มีดอกเบี้ย 1.22% ต่างกันถึง 5% ดังนั้น หากทำการกู้เงิน 100,000 ล้านบาท จะทำให้ภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท/ปี” รายงานผลการตรวจสอบของคณะทำงานฯตั้งข้อสังเกต
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสัญญาเช่าเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ ที่บริษัท การบินไทย ได้ทำสัญญาเช่าดำเนินงานกับบริษัท International Lease Finance Corporation (ILFC) และต่อมาเปลี่ยนแปลงผู้ให้เช่าเครื่องบินเป็นบริษัท ILFC UK Limited ทั้ง 6 ลำ
โดยพบว่า สัญญาเช่าเครื่องบินโบอิ้ง B787-800 ทั้ง 6 ลำ มีค่าเช่าอยู่ที่ระหว่าง 4,475.3-5,064.0 ล้านบาท และค่าเช่ารายปีอยู่ที่ 479.5-490.1 ล้านบาท ทั้งๆที่เครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกัน และเช่าจากบริษัทเดียวกัน อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯไม่ได้ระบุว่า เหตุใดการเช่าเครื่องบินทั้ง 6 ลำ จึงมีค่าเช่าแตกต่างกัน (อ่านตารางประกอบ)
(ที่มา : คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน))
ขณะเดียวกัน เนื่องจากเครื่องบินโบอิ้ง B787-800 ทั้ง 6 ลำ ไม่มีการติดตั้งที่นอนของลูกเรือและนักบิน (Crew Rest) และระบบติดตั้งระบบสื่อสาร (Inflight Connectivity) ทำให้บอร์ดการบินไทย ครั้งที่ 10/2559 มีมติให้ทำการติดตั้งชุดเพิ่มเติม (Retrofit) เครื่องบินโบอิ้ง B787-800 ทั้ง 6 ลำ กรอบวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,652 ล้านบาท
ได้แก่ ครั้งที่ 1 อนุมัติติดตั้ง Crew Rest และ Inflight Connectivity เป็นเงิน 1,486 ล้านบาท และครั้งที่ 2 อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมสำหรับโครงการ 787-8 Crew Rest and Inflight Connectivity Retrofit อีก 166 ล้านบาท
นอกจากนี้ หลังมีการส่งมอบเครื่องบินโบอิ้ง B787-800 ทั้ง 6 ลำ และมาให้บริการขนส่งผู้โดยสารได้ไม่นาน ปรากฏว่าเครื่องบินอย่างน้อย 4 ลำ จาก 6 ลำ ไม่สามารถทำการบินได้ไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปี 2562 (TPE Summer 2019) เนื่องจากปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent 1000 ของเครื่องบินแบบ B787-800 และขาดเครื่องยนต์สำรอง
ทำให้ต่อมาบอร์ดบริษัทฯ มีมติรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการฝ่ายบริหารงานนโยบาย (EMM) ที่เสนอให้เช่าเครื่องบินแอร์บัสใช้แล้ว (Used Aircraft) รุ่น A330-300 จำนวน 3 ลำ ระยะเวลาเช่า 6 ปี วงเงินค่าเช่า 118.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,700 ล้านบาท เพื่อนำมาทดแทนเครื่องบิน B787-800 บางลำ ที่ต้องจอดเพื่อรอเครื่องยนต์
ส่วนปมสัญญาเช่าเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น B787-900 จำนวน 2 ลำ ซึ่งบริษัท การบินไทย ทำสัญญาเช่าดำเนินงานกับ บริษัท International Lease Finance Corporation (ILFC) เช่นกัน และต่อมาเปลี่ยนแปลงผู้ให้เช่าเครื่องบินให้กับบริษัท AerCap Ireland Capital Designated Activity Company ทั้ง 2 ลำ นั้น
พบว่าในช่วง 5 ปีของการดำเนินงานของเครื่องบินรุ่นนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ของเครื่องบินของ ‘โรลส์-รอย’ จากรุ่น RR Trent 1000AE เป็นรุ่น RR Trent 1000D โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนเครื่องยนต์
แต่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง (Power by the Hour) เครื่องยนต์ รุ่น Trent 1000D อยู่ที่ 414 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง เทียบกับรุ่น Trent 1000AE ที่อยู่ที่ 288 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ทำให้บริษัท การบินไทย มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องบินเพิ่มขึ้น 120 ล้านบาทต่อปี (ลำละ 60 ล้านบาทต่อปี)
ที่สำคัญสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบินโบอิ้งรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ และรุ่น B787-900 จำนวน 2 ลำ ซึ่งเริ่มปฏิบัติการบินในเดือนก.ค.2557 นั้น จะต้องเป็นไปตามสัญญาเช่าเครื่องบินที่ได้ลงนามกับผู้ให้เช่าเครื่องบิน คือ บริษัท International Lease Finance Corporation (ILFC) ด้วย
กล่าวคือ บริษัท การบินไทย ได้ซื้อบริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายตามจำนวนเวลาใช้งาน (Total Care) สำหรับเครื่องยนต์ RR Trent 1000AE/D ที่ติดตั้งกับเครื่องบิน B787-800 และ B787-900 พร้อมอะไหล่เครื่องยนต์ 3 เครื่อง รวม 19 เครื่องยนต์ จากบริษัท Rolls-Royce เป็นเวลา 12 ปี 421.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (13,955.39 ล้านบาท)
แต่เมื่อบริษัท Rolls-Royce มีการเปลี่ยนรุ่นเครื่องยนต์จากรุ่น RR Trent 1000AE เป็นรุ่น RR Trent 1000D ทำให้ค่าบริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ฯ (Total Care) ของเครื่องบินโบอิ้ง B787-800 และ B787-900 ดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็น 433.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 14,342.05 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 368.66 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.77%
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัท การบินไทย ยังทำสัญญาเช่าเครื่องยนต์อะไหล่รุ่น RR Trent 1000A หรือ RR Trent 1000AE พร้อมอุปกรณ์ และที่วางเครื่องยนต์พร้อมอุปกรณ์ สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B787-800 จำนวน 6 ลำ ในปี 2557 จำนวน 2 เครื่องยนต์ และมีค่าใช้จ่ายตลอด 12 ปี เท่ากับ 1,876 ล้านบาท
ต่อมาบริษัท การบินไทย เช่าเครื่องยนต์อะไหล่รุ่น RR Trent 1000AE/D พร้อมอุปกรณ์อีก 1 เครื่อง จากบริษัท Rolls-Royce แต่ Rolls-Royce ไม่คิดเช่ารายเดือน คิดเฉพาะค่าบำรุงรักษาตามวงรอบ (LLP) และค่าบำรุงรักษาตามชั่วโมง ทำให้ค่าใช้จ่ายการเช่าเครื่องยนต์อะไหล่ทั้ง 3 เครื่องจาก บริษัท Rolls-Royce อยู่ที่ 1,920.50 ล้านบาท
(ที่มา : คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริต บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน))
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ พบความเสียหายทั้งสัญญาที่ทำไปแล้ว การส่งซ่อม และการต่อสัญญาซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย ซึ่งมีความ ‘หละหลวม’ ทำให้บริษัทเสียหายไม่ต่ำกว่า 12,792 ล้านบาท
เช่น การทำสัญญาการบินแบบ Stage Length ไม่เป็นไปตามชั่วโมงบิน (สัญญาเฉลี่ย 8 ชั่วโมง บินได้จริง 5.5 ชั่วโมง) การไม่ต่อสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ Trent 800 ความเสียหายจากการส่งซ่อมเครื่องยนต์ GE90 ที่จีน และกรณีเครื่องยนต์ Trent 900 และ Trent 1000 เกิดชำรุดบกพร่อง ซึ่งอยู่ระหว่างเรียกร้องความเสียหายกับบริษัท Rolls-Royce
จากผลการตรวจสอบของคณะทำงานฯ จะเห็นได้ว่า การเช่าเครื่องบิน 42 ลำ ของบริษัท การบินไทย ภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) มูลค่า 1.08 แสนล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีภาระหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นเกิน 10 เท่า และทำให้บริษัทฯ มีภาระดอกเบี้ยปีละ 5,000 ล้านบาท
อีกทั้งเมื่อพบปัญหาเครื่องบิน B787-800 อย่างน้อย 4 ลำ ไม่สามารถทำการบินได้ เพราะมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ Rolls-Royce Trent 1000 และขาดเครื่องยนต์สำรอง และบริษัท การบินไทย ต้องเช่าเครื่องบินเพิ่ม 3 ลำ ทำให้มีค่าใช้จ่าย 3,700 ล้านบาท
และแม้ว่าบริษัท การบินไทย ได้เรียกร้องค่าเสียหายไปยัง บริษัท Rolls-Royce เป็นเงิน 1,300 ล้านบาท แต่ทาง Rolls-Royce จ่ายค่าชดเชยเพียง 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 400 ล้านบาท ทำบริษัท การบินไทย ยังคงต้องต่อรองเรียกค่าชดเชยในส่วนนี้ต่อไป
ที่สำคัญจะเห็นได้ว่าจากสัญญาเช่าเครื่องบิน B787-800 และ B787-900 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ RR Trent 1000AE/D นั้น ยังทำให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ ได้สัญญาเหมาซ่อมเครื่องบินทั้ง 8 ลำ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท
อ่านประกอบ :
ใช้ไปซ่อมไป! การบินไทยฟ้องเรียกค่าเสียหาย‘โรลส์รอยซ์’ 9.7 พันล.ปมเครื่องยนต์บกพร่อง
จัดซื้อยุค ‘สุริยะ’! แอร์บัส 10 ลำ ก่อน ‘ถาวร’ ชี้ต้นเหตุ ‘การบินไทย’ เจ๊ง 6.2 หมื่นล้าน
ซื้อเครื่องบิน-สินบนโรลส์รอยซ์!หอบหลักฐานยื่น นายกฯ-ป.ป.ช.-ก.คลังสอบ‘การบินไทย’ขาดทุน
ย้อนปม 'บินไทย' ซื้อเก้าอี้ บ.Koito เสียหาย 3 พันล. ไม่มีการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ?
ยื่น ป.ป.ช.ฟันทุจริต‘การบินไทย’! พบจ่ายสินบนนักการเมือง-เอื้อประโยชน์พวกพ้อง-ร่ำรวยผิดปกติ
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
บทบาท‘สุริยะ’คนชง ครม.จัดซื้อเครื่องบิน! ก่อน ป.ป.ช.ไม่แจ้งข้อกล่าวหาคดีโรลส์รอยซ์
“สุริยะ”เดินหน้าศึกษาถมทะเล 3 พันไร่รับ“เอ็กซอนฯ”ลงทุน 3.3 แสนล.
‘สุริยะ’โอนเกลี้ยง 25 บริษัท ให้หุ้นส่วน‘สุภาพสตรี’ในวันเดียว ก่อนนั่ง รมต.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage